วันอาทิตย์, พฤษภาคม 10, 2563

เขียนให้คิดด้วยความกังวล #เราเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดCOVID19 - อังคณา นีละไพจิตร




#เราเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดCOVID19

รู้สึกกังวลต่อการปฏิกิริยาของหลายคนต่อการแสดงความเห็นของ #หลวงพี่ไพศาล ที่ออกมาในลักษณะการตีตรา คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง และซ้ำเติม อันที่จริงหากเราทุกคนเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ใช่การสร้างความเกลียดชัง (เช่น ไล่ให้คนไปตาย) เราควรใจกว้างในการรับฟังและถกแถลงเพื่อเติมเต็มความรู้ของกันและกันและมีข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

สองสามวันก่อนได้ส่งบทความและคลิปปาฐกถาสั้นๆในการจัดงานด้านสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ หัวข้อ “#การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง : สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID19” โดยได้กล่าวไว้ความตอนหนึ่งว่า “การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส คือบททดสอบความอาทร การร่วมทุกข์ร่วมสุข และความรู้สึกเกื้อกูลกันของทั้งรัฐบาล ภาคธุรกิจ ชุมชนรวมถึงปัจเจกบุคคล” “.. การระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้เปิดแผลของความไม่เท่าเทียมในสังคม ทำให้เห็นช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การตีตราและเลือกปฏิบัติ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คือ การต้องสร้าง #รัฐสวัสดิการ ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพราะระบบสวัสดิการที่แข็งแกร่งของรัฐจะทำให้เกิดความเท่าเทียมและการคุ้มครองศักดิ์ศรีของทุกคน และจะทำให้การเลือกปฏิบัติหมดไป ...”

เมื่อวานมีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งที่เหมือนจะไม่ค่อยมีใครสนใจ คือ การไปตามความก้าวหน้าทางคดีของ #พเยาว์อัคฮาด แม่ของพยาบาลกมลเกด ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่วัดปทุมวนาราม 19 พ.ค.53 ซึ่งอีกไม่กี่วันจะครบ 10 ปี โดยคดีนี้กระบวนการไต่สวนการเสียชีวิต เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 ศาลมีคำสั่งว่า “ทั้ง 6 คน เสียชีวิตจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนจากมือของทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน” หลังจากนั้นได้มีการส่งเรื่องฟ้องต่อศาล ซึ่งสุดท้ายศาลมีคำสั่งยกฟ้องโดยระบุว่าอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ทำให้กลุ่มผู้เสียหายยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ป.ป.ช. ได้มีมติให้คำร้องตกไป แต่ก็ระบุว่าได้มีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อ 

คดีนี้พะเยาว์ได้แจ้งความเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าในวันที่ 19 พ.ค.2553 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องนายทหารทั้ง 8 นาย โดยอัยการให้เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้องว่าเพราะไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และไม่มีพยานบุคคลที่ระบุว่าทหารทั้ง 8 นายได้กระทำการยิงปืนเข้าไปในวัดเพื่อฆ่าผู้อื่น

น่าเสียดายที่ #ความโกรธความเกลียดชังหลวงพี่ไพศาล #ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของพเยาว์ ไม่ได้ร่วมต่อสู้ ร่วมผลักดันในการทวงถามความยุติธรรมให้กับบรรดาผู้เสียชีวิต เพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษในประเทศไทย

คดีสลายการชุมนุม นปช. ผ่านมา 10 ปี เหลืออีกครึ่งทางก่อนจะหมดอายุความ ในขณะที่คดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอีกมากมายก็ทยอยใกล้หมดอายุความ ไม่ว่าจะเป็น กรือเซะ ตากใบซึ่งเหลืออายุความอีก 4 ปี (2567) รวมถึงกรณีการเสียชีวิตของคนจำนวนมากในช่วงสงครามยาเสพติด คงมีเพียงคดีการบังคับสูญหายที่ไม่มีอายุความตามกฎหมายระหว่างประเทศ

แม้สถานการณ์ปัจจุบันจะมีหลายเรื่องที่สร้างความหดหู่ เศร้าหมอง แต่เราไม่ควรปล่อยให้ความรู้สึกนี้ทำลายมิตรภาพในการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมทุกข์ร่วมสุขของผู้คนในสังคม

และไม่ว่าจะหนักหน่วงแค่ไหน ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันติดตามไม่ว่าจะเป็น พรบ กู้เงินแสนล้าน หรือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงลิขสิทธิ์เมล็ดพันธ์พืช #NoCPTPP การร่วมกันทวงถามความยุติธรรมให้กับทุกคน และไม่ปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นต่อไป