ถ้าเป็นทหารเขาเรียกว่า ‘ยุทธการ’ อันมีทั้งทางรับและเชิงรุก
แต่ในฟากประชาธิปไตย ‘ไม่รอ’ แบบก้าวต่อไปข้างหน้าเสมอๆ
ก็ต้องเรียกว่า ‘ธรวิธี’ (อ่าน ‘ทะ-ระ-วิ-ที’ แปลไทยเป็นไทยได้ว่า ‘ทรงไว้ซึ่งกลไก’) ใช้บรรยายภาวะการเมืองขณะนี้
ขณะที่คาดว่า
จะมีการสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ ๒๑
กุมภาพันธ์ ช่วงชิงตัดหน้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี รองฯ และรัฐมนตรีรวม
๖ คน โดยกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน อันมีอนาคตใหม่เป็นหนึ่งในนั้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘การตั้งรับในเชิงรุก’ ของพรรคอนาคตใหม่ในฐานะที่พรรคนี้เป็นเป้าหมายของฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร
อันมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาล ‘เฮงซวย’ ซึ่งทำอะไรและไม่ทำอะไรให้ได้เรื่องสักอย่าง
ภายใต้นายกฯ ประยุทธ์ ‘จันทร์ไร้’
(แสง)
การตั้งรับอย่างหนึ่งต่อการรุกของฝ่ายกำอำนาจ
คือการรณรงค์ทาง change.org #คัดค้านการยุบอนาคตใหม่
ซึ่งขณะเขียนนี้มีผู้ร่วมลงนามแล้ว ๒๘,๐๐๐ กว่า และเพิ่มขึ้นทุกๆ นาฑี โดยมีผู้ที่มีคนติดตามความเห็นทางประชาธิปไตยจำนวนมากร่วมกับ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
เปิดแคมเปญเมื่อ ๑๕ กุมภาพันธ์ด้วยจุดหมาย “พอกันทีกับการกดทับเสียงของความเปลี่ยนแปลง
อำนาจการตัดสินปัจจุบันและอนาคตต้องอยู่ในมือประชาชนอย่างเรา
ไม่ใช่อยู่ที่คนเพียงหยิบมือ” ด้วยเห็นว่า “ไม่ควรต้องมีพรรคการเมืองใดต้องถูกยุบ
การยุบพรรคอะไรก็ตามไม่ควรเกิดขึ้น
เราต้องปล่อยให้พรรคการเมืองเติบโต
พรรคการเมืองจะดีจะชั่วอย่างไรประชาชนจะเป็นคนตัดสินเอง ถ้าประชาชนไม่เลือก
วันหนึ่งพรรคนั้นก็อยู่ไม่ได้และก็ยุบหายไปเอง” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็น
(https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_275727 และเข้าร่วมลงชื่ออีกได้ที่ http://chng.it/xcHGF548fJ)
มิใยที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล
สังกัดของประธานสภาฯ ซึ่งกำลังเดินหน้าลงคลอง
เพราะไม่เพียงเป็นพรรคการเมืองปฏิกิริยาต่อประชาธิปไตยในอดีต
ยังเป็นพรรคเกื้อหนุนการสืบทอดอำนาจของทหารในปัจจุบัน ตั้งท่าคัดค้านการรณรงค์นี้
โดยที่ผู้สนับสนุนการรณรงค์หลายต่อหลายคน
น่าจะเป็นลมใต้ปีกให้แก่พรรคของประธานสภาได้ เมื่อไรที่การเมืองไทยสามารถก้าวผ่านการครอบงำของอำนาจเผด็จการ
แต่รูปการณ์ขณะนี้ความหวังเช่นนั้นยิ่งริบหรี่
จากการที่โฆษกพรรคพยายามเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยข้ออ้าง ‘เสล่อๆ’
นายราเมศ รัตนะเชวง ออกโรงแถลงว่าการล่าชื่อค้านยุบพรรคอนาคตใหม่
เป็นการข่มขู่กดดันศาลรัฐธรรมนูญ “ทั้งที่ควรต่อสู้กันด้วยข้อเท็จจริงในคดี”
นั้นไม่น่าจะเรียกว่า ‘แกล้งโง่’ หากแต่เป็นการจงใจบิดเบือนความจริง
ทั้งที่เขารู้กันทั่วแล้วว่าคดีนี้ ทั้ง
กกต.ผู้ร้อง และศาลรัฐธรรมนูญผู้วินิจฉัย ต่างเร่งรีบลุกลี้ที่จะตัดสิน เพื่อให้คุณแก่รัฐบาลและให้โทษแก่พรรคการเมืองแนวใหม่รายนี้
แล้วโฆษก ปชป.ยังจะมีหน้าบอกว่า “ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายควรรอผลคำวินิจฉัย”
เสียก่อน
ฉะนี้ การที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยืนหยัดต่อสู้กับการรุกฆาตของเครือข่ายลิ่วล้อเผด็จการเบื้องหลัง
‘หน้ากากกันฝุ่นประชาธิปไตย’ ในนาม ‘องค์กรอิสระ’ จึงเป็นแบบอย่างธรวิธีตั้งรับเชิงรุก
ที่ฟากประชาธิปไตยควรยึดมั่นเป็นหนทางสู้ต่อไปข้างหน้า
หนึ่งนั้นคือการประกาศว่าจะทำการฟ้องร้องกรรมการเลือกตั้งในข้อหา
ละเลยปฏิบัติหน้าที่ตามความผิดมาตรา ๑๕๗ แห่งรัฐธรรมนูญซึ่ง คสช.จัดให้ร่างเอง
โดยเฉพาะที่วินิจฉัยว่าเงินกู้หัวหน้าให้พรรคยืมใช้ ๑๙๑ ล้านบาท เป็นเงินบริจาค
ผิดมาตรา ๖๖
“มันไม่ใช่ มันมีมาตรฐานการบัญชีรองรับอยู่
เรื่องบัญชีมันตรงไปตรงมา ดังนั้นคุณดิ้นตรงนี้ไม่ได้ หรือคุณจะบอกว่า ผมครอบงำพรรคได้อย่างไร
ในเมื่อคุณไม่เคยศึกษาเลยว่า พรรคผมทำงานอย่างไร อยู่ๆ มากล่าวหาว่าผมครอบงำพรรค”
ธนาธรกล่าวเมื่อ ๑๓ ก.พ.
อีกทั้งต่อการที่เขามุ่งมั่นเดินต่อไม่ยั้ง
การ ‘ปฏิรูปกองทัพ’
อย่างจริงจัง “เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า...จะปกป้องสิทธิมนุษยชนของทหารชั้นผู้น้อยได้...จะปกป้องภาษีของประชาชน
ที่ถูกเอาไปใช้อย่างฟุ่มเฟือยในกองทัพได้”
กับที่เขาประกาศลงมือกำกับ ‘ปฏิบัติการพิน้อคคิโอ’ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ๕ ใน ๖
เป้าหมายของฝ่ายค้าน โดยใช้ ส.ส. ๑๖ คนไล่เบี้ย ๕ ด้านตั้งแต่เศรษฐกิจผิดพลาด
เอื้อประโยชน์พวกพ้อง นโยบายเสียหาย ละเมิดสิทธิประชาชน และจริยธรรมเหลวแหลก
ด้วย ‘ธรวิธี’ ที่ว่าผู้อภิปรายเพียง ๑ คนจะพูดในภาพรวม นอกนั้นอีก ๑๕ คนจะไล่เบี้ยรายประเด็นอย่างไม่ซ้ำกัน
มีทั้งเอกสาร หลักฐาน ข้อกฎหมาย หลักนิติรัฐนิติธรรม และ ‘บิลส์’
แฉความเสียหายต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นจริง
เหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่า “พล.อ.ประยุทธ์กำลังพาประเทศไทยไปผิดทาง
และคนที่ต้องจ่ายราคาให้การพาประเทศไทยไปผิดทางคือพี่น้องประชาชน”
แล้วจะให้รอดูโน่นก่อนนี่ก่อน ซึ่งรัฐบาลสืบทอดเผด็จการจัดให้ อย่างที่พรรค
ปชป.ต้องการได้อย่างไร