ความจริงอันกลับตาลปัตร: 10 ปีหลังการปราบคนเสื้อแดง
9 Apr 2020
พวงทอง ภวัครพันธุ์ and ปฏิภัทร จันทร์ทอง
Way Magazine
ใครเลยจะคิดว่า ณ ปี 2563 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดง 10 เมษายน และ 14-19 พฤษภาคม 2553 ช่างแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ และกองทัพเคยร่วมกันกล่าวหา แม้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังนี้จะไม่สามารถลบล้างความทรงจำที่ฝังอยู่ในตัวตนของสื่อและผู้คนที่เกลียดชังทักษิณและคนเสื้อแดงก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ยืนยันเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐ การชำระประวัติศาสตร์และทำความเข้าใจของสังคมต่อกรณีนี้ ถือเป็นภารกิจเบื้องต้นที่ไม่อาจละเลยได้ บทความนี้จึงขอทำหน้าที่บันทึกข้อเท็จจริงอันกลับตาลปัตรที่ปรากฏขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
คนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้าย
จุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหา ‘ผู้ก่อการร้าย’ เริ่มเมื่อ ‘ชายชุดดำ’ ปรากฏตัวขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน และข้อกล่าวหานี้เองจะกลายเป็นฐานรองรับข้อกล่าวหาอื่นๆ ในเวลาต่อมา
ผู้ชุมนุมเสื้อแดงภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้นำรัฐบาลเพราะมีกองทัพกดดันให้พรรคการเมืองอื่นสนับสนุน แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะทำตาม พวกเขาเข้ายึดพื้นที่ถนนราชดำเนิน และขยายไปราชประสงค์ในเวลาต่อมา รัฐบาลจึงใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ
ปฏิบัติการสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นในบ่ายวันที่ 10 เมษายน ศอฉ. อ้างว่าตนแค่พยายามกดดัน ‘ขอคืนพื้นที่’ ถนนราชดำเนิน ปราศจากการใช้กระสุนจริง แต่ในความเป็นจริง ศอฉ. ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา ปืนเอ็ม 16 และรถหุ้มเกราะสายพานลำเลียงเข้าล้อมผู้ชุมนุม พวกเขาประสบกับการต่อต้านจากโล่มนุษย์ของผู้ชุมนุมที่คิดค้นอาวุธที่พอจะใช้ได้จากข้างถนน ก็ยังไม่สามารถยึดพื้นที่ได้ เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลงจนยากแก่การมองเห็นและสุ่มเสี่ยงให้เกิดความสูญเสียอย่างรุนแรง ศอฉ. ยังไม่ยอมถอนกำลังของตน ทั้งนี้ พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ที่ได้กล่าวในบ่ายวันที่ 10 เมษายน ว่า “เราไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่า ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จะเสร็จภายในเมื่อไร ขณะนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่อาจใช้เวลานานเพราะผู้ชุมนุมต่อต้าน แม้จะใช้เวลานานก็คุ้ม ถ้ายืดเยื้อถึงค่ำเราก็ต้องทำให้เสร็จ”1
แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 1-2 ทุ่ม เมื่อจู่ๆ ก็ปรากฏชายชุดดำพร้อมอาวุธสงครามบริเวณถนนตะนาว ใกล้สี่แยกคอกวัว กราดยิงเข้าใส่กองทหารที่ตั้งอยู่ท้ายถนนตะนาว จนทหารบาดเจ็บและต้องถอยร่นไป
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บนถนนดินสอ ที่ห่างจากถนนตะนาวราว 300 เมตร ศูนย์บัญชาการทหารที่ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็ถูกปาระเบิดเข้าใส่โดยไม่มีใครเห็นตัวผู้กระทำ ส่งผลให้มีทหารเสียชีวิตทันที 5 ราย หนึ่งในนั้นคือ พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ขณะที่พลตรีวลิต โรจนภักดี บาดเจ็บสาหัส ความสูญเสียของฝ่ายทหาร ส่งผลให้พวกเขาต้องยุติปฏิบัติการในทันที
ผลของปฏิบัติการในครั้งนี้ พลเรือนเสียชีวิต 22 ราย เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงกลางวัน 3 ราย ที่เหลือ 19 รายเสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัวด้วยอาวุธปืน ถูกยิงที่ศีรษะ 8 ราย ที่ลำตัวเหนือหัวเข่า 11 ราย และที่ศีรษะและขา 11 ราย หนึ่งในนั้นคือผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ จากสำนักข่าวรอยเตอร์2
วันรุ่งขึ้นสื่อมวลชนพากันพาดหัวข่าวตามข้อกล่าวหาของรัฐบาลว่า คนเสื้อแดงคือผู้ก่อการร้าย คนเสื้อแดงฆ่ากันเองแล้วโยนความผิดให้รัฐบาล คนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ
นับจากนี้ข้อหาผู้ก่อการร้ายจะถูกใช้อย่างกว้างขวาง จนมันกลายเป็นเสียงเชียร์ให้รัฐบาลรีบเร่งปราบผู้ชุมนุม กลายเป็นความชอบธรรมที่ทำให้ ศอฉ. กล้าประกาศใช้ ‘กระสุนจริง’ กับผู้ชุมนุม และนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงวันที่ 14-19 พฤษภาคม ผลคือมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเพิ่มอีก 72 คน (รวม 84 คน) บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตอีก 5 ราย (รวมเป็น 10 ราย)
ข้อหาก่อการร้ายถูกใช้หนักหน่วงขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิลด์ โรงหนังสยาม ตลาดหลักทรัพย์ ห้างเซ็นเตอร์วัน และศาลากลางในบางจังหวัดของภาคอีสานในวันที่ 19 พฤษภาคม
ข้อกล่าวหา ‘ผู้ก่อการร้าย’ ส่งผลให้บริษัทประกันภัยปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดใช้ให้กับเอกชนที่เป็นเจ้าของอาคาร แต่ในที่สุด ในเดือนพฤษภาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้บริษัทประกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนด้วยเหตุผลว่าการเผาเหล่านั้นไม่ใช่การกระทำของกลุ่ม นปช. แต่เป็นการกระทำของกลุ่มคนที่ปิดบังใบหน้า หวังผลให้เกิดความเสียหาย ที่สำคัญการก่อเหตุเป็นช่วงหลังจากการชุมนุมได้ยุติลงและแกนนำ นปช. ถูกจับกุมแล้ว3
คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง
หลังเหตุการณ์เผาสถานที่ต่างๆ ‘ไอ้พวกเผาบ้านเผาเมือง’ ได้กลายเป็นวาทกรรมสำหรับทำลายความชอบธรรมของคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. แม้แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี 2556 ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำท่าจะพ่ายแพ้ พรรคประชาธิปัตย์ยังงัดข้อหานี้โจมตีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ทำนองว่าถ้าไม่เลือกสุขุมพันธุ์ พวกเผาบ้านเผาเมืองมาแน่ ข้อกล่าวหาทำนองเดียวกันยังถูกใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 โดยพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารอีกด้วย
กลุ่มอนุรักษนิยมที่เกลียดชังทักษิณ-คนเสื้อแดงยังคงใช้ข้อหา ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ไม่เลิกรา แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีคำพิพากษาของศาลหลายกรณีที่ยกฟ้องข้อหาดังกล่าวต่อคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. ได้แก่
1. กรณีเซ็นทรัลเวิลด์
คนจำนวนมากเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผา แต่ในวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นข้อหาวางเพลิงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คนคือ นายสายชล แพบัว และ นายพินิจ จันทร์ณรงค์ หลักฐานสำคัญคือพยานบุคคล พลตำรวจโทชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านการป้องกันอัคคีภัยของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาที่ระบุว่า
“ตลอดเวลา 2 เดือนเต็มๆ เราได้ประสานไมตรีกับผู้ชุมนุมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพวกการ์ดแทบจะรู้จักกันทุกคน แต่ในวันเกิดเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ขอบอกว่าไม่เห็นหน้าคนเหล่านั้นเลย มีแต่พวกที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย กลุ่มนี้แหละที่เขาบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่แม้แต่ตำรวจและทหารก็ไม่กล้าแตะ ถ้าแตะมันก็ต้องมีศพกันบ้างล่ะ แต่นี่ไม่ คนกลุ่มนี้เข้าออกในที่เกิดเหตุโดยไม่มีใครกล้าทำอะไรพวกเขา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลทุกอย่างแต่ทำไมถึงจับคนร้ายไม่ได้”4
พลตำรวจโทชุมพลยังยืนยันว่า เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ของห้างและบริเวณรอบเซ็นทรัลเวิลด์ไว้หมดแล้ว และเขาปิดท้ายว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น”5
2. ยกฟ้องแกนนำ นปช.
วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง 22 แกนนำ นปช. ทุกข้อกล่าวหา ทั้งก่อการร้าย-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ทำให้เสียทรัพย์ ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า
มีความเป็นไปได้ที่การวางเพลิงในบางกรณีอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม แต่ไม่ใช่ในทุกกรณีอย่างแน่นอน ในหลายกรณีในภาคอีสาน ผู้ชุมนุมถูกตัดสินให้มีความผิดด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายที่เพียงแค่แสดงว่าพวกเขาอยู่บริเวณรอบศาลากลางเท่านั้น บางกรณีแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การยืนยันว่าผู้ชุมนุมได้ช่วยตนดับไฟ แต่ก็ยังถูกตัดสินให้มีความผิด7
หลังเหตุการณ์เผาสถานที่ต่างๆ ‘ไอ้พวกเผาบ้านเผาเมือง’ ได้กลายเป็นวาทกรรมสำหรับทำลายความชอบธรรมของคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. แม้แต่ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในปี 2556 ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำท่าจะพ่ายแพ้ พรรคประชาธิปัตย์ยังงัดข้อหานี้โจมตีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ทำนองว่าถ้าไม่เลือกสุขุมพันธุ์ พวกเผาบ้านเผาเมืองมาแน่ ข้อกล่าวหาทำนองเดียวกันยังถูกใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 โดยพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารอีกด้วย
กลุ่มอนุรักษนิยมที่เกลียดชังทักษิณ-คนเสื้อแดงยังคงใช้ข้อหา ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ไม่เลิกรา แม้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีคำพิพากษาของศาลหลายกรณีที่ยกฟ้องข้อหาดังกล่าวต่อคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. ได้แก่
1. กรณีเซ็นทรัลเวิลด์
คนจำนวนมากเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้เผา แต่ในวันที่ 4 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นข้อหาวางเพลิงกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คนคือ นายสายชล แพบัว และ นายพินิจ จันทร์ณรงค์ หลักฐานสำคัญคือพยานบุคคล พลตำรวจโทชุมพล บุญประยูร ที่ปรึกษาด้านการป้องกันอัคคีภัยของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาที่ระบุว่า
“ตลอดเวลา 2 เดือนเต็มๆ เราได้ประสานไมตรีกับผู้ชุมนุมมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพวกการ์ดแทบจะรู้จักกันทุกคน แต่ในวันเกิดเหตุเผาเซ็นทรัลเวิลด์ขอบอกว่าไม่เห็นหน้าคนเหล่านั้นเลย มีแต่พวกที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย กลุ่มนี้แหละที่เขาบอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ก่อการร้ายที่แม้แต่ตำรวจและทหารก็ไม่กล้าแตะ ถ้าแตะมันก็ต้องมีศพกันบ้างล่ะ แต่นี่ไม่ คนกลุ่มนี้เข้าออกในที่เกิดเหตุโดยไม่มีใครกล้าทำอะไรพวกเขา เจ้าหน้าที่มีข้อมูลทุกอย่างแต่ทำไมถึงจับคนร้ายไม่ได้”4
พลตำรวจโทชุมพลยังยืนยันว่า เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ของห้างและบริเวณรอบเซ็นทรัลเวิลด์ไว้หมดแล้ว และเขาปิดท้ายว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกหรอกที่เขาไม่เคลียร์พื้นที่ให้กับทีมดับเพลิง ตั้งแต่เย็นไม่มีใครเคลียร์พื้นที่ให้ ปล่อยให้มันไหม้ได้อย่างนั้น”5
2. ยกฟ้องแกนนำ นปช.
วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง 22 แกนนำ นปช. ทุกข้อกล่าวหา ทั้งก่อการร้าย-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ทำให้เสียทรัพย์ ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า
- การชุมนุมของ นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา-จัดการเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ
- ไม่มีหลักฐานว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของบุคคลใดหรือของฝ่ายใด, ไม่ปรากฏว่าชายชุดดำเป็นกองกำลังของฝ่ายใด
- แกนนำ นปช. ประกาศแนวทางการต่อสู้โดยสันติวิธี และปฏิเสธไม่ยอมรับการดำเนินการของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กับพวก ซึ่งมีแนวทางคนละแนวกับตนตลอดมา และการดำเนินการของ เสธ.แดง ไม่ใช่กิจกรรมของ นปช.
- การปราศรัยของแกนนำบนเวทีว่าหากทหารออกมาสลายการชุมนุม หรือทำรัฐประหาร ให้ประชาชนนำน้ำมาและให้เผานั้น เป็นการปราศรัยก่อนวันที่จะมีการชุมนุมใหญ่หลายวัน และไม่มีเหตุการณ์เผาทำลายทรัพย์สินตามที่ปราศรัยแต่อย่างใด และการวางเพลิงในวันที่ 19 พฤษภาคม เกิดขึ้นหลัง นปช. ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว6
มีความเป็นไปได้ที่การวางเพลิงในบางกรณีอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม แต่ไม่ใช่ในทุกกรณีอย่างแน่นอน ในหลายกรณีในภาคอีสาน ผู้ชุมนุมถูกตัดสินให้มีความผิดด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายที่เพียงแค่แสดงว่าพวกเขาอยู่บริเวณรอบศาลากลางเท่านั้น บางกรณีแม้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้การยืนยันว่าผู้ชุมนุมได้ช่วยตนดับไฟ แต่ก็ยังถูกตัดสินให้มีความผิด7
ชายชุดดำกับ 6 ศพวัดปทุมฯ
ในเวลาที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต รัฐบาลและ ศอฉ. มักรีบโยนว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมหรือชายชุดดำที่ยิงกันเองเพื่อให้ร้ายรัฐบาล กรณีสำคัญคือ 6 ศพในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ในจำนวนคนที่เสียชีวิตเป็นอาสาสมัครพยาบาล 2 คน คือ นางสาวกมนเกด อัคฮาด และ นายอัครเดช ขันแก้ว และเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ 1 คน คือ นายมงคล เข็มทอง คนที่ถูกยิงมากที่สุดคือ นางสาวกมนเกด พบร่องรอยกระสุนบนร่างร่วม 10 แห่ง ทั้งที่หลังทะลุกล้ามเนื้อคอผ่านฐานกะโหลกไปทำลายสมอง แขน สีข้าง ชายโครง และขา8 คลิปวิดีโอชี้ว่าแม้เธอจะล้มลงไปแล้ว แต่ก็ถูกยิงซ้ำอีกหลายนัด
รายงานของคณะกรรมการไต่สวนความจริงเพื่อความปรองดองและสมานฉันท์ (คอป.) ที่นำโดย นายคณิต ณ นคร และ นายสมชาย หอมลออ ก็รับเอาเรื่องชายชุดดำมาอธิบายความรุนแรงตลอดทั้งเล่ม โดยย้ำว่าทหารจำเป็นต้องตอบโต้และปกป้องตนเองจากการกระทำของชายชุดดำ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมต้องเคราะห์ร้ายไปด้วย ในกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ คอป. อธิบายว่า ในบริเวณรอบวัดปทุมฯ มีชายชุดดำและการ์ดเสื้อแดงพร้อมอาวุธในบริเวณนั้นยิงใส่เจ้าหน้าที่ และมีซ่อนตัวอยู่ในวัดปทุมฯ ด้วย อีกทั้งทหารได้ค้นพบอาวุธจำนวนมากภายในวัด9 คอป. ยังอ้างหลักฐานที่ไม่มีการพิสูจน์ เพื่อจะชี้ว่ามีชายชุดดำยิงมาจากวัดปทุมฯ ใส่ทหารที่ประจำอยู่บนรถไฟฟ้า จนทำให้ทหารยิงเข้าใส่ประชาชนในวัดปทุมฯ โดย คอป. อ้างว่า:
พบรอยแตกกะเทาะคล้ายรอยกระสุนปืนที่ผนังคอนกรีตและใต้คานรองรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนาราม จำนวน 4 รอย โดยมีทิศทางการยิงขึ้นไปจากพื้นด้านหน้าหรือในวัดปทุมวนาราม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานกลางแจ้งว่าไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นรอยกระสุนปืนหรือไม่ เนื่องจากอยู่สูงไม่สามารถขึ้นไปตรวจได้ ซึ่งหากเป็นรอยกระสุนจริงก็มีความเป็นไปได้ว่ามีการยิงมาจากด้านในวัดปทุมวนารามไปยังกำแพงรางรถไฟฟ้าซึ่งมีทหารอยู่10
แต่ในที่สุด คำอธิบายของ คอป. ได้ถูกหักล้างทุกประเด็นจากการไต่สวนการตาย ของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โดยศาลชี้ว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เนื่องจาก:
- ในขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้
- จากคำให้การของพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นายที่ประจำอยู่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเห็นทหารบนรางรถไฟฟ้ากำลังเล็งอาวุธปืนเข้าไปในวัด โดยไม่ปรากฏว่ากำลังต่อสู้กับบุคคลใด พยานได้ยินเสียงปืนดังจากจุดที่ทหารประจำอยู่ แต่ทหารไม่ได้แสดงท่าทีหลบกระสุนแต่ประการใด
- มีหลักฐานและพยานที่ชี้ชัดว่าตั้งแต่เวลา 15.00 น. ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่รอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถนนพระรามที่ 1 (ที่ตั้งของวัดปทุมฯ)
- สำหรับการกล่าวอ้างว่าได้พบอาวุธจำนวนมากในวัดปทุมฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ศาลเห็นว่าไม่น่าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นอาวุธของกลางภายในวัดปทุมฯ และพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1 เพราะไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงและดีเอ็นเอ อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุทันที อีกทั้งการตรวจยึดของกลางได้กระทำหลังเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธ
- ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คน เป็นผลจากการกระทำของทหาร11
คอป. ค้นหาความจริง หรือออกใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด (Impunity)12
คอป. เปิดตัวรายงานความยาว 275 หน้า ในวันที่ 17 กันยายน 2555 ประเด็นที่โดดเด่นในการแถลงข่าวและในตัวรายงานของ คอป. ก็คือความรุนแรงที่เกิดจากชายชุดดำ ด้วยเหตุนี้ในเช้าวันรุ่งขึ้น สื่อมวลชนต่างพากันพาดหัวข่าวเรื่องชายชุดดำ ขณะที่กล่าวถึงความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐน้อยมาก ทั้งๆ ที่ในหลายกรณี คอป. ไม่สามารถเสนอหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้เลย
ผู้เขียนและเพื่อนๆ ที่ร่วมงานใน ศปช.13 ไม่เคยปฏิเสธว่ามีชายชุดดำอยู่จริง แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถแสดงหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้เฉพาะในคืนวันที่ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัวเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถยืนยันได้ว่าชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในที่อื่นๆ หรือแม้แต่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็ไม่มีหลักฐานว่าชายชุดดำปรากฏตัวในบริเวณดังกล่าว
ศอฉ. มักอ้างตัวเลขการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการตอบโต้รุนแรง รายงานของ ศปช. ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 10 คน (ทหาร 7 ราย และตำรวจ 3 ราย) ดังนี้คือ
- ทหาร 5 รายเสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน ดังที่กล่าวไปแล้ว
- ทหาร 1 รายเสียชีวิตในวันที่ 28 เมษายน จากกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะ ซึ่ง คอป. ก็ยอมรับว่าเป็นการยิงกันเองของทหารบนถนนวิภาวดีรังสิต เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ชุมนุม
- ตำรวจ 2 นายเสียชีวิตในวันที่ 7 พฤษภาคม จากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายยิงปืนเอ็ม 16 ใส่เจ้าหน้าที่และกลุ่มประชาชนที่หน้าธนาคารกรุงไทยบริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม และจากเหตุการณ์ยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าประตู 4 สวนลุมพินี
- หากมีชายชุดดำในทุกที่ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่คงไม่เสียชีวิตเพียง 2 ราย แถมหนึ่งในนั้นเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เสียชีวิตเพราะทหารเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 16 พฤษภาคม ส่วนทหารอีก 1 รายถูกระเบิดบริเวณแยกสารสิน
นอกจากกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รายงานของ คอป. มีปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น
ในขณะที่ คอป. เน้นย้ำว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่ คอป. กลับละเลยไม่เอ่ยถึงตัวเลขสรรพกำลังและอาวุธที่ ศอฉ. อนุมัติสำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกกระสุนจริง 479,577 นัด กระสุนสไนเปอร์ 3,000 นัด และกำลังพล 67,000 นาย ทั้งๆ ที่นี่เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในรัฐสภา และฝ่ายทหารไม่เคยปฏิเสธว่าไม่จริง คอป. ไม่สนใจตั้งคำถามว่าการใช้กำลังทางทหารขนาดมหึมาขนาดนี้มีจุดประสงค์อะไร นอกจากนี้ คอป. ยังบกพร่องที่จะนำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าพลเรือนส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณศีรษะและช่วงบนของร่างกาย ทั้งๆ ที่ คอป. มีข้อมูลการชันสูตรพลิกศพที่ครบถ้วน
คำถามคือ การไม่นำเสนอจำนวนจริงของกำลังและอาวุธที่ระดมออกมา เป็นความจงใจลดภาพการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐใช่หรือไม่? เพื่อเบี่ยงเบนว่านี่คือการใช้ยุทธการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่?
ตลอดรายงาน คอป. เลือกใช้คำว่า ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ ‘ปฏิบัติการกระชับวงล้อม’ ของทหาร แต่ไม่ใช้คำว่า ‘การสลายการชุมนุม’ หรือ ‘ยุทธการทางทหาร’ ทั้งๆ ที่บทความของฝ่ายทหารที่วิเคราะห์อย่างภาคภูมิใจถึงความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ได้ชี้ชัดว่า การใช้กำลังพลและอาวุธมากขนาดนี้เพราะ ‘เป็นแผนการปฏิบัติการรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง’ และ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม ว่า “การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30 น.) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง”14
คอป. ละเลยคำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวไทยและเทศที่อยู่ในที่เกิดเหตุที่ระบุว่าทหารยิงอย่างไม่เลือกหน้า เช่น คำให้สัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวต่างชาติที่ปรากฏในรายงานขององค์กร Reporters Without Borders:
เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่ากฎการใช้กำลังของกองทัพไทยอนุญาตให้ทหารยิงพลเรือนคนไหนก็ตามที่อยู่ในเขตพื้นที่ของคนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่คนที่ติดอาวุธ ผมเห็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงไร้อาวุธจำนวนมากถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บจากกระสุนที่ทหารเป็นผู้ยิง เราไม่สามารถถามความคิดเห็นใดๆ จากเจ้าหน้าที่ทหารในประเด็นเรื่องกฎการใช้กำลังนี้ได้เลย… ใครก็ตามที่อยู่ในเขตเสื้อแดง รวมทั้งนักข่าว เสี่ยงที่จะถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ สิ่งนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกในวันสุดท้าย15
ช่างภาพของ นสพ.เดอะเนชั่น ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงบริเวณถนนราชปรารภในช่วงบ่ายของวันที่ 15 พฤษภาคม เชื่อว่าเขาถูกยิงโดยทหาร “ผมอยู่กับผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ซึ่งพยายามจะเคลื่อนเข้าไปใกล้ทหาร คนเสื้อแดงใช้ยางรถยนต์เป็นเกราะป้องกัน แต่พวกเขาไม่มีอาวุธ จู่ๆ ทหารก็ยิงกระสุนจริงเข้ามา ทีแรกผมคิดว่าเป็นแค่การยิงขู่ แต่พวกเขายังคงใช้อาวุธอัตโนมัติระดมยิงไม่หยุด ผมเริ่มออกวิ่งเพื่อหาที่หลบ แต่ถูกยิงก่อนจะถึงที่หลบภัยไม่กี่เซนติเมตร… ผมสามารถพูดได้ว่าผมถูกยิงอย่างจงใจ ตอนที่ทหารบุกโจมตี ผมอยู่ไกลจากกลุ่มผู้ชุมนุมเกินกว่าที่ใครจะสามารถอ้างได้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุ เป็นไปได้ว่าทหารไม่ต้องการให้ผมถ่ายภาพ”16
แม้แต่กรณีเซ็นทรัลเวิลด์ คอป. ก็ย้ำว่าพบผู้ชุมนุมและชายใส่ชุดสีดำอยู่ในตัวอาคารถึง 4 จุด17 โดยเห็นว่าเป็นผลจากการปลุกปั่นยั่วยุของแกนนำ นปช. ที่ให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงและเผาสถานที่หลายครั้งหลายหน18 คอป. จึงสรุปว่า “ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำหรือเกี่ยวข้อง” คอป. ยังย้ำข้อมูลจากฝ่ายทหารว่า ในระหว่างที่อาคารเซ็นทรัลเวิลด์กำลังลุกไหม้ “เจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับทันทีเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย” ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ในเวลาหลัง 21.00 น.” ข้อความนี้ของ คอป. ได้ถูกล้มล้างโดยศาล ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งคือ คอป. ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการวางเพลิงสถานที่ราชการในต่างจังหวัด แต่ก็สามารถเขียนในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุม ซึ่งอยู่ในอารมณ์โกรธแค้นเพราะการยั่วยุของแกนนำ นปช. และวิทยุชุมชน19
ในขณะที่ชื่อของ คอป. ระบุว่าพวกเขามีภารกิจค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองของสังคม แต่บทวิเคราะห์ของ ดันแคน แม็คคาร์โก (Duncan McCargo) และ นฤมล ทับจุมพล20 กลับชี้ว่า คอป. ขาดความเป็นกลางและอิสระในการทำหน้าที่ค้นหาความจริง พวกเขาไม่พยายามที่จะปิดบังอคติและความไม่ชอบทักษิณ ซ้ำร้ายผลงานของ คอป. ไม่เข้านิยามมาตรฐานคณะกรรมการค้นหาความจริงด้วยซ้ำ รวมทั้งการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะผู้ที่ก่อตั้ง คอป. คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่เป็นคู่กรณีในความขัดแย้งโดยตรง และทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์และผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ที่จะเอื้ออำนวยให้การทำงานของคณะกรรมการเป็นอิสระและเอื้อให้เกิดความยุติธรรมแก่เหยื่อได้จริง
แมคคาร์โกและนฤมลสรุปว่า ความผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ของ คอป. ที่ไม่วิพากษ์ปฏิบัติการของทหาร เท่ากับช่วยแผ้วถางทางให้กับการรัฐประหารในปี 2557 นั่นเอง กล่าวคือ ในขณะที่ คอป. มีข้อเสนอแนะให้มีการนิรโทษกรรม โดยเตือนว่าต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษแบบเหมาเข่ง แต่เมื่อ คอป. ไม่ได้เรียกร้องอย่างหนักแน่นเพียงพอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต้องรับผิด (accountability) จึงส่งผลให้ในด้านหนึ่ง คอป. ได้เปิดทางให้กับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง คอป. ล้มเหลวในการท้าทายการไม่ต้องรับผิดของทหาร จึงเท่ากับ คอป. ช่วยแผ้วทางให้ประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองของทหารอีกครั้ง ข้ออ้างของทหารที่ว่าตนเป็นเพียงคนกลางที่ทำหน้าที่รักษากฎระเบียบของบ้านเมืองจึงไม่ได้ถูกตั้งคำถามเลย คอป. ไม่เพียงล้มเหลวในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดต้องรับผิด แต่ยังสนับสนุนวัฒนธรรมที่ผู้กระทำผิดลอยนวลและการนิรโทษกรรมด้วย เมื่อคณะกรรมการค้นหาความจริง ไม่สามารถให้คำอธิบายที่น่าเชื่อถือแก่สังคมได้ ก็เท่ากับได้ทำลายจุดมุ่งหมายของตนเอง (counterproductive)
รัฐประหาร 2557 กับกรณีเมษา-พฤษภา 2553
หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยในการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมอย่างน้อย 17 ราย ว่าประชาชนเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากฝั่งทหาร ในเดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดจึงได้สั่งฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่า อย่างไรก็ตาม เพียง 3 เดือนหลังรัฐประหารโดย คสช. ศาลอาญาได้กลับคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคน ด้วยเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นการใช้อำนาจ ตำแหน่ง หน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ฉะนั้น จึงเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และหาก ปปช. ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นเพียง ‘ข้อหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ’ เท่านั้น ซึ่งในที่สุด ปปช. ก็มีมติไม่ยื่นฟ้องต่อทั้งสองคน นี่ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจเลยสักนิดเมื่อเราได้ประจักษ์ถึงการกระทำหน้าที่ของ ปปช. ตลอดช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา
ก่อนหน้าการรัฐประหาร ผู้นำทหารดูจะวิตกกังวลกับข้อกล่าวหาว่ากองทัพเกี่ยวข้องกับการตายของผู้ชุมนุมไม่น้อย ในการไต่สวนการตายกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ เมื่อพยานหลักฐานชี้ชัดว่ากระสุนที่พบในร่างของผู้เสียชีวิตตรงกับกระสุนที่กองทัพใช้ กองทัพได้ออกคำแถลงในทันทีว่ากระสุนเหล่านั้นอาจเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมที่ขโมยลูกกระสุนและปืนจากกองทัพไปก่อนหน้านี้ก็เป็นได้21 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ถึงกับเอ่ยปากว่าต้องการให้การไต่สวนการตายกระทำแบบลับ22
ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังการรัฐประหารโดย คสช. กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความรุนแรงปี 2553 จึงเกิดการพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนกล่าวได้ว่าการจัดการกับความจริงของเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 ให้เรียบร้อยเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการรัฐประหาร โดยเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ‘ความจริง’ ‘ความยุติธรรม’ ‘การรับผิด’ ยังสามารถหลอกหลอนพวกเขาได้ต่อไปตราบเท่าที่เราไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เงียบหายไปกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรม
เชิงอรรถ
- ‘ตาย 9 ศพ เจ็บร่วม 500 มิคสัญญี,’ ไทยรัฐ, 11 เมษายน 2553 และคำให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันใน ‘ปืน-ระเบิด ระงมจลาจล! ตาย-เจ็บครึ่งพัน,’ ข่าวสด, 11 เมษายน 2553.
- เกษม เพ็ญภินันท์. ‘ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53’, ใน ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม. 2557: 54.
- ‘เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ชี้ชัด นปช. ไม่ได้เผาเมือง สั่งบริษัทประกันชดใช้ ตามรอยคดีเซ็นทรัลเวิลด์’, มติชนสุดสัปดาห์. 10-16 พฤษภาคม 2562.
- ‘ที่ปรึกษาอัคคีภัยเซ็นทรัลฯ ยันจำเลยคดีเผา CTW ไม่สามารถวางเพลิงได้,’ ประชาไท, 30 มกราคม 2556, http://prachatai.com/journal/2013/01/45013
- เพิ่งอ้าง.
- ‘คำพิพากษาละเอียด!!! ยกฟ้อง 22 แกนนำ นปช. คดี ‘เผาบ้านเผาเมือง-ก่อการร้าย’ โพสต์ทูเดย์. 14 สิงหาคม 2562.
- ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม. 2555: บทที่ 5.
- กฤตยา อาชวนิจกุล และ ชัยธวัช ตุลาธน, ‘เชิงอรรถความตาย…,’ ใน ศปช. ความจริงเพื่อความยุติธรรม: 420.
- คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง กรกฎาคม 2553-กรกฎาคม 2555: 152-153
- เพิ่งอ้าง.: 152.
- เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม ‘6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร’ ประชาไท, 7 สิงหาคม 2555, http://prachatai.com/journal/2013/08/48057
- สรุปจาก พวงทอง ภวัครพันธุ์. ‘ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด: องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553’, ฟ้าเดียวกัน. ตุลาคม-ธันวาคม 2559.
- ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ก่อตั้งขึ้นหลังการสลายการชุมนุมเสื้อแดง โดยกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมที่ไม่ไว้วางใจการทำงานอย่างอิสระของ คอป. ซึ่งเราได้ตีพิมพ์รายงานค้นหาความจริงที่คู่ขนานไปกับของ คอป.
- หัวหน้าควง ‘บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553,” เสนาธิปัตย์, ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2553) หน้า 57-68.
- Vincent Brossel and Nalinee Udomsinn, Thailand Licence to Kill: Reporters Without Borders Calls for Independent Inquiry into Crimes against Media. Reporters Without Borders, July 2010. ดูฉบับแปลได้ที่ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน, ‘รายงานการสืบหาข้อเท็จจริง ประเทศไทย: ใบอนุญาตสั่งฆ่า’ แปลโดย อัญชลี มณีโรจน์, ใน ศปช., อ้างแล้ว, หน้า 1382-1383.
- เพิ่งอ้าง.: 1384-1385.
- คอป., อ้างแล้ว: 154-155.
- คอป., อ้างแล้ว.: 155, 162-167.
- คอป., อ้างแล้ว.: 156-157.
- Duncan McCargo and Naruemon Thapchumpol. “Wreck/Conciliation?: The Politics of Truth Commissions in Thailand,” Journal of East Asian Studies, 14 (2014).
- ‘Army rebuttals deaths at Wat Prathum’, The Nation, 20 June 2012.
- ‘Prayuth wants temple testimony kept secret’, Bangkok Post, 23 June 2012.