13 05 53/03 เสธแดง ให้สัมภาษณ์ก่อนถูกยิง Humphrey Cheung#ตามหาความจริง— ThaiFreeNews (@thomasFATCAT) May 13, 2020
ผมเคยสัมภาษณ์น้องเดียร์ลูกสาวเสธแดง ว่าคดีคืบหน้าอย่างไรบ้าง
เดียร์ บอกว่าไม่มีคืบหน้าใดๆ แม้นแต่เพื่อนคุณพ่อซึ่งเป็นทหารร่วมรุ่นยังไม่มีใครกล้าตามเรื่องต่อ คุณว่าคนสั่งฆ่าต้องใหญ่ระดับไหน? https://t.co/esd13OW9ky
https://www.youtube.com/watch?time_continue=27&v=Fgp6TFZL1Ds&feature=emb_logo
ooo
รำลึก เสธ.แดง 10 ปี คดียังไม่พ้นดีเอสไอ - ตำรวจจับ 'ฟอร์ด' ฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เสี่ยงโควิด-19
2020-05-14
ประชาไท
ขัตติยา สวัสดิผลวางดอกไม้รำลึก 10 ปี เสธ.แดง เผยคดียิงพ่อไม่คืบ-ยังอยู่ที่ดีเอสไอ ขณะที่หลังเลิกงานตำรวจจับ 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง' เพราะโพสต์ชักชวนรำลึก เสธ.แดง แต่ตอนจัดงานมีบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แถมจับกลุ่มพูดคุย รวมตัวถ่ายภาพไม่เว้นระยะห่าง เสี่ยงแพร่ระบาดโควิด-19 จึงตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยฟอร์ดขอสู้ในชั้นศาล
คนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนร่วมรำลึก 10 ปี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เสียชีวิตที่ทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ทางออกฝั่งสวนลุมพินี เมื่อ 13 พ.ค. 63 (ที่มา: สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์)
บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ทางออกฝั่งสวนลุมพินี เวลา 18.00 น. คืนวานนี้ (13 พ.ค.) กลุ่มคนเสื้อแดงร่วมกันจัดรำลึกงานรำลึก 10 ปี พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงหัวค่ำของวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
ในการรำลึกบริเวณที่ พล.ต.ขัตติยะ ถูกยิงดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหลายสิบคน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 40 นาย และมีพยาบาลตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมกิจกรรม
หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานรำลึกคนหนึ่งกล่าวว่าเมื่อ 10 ปีก่อนเธอเป็นช่างภาพอิสระถ่ายภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่างการชุมนุม และเธอเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนก็มีพยานมีภาพหลักฐานอยู่ แต่ก็มีกระบวนการในการปิดบัง ไม่ว่าจะเป็นกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม หรือกรณีเสียชีวิตของน้องเฌอ หรือสมาพันธ์ ศรีเทพ ที่คดีก็เงียบหายไป แต่พอเป็นคดีของคนเสื้อแดงกลับยัดข้อหามาให้แกนนำ นปช.เป็นผู้ก่อการร้าย สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องแต่กระบวนการนี้ก็ได้ทำให้เขาเสียชื่อเสียง สร้างความแตกแยกของคนในชาติไปแล้ว เป็นแบบนี้แล้วจะไม่ให้ออกมาตามหาความจริงได้อย่างไร
ขัตติยา สวัสดิผล และคนเสื้อแดง ร่วมรำลึก 10 ปี เสธ.แดง เสียชีวิต (ภาพถ่ายโดย: สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์)
เวลาประมาณ 19.00 น. ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะได้เดินทางมาร่วมรำลึกด้วยพร้อมกับให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบทบาทของกองทัพว่า 10 ปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม ก็ยังไม่เห็นมีทหารคนไหนออกมายืนข้างประชาชนเลย แต่ก็อยากเห็นว่ากองทัพออกมายืนข้างประชาชน
ขัตติยากล่าวถึงกรณีที่ทางฝ่ายความมั่นคงพิจารณาดำเนินคดีผู้ออกฉายโปรเจคเตอร์และแสงเลเซอร์ข้อความ #ตามหาความจริง ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะอยากรู้ความจริงกับเรื่องที่เกิดขึ้น ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ใครทำอะไรไว้ย่อมได้อย่างนั้น แต่ต้องไม่ช่วยพวกพ้องปกปิดกันเอง ขอให้เห็นหัวประชาชนบ้าง สำหรับกิจกรรมฉายแสงเลเซอร์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องดีที่มีคนย้อนไปว่า 10 ปีที่แล้วเกิดอะไรขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ส่วนคดีการเสียชีวิตของบิดา ขัตติยากล่าวว่าคดีความในขณะนี้ก็ยังคงอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ
สำหรับ พล.ต.ขัตติยะ ถือเป็นบุคคลแรกที่เสียชีวิตในเหตุสลายการชุมนุมที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เรียกว่า “ปฏิบัติการกระชับวงล้อม” ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 13 พ.ค. 2553 โดย พล.ต.ขัตติยะ ถูกยิงที่ศีรษะขณะให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศบริเวณทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี
ในคืนเดียวกันยังมี ชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเข้าที่ศีรษะเสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณตึกแถวข้างอาคารอื้อจื่อเหลียง ถ.พระราม 4 โดยในคดีไต่สวนการตาย ศาลยุติธรรมได้พิจารณาสำนวนและมีคำสั่งว่าชาติชายเสียชีวิตโดยกระสุนขนาด 5.56 มม. และมีทิศทางยิงมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของทหาร แต่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดที่ยิง อย่างไรก็ตามยังคงไม่พบว่ามีข่าวความคืบหน้าใดๆ ในการนำคดีเข้าสู่การฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิด
หลังจบงาน สน.ลุมพินีจับ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทันที
อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ฟอร์ด เส้นทางสีแดง ขณะร่วมกิจกรรมรำลึก 10 ปี เสธ.แดง
อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุม คืนวันที่ 13 พ.ค. 63 และตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เวลาประมาณ 19.15 น. ทันทีที่กิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ เสร็จสิ้น ตำรวจ สน.ลุมพินี เข้าจับกุมอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ นักกิจกรรมเสื้อแดงและรณรงค์ประชาธิปไตย โดยอ้างว่าได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการจัดชุมนุม และแจ้งว่าจะนำตัวไปที่ สน.ลุมพินี
ผู้สื่อข่าวได้ติดตามไปที่ สน.ลุมพินี พบว่าตำรวจได้นำตัวอนุรักษ์เข้าไปที่ห้องสืบสวนแล้วโดยไม่ให้เพื่อนของอนุรักษ์ที่ติดตามมาเข้าไปในห้องด้วย จากการสอบถามกับทางตำรวจทราบว่าจะมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 2 (2) และแจ้งว่าอนุรักษ์ได้ติดต่อทนายความแล้ว
ภายหลัง เวลา 22.38 น. อนุรักษ์ได้โพสต์ภาพเอกสารบันทึกการจับกุมพร้อมข้อความทางเฟสบุ๊คส่วนตัวว่าการทำกิจกรรมรำลึกดังกล่าวตัวเขาได้ประสานงานกับตำรวจทุกอย่างทั้งการจัดให้ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย จัดระเบียบให้คนเข้าจุดเทียน แต่พลาดที่เรียกคนที่มาทำกิจกรรมรวมตัวกันให้ผู้สื่อข่าวถ่ายรูป ซึ่งตำรวจมองว่าขัดกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตนยืนยันที่จะสู้คดีในชั้นศาล ตำรวจจึงได้ตั้งวงเงินประกันตัวในชั้นนี้เป็นเงิน 40,000 บาท โดยมีทศพร เสรีรักษ์ มาเป็นนายประกัน
บันทึกจับกุมตำรวจระบุกิจกรรมเสี่ยงแพร่โควิด-19 จึงจับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ในบันทึกจับกุมระบุพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำความว่าพนักงานตำรวจชุดจับกุมพบว่าเฟสบุ๊ค “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ได้โพสต์ชักชวนให้มีการร่วมกิจกรรมจุดเทียนวางดอกไม้ในวันครบรอบการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี
ตำรวจได้ตรวจสอบพบอนุรักษ์ ผู้ต้องหาเดินทางมายังบริเวณดังกล่าว และเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมให้บุคคลมาร่วมกิจกรรมประมาณ 40 คน โดยขณะทำกิจกรรมมีผู้เข้ารวมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งมีการจับกลุ่มคุย ถ่ายภาพร่วมกันอย่างแออัดโดยไม่เว้นระยะห่าง อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตำรวจจึงได้เชิญตัวผู้ต้องหามาที่สน.ลุมพินี และได้สอบถามอนุรักษ์
โดยผู้ต้องหารับว่าเป็นผู้ชักชวนทำกิจกรรมจริง และไม่ได้ขออนุญาตจัดการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ตำรวจจึงได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดให้มีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย
ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามไปที่อนุรักษ์และได้รับคำตอบกลับมาในเวลา 23.09 น. ว่ากำลังรอพิมพ์ลายนิ้วมืออยู่ แต่คาดว่าจะได้กลับบ้านในคืนนี้