วันอังคาร, เมษายน 07, 2563

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ฉากวันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดกรุงธนบุรี คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก”




คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก” ฉากสุดท้ายกรุงธนบุรี

ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552
ผู้เขียน ปรามินทร์ เครือทอง
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2563

วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดกรุงธนบุรี หรือวันประหารพระเจ้าตาก แม้จะมีเนื้อความชัดเจนอยู่พอสมควรแล้วในพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ถึงจะมีเนื้อความไม่ต้องกันทีเดียว แต่ก็สามารถให้ความชัดเจนได้จนถึงนาทีประหารพระเจ้าตาก แต่วิธีการและรายละเอียดยังคงเป็นปริศนาต้องวินิจฉัยหลักฐานกันต่อไปอีกมากมาย

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไว้ว่า ทรงถูกประหารด้วยการตัดพระเศียร ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง ดังมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีพูดถึงพระเจ้าตากดังนี้ 

“ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงคราม ได้ความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะอาสากระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลัง ตัวจึงเอาบุตรภรรยามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้ โทษตัวจะมีเป็นประการใดจงให้การไปให้แจ้ง และเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ

จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย”1

ฝ่ายพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงฉากนี้ไว้สั้น ๆ ว่า “ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เพลาเช้า 2 โมง [ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325] เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทย์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น”2


ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่ในพงศาวดารพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 บอกว่าเป็นสถานที่ประหารพระเจ้าตาก


ดูเหมือนว่าพระราชพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาคล้ายคลึงสอดคล้องกัน แต่ในฉากสุดท้ายมีรายละเอียดแตกต่างกันคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเฉพาะผู้คุมและเพชฌฆาตเป็นผู้มีหน้าที่ตามบัญชาของเจ้าพระยาจักรีนำพระเจ้าตากไป “ตัดศีรษะ” ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงบุคคลจำนวนมากคือ “ทแกล้วทหารทั้งปวง” เป็นผู้นำพระเจ้าตากไป “สำเร็จ” ตามบัญชา

แต่ด้วยความที่พระราชพงศาวดารของไทยแต่ละฉบับล้วน “มีปัญหา” เรื่องความถูกต้อง มีอคติและความโน้มเอียงทางการเมือง ทำให้ประเด็นปัญหาหลายต่อหลายเรื่องหาข้อยุติไม่ได้ รวมทั้งฉากสุดท้ายของพระเจ้าตาก ที่อุตส่าห์มีการกล่าวถึงการใช้ “ตัวปลอม” ในวันประหาร ส่วน “ตัวจริง” หลบหนีไปบวชอยู่ที่นครศรีธรรมราชก็มี

แม้นาทีสุดท้ายของพระเจ้าตาก จะได้รับการยืนยันจากเอกสารส่วนใหญ่ว่ามีการประหารจริง ซึ่งไม่ใช่การสำเร็จโทษตามโบราณราชประเพณีอันพึงกระทำต่อพระมหากษัตริย์ แต่เบาะแสที่จะยืนยันเรื่องนี้กลับน้อยนิดจนอาจเรียกได้ว่า มีเพียงฉบับเดียวที่กล่าวถึงลักษณะการประหารว่าสิ้นพระชนม์จริงคือการ “ตัดศีรษะ” จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ส่วนเอกสารฉบับย่อย ๆ ต่าง ๆ เพียงแต่ยืนยันว่าสิ้นพระชนม์จริง เช่น

จดหมายเหตุโหร กล่าวว่า “ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน” จดหมายเหตุโหรฉบับรามัญว่า “พระยาจักรีกลับจากเมืองญวนเข้าเมืองบางกอก แล้วฆ่าพระเจ้าแผ่นดินเก่าเสีย” แต่เช่นเดียวกับเอกสารอื่น ๆ คือไม่ได้บอก “วิธีการ” เอาไว้อย่างชัดเจน

และแน่นอนที่สุดว่าเอกสารที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนผ่านการ “ชำระ” ปรับแต่งมาแล้วทั้งสิ้น จึงเป็นเหตุให้ฉากสำคัญวันสุดท้ายกรุงธนบุรียังต้องถูกทวงถามความจริงอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ยังมีบุคคลอีกอย่างน้อย 4 ท่าน ที่เชื่อว่าอยู่ในเหตุการณ์ในวันสุดท้ายของกรุงธนบุรี และได้แต่งหนังสือไว้เป็นหลักฐานสำคัญว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นแน่กับพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี

บุคคลอย่างน้อย 4 ท่าน ที่เชื่อว่าได้เห็นเหตุการณ์วันสุดท้ายของกรุงธนบุรี คือ

สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพนฯ แต่งหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี 2332

กรมหลวงนรินทรเทวี เขียนบันทึกเป็น จดหมายความทรงจำฯ ลำดับความตั้งแต่ปี 2310-2381

พระชำนิโวหาร แต่ง โคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จับความตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีออกเดินทัพไปกรุงกัมพูชา จนกระทั่งปราบจลาจลในพระนคร และสร้างกรุงเทพมหานคร

พระยาทัศดาจัตุรงค์ แต่งหนังสือเรื่อง ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ลำดับเรื่องโดยสังเขปตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาจนถึงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ข้อที่น่าสังเกตคือ ในจำนวน “คำให้การ” ของทั้ง 4 ท่านนี้ มี 3 ท่านแรก ที่แต่งหนังสือเล่าถึงเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีโดยสังเขปบ้าง อย่างละเอียดบ้าง แต่เมื่อถึงฉากประหารพระเจ้าตาก ทั้ง 3 ท่านก็  “ข้าม” เรื่องราวตอนนี้ไป โดยไม่ข้องแวะแม้แต่น้อย เข้าทำนองไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไม่เปิดแผลเก่า ให้เป็นที่ระคายเคือง

สมเด็จพระวันรัตนกล่าวถึงเหตุการณ์ไม่สงบในกรุงธนบุรีในหนังสือสังคีติยวงศ์ ไว้โดยสังเขปดังนี้ “ลุพระพุทธศักราช 2325 ล่วงแล้ว ปีขาล ครั้นความโสกปริเทวทุกข์โทมนัสแลอันตรายมีประการต่าง ๆ บังเกิดขึ้นแก่ชนเหล่านั้นคือ บังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะบุคคลลามกโกหกมารยาเปนอันมากในพระพุทธสาสนา แลบังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เปนอันมาก

สมเด็จพระผู้ทรงพระมหากรุณาทั้ง 2 พระองค์นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น ๆ ก็มีพระกมลหฤไทยหวั่นไหวไปด้วยพระเมตตากรุณาแก่สรรพสัตว์ ได้โอกาสระงับชนพวกอสัจอธรรมทั้งหลาย กระทำให้มหาชนได้เกษมศุขแล้ว ก็มีพระจำนงจะใคร่สร้างพระมหานคร เพื่อให้อยู่เจริญศิริสุขสวัสดีและป้องกันข้าศึก ณ ฝั่งฟากแม่น้ำด้านปุริมทิศาภาค”3

จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระวันรัตนได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพระนครอยู่บ้างด้วยฝีมือของ “พวกอสัจอธรรมทั้งหลาย” เป็นการกล่าวโดยรวมไม่ได้หมายเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใด และไม่ได้ “แตะ” ฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรีเลยแม้แต่น้อย ส่วนกรมหลวงนรินทรเทวี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การจลาจลอย่างละเอียด มีแม้กระทั่งการถ่ายทอดคำพูดแบบคำต่อคำของพระเจ้าตากในบางตอน แต่เมื่อถึงเวลาสำคัญคือฉากการประหารพระเจ้าตากก็หายไปอย่างน่าพิศวง 

“สมเด็จพระไอยกาเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกำภูชา ถอยมาประทับด่านกระบิน ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึงสองครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ฯ ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 ลุศักราช 1144 ปีขานจัตวาศก เพลาสองโมงเศษศุขสวัสดิฤกษ เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก อดิเรกเฉกชมสมบัติ จักรพรรดิ์ตราพร้อมถวาย 12 พระกำนัล 12 พระคลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่ง ให้ตั้งกรุงเทพมหานคร”4

ถ้าหากว่ากันตามลำดับเหตุการณ์ก็คือ หลังจากเจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว จึงให้ชำระโทษแก่พระเจ้าตาก แล้วจึงตั้งกรุงเทพมหานคร สิ่งที่น่าแปลกสำหรับจดหมายความทรงจำฯ ฉบับนี้ก็คือ เป็นการบันทึกอย่างละเอียดมีลำดับเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอน แม้แต่การถอดคำของพระเจ้าตากมา เช่น เมื่อตอนที่ขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากลากปืนขึ้นป้อมจะรบกับฝ่ายพระยาสรรค์นั้น พระเจ้าตากก็ทรงห้ามไว้ว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” หรือตอนที่จะทรงผนวชหลังพ่ายให้กับพระยาสรรค์ก็ตรัสว่า “เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว”

ท้ายที่สุดเมื่อกองทัพพระยาสุริยอภัยยกมาล้อมกองทัพพระยาสรรค์ พระยาสรรค์ก็ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ให้ไปเกลี้ยกล่อมพระเจ้าตากมานำการรบแต่ก็ทรง “ละ” แล้ว “ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย” นี่คือเหตุการณ์ก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินหน้าพระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม ธนบุรี


แต่ไม่ว่าจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีจะละเอียดเพียงใด ก็ทรง “ละ” ฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไว้เช่นกัน ไม่มีคำกล่าวแม้กระทั่งการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากเกิดขึ้นเมื่อใด ฉากอวสานกรุงธนบุรีหายไปทั้งฉากอย่างน่าประหลาดใจ อีกท่านหนึ่งคือ พระชำนิโวหาร ท่านนี้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงเชื่อว่า “พูดเหมือนคนที่เห็นด้วยตา” ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะละเอียดลออไม่ต่างจากจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี คือ ลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง มีรายละเอียดใส่ไว้มากมาย เช่น ตอนที่พระยาสรรค์ต้องเข้าเฝ้าชำระความ แต่พระยาสรรค์ซึ่งถูกกรมขุนอนุรักษ์สงครามซัดทอดมีความผิดแต่ก็ทำ “เนียน” ราวกับตัวมีความชอบในการโค่นกรุงธนบุรีครั้งนี้

พระชำนิโวหารกล่าวถึงพวกพระยาสรรค์ไว้ว่า

ผู้ผิดประทุษฐ์นั้น หนาวตัว
หวั่นหวั่นสั่นสยองกลัว โทษไท้
จำใจจำยิ้มหัว หวังเกลื่อน ความพ่อ
ทูลพิดเพิ่มใส่ไคล้ ล่อเลี้ยวหลายกลฯ5

แม้จะมีการเก็บรายละเอียดไว้มากมายเพียงใดก็ตาม พระชำนิโวหารก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ “ละ” ตอนอวสานพระเจ้าตากไว้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยกล่าวเพียงรวม ๆ ว่า

ผู้ผิดแท้ท่านให้ ลงทัณฑ์
โทษฆ่าจองไปฟัน เสียบเกล้า
น้อยโทษ ธ ผ่อนผัน ภาคโทษ ให้แฮ
ถอนแผ่นดินสิ้นเศร้า เสื่อมเสี้ยนรนามหนามฯ

สมเด็จพระวันรัตน กรมหลวงนรินทรเทวี พระชำนิโวหาร ทั้ง 3 ท่านนี้ได้ “ละ” เอาความตอนประหารพระเจ้าตากออกไปจากงานเขียนของตัว โดยเฉพาะ 2 ท่านหลัง ซึ่งลำดับเรื่องมาอย่างละเอียดประเภท “อินไซด์” แต่พอถึงฉากสำคัญกลับ “ไม่แตะ” แม้แต่วรรคเดียว คล้ายกับทำหล่นหายไปเฉย ๆ

สำหรับท่านสุดท้ายคือ พระยาทัศดาจัตุรงค์ แต่งหนังสือชื่อ ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ในคำประพันธ์เล่มนี้มีบางบทที่เรียกได้ว่า “เข้าใกล้” ฉากสำคัญนั้นมาก และมีมุมที่ต่างไปจากท่านอื่น ๆ ในสาระสำคัญบางตอนโดยเฉพาะตอนสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก

หนังสือเรื่อง ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ซึ่งแต่งเป็นกาพย์ฉบัง 11 นี้ ไม่ค่อยได้มีคนพูดถึงมากนัก อาจเป็นเพราะเป็นหนังสือหายาก พิมพ์ขึ้นจำนวนจำกัดเพียง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 85 ตุลาคม ร.ศ. 120 พิมพ์ครั้งที่ 2 เพียง 500 เล่ม ในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอรวรรณ เลขะกุล เมื่อปี 2513 นอกจากจะเป็นหนังสือหายากแล้ว สิ่งที่หนังสือเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ถูกอ้างอิงถึงก็เพราะเนื้อความมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยจำนวนปีของการครองราชย์ของกษัตริย์อยุธยาจะผิดกับฉบับอื่น ๆ เกือบทุกพระองค์ แต่เนื้อเรื่องส่วนอื่นก็ตรงกับพระราชพงศาวดารเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง “เกร็ดพงศาวดาร” ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มอื่น เช่น เรื่องนกสาลิกาพูดได้ของพระเจ้าเสือ

พระจอมมกุฎเกศกรุงเทวา มีพระนกสาลิกา
รู้พูดแลพลอดดังคน

ส่วนฉากอวสานกรุงธนบุรีนั้น ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ฉบับนี้ มีความแตกต่างแต่สอดคล้องกับหลักฐานฉบับอื่น ๆ กล่าวได้ว่า พระยาทัศดาจัตุรงค์ ผู้แต่ง ได้ผูกเรื่องตอนจบในฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไม่เหมือนใคร ทั้งนี้เป็นเพราะพระยาทัศดาจัตุรงค์อาจเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นผู้หนึ่งที่บุกยึดวังพระเจ้าตากในการปะทะกับกองทัพพระยาสรรค์ เพราะท่านได้ประกาศตัวว่าเป็น “ข้าวังหลัง” หรือข้าในพระยาสุริยอภัย ผู้ปราบศึกพระยาสรรค์ยึดกรุงธนบุรีไว้ได้อย่างราบคาบ ก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะเดินทัพกลับมาจากกรุงกัมพูชานั่นเอง

ข้อยข้าทัศดาจัตุรงค์ ผู้รองบาทบงสุ์
ภิมุขเบื้องบวรสถาน

พระยาสุริยอภัย ผู้ปราบกรุงธนบุรี ได้รับการสถาปนาในแผ่นดินใหม่เป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หลังพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี 2325 และต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ “วังหลัง” เป็นบำเหน็จหลังทรงชนะศึกพม่าในสงคราม 9 ทัพ เมื่อปี 2328

ดังนั้นในระหว่างที่เป็น “ข้าวังหลัง” พระยาทัศดาจัตุรงค์ก็อาจจะเป็นข้าหลวงเดิมที่มีส่วนในกองทัพพระยาสุริยอภัยเมื่อคราวตั้งค่ายล้อมกองทัพพระยาสรรค์อยู่ที่กรุงธนบุรี เพื่อรอกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยาจักรีมาปิดบัญชีกรุงธนบุรีด้วยตัวเอง “คำให้การ” ของข้าวังหลังท่านนี้จึงน่าจะมีประเด็นชวนคิดอยู่ไม่น้อย

การบรรยายฉากก่อนการจลาจลในกรุงธนบุรีของพระยาทัศดาจัตุรงค์ ก็ไม่ต่างจากท่านอื่น คือ จับประเด็นในเรื่องการที่ข้าราชการข่มเหงเบียดเบียนราษฎรเร่งเอาทรัพย์สิน เหมือนกับเอกสารฉบับอื่น ๆ แต่เนื้อความที่น่าสนใจก็คือ เมื่อราษฎรเกิดความเดือดร้อน ก็ลุกฮือขึ้นยึดเมือง แล้วจับพระเจ้าตากใส่สังขลิกหรือโซ่ตรวนพันธนาการ ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ พรรณนาความไว้ดังนี้

ภายหลังท่านผู้ครองภพ เสียจริตคิดคด
บอยู่ในสัตยาธรรม์
เฆี่ยนฆ่าสามารถใจฉกรรจ์ เรียกเงินทองทัณฑ์
ทำโทษพิโรธมุลิกา
เก็บริบทรัพย์สินโภคา ปรับไหมเหลือตรา
ทุกหมู่อำมาตย์มนตรี
สมทรัพย์ใส่คลังมากมี ร้อนทั่วประชาชี
ก็เกิดพิบัติอัศจรรย์
ก่อยุคขุกแข็งขืนขัน ตริเอาเมืองพลัน
ก็ได้ด้วยคิดขับเคี่ยว
เจ้าตากจนใจจริงเจียว สุดคิดจักเหลียว
ก็อ่อนฤทัยทำดี
ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี
ใส่สังขลิกโบยตี
รู้อึงกิตาการมากมี อัญเชิญนฤบดี
ไปผ่านพิภพอยุธยา

คำถามคือ “ท้าวพระยา” ที่กระทำการโบยตีพระเจ้าตากอยู่ฝ่ายไหน และมีการโบยตีจริงหรือไม่? หากลำดับความตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ก็จะพบว่า หลังจากที่พระยาสรรค์ยึดกรุงธนบุรีได้อย่างง่ายดายแล้ว พระเจ้าตากทรงขอออกผนวช ระหว่างนั้นพระยาสรรค์ได้ “ขัง” พระเจ้าตากไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง และก็ทรงอยู่แต่ในพระอุโบสถนั้นตลอดเวลาจนจบเรื่อง

ครั้นเมื่อพระยาสุริยอภัยเดินทัพมาถึงกรุงธนบุรีก็เข้าเจรจาความกับพระยาสรรค์ในทันที แต่ได้ข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับการศึกแต่อย่างใด กลับเป็นเรื่อง “พระยาสุริยอภัยกับพระยาสรรค์จึงปรึกษากันให้สึกเจ้าแผ่นดินออก แล้วพันธนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์” แล้วพระยาสุริยอภัยก็กลับบ้านไปตั้งทัพรอเจ้าพระยาจักรี ส่วนพระยาสรรค์ก็ยังคงยึดกรุงธนบุรีไว้เหมือนเดิม

พระเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถเก่า วัดอินทาราม เชื่อว่าองค์ด้านซ้ายในภาพบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนองค์ด้านขวาบรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี


การที่พระยาสุริยอภัยมาเจรจาความกับพระยาสรรค์เพื่อให้ “สึกพระ” นั้น เป็นเนื้อความที่แปลกประหลาด และไม่มีที่มาที่ไปเหมือนกับอยู่ ๆ ก็เขียนแทรกขึ้นมา ในขณะที่เรื่อง “สึกพระ” ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้น ก็ขัดอยู่กับเอกสารหลายฉบับ เช่น ในจดหมายความทรงจำฯ กล่าวว่า เจ้ารามลักษณ์ไป “เรียกท่านที่ทรงผนวช ให้ประจุออกเถิด” เพื่อไปรบกับพระยาสุริยอภัย แต่พระเจ้าตากทรง “ละ” แล้วจึงว่า “สิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย” และทรงผนวชอยู่เช่นนี้จนจบเรื่อง

เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการ “สึกพระ” ไว้ตอนจบของเรื่องคือก่อนการประหาร “ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย” ดังนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจึงมีเนื้อความแตกต่างจากเอกสารฉบับอื่นที่ให้มีการ “สึกพระ” ตั้งแต่พระยาสรรค์กับพระยาสุริยอภัยยังไม่ได้รบกัน ส่วนการพันธนาการด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์นั้น ไม่ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน แต่มีกฎหมายสำหรับพระเจ้าลูกเธอตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในกฎมณเฑียรบาลมาตรา 175 ว่า 

“ผี้พระราชกุมารต้องพระราชอาญา แลใส่สังขลิกบัญชร คือใส่ตรวนไซ้ ถ้าลูกหลวงเอกเครื่องทอง ลูกหลวงโทเครื่องเงิน”

เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์แล้ว ขณะที่พระยาสรรค์ยึดเมืองอยู่นั้น ก็ยอมให้พระเจ้าตากผนวชแต่โดยดี ซ้ำเมื่อจวนตัวยังส่งคนไป “ขอพึ่งพระบารมี” ให้นำทัพสู้กับพระยาสุริยอภัย จึงไม่น่ามีเหตุการณ์เรื่อง “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นอกจากนี้ฝ่ายพระยาสรรค์ยังไม่มีบารมีและมิได้มีมวลชนที่เป็น “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี” เลยเมื่อเทียบกับฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ซึ่งมีบารมีอย่างสูงในสมัยกรุงธนบุรี พระยาสรรค์นั้นถึงขั้นต้องแจกเงินซื้อเสียงก็มี และที่สำคัญไม่มีบทของพระยาสรรค์ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้

ในขณะที่ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั้น มีมวลชนทั้งราษฎรและสมณพราหมณ์ชีอยู่มากมาย

ราษฎรเสนางค์พราหมณ์ชี ปโรหิตพฤฒี
ผู้รู้ระบอบบรรยาย
เชิญสองกษัตริย์ฦาสาย มอบมิ่งเมืองถวาย
ให้ไทธิราชครองภพ

ดังนั้นฝ่ายที่ “กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” (หากเกิดขึ้นจริง) ก็น่าจะเป็นฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั่นเอง และเนื้อความข้อนี้ก็สอดคล้องกันกับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ว่าเกิด “ม็อบ” นำตัวพระเจ้าตากไปลงโทษ “ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทย์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น”

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงกล่าวถึง “ม็อบ” ในเหตุการณ์ประหารพระเจ้าตาก ไว้ในพระราชพงศาวดารของพระองค์เช่นกัน “ภายหลังมีจิตรฟุ้งซ่านถึงสัญญาวิปลาส ประพฤติพิปริตธรรมกรรมอันเดือดร้อนแก่สมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวง ชเนหิ กุช์ฌิตวา อันชนทั้งหลายมีความโกรธ ชวนกันกำจัดเสียจากราชสมบัติ แล้วพิฆาฎฆ่าเสียกับทั้งบุตรนัดดาวงษานุวงษ์ทั้งสิ้น”6

แต่ปัญหาก็คือ ในลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์นี้ ขณะที่ “กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นั้น พระเจ้าตากยังไม่สวรรคต และ “ม็อบ” ที่กุมเอานฤบดีไปโบยนั้น ก็เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี ส่วนในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น “ม็อบ” เกิดขึ้นหลังเจ้าพระยาจักรีมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว อย่างไรก็ดี ฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรีใน ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ไม่มีการคั่นแบ่งเวลา เป็นการกล่าวต่อเนื่องกันเหมือนกับเป็นช่วงเวลาเดียวกัน

ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี
ใส่สังขลิกโบยตี
รู้อึงกิตาการมากมี อัญเชิญนฤบดี
ไปผ่านพิภพอยุธยา
พระเสด็จโดยทิศบุรพา ทางสถลมรรคา
ก็ลุนครกรุงไกร
สมณชีพราหมณ์ถวายชัย อุโฆษเกรียงไกร
กรเกียรติพิภพมไหศวรรย์

ความหมายในตอนนี้จึงคล้ายจะบอกว่าอาณาประชาราษฎรและสมณชีพราหมณ์ (ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ) ลุกฮือ ก่อการยึดเอาเมืองเอาไว้ได้ จากนั้นก็จับเอาพระเจ้าตากมาลงทัณฑ์ ก่อนจะเชิญเจ้าพระยาจักรีขึ้นครองราชสมบัติ แม้จะเป็น “ข้าวังหลัง” แต่พระยาทัศดาจัตุรงค์ก็ไม่ได้ให้เครดิตพระยาสุริยอภัยในศึกครั้งนี้ และไม่มีผู้ร้ายอย่างพระยาสรรค์ในเรื่อง มีแต่ “ท่านผู้ครองภพ เสียจริตคิดคด” เป็นผู้ร้ายเพียงหนึ่งเดียวที่ถูก “ม็อบ” ฝ่ายธรรมะใส่สังขลิกโบยตี

ปัญหาสำคัญที่สุดในลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ไม่ใช่เรื่องใครกุมเอาพระเจ้าตากไปโบยตี แต่เป็นเรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือ หนังสือเล่มนี้ได้บอกการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากต่างจากหนังสือเล่มอื่นโดยสิ้นเชิง คือ

สมณชีพราหมณ์ถวายชัย อุโฆษเกรียงไกร
กรเกียรติพิภพมไหศวรรย์
เกิดวิกลดลจิตประจุบัน ท้าวดับชีวัน
ผ่านภพได้สิบห้าปี

จะเห็นได้ว่าการที่ “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นั้น ไม่ได้ทำให้พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ในทันใด เหมือนกับการ “ตัดศีรษะ” หรือ “สำเร็จ” หรือ “ฆ่า” หรือ “ดับขันธ์” ซึ่งเป็นคำที่เอกสารเก่าแต่ละฉบับเลือกใช้เพื่อบอกว่าพระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ แต่ในหนังสือลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ กลับเลือกใช้คำ “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน” ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทรงถูก “ใส่สังขลิกโบยตี” แล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “คำให้การ” ของพระยาทัศดาจัตุรงค์ เรื่อง “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน ท้าวดับชีวัน” นี้ ต้องการที่จะบอกว่า พระเจ้าตากนั้น สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการ “พระหทัยวายเฉียบพลัน” ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการถูกโบย หรือต้องทนทุกข์ทรมานพระทัยจน “ดับขันธ์” ในที่สุด

สรุปว่า “คำให้การ” ของบุคคลและเอกสารต่างๆ มีข้อมูลในเรื่องการประหารพระเจ้าตากต่างกันหลายกระแส พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าทรงถูกประหาร “ตัดศีรษะ” พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่าทรงถูก “ม็อบ” สังหาร ส่วนพระยาทัศดาจัตุรงค์เห็นต่างออกไปคือ “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน” จนสิ้นพระชนม์

หาก “คำให้การ” ของ พระยาทัศดาจัตุรงค์ ในฐานะ “ข้าวังหลัง” ผู้เห็นเหตุการณ์ และให้การว่าพระเจ้าตากทรงสิ้นพระชนม์ด้วยหัวใจวาย ก็จะกลายเป็นเบาะแสใหม่ในกรณีพระเจ้าตากให้สืบค้นถกเถียงกันต่อไปไม่จบสิ้น

เชิงอรรถ :

1 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 451.

2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. (กรุงเทพฯ : ชัยวิโรจน์การพิมพ์, 2535), น. 71.

3 สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย. พิมพ์ถวายเป็นธรรมบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (กมลเถระ). (กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. ศิวพร, 2521), น. 427.

4 กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 71.

พระชำนิโวหาร. โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์. (พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2470), น. 11.

6 สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระธรรมเทศนา พระราชพงษาวดารสังเขป. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายชิน ไชยกิจ. พระนคร : กรมศิลปากร, 2516), น. 28.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562