วันอังคาร, เมษายน 05, 2565

แถลงการณ์ร่วม 50 องค์กร: เรียกร้องคณะกรรมการว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ของ UN ตามกรณีวันเฉลิมที่ยังคงสูญหายในกัมพูชาในทันทีและถี่ถ้วน



แถลงการณ์ร่วม: วันเฉลิมยังคงสูญหาย วาระทบทวนการบังคับบุคคลสูญหายในกัมพูชา ของคณะกรรมการ CED องค์การสหประชาชาติ

วันที่ 4 เมษายน 2565 พวกเรา องค์กรที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความกังวลอย่างมากต่อความล้มเหลวของประเทศกัมพูชาในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายที่กระทำต่อนักกิจกรรมชาวไทย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผลให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิด เนื่องในโอกาสที่คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (“คณะกรรมการฯ” หรือ CED) องค์การสหประชาชาติ จะประชุมเตรียมการทบทวนเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศกัมพูชา ในวันที่ 5 เมษายน 2565 เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ เน้นย้ำถึงความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของประเทศกัมพูชาที่ไม่ดำเนินการค้นหาตัววันเฉลิมโดยทันทีและถี่ถ้วน ทั้งไม่ได้สืบสวนสอบสวนการบังคับสูญหายในกรณีนี้อย่างโปร่งใสและอย่างมีประสิทธิภาพ

เราขอยืนหยัดเคียงข้างวันเฉลิมและครอบครัว และผู้เสียหายจากการบังคับให้สูญหายทุกคน และขอเรียกร้องให้ประเทศกัมพูชาปฏิบัติตามพันธกรณี ในการรับประกันสิทธิของผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้สูญหายทุกคน ในการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาและการได้รับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมหรือสถานที่อยู่ของผู้ถูกเอาตัวไป เราเห็นด้วยกับคณะกรรมการฯ ที่ว่า “การบังคับให้บุคคลสูญหายมีลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง” ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิต เสรีภาพ ความปลอดภัยของบุคคล อิสรภาพจากการถูกควบคุมตัวลับและการทรมาน รวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตครอบครัว ครอบครัวของผู้สูญหายต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานอย่างสุดประมาณ ในขณะที่ถูกลิดรอนสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาและไม่สามารถหาข้อยุติต่อกรณีที่เกิดขึ้นได้

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ คณะกรรมการฯ เคยได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับความล้มเหลวของทางการกัมพูชาในการดำเนินการค้นหาและสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีรายงานว่า มีการบังคับบุคคลสูญหายเกิดขึ้น จนส่งผลให้มีการกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีกต่อวันเฉลิม ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่วันเฉลิมถูกลักพาตัวไปในเวลากลางวันแสกๆ จากบริเวณหน้าอพาร์ตเมนต์ที่เขาพักอาศัยอยู่ ในช่วงที่เขาที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่กรุงพนมเปญ วันเฉลิมเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างเปิดเผยมาตลอด จนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาในประเทศไทย ภาพเหตุการณ์การลักพาตัวเขาถูกบันทึกไว้โดยกล้องวงจรปิด ซึ่งสามารถตรวจจับภาพของยานพาหนะที่ใช้ในการลักพาตัว หมายเลขทะเบียนรถยนต์ และพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทั้งนางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ก็ได้ยินเสียงบางส่วนของการลักพาตัวดังกล่าวด้วย เนื่องจากการลักพาตัวเกิดขึ้นในขณะที่เธอกำลังคุยทางโทรศัพท์กับวันเฉลิม แต่นายพล ชาย คิม เอือน (General Chhay Kim Khouen) โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ นายเขียว โสเพียก (Khieu Sopheak) โฆษกกระทรวงมหาดไทย กลับปฏิเสธตั้งแต่แรกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “ข่าวเท็จ” ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งกล่าวเป็นนัยว่า รัฐบาลคงจะไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวเนื่องจากไม่มีการร้องเรียนเข้ามาอย่างเป็นทางการ และต่อมาทางการกัมพูชาก็ได้ปฏิเสธว่าวันเฉลิมไม่ได้อยู่ในกัมพูชา ณ เวลาที่เกิดเหตุ ทั้งๆ ที่มีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ทางการกัมพูชากลับพุ่งเป้าไปที่ประเด็นอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชะตากรรมและสถานที่เขาถูกลักพาตัวไป เช่น ประเด็นที่ว่าวันเฉลิมมีเอกสารเกี่ยวกับการเข้าเมืองอย่างถูกต้องหรือไม่

เนื่องจากเสียงประนามอย่างกว้างขวางจากนานาชาติและการที่นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลแห่งกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 จึงทำให้ทางการกัมพูชาเปิดการสืบสวนสอบสวนคดีการหายไปของวันเฉลิมในเดือนกันยายน 2563 แต่ถึงแม้สิตานันจะได้ให้การและส่งพยานหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับคดีแก่ศาลแห่งกรุงพนมเปญไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และในต้นปี 2564 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด ทั้งคำร้องขอจากครอบครัวเพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสูญหายของวันเฉลิมและขอทราบความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน ก็ไม่ได้รับคำตอบ ในประเทศไทย ทางการไทยยังได้คุกคามสิตานันถึงสองครั้งด้วยการตั้งข้อหาและดำเนินคดีอาญาจากกรณีที่สิตานันขึ้นพูดในงานกิจกรรมในเดือนกันยายนและธันวาคม 2564 เกี่ยวกับการสูญหายของน้องชายและความจำเป็นที่จะต้องมีการตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

การสูญหายของวันเฉลิมเป็นเหตุการณ์ที่ย้ำเตือนถึงกรณีที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนในปี 2550 ที่เกิดกับนักประชาธิปไตยชาวเวียดนามสองคนและนักกิจกรรมกัมพูชาด้านแรงงานหลายคน ดังเช่นกรณีของ เลอ ทริ ทู (Le Tri Tue) นักกิจกรรมชาวเวียดนามที่คัดค้านรัฐบาล และได้สูญหายไปในพนมเปญเมื่อปี 2550 หลังจากที่เขาได้ยื่นขอลี้ภัย และปัจจุบันเขายังคงสูญหายอยู่

ความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อพันธกรณีที่ประเทศกัมพูชามีต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งกัมพูชาได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2556 โดยเฉพาะการที่ประเทศกัมพูชาละเมิดต่อหน้าที่ที่จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างถี่ถ้วนและเที่ยงธรรมโดยไม่ชักช้า ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดในทางอาญาและประกันสิทธิของผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยิ่งไปกว่านั้น ความล่าช้าที่เกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรในการค้นหาผู้สูญหายถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักการค้นหา (Guiding Principles) ผู้สูญหาย รวมทั้งหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต้องเริ่มต้นอย่างเร่งด่วนในการสืบสวนสอบสวน การใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม และพันธกรณีที่จะต้องค้นหาผู้สูญหายต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าชะตากรรมของผู้สูญหายจะเป็นที่ปรากฎ

คณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ได้เปิดสมัยประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมาและจะจัดทำรายการประเด็นปัญหาซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการทบทวนรายงานฉบับแรกของประเทศกัมพูชาตามข้อบทที่ 29 ของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ซึ่งได้ถึงกำหนดมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ทางรัฐบาลกัมพูชาไม่ได้ส่งรายงานดังกล่าว จนกระทั่งในปี 2564

ภาษาอังกฤษ (English language statement) ภาษากัมพูชา (Khmer language statement)

แถลงการณ์ร่วมลงชื่อโดย :
1. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และครอบครัว
2. Affiliated Network for Social Accountability (ANSA), Cambodia
3. Alliance for Conflict Transformation (ACT), Cambodia
4. Ain o Salish Kendra (ASK), Bangladesh
5. Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
6. Asian Resource Foundation (ARF), Thailand
7. Association of Women for Awareness & Motivation (AWAM), Pakistan
8. Banglar Manabadhikar Suraksha Mancha (MASUM), India
9. Bytes for All, Pakistan
10. Cambodia’s Independent Civil Servants Association (CICA)
11. Cambodian Center for Human Rights (CCHR)
12. Cambodian Food and Service Workers’ Federation (CFSWF), Cambodia
13. Cambodian Human Rights and Development Association (ADHOC), Cambodia
14. Cambodian Institute for Democracy (CID), Cambodia
15. Cambodian League for the Promotion and Defense of Human Rights (LICADHO), Cambodia
16. Cambodian Youth Network (CYN), Cambodia
17. Center for Alliance of Labor and Human Rights (CENTRAL), Cambodia
18. Center for Human Rights and Development (CHRD), Mongolia
19. Center for Prisoners’ Rights (CPR), Japan
20. Coalition of Cambodian Farmers Community Association (CCFC), Cambodia
21. Committee for Free and Fair Elections in Cambodia (COMFREL), Cambodia
22. Commonwealth Human Rights Initiative (CHRI), India
23. Cross Cultural Foundation (CrCF), Thailand
24. Defence of Human Rights (DHR), Pakistan
25. Dignity-Kadyr-kassiyet (KK), Kazakhstan
26. Equitable Cambodia (EC), Cambodia
27. Human Rights Commission of Pakistan, Pakistan
28. Human Rights Lawyers Association (HRLA), Thailand
29. Independent Democracy of Informal Economy Association (IDEA), Cambodia
30. The Indonesian Human Rights Monitor – Inisiatif Masyarakat Partisipatif untuk Transisi Berkeadilan (Imparsial), Indonesia
31. International Federation for Human Rights (FIDH)
32. Korean House for International Solidarity (KHIS), South Korea
33. League for the Defence of Human Rights in Iran (LDDHI), Iran
34. Madaripur Legal Aid Association (MLAA), Bangladesh
35. Maldivian Democracy Network (MDN), Maldives
36. Manushya Foundation, Thailand
37. Odhikar, Bangladesh
38. People’s Empowerment Foundation (PEF), Thailand
39. People’s Watch, India
40. Programme Against Custodial Torture & Impunity (PACTI), India
41. Progressive Voice, Myanmar
42. Safety and Risk Mitigation Organization (SRMO), Afghanistan
43. Sahmakum Teang Tnaut (STT), Cambodia
44. Suara Rakyat Malaysia (SUARAM), Malaysia
45. Thai Lawyers for Human Rights (TLHR), Thailand
46. The Cambodian NGO Committee on CEDAW (NGO-CEDAW), Cambodia
47. Think Centre, Singapore
48. Transparency International Cambodia (TIC)
49. Vietnam Committee on Human Rights (VCHR), Vietnam
50. Youth Resources Development Program (YRDP)

ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน