วันอังคาร, พฤษภาคม 05, 2563

เปลือยวิกฤตโควิด-19 ทางรัฐศาสตร์ ผ่านหนังสองเรื่อง และความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ





โควิด-19 ความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพ หนังสองเรื่อง และ การเปรียบเทียบทางรัฐศาสตร์

ในภาพยนต์ World War Z แบรด พิตต์ พบว่า ผู้ติดเชื้อจนกลายเป็นซอมบี้จะไม่จู่โจมคนป่วย เพราะเชื้อซอมบี้ไม่เลือกร่างกายที่เจ็บไข้อ่อนแอ เป็นบ้านพักเพาะพันธุ์

แต่สำหรับโควิด-19 ข้อมูลชุดแรก ๆ บอกเราว่า ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และผู้สูงอายุ ต่อมาข้อมูลที่เพิ่มขึ้นพบว่าในบางประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนผิวดำ คนเชื้อสายลาตินอเมริกา และ ในอังกฤษ และ เวลส์ คนยากจน เป็นผู้ป่วยที่อาการสาหัส หรือในที่สุดเสียชีวิต มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น

สหสัมพันธ์หรือคุณลักษณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนหนึ่ง มีร่วมกัน คือ รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย นอนหลับไม่พอ แพทย์พบว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวนมากมีอาการถูกกระหน่ำด้วยพายุไซโทไคน์ (a cytokine storm) อันเป็นผลจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ที่ปกป้องไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามาทำอันตรายต่อร่างกาย หรือเมื่อหลุดเข้ามาแล้วก็จะพยายามกำจัดออกไปโดยเร็ว

ระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 เชื่อมโยงกับรายได้ สภาพแวดล้อมที่เติบโต ความสะอาดของอาหารที่บริโภค น้ำที่ดื่ม อากาศที่หายใจ และโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล

ดังนั้น แม้มักกล่าวกันว่า โควิด-19 ติดได้ในทุกทวีป ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา ไม่แบ่งชนชั้น คนรวยหรือจน แต่ความรุนแรงของอาการและโอกาสในการรักษาดูเหมือนจะไม่เท่าเทียมกัน

ยังไม่นับว่าการใช้ชีวิตแบบมีระยะห่างทางกาย (physical distancing) กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือ และ WFH เป็นความหรูหราที่ไม่ใช่ทุกคนจะปฎิบัติได้ จำนวนผู้ป่วยสิงคโปร์ที่เพิ่มขี้นอย่างรวดเร็ว เกิดในประชากรแรงงานข้ามชาติผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ที่พักคับแคบ ขาดสุขอนามัย นับเป็นตัวอย่าง

โควิด-19 ได้เปิดเปลือกความไม่เท่าเทียมกันทางสุขภาพและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่ซุกซ่อนอยู่ตามมุมต่าง ๆ ในโลกใบนี้ ให้เด่นชัดขึ้น

วิธีการหาสหสัมพันธ์ที่คุณหมอและนักวิจัยใช้ทำความรู้จักโควิด-19 เพื่อจำแนกคุณลักษณะของผู้ป่วย เพศ วัย พฤติกรรม ความรุนแรงของอาการ และการตอบสนองของร่างกาย หรือที่ แบรด พิตต์ สังเกตว่าซอมบี้จะไม่กัดคนเป็นไข้ ก็ไม่ต่างกันนักกับวิธีการแสวงหาปัจจัยร่วม (correlation) และ/หรือ ปัจจัยแตกต่าง ทางรัฐศาสตร์

ตัวแปรเช่น ความร้อนฆ่าเชื้อ จำนวนผู้สูงวัยในประเทศ คุณภาพของระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ต่างก็มีกรณีโต้แย้งได้ และในหลายประเทศที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย อาจเป็นเพียงเพราะว่าโควิด-19 ยังเดินทางไปไม่ถึง และต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของตัวเลขด้วย

Francis Fukuyama ชี้ว่า ระบอบการเมืองแบบสองขั้วตรงข้ามระหว่างประชาธิปไตย กับ อำนาจนิยม ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ตัวแปรที่สำคัญกว่าคือ ความไว้วางใจต่อผู้นำ และ ศักยภาพของกลไกรัฐ

Sofia Fenner นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Bryn Mawr College เปรียบเทียบ 4 ตัวแปรคือ ระบอบการเมือง ศักยภาพของกลไกรัฐ การจัดการของผู้นำ (เชิงรุกหรือชะลอการแก้ปัญหาเมื่อเชื้อแรกปรากฎ) และ ประชาชนยอมทำตามมาตรการของรัฐ ทำให้เราอนุมานในชั้นต้นได้ว่า แม้ในระยะแรกรัฐบาลไทยจะตอบโต้ปัญหาล่าช้า แต่ศักยภาพของระบบสาธารณสุข และการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตไม่สูงนัก

แน่นอนว่า การประเมินโควิด-19 ทางรัฐศาสตร์ ในระยะยาว ไม่อาจวิเคราะห์เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ต้องพิจารณาวิธีที่รัฐปฏิบัติต่อพลเมือง ประสิทธิภาพและการจัดลำดับความสำคัญในการบริหารการเงินการคลังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เปราะบาง ขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงหายนะของระบบเศรษฐกิจด้วย

ในภาพยนตร์ Contagion ฉากสุดท้ายเฉลยว่าต้นกำเนิดเชื้อโรคตั้งต้นจากการสัมผัสมือกับเชฟ เชฟทำเมนูหมู หมูกินกล้วย กล้วยหล่นจากค้างคาวซึ่งบินมาแต่ป่าในประเทศจีน

ตามท้องเรื่อง หลังการระบาด 135 วัน นักวิจัยอเมริกาผลิตวัคซีนได้ (ย่อมต้องเป็น CDC ของอเมริกาอยู่แล้ว ก็มันหนังฮอลลีวู้ดนี่จ๊ะ) ช่วงแรกมีการช่วงชิงวัคซีนเพราะไม่เพียงพอต่อประชากรทั้งโลก แต่หนังก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง และมีการแช่แข็งวัคซีนเก็บไว้ด้วย

ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อผลิตวัคซีนได้ บริษัทหรือประเทศผู้ผลิตจะแบ่งปันให้ประชาชนทั่วโลกเข้าถึงได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ใครควรได้รับก่อน และต้องจ่ายในราคาเท่าไหร่

กว่าการระบาดจะเบาบางลงจนหมดฤทธิ์เดช คงอีกยาวไกล และอาจมีปัญหาใหม่ ๆ ที่คาดเดาไม่ถึงตามมา

ดิฉันอาจคล้อยตาม Fukuyama และ Fenner ที่ว่า รูปแบบระบอบการปกครองอาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการจัดการวิกฤติโควิด-19 แต่ดิฉันก็เชื่อด้วยว่า ประเทศที่แก้ปัญหาโดยมีประชาชนเป็นหัวใจ ฟังทุกข์ ฟังสุขของพวกเขา น่าจะเป็นประเทศที่ยืนระยะ กลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาสังคม และสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองได้ดีที่สุด

เครดิตภาพ และบทความสำหรับผู้สนใจอ่านเพิ่มเติมค่ะ

---
-https://www.theatlantic.com/…/coronavirus-immune-r…/610228/…
-https://www.nytimes.com/…/coronavirus-spread-where-why.html…
-https://www.theatlantic.com/…/thing-determines-how…/609025/…
- https://duckofminerva.com/…/state-regime-government-and-soc…
-https://ceoworld.biz/…/revealed-countries-with-the-best-he…/