อำนาจมากแต่สมรรถภาพน้อย: กลไกสู้โควิดภายใต้พรก.ฉุกเฉิน
%%%%
ระบบราชการไทยก่อนและหลังโควิด-๑๙ ระบาดและการประกาศพรก.ฉุกเฉินเป็นระบบเดียวกันกับที่ คสช.เข้ายึดกุมเมื่อ ๖ ปีก่อน
บุคลิกลักษณะสำคัญของมันคือรวมศูนย์สูง (overcentralized) แต่ด้อยเอกภาพ (underunified) เหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง (fragmented pyramid-like state structure)
ที่คสช.ทำกับระบบราชการในช่วง ๖ ปีที่ผ่านมาก็ไม่ต่างกับที่กำลังเกิดขึ้นภายใต้พรก.ฉุกเฉินของรัฐบาลปัจจุบัน กล่าวคือ:
-เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานระบบราชการมากมายมหาศาลด้วยกฎหมายประกาศคำสั่งอาญาสิทธิ์ฉบับต่าง ๆ ที่ไม่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลจากสภาผู้แทนราษฎร
-แต่ไม่ได้เพิ่มสมรรถภาพ ทำให้ระบบราชการภายใต้คสช.ยิ่งมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่สมรรถภาพกลับเท่าเดิมหรือยิ่งเสื่อมถอยลงไปอีก
หากมองย้อนไปแล้วถามว่าภายใต้ คสช. เกิดอะไรขึ้นกับระบบราชการ? งานวิจัยของอ.ประจักษ์ ก้องกีรติกับอ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ชี้ว่า: https://www.cambridge.org/…/prayuth_regime_embedded_militar…
-สมรรถภาพระบบราชการภายใต้ คสช.ยิ่งเสื่อมถอย เพราะ คสช.เอาการเมืองเข้าไปแทรกแซงยุ่มย่ามในระบบราชการหนักขึ้น เลือกที่รักมักที่ชังตามเส้นสายอุปถัมภ์พรรคพวกของตน ทำให้ความระส่ำระสายที่เกิดจากการเมืองต่างขั้วต่างเสื้อสีผลัดกันเข้าแทรกแซงระบบราชการในช่วงสงครามเสื้อสีเหลือง-แดงสิบปีก่อนหน้านั้นไม่ได้หายไป แต่กลับหนักขึ้น
-ยิ่งกว่านั้นคสช.ยังซ้ำเติมมันด้วยการใช้อำนาจอาญาสิทธิ์จากการรัฐประหาร อาทิ ม. ๔๔ โยกย้ายเลือกเลื่อนแต่งตั้งข้าราชการโดยพลการอำเภอใจ เหยียบข้ามขั้นตอนกฎระเบียบราชการปกติ ทำให้ขวัญกำลังใจของบุคลากรในระบบราชการระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาลยิ่งระส่ำระสายถดถอยขึ้นอีก อันเป็นการบั่นทอนเจตจำนงทั่วไปที่ทำเพื่อ "แผ่นดิน" ซึ่งเคยมีอยู่ให้ยิ่งเสื่อมโทรมลงไป
ระบบราชการรวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ, อำนาจมากแต่สมรรถภาพน้อยนี่แหละครับที่กำลังเป็นเครื่องมือต่อสู้กับโควิด-๑๙ ของรัฐบาลภายใต้พรก.ฉุกเฉินขณะนี้
แนวโน้มจึงน่าจะทำให้การต่อสู้กับโควิด-๑๙ ไม่ค่อยเป็นกระบวน มีขีดจำกัดทางภาววิสัยของระบบโครงสร้างแห่งเครื่องมือกลไกที่ใช้ต่อสู้ มีการใช้อำนาจมากเกินจำเป็น แต่ได้ผลน้อยหรือก่อผลกระทบบานปลายอื่นเกินความคาดหมาย สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้คนและธุรกิจทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจแทนที่จะรู้เท่าทัน คาดการณ์ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้
พรก.ฉุกเฉินอาจเพิ่มอำนาจมากขึ้นให้แก่นายกฯและแกนนำระบบราชการใน ศบค. เหมือนต่ออายุทางการเมืองให้ ทว่าความไม่พอใจของสังคมต่อมาตรการสู้โควิดที่ใช้อำนาจมากแต่สมรรถภาพน้อยดังกล่าว รวมทั้งความกินแหนงแคลงใจแตกร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลเอง จะไม่หายไปไหน หากสั่งสมรอวัน "เช็คบิล" แสดงออกทางการเมืองต่อไปภายหน้า
Kasian Tejapira