[Eat The Rich]
Quand les pauvres n'auront plus rien à manger, ils mangeront les riches !"
“When the poor have nothing more to eat, they will eat the rich!”
“เมื่อคนจนไม่มีกิน เขาจะกินคนรวย”
มีผู้กล่าวกันว่า ผู้พูดประโยควรรคทองนี้ คือ Jean-Jacques Rousseau แต่จากการสำรวจเอกสารทางประวัติศาสตร์ หนังสือ และงานของ Rousseau แล้ว ไม่พบว่าเขาเคยกล่าวประโยคนี่ไว้
แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสของ Adolphe Thiers ได้อ้างไว้ว่า Rousseau เคยพูดประโยคนี้
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นต้นตำรับ คงไม่สำคัญเท่ากับว่า “Eat The Rich” กลายเป็นคำขวัญหรือสโลแกนที่ใช้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลและองค์กรโลกบาลทั้งหลายที่มีนโยบายเอื้อคนรวย นายทุน กลุ่มคนไม่กี่คน ที่ผูกขาดอำนาจและกอบโกยทรัพยากรไปทั้งหมด ยิ่งในช่วงที่ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม” มีมากขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้ เสียงร้อง “Eat The Reach” ยิ่งดังขึ้น ทั้งบนท้องถนน สังคมออนไลน์ งานวัฒนธรรม เพลง ภาพยนตร์ วรรณกรรม
วิกฤต Covid-19 คือ จุดระเบิด แสดงอาการของโรค อีกครั้ง
เสียงกระหึ่ม “Eat The Rich”....
Credit ภาพประกอบ https://mikeysart.biz/shop/eat-the-rich
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
...
[สิทธิในการมีปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต คือ สิทธิขั้นพื้นฐานอันสำคัญที่สุด]
การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 กรุยทางเปิดฉากโดยชนชั้นกระฎุมพี หรือ บูร์ชัวร์ ที่ถือเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น พวกเขาเป็นเจ้าสมบัติ มีสติปัญญาความรู้ แต่ปราศจากซึ่งอำนาจทางการเมือง
ชนชั้นกระฎุมพีจึงนำการปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยกเลิกระบบฟิวดัล ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ศักดินา และกำหนดให้พวกตนได้เข้าไปมีส่วนในการใช้อำนาจการเมือง ผ่านการเลือกตั้ง ผ่านการเป็นสมาชิกสภา
การปฏิวัติ 1789 จึงมุ่งเน้นไปที่กรรมสิทธิ์ การประกันสิทธิ เสรีภาพ ต่างๆ โดยละเว้นที่จะพูดถึงคนอีกจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ได้จ่ายภาษีถึงเกณฑ์ และไม่มีสิทธิทางการเมือง
กล่าวได้ว่า ชนชั้นกระฎุมพีริเริ่มการปฏิวัติ เพื่อดึงเอาอำนาจจากกษัตริย์ พระ ขุนนาง พร้อมกับกดชนชั้นล่างเอาไว้ด้วย
แต่ สมาชิกสภาปีกซ้าย หัวก้าวหน้า กลุ่ม Jacobin คือ นักการเมืองที่ต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ พวกเขาต้องการขยายสิทธิ อำนาจ โอกาส ทรัพยากร ออกไปให้กับคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด
คนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่น คือ Maximilien Robespierre
Robespierre ถูกกระบวนการสร้างให้เป็นปีศาจ มาทุกยุคทุกสมัย เขียนประวัติศาสตร์ให้เขาเป็นเผด็จการกระหายเลือด โดยจงใจละเลยไม่พูดถึงบทบาทก้าวหน้าของเขาตลอดการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนให้เลิกทาส ขยายสิทธิทางการเมืองออกไปให้ครอบคลุมโดยไม่ใช้เกณฑ์การจ่ายภาษี ยกเลิกโทษประหารชีวิต ต่อต้านกฎอัยการศึก สนับสนุนเสรีภาพสื่อ ปกป้องสาธารณรัฐ ควบคุมราคาสินค้าอันจำเป็น ฯลฯ
ในการอภิปรายในสภาแห่งชาติ วันที่ 2 ธ.ค. 1792 เขาได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เขาให้ชื่อมันว่า “Droit à l’existence” หรือ สิทธิในการดำรงชีวิต
เขาเรียกร้องให้สภาต้องสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนว่า ทุกๆคนเมื่อเกิดเป็นมนุษย์จำเป็นต้องมีสิทธิในการมีปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้ดำรงชีวิตให้ได้ เพราะ หากไม่มีสิทธิเหล่านี้ ไม่มีปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ ก็ไม่สามารถดำรงชีวิต ไม่อาจมีชีวิตต่อไปได้ เช่นนี้ ความเป็นมนุษย์ก็หายไป มนุษย์ไม่อาจเป็นมนุษย์ ชีวิตไม่มีชีวิต ดังนั้น เสรีภาพอื่นๆที่รัฐจะสรรหามาเสกสรรปั้นแต่งให้กับมนุษย์ ก็ไม่มีความหมาย เมื่อมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
อาจกล่าวได้ว่า ตลอดช่วงชีวิตแห่งการปฏิวัติของ Robespierre แล้ว เขาก่อการปฏิวัติเพื่อผู้อื่น เพื่อคนส่วนใหญ่ มิใช่ปฏิวัติล้มล้างสถาบันกษัตริย์ พระ ขุนนาง เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ
ความคิดเรื่อง “สิทธิในการมีปัจจัยพื้นฐานเพื่อดำรงชีวิต” ยังทันสมัยอยู่ในยุคปัจจุบัน และยิ่งจำเป็นมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงวิกฤต Covid-19 ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้
ความมั่งคั่ง อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น ธนาคาร จำนวนเศรษฐีติดลำดับโลก แสนยานุภาพทางการทหาร อาวุธ จำนวนนายพล ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง ทั้งหมดนี้ จะมีคุณค่าอะไรเล่า ถ้าเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติ ไม่อาจแม้แต่มีชีวิตรอดในแต่ละวัน
“อะไร คือ เป้าหมายแรกของสังคม? คือการรักษาสิทธิของมนุษย์อันมิอาจพรากไปได้ แล้วอะไรคือสิทธิลำดับแรกๆของบรรดาสิทธิเหล่านี้? คือ สิทธิในการดำรงชีวิต กฎหมายสำคัญลำดับแรก คือ กฎหมายที่สร้างหลักประกันให้แก่สมาชิกทุกคนในสังคมให้มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้ สิ่งอื่นๆนอกจากนี้ทั้งหมดต้องมาทีหลังสิ่งเหล่านี้ กรรมสิทธิ์มีขึ้นและถูกประกันได้ก็เพียงเพื่อทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้ เพื่อให้เราดำรงชีวิตได้เราจึงมีกรรมสิทธิ์”
Maximilien Robespierre, อภิปรายในสภา วันที่ 2 ธันวาคม 1792.