วันศุกร์, พฤษภาคม 15, 2563

เจ้าสัว ‘ธนินท์’ เสนอรัฐบาล ‘ปลดล็อค’ ยับยั้งเศรษฐกิจพัง 1 เดือนเศรษฐกิจสูญ 5 แสนล้าน แนะกู้ 3 ล้านล้าน อุ้มแรงงาน-เกษตร-ท่องเที่ยว




เจ้าสัว ‘ธนินท์’ เสนอรัฐบาล ‘ปลดล็อค’ ยับยั้งเศรษฐกิจพัง

14 พฤษภาคม 2563
กรุงเทพธุรกิจ

"ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานอาวุโส "ซีพี" เผย 1 เดือนเศรษฐกิจสูญ 5 แสนล้าน เสนอรัฐบาล 'ปลดล็อค' ยับยั้งเศรษฐกิจพัง แนะกู้ 3 ล้านล้าน อุ้มแรงงาน-เกษตร-ท่องเที่ยว ศบค.ติงอย่าชะล่าใจ หลังไทยไม่พบผู้ติดเชื้อครั้งแรกรอบ 65 วัน

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า รัฐบาลควรปลดล็อคเมือง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เพราะตั้งแต่ไทยใช้นโยบายปิดเมือง 1 เดือน ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งหากยังปิดล็อคต่อไป จะยิ่งสรางความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยาให้ฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน

“การปิดไปเลย ปล่อยให้ล้มละลายไปเลย เวลาฟื้นจะไม่ง่าย เหมือนสร้างบ้าน ระเบิดตึก 10 ชั้นวินาทีเดียวพังหมด แต่เวลาสร้างใหม่ 10 ชั้น ต้องใช้เวลาเป็นปี นี่จึงเป็นเหตุให้อเมริกา ต้องรีบเปิด แม้จะมีปัญหา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็รีบเปิดเหมือนกัน เพราะถ้าปิดไปนานๆเศรษฐกิจจะพัง”

ทั้งนี้ สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำการศึกษาและรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ พบว่า ออสเตรเลีย จีดีพีหดตัว 10.4% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายวันละ 4,800 ล้านบาท ฝรั่งเศส จีดีพีหดตัว 32% เสียหายวันละ 14,800 ล้านบาท สหราชอาณาจักร จีดีพีหดตัว 35% เสียหายวันละ 16,185 ล้านบาท มาเลเซีย จีดีพีหดตัว 58% เสียหายวันละ 26,925 ล้านบาท

ส่วนกรณีของประเทศไทยนั้น นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะเสียหายวันละ 18,670 ล้านบาท ขณะที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประมาณการมูลค่าความเสียหาย โดยใช้ข้อมูลรายการย่อยขององค์ประกอบจีดีพีที่คำนวณจากด้านรายจ่าย และคำนวณจากด้านผลผลิต พบว่า จากด้านรายจ่ายจะเสียหายวันละ 15,010 ล้านบาท หรือ 32.5% ของจีดีพีต่อวันที่อ้างอิงจีดีพีปี 2562 ต่อวันอยู่ที่46,240 ล้านบาท และด้านผลผลิต เสียหายวันละ 16,460 ล้านบาท หรือ 35.6% ของจีดีพีต่อวัน

“ค่าเสียหายต่อวัน แทนที่เราจะรอให้เสียหาย เอาเงินที่จะเสียหายไปเสริมจุดแข็งประเทศ เพื่อความพร้อมยามฟ้าสว่าง ลงทุนด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน”

มั่นใจไม่ซ้ำรอยญี่ปุ่น-เกาหลี

“ผมมองต่างจากคนอื่น ผมเห็นว่าวันที่น่ากลัวที่สุดได้ผ่านไปแล้ว นั่นก็คือวันที่รัฐบาลประกาศปิดเมือง ปิดกรุงเทพ คนทะลักกลับต่างจังหวัด ตรงนี้ถือว่าอันตราย แต่ผ่านไป 2 อาทิตย์ กลับไม่มีปัญหา ทำให้ผมมั่นใจว่า ถ้าเราจะเปิดเมือง ก็จะไม่เป็นแบบเกาหลีและญี่ปุ่นแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ต้องชมเชยท่านนายกรัฐมนตรี ที่ทำได้ดี”

แนะกู้เงิน 3 ล้านล้านฟื้นฟูประเทศ

นายธนินท์ กล่าววว่า ในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะจบเมื่อใด แต่รัฐบาลจะรอไม่ได้ จะต้องดำเนินการทันที เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เมื่อการระบาดจบเศรษฐกิจจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้

“ในยามวิกฤตต้องบริหารแบบเหตุวิกฤต ต้องเร็ว และมีคุณภาพ”

ส่วนการกู้เงินนั้น ควรจะกู้เงินจากต่างประเทศ และวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้ระยะยาว 30 ปี โดยนำเงินมาใช้ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยมุ่งไป 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การดูแลภาคเกษตร ให้มีรายได้สูงขึ้น 2.การดูแลการจ้างงาน ให้มีรายได้ 70%ของเงินเดือน โดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้บริษัทที่ดี 3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และ 4. การวางระบบสาธารณสุข สร้างบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล โรงพยาบาล รองรับไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของโลก

“เครดิตประเทศเราดีกว่าอังกฤษ การเงินการคลังของเราติดท็อป 10 ของโลก ทุกวันนี้เราเอาเงินไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯรับผลตอบแทน 0.20% ให้เปลี่ยนเป็นกู้มาใช้จ่ายในประเทศ รักษากำลังซื้อ อย่าปล่อยให้โรงงานปิด เครื่องจักรหยุดทำงาน”



เชื่อท่องเที่ยวกลับมาบูม

นายธนินท์ กล่าวว่า โลกหลังโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล อย่างที่คาดไม่ถึง การศึกษาออนไลน์จะเกิดขึ้นแน่นอน การซื้อของในบ้าน ซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นแน่และรวดเร็ว การใช้เงินกระดาษจะลดลง เพื่อลดการติดเชื้อ ส่วนสถานที่แออัดที่ผู้คนไปชุมนุมกันมากๆนั้น ตอนนี้ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร

ส่วนการท่องเที่ยวจะมีมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง เพราะคนไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศอีกต่อไป คนจะทำงานที่บ้าน ท่องเที่ยวไปทำงานไป ดิจิทัลและเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีอำนาจการจับจ่ายสูง เพียงแต่รัฐบาลจะต้องทำงานเชิงรุก ประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยปลอดภัย ผ่านทางสถานฑูต ฑูตพาณิชย์ ที่ต้องออกไปเคาะประตูบ้าน

“เราต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ประเทศไทยปลอดภัย ความจริงไทยควรจะติดโควิดมากที่สุดในอาเซียน เพราะคนมาเที่ยวปีละ 40 ล้านคน โดยเฉพาะคนจีน แต่เราติดน้อยที่สุดแค่หลัก 3 พันคน กระทบน้อยที่สุด เพราะมีหมอที่เก่ง และมี ท่านนายกรัฐมนตรี ที่รับมือได้ทันเวลา”

ศบค.ไม่พบผู้ติดเชื้อในไทย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ ถือเป็นวันแรกในรอบ 65 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2563ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทย โดยไม่พบทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,017 ราย รักษาหายแล้ว 2,844 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 117 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 มีรายงานการพบผู้ป่วยที่จ.นราธิวาส และกรุงเทพฯ ซึ่งยังคงมีการสอบสวนโรคและเฝ้าระวังผ็สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ ที่อาจจะยังไม่ป่วยแต่อาจจะป่วยได้ในวันต่อไป ดังนั้นสถานการณ์ในประเทศไทย ประชาชนเบาใจได้ แต่อย่าวางใจ จะต้องยึดแนวปฏิบัติการป้องกันโรคส่วนบุคคลให้เหนียวแน่นต่อไปทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่าง ขณะที่สถานประกอบการจะต้องทำความสะอาด และอย่าให้เกิดความแออัดในการใช้บริการ

ไม่สรุปไทยปลอดเชื้อ


นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าไทยปลอดเชื้อ ปลอดภัยแล้วประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะยังมีคนที่ฟักเชื้ออยู่และอยู่ในการเฝ้าระวังคนสัมผัสเสี่ยงผู้ป่วยก่อนหน้าอยู่ด้วย หากดูแลไม่ดีเมื่อเจอผู้ติดเชื้อ 1 ราย อย่างเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ 1 รายติดไปแล้ว 100 กว่าคนและต้องตามอีก 2,000 ราย ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 ยังมีผู้ป่วยอยู่ ซึ่งอาจไปสัมผัสกับใครมาบ้าง ก็เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค ชุมชนท้องถิ่นและญาติต้องช่วยกันดูว่ามีอาการหรือไม่

“ต้องเป็น 0 ราย ไปอีก14-21 วัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายงานเช่นนี้ แม้แต่ประเทศจีนเองที่รายงานเป็น 0 รายมาหลายวัน ยังกลับมาพบผู้ป่วย เช่น เมืองอู่ฮั่น”นพ.ทวีศิลป์กล่าว

‘วิษณุ’ แย้มคลายล็อกเฟส 2

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องการคลายล็อคระยะที่ 2 แล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์และนำข้อมูลไว้รายงานต่อที่ประชุมในวันพรุ่งนี้(15 พ.ค.)โดยยึดหลักเกณฑ์ระยะที่ 1 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่อนปรนมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องประเมินพิจารณาผ่อนปรนในระยะที่ 2 โดยจะต้องพิจารณาถึงโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ กิจกรรมต่างๆ

ทั้งนี้โอกาสเสี่ยงบุคคล ในคนบางประเภทไม่เสี่ยง แต่บางประเภทเสี่ยง เช่น การอยู่บ้านกับการเดินทางเด็กกับผู้ใหญ่ ส่วนในเรื่องของสถานที่เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด ผับ บาร์กับโอกาสเสี่ยงของกิจกรรม ซึ่งบางอย่าง 5-10 คนมารวมกันถือว่าเสี่ยง แต่บางกิจกรรมไม่เสี่ยง เพราะมีวิธีการดูแล โดยสรุปแล้วต้องพิจารณาเรื่องคน สถานที่ และกิจกรรม พร้อมกันนี้ต้องพิจารณาถึงตัวเลขผู้ป่วยสะสม ผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัด

ส่วนกรณีผู้ประกอบการต้องการให้ผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิว รองนายกฯ กล่าวว่า กำลังพิจารณากันอยู่ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะผ่อนคลายจุดนี้หรือไม่ ส่วนเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มองว่าจะยกเลิกได้ในระยะเวลาไหน หลังจากที่เห็นสถานการณ์โควิด-19 เบาลงนั้น ก็เร็วไปที่จะพูดในขณะนี้ เพราะเพิ่งผ่านมาครึ่งเดือนพ.ค. อีกครึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 31 พ.ค.

“หาก 77 จังหวัดรวมทั้งกทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ขณะเดียวกันผู้ว่าฯเองก็ไม่มีความมั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด เช่น ถ้าไปสั่งปิดอะไรแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้มีคนตกงานและคนเหล่านี้วิ่งมาขอความช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เพราะจังหวัดเยียวยาไม่ได้ ตรงนี้ทำให้ผู้ว่าฯไม่มีความมั่นใจในการใช้อำนาจ กลัวว่าทำไปแล้วจะกระทบ จะแย่หรือไม่”นายวิษณุ กล่าวย้ำ

รองนายกฯ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลกลางมีอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถสั่งการได้ทีเดียวทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลกลางสั่งปิดอะไรก็ต้องมั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้นจะต้องลงไปเยียวยา เพราะหากผู้ว่าฯใดสั่งปิดกิจการและทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนจะให้กระทรวงการคลังมาเยียวยา กระทรวงการคลังก็คงไม่เยียวยาให้ ตรงนี้คือช่องว่างหากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน