วันพุธ, เมษายน 15, 2563

แม่โขงแล้ง : จีนบอกว่าพวกเขาไม่มีส่วนที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ข้อมูลดาวเทียมชี้เขื่อนจีนกักน้ำมหาศาล ทำให้ปลายน้ำโขงแล้งรุนแรง



แม่น้ำโขง : ข้อมูลดาวเทียมชี้เขื่อนจีนกักน้ำมหาศาล ทำให้ปลายน้ำโขงแห้งแล้งรุนแรงขึ้น


AFP{/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพแม่น้ำโขงช่วงรอยต่อชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย

14 เมษายน 2020
บีบีซีไทย

บริษัทวิจัยในสหรัฐฯ เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในจีนกักน้ำไว้ปริมาณมหาศาลในช่วงที่ประเทศลุ่มน้ำโขงประสบปัญหาภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ระดับปริมาณน้ำเฉลี่ยในจีนสูงกว่าประเทศที่อยู่ตอนล่าง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ออกมาโต้แย้งผลการศึกษาดังกล่าว และระบุว่าในช่วงฤดูฝนของปีที่แล้ว ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตลอดสาย 4,350 กิโลเมตร ลดน้อยลง

ผลการศึกษาของ อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ (Eyes on Earth) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านน้ำซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ อาจยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับปัญหาการจัดการน้ำระหว่างประเทศจีนและประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน 60 ล้านชีวิตในประเทศลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ลาวปลื้มรัฐบาลไทยสนับสนุนเขื่อนหลวงพระบาง คาดเริ่มก่อสร้างปีหน้า
สำรวจชีพจรแม่น้ำโขง

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า "Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Through Natural (Unimpeded) Conditions" เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ 2 คนคือ อลัน เบซิสต์ จาก อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ และโคลด วิลเลียมส์ จาก Global Environmental Satellite Applications โดยข้อมูลหลักที่นำมาวิเคราะห์นั้นนำมาจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

เมื่อปีที่แล้ว แม่น้ำโขงเผชิญกับภาวะความแห้งแล้ง ระดับน้ำลดต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรและชาวประมงจำนวนมาก แม่น้ำโขงเหือดแห้งจนเห็นหาดทรายเป็นแนวยาว อีกทั้งยังเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม อันเป็นผลมาจากตะกอนแม่น้ำโขงได้ถูกกักไว้

"จีนบอกว่าพวกเขาไม่มีส่วนที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง แต่ผลการศึกษาไม่ได้บอกอย่างนั้น" อลัน เบซิสต์ ประธานบริษัทวิจัย อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศวิทยา กล่าว
ผลการศึกษาว่าอย่างไร

เครื่องมือตรวจวัดด้วยดาวเทียม วัดความเปียกชื้นพื้นผิวในแผ่นดิน ตรวจพบว่า เมื่อปี 2019 มณฑลยูนนานของจีน มีระดับความเปียกชื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีปัจจัยจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำที่ละลายจากหิมะในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค.

AFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพแม่น้ำโขงที่ อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันผลการศึกษาชี้ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงตั้งแต่ชายแดนไทยลาวกลับลดต่ำลง 3 เมตร เป็นการลดลงต่ำกว่าที่ผ่านมาในอดีต

"จีนไม่ปล่อยน้ำไหลลงมาในช่วงฤดูฝน แม้จะรู้ว่าการกักน้ำจากจีนจะทำให้ประเทศด้านล่างต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงจากภัยแล้งก็ตาม" อลัน เบซิสต์ ระบุ

การศึกษาวิจัยนี้ ได้ใช้ดาวเทียมเก็บข้อมูลจากเครื่องตรวจจับความเคลื่อนไหวคลื่นสัญญาณไมโครเวฟ ตรวจสอบน้ำบนพื้นผิวอันเกิดจากน้ำฝนและน้ำที่ละลายจากหิมะในลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ปี 1992-2019

จากนั้นได้มีการนำข้อมูลของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เก็บบันทึกจากสถานีตรวจวัดเชียงแสน จ.เชียงราย ตามที่คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงรายงานไว้ ซึ่งเป็นสถานีที่ใกล้กับจีนมากที่สุด มาสร้างโมเดลการคาดการณ์ระดับน้ำที่ไหล "ตามธรรมชาติ" เพื่อเปรียบเทียบกัน

อนาคตของแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไรในแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี
การดูดทรายกำลังทำลายแม่น้ำสายหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลจากการวิเคราะห์ด้วยวิธีการนี้พบว่า ระดับน้ำในช่วงปีแรก ๆ ที่นำมาวิเคราะห์ตามโมเดลนี้ กับระดับน้ำที่คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงรายงานไว้มีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง

แต่เมื่อล่วงเข้าสู่ต้นปี 2012 หลังจากเขื่อนในประเทศจีนเริ่มเปิดดำเนินการ ตัวเลขระดับน้ำจากการวิเคราะห์คาดการณ์กับตัวเลขระดับน้ำที่วัดได้จากสถานี เริ่มมีความไม่สอดคล้องกันในหลายปีมากขึ้น โดยเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับที่เขื่อนจีนกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและปล่อยน้ำในฤดูแล้ง

ตัวเลขสถิติในปี 2019 ได้บอกชัดมากขึ้นถึงความแตกต่างระหว่างน้ำที่คาดการณ์ถึงการไหลตามธรรมชาติและระดับน้ำที่ตรวจวัดได้

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยศึกษาเฉพาะน้ำของแม่น้ำโขงในจีนเท่านั้น ไม่รวมถึงแม่น้ำโขงในตอนล่าง ซึ่งลาวได้เปิดดำเนินการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง 2 แห่งตอนปลายปี 2019

จีนปฏิเสธ

ผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีน 11 แห่ง เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากทางการจีนไม่เคยเปิดเผยข้อมูลสถิติของปริมาณน้ำที่แต่ละเขื่อนได้เก็บกักไว้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัยของสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณน้ำที่ถูกกักไว้นั้นน่าจะมีมากกว่า 47 พันล้านลูกบาศก์เมตร


AFP/GETTY IMAGES

ประเทศจีน ซึ่งไม่ได้มีพันธะสัญญาเรื่องการใช้น้ำกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือในการจัดการน้ำ รวมทั้งสอบสวนสาเหตุของภาวะน้ำแล้งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลปักกิ่งได้ "ควบคุม" แม่น้ำโขง เมื่อปีที่แล้วที่กรุงเทพฯ นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหาว่าการกักน้ำของจีนเป็นต้นตอของปัญหาภัยแล้งในแม่น้ำโขง

"คำอธิบายที่ว่าการสร้างเขื่อนของจีนในแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลายน้ำแห้งแล้ง เป็นเรื่องไม่มีเหตุผล" กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุในแถลงการณ์ที่ชี้แจงกับสำนักข่าวรอยเตอร์

กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุอีกว่าเมื่อปีที่แล้วมณฑลยูนนานเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรง และระดับน้ำที่กักไว้ในเขื่อนของจีนก็ลดระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์

"แม้ประสบภาวะเช่นนี้ จีนจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อรับรองถึงการปล่อยน้ำในปริมาณที่สมเหตุสมผลไปยังประเทศแถบลุ่มน้ำตอนล่าง" จีนระบุ

ด้าน ไบรอัน อีย์เลอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยด้านนโยบายลุ่มแม่น้ำโขง แห่งศูนย์วิจัย Stimson Center ในสหรัฐฯ ชี้ว่าการกล่าวอ้างเช่นนั้นของจีน ขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฏในรายงานศึกษาชิ้นใหม่

"ไม่รัฐบาลปักกิ่งโกหก ก็ต้องเป็นคนบริหารจัดการเขื่อนโกหก ต้องมีใครสักคนหนึ่งที่ไม่ได้พูดความจริง"
...