วันศุกร์, พฤษภาคม 15, 2563

“ผมเห็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงศัพท์แบบปรีดี แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังแสดงออกมา ผมว่าหลายอย่างคือการพัฒนาต่อยอดมาจากปรีดี”– ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล





ที่มา 1O1

จิตวิญญาณความเป็น ‘ปรีดี พนมยงค์’ ในหมู่คนรุ่นใหม่

ตลอดเวลาที่ปรีดีเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบาลและมีอำนาจอยู่ในมือ ท่านก็พยายามทำหลายสิ่งเท่าที่ทำได้แล้ว เช่น ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติเทศบาล ริเริ่มการจัดตั้งธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) หรือการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในมุมมองของผม นี่คือสิ่งที่ท่านแปรรูปความคิดออกมาเป็นการกระทำ

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายสิ่งที่ปรีดีคิด เขียน แต่ไม่ได้สำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม เช่น เค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งปรีดีต้องการให้เกิดสหกรณ์ที่เป็นระบบเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ พึ่งพาตนเองได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับการผลิตไปจนถึงการแจกส่วนผลผลิตต่างๆ รวมถึงการยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้น สหกรณ์ในมุมมองของปรีดี ถ้าเทียบกับปัจจุบันคือ การที่ท้องถิ่นมีอำนาจปกครองและดูแลตนเอง ตอนนี้เราก็พยายามผลักดันให้ท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

นอกจากเรื่องนี้แล้ว ปรีดียังพยายามผลักดันอีกหลายเรื่อง ทั้งสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ยังมองไม่เห็นได้เป็นรูปธรรมจริง แต่ถ้ามองในประวัติศาสตร์ยาวๆ ผมกลับเห็น ‘ปรีดี’ เต็มไปหมดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องโยงไปถึงศัพท์แบบปรีดี แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังแสดงออกมา ผมว่าหลายอย่างคือการพัฒนาต่อยอดมาจากปรีดี ในยุคนั้น ปรีดีใช้คำและคำศัพท์อธิบายในบริบทสังคมของท่าน และด้วยสภาพพัฒนาการของสังคมไทยทำให้สิ่งเหล่านี้ได้ตกทอดมา และทำให้สังคมไทยย้อนกลับไปหาความคิดแบบเดียวกับที่ปรีดีเคยคิดมาแล้วเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และอย่าลืมนะว่า ปรีดีถือเป็นคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้นเหมือนกัน (ปรีดีมีอายุ 33 ปี ในขณะที่เป็นแกนนำคณะราษฎรในการอภิวัฒน์สยาม 2475)

ถ้าต้องนิยามจิตวิญญาณของความเป็นปรีดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องการเห็นความสำคัญของกติกา การเปลี่ยนผ่านโดยสันติ และการให้ความสำคัญกับการเคารพคนอื่น เรื่องพวกนี้เราอาจนึกไม่ถึง แต่มันค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบ ชนิดที่ถ้าเราไม่สังเกตดีๆ เราจะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ บางที กลุ่มคนที่ค่อนข้างอาวุโสอาจจะต้องทบทวนเหมือนกัน แม้กระทั่งรุ่นของผมเอง ผมยังรู้สึกว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมหาศาลเลย

ตอนนี้ เราจะเห็นเด็กรุ่นใหม่หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน ผมคิดว่านี่เป็นผลส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กรุ่นใหม่ปรับตัวได้ค่อนข้างลำบาก ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดผลเสีย แต่ขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดผลด้านบวกคือ เด็กรุ่นใหม่สามารถซึมซับอะไรหลายอย่างได้ชนิดที่เราคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

จากปรีดีถึงคนรุ่นหลัง

ประเด็นสำคัญจากบทเรียนชีวิตปรีดี พนมยงค์ คือ การเคารพคนอื่น เห็นคนอื่นเป็น ‘มนุษย์’ ไม่น้อยไปกว่าตัวเอง ผมว่าสองเรื่องนี้สำคัญมาก และจะนำมาซึ่งตรรกะในทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่สูงยิ่ง

คุณสังเกตอะไรไหม ภาษาเป็นเรื่องสำคัญนะ คนไทยใช้คำว่า ‘มนุษย์’ น้อย แต่ใช้คำว่า ‘คน’ เยอะ สำหรับผม นิยามของ ‘มนุษย์’ ไม่เท่ากับ ‘คน’ เสียทีเดียว คำว่า ‘มนุษย์’ ในภาษาไทยคือผู้มีใจสูง ซึ่งผมว่าเป็นความหมายที่ดีพอสมควร คำว่า ‘มนุษย์’ ทำให้เราเห็นความเสมอภาคและเท่าเทียมกันค่อนข้างมาก แต่คำว่า ‘คน’ มีความกว้าง ไม่เห็นตัวตนและชีวิตจิตใจ

ผมคิดว่าตนเองเห็นเจตนารมณ์ของสิ่งที่ปรีดีพยายามบอกอย่างชัดเจนในงานเขียน 2 ชิ้นที่ท่านเขียน ชิ้นแรกคือ คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ที่พยายามเตือนคนรุ่นหลังในแง่ความผิดพลาดของคณะราษฎร เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นบทเรียนภายใน ผมอ่านแล้วรู้สึกว่า ปรีดีกำลังบอกเราว่ามนุษย์เป็นแบบนี้แหละ ถ้าเจอกับอำนาจหรือผลประโยชน์เข้าไป และมีจุดยืนไม่มั่นคงพอ

อีกชิ้นหนึ่งคือบทความ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ปรีดีพยายามบอกว่า เราต้องมีจุดยืนหรือความมั่นคงในอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่ก็ต้องมียุทธศาสตร์เช่นกัน

ในแง่ปัจจุบัน เท่าที่ผมติดตามสถานการณ์ ผมนึกถึงข้อเขียนที่ท่านพูดในแง่กฎวิทยาศาสตร์สังคม คือถ้าฝ่ายที่มีอำนาจไม่อยากให้เกิดปัญหา และยังยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถต่อสู้ได้ตามหนทางสันติวิธี ผมว่ามันยังไปด้วยกันได้อยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ประตูแห่งสันติวิธีถูกปิดตายทุกบาน ปรีดีมองว่า มันเป็นกฎธรรมชาติที่อีกฝ่ายจะสู้ต่อ แต่จะใช้วิธีไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังกันต่อไป นี่เป็นเรื่องสำคัญนะครับ ประสบการณ์ของปรีดีก็บอกพวกเรานะว่า เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ก็ต้องดูแล้วว่าสถานการณ์ไปถึงขั้นไหน

สำหรับผม ปรีดีล้มเหลวหลายเรื่อง ล้มเหลวในที่นี้คือไปไม่ถึงดวงดาว ท่านพยายามทำ แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งที่มีความตั้งใจ แต่ปรีดีก็ทำหลายเรื่องสำเร็จเช่นกัน ซึ่งผมมองว่า ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของปรีดี นอกจากจะหมายรวมถึงทุกเรื่องที่ท่านทำสำเร็จแล้ว ยังต้องรวมเอาความล้มเหลวเข้าไปด้วย เพราะมันยังมีมุมที่ทำให้เราเห็นว่า อย่างน้อย ก็มีสามัญชนคนไทยคนหนึ่งกล้าลุกขึ้นมาบอกกับเราว่า พวกเราสามารถรับผิดชอบอนาคตของตัวเองได้ จริงอยู่ที่เรื่องศีลธรรมของคนกลุ่มหนึ่งไม่เหมือนคนอีกกลุ่มหนึ่ง การจะบอกว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต้องใช้เกณฑ์หลายอย่างตัดสิน แต่ถ้าพูดในเกณฑ์สังคม วัฒนธรรม การเมือง ผมว่าเราต้องดูว่า คุณเคารพคนอื่นมากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และปรีดีพยายามทำมาโดยตลอด

แสงสว่างในโมงยามแห่งความพร่าเลือน

การที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจเรื่องปรีดี หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มากขึ้น มันสะท้อนว่า พวกเขากำลังแสวงหาคำตอบ หาทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ถ้าพูดง่ายๆ คือ เด็กรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ในสภาพการณ์ที่เขาต้องเผชิญอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน พวกเขาพยายามหาว่า มีทางเลือกอื่นไหมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ มีใครเคยเสนอความคิดอื่นที่แตกต่างไปจากที่เขาเคยรับรู้หรือซึมซับอยู่ไหม เราต้องให้เสรีภาพในการค้นคว้า แสวงหา และคลำทางไปจนกว่าเขาจะเจอในสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่หันมาหาคำตอบบางอย่างที่คนรุ่นพวกเราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำไป

เพราะฉะนั้น เราอาจจะไม่ต้องแนะนำอะไรมาก เพราะเด็กจะยิ่งตั้งคำถามหลายอย่าง เราต้องปล่อยเขาให้หาและตั้งคำถามด้วยตัวเอง การตีความต่างๆ เป็นเรื่องวิชาความรู้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิชาความรู้งอกเงยขึ้นมาจากเจตจำนงหรือความต้องการที่จะรู้ของพลเมือง นี่เป็นครรลองที่ควรจะเป็นไปอยู่แล้ว

ผมเองเคยมานั่งคิดว่า ตนเองเริ่มสนใจปรีดี พนมยงค์ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งก็น่าจะเป็นตอนที่ผมไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั่นแหละ ตอนผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2529 ผมยังไม่ค่อยรู้จักปรีดีมากมายนัก อาจจะรู้จักในมุมของนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ หรือผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าอะไรคือตัวตนที่สำคัญที่สุดของปรีดี จนผมมาเจอตัวตนที่แท้จริงของปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจ มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่รวบยอดอยู่ในนั้น เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ก่อนปรีดีถึงแก่อสัญกรรมไม่นาน ท่านก็ยังกลับมาพูดถึงประเด็นนี้ ผมเลยรู้สึกว่า มันสำคัญเกินกว่าที่เราจะปล่อยมือได้

ตัวผมรู้สึกยินดีที่มีคนหันกลับมาสนใจหรือมาตามอ่านงานของปรีดี สิ่งที่ท่านได้ทำไว้ในเรื่องความคิด ภูมิปัญญา หรือการกระทำที่เป็นรูปธรรมสามารถถกเถียงกันได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดและจะทำให้ ‘ปรีดี พนมยงค์’ อยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกนานแสนนานคือเรื่องความคิดของท่าน ปรีดีอยากให้อนาคตสังคมไทยเป็นอย่างไร ทั้งในมุมมองของท่านและในมุมมองปัจจุบันของเรา ผมว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ และอยากให้ทุกคนลองอ่านปรีดีดู เราจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่อาจจะคิดไม่ถึงเลยว่า เคยมีคนแบบนี้อยู่ในประเทศนี้ด้วย

โดย
Kanteera Purivikrai กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

อ่านฉบับเต็มที่



...