วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 17, 2563

ปรากฎการณ์การหายไปของวัตถุและสถาปัตยกรรมของคณะราษฏร์ที่เริ่มถี่ขึ้น ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’ ระบุ เป็นการทำลายล้างอุดมการณ์ประชาธิปไตย วัตถุเหล่านี้คือพื้นที่ความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ของประชาชน การทำลายนี้เกินเส้นแดงที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ




กวาดล้างมรดก ‘คณะราษฎร’ กำจัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย สู่สังคมที่มีแต่อคติ

2020-02-14

นัชชา ตันติวิทยาพิทักษ์ รายงาน
กิตติยา อรอินทร์ ภาพประกอบ

ที่มา ประชาไท

ปรากฎการณ์การหายไปของวัตถุและสถาปัตยกรรมของคณะราษฏร์ที่เริ่มถี่ขึ้น ‘ชาตรี ประกิตนนทการ’ ระบุ เป็นการทำลายล้างอุดมการณ์ประชาธิปไตย วัตถุเหล่านี้คือพื้นที่ความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ของประชาชน และการทำลายเกินเส้นแดงที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ ผลักให้เกิดความสุดโต่ง ต่างฝ่ายจะมีสัญลักษณ์ที่ดีเกินจริงทั้งคู่

หลังการหายไปของหมุดคณะราษฎร์ในปี 2560 เราเห็นปรากฏการณ์การหายไปของวัตถุทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของคณะราษฏร์ถี่ขึ้นอีก ตั้งแต่อนุสาวรีย์ปราบกบฎ รูปปั้นจอมพลป. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ หรือการเปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์การทหารปืนใหญ่ พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพลป. ที่เชียงราย ถูกเปลี่ยนป้ายชื่อเป็น 'ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์' กระทั่งตึกเทเวศประกันภัยซึ่งสร้างด้วยศิลปะแบบคณะราษฏรก็ถูกเปลี่ยนบูรณะใหม่ให้เป็นศิลปะแบบนีโอคลาสสิค


อนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช หายเกือบปี ขณะที่ชื่อ 'บวรเดช-ศรีสิทธิสงคราม' โผล่เป็นตึก-ห้องใน ทบ.
อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ - จอมพล ป. หาย
ป้าย 'บ้านจอมพล ป.' ที่เชียงราย ปลิวแล้ว เหลือแค่ชื่อ 'ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์'


‘The Destruction of Memory’ คือสารคดีสร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันของ โรเบิร์ต บีแวน สำรวจปรากฏการณ์ "ทำลายล้างทางวัฒนธรรม" อย่างเป็นระบบ มีการจงใจทำลายสถาปัตยกรรม หนังสือ และงานศิลปะด้วยเจตนาที่จะ "ลบความทรงจำและอัตลักษณ์" ของกลุ่มคนและชนชาติเจ้าของประวัติศาสตร์เหล่านั้น ควบคู่กับเรื่องราวการต่อสู้ของคนที่ยอมเสี่ยงภัยปกป้อง อนุรักษ์ และรื้อฟื้นสถาปัตยกรรมและงานศิลปะทุกวิถีทาง ด้วยความเชื่อว่า การเข่นฆ่าความทรงจำของมนุษย์ก็เลวร้ายไม่ต่างจากการมุ่งหมายเอาชีวิต

สารคดีเรื่องนี้คือภาพสะท้อนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ระบุว่า ในขณะนี้เองสังคมไทยก็กำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า Ideology Cleansing หรือการทำลายล้างทางอุดมการณ์ โดยในความเห็นเขา มาตรที่ใช้วัดว่ากระบวนการนี้กำลังดำเนินอยู่มีสามประการ ได้แก่

หนึ่งการรื้อถอนที่หาคำอธิบายเชิงประโยชน์ใช้สอยไม่ได้ เชิงประโยชน์ใช้สอยนั้นตัวอย่างเช่น โรงแรมเอกชนสร้างแล้วเล็กไปต้องทุบสร้างให้ใหญ่ขึ้น หรือการเปลี่ยนโรงหนังที่ไม่มีใครใช้แแล้วให้เป็นสถานที่อื่น หรือการยึดที่พัฒนาเมืองสมัยใหม่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การทำลายล้างเชิงอุดมการณ์

สอง การรื้อถอนสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงการใช้งาน แต่เมื่อมีปริมาณการรื้อถอนในกลุ่มสถาปัตยกรรมชุดเดียวกันที่มีอุดมการณ์ชุดเดียวกันมากอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าอาจเข้าข่าย

สาม การรื้อถอนที่ไม่เปิดให้มีการถกเถียงสาธารณะ

เมื่อเราดูคำอธิบายของการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของคณะราษฎร์แล้วก็จะพบว่าเข้าข่ายการทำลายล้างเชิงอุดมการณ์อย่างชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงปี 2532 ซึ่งศาลาเฉลิมไทยถูกรื้อ และช่วงหลังรัฐประหาร 2549 มาจนถึงปัจจุบัน


ชาตรี ประกิตนนทการ

การตายครั้งแรกของคณะราษฏร

ชาตรีกล่าวว่าในช่วงปี 2532 นั้น งานวิชาการแทบไม่มีการพูดถึงคณะราษฏร หรือหากพูดถึงก็มักพูดในแง่ลบ และประวัติศาสตร์กระแสหลักก็แทบลืมไปแล้วว่าคณะราษฏรคือใคร ศาลาเฉลิมไทย ถูกรื้อปี 2532 มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ให้เหตุผลว่า เฉลิมไทยบังโลหะปราสาท ไม่สวย ผิดที่ผิดทาง ทำให้สถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯไม่มีความกลมกลืน

แต่ชาตรีชี้ว่าย้อนไปในปี 2525 มรว.คึกฤทธิ์ ได้เคยปาถกฐาว่า ศิลปกรรมของไทยหลังปี 2475 เป็นศิลปกรรมที่เสื่อมโทรม ต่ำทราม ผู้นำปฏิวัติก็เป็นนักเรียนนอกกลับจากฝรั่งเศส รสนิยมทางศิลปะอยู่แค่ริมถนนกรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามภาพโป๊ เมื่อปฏิวัติ 2475 ขึ้นมาแล้ว การจะเปลี่ยนสังคมไทยก็ต้องเปลี่ยนทุกทาง ศิลปะประเพณีคติเก่าๆ นั้นเป็นเรื่องของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงพยายามเลิกให้สิ้น

ดังนี้แสดงให้เห็นว่า มรว.คึกฤทธิ์ เข้าใจว่าเป็นงานที่คณะราษฎรสร้างเพื่อเป็นอุดมคติทางการเมือง จึงต้องการจะทำลาย

การตายครั้งที่สองของคณะราษฏร

หลังรัฐประหาร 2549 ชาตรีเห็นว่า ส่งผลให้เกิด “การล่มสลายของกลุ่มคนเดือนตุลา” ในฐานะสัญลักษณ์การต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย เพราะคนเดือนตุลาจำนวนมากไปสนับสนุนรัฐประหาร 2549 คนต้านรัฐประหารรู้สึกว่าคนเดือนตุลาทำตัวน่าผิดหวัง ลามไปสู่อะไรที่เกี่ยวข้องกับ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือกระทั่งพฤษภา 35 สูญเสียสัญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตย งานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาเหล่านี้ลดพลังลงอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มคนต่อต้านรัฐประหารเริ่มหันไปมองสัญลักษณ์ใหม่ คือคณะราษฎร เริ่มมีการศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น และจัดกิจกรรมชุมนุมกันที่หมุดคณะราษฎร์ อนุสาวรีย์ปราบกบฎ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ในความหมายที่คำนึงถึงคณะราษฎร ไม่ใช่ในความหมายของ 14 ตุลา 6 ตุลาอีกต่อไป)

นี่จึงเป็นการเกิดขึ้นใหม่ของคณะราษฎรอีกครั้ง หลังจากที่ถูกฆ่าไปแล้วครั้งหนึ่งสำเร็จ ดังนั้นกระบวนการฆ่าและทำลายจึงเกิดขึ้นอีก

มีความพยายามที่จะรื้อศาลฎีกาซึ่งเป็นศิลปะแบบคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2551 มาสำเร็จในปี 2556 โดยชาตรีชี้ว่า ในทัศนะของตนนั้นไม่มีเหตุผลทางประโยชน์ใช้สอย แม้เจ้าหน้าที่ศาลจะบอกว่าตึกเดิมพื้นที่ไม่พอ แต่ก่อนทำการรื้อได้มีการย้ายศาลอุทธรณ์ ศาลเยาวชน ศาลอื่นๆ ออกไปทั้งหมด และยกพื้นที่ให้ศาลฎีาเพียงหน่วยงานเดียว พื้นที่ศาลเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เหตุผลแท้จริงเรื่องพื้นที่ใช้สอย นอกจากนี้ศาลฏีกาที่สร้างใหม่ สร้างในแนวเดิมของอาคารเดิม ไม่ได้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่การรื้อก็เพื่อจะได้ศาลาไทยเข้ามาแทน ดังนั้นเหตุผลแท้จริงคือการทำลายทางอุดมการณ์

ต่อมาปี 2557 มีการรื้ออนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญ จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลเรื่องการจราจร ซึ่งชาตรีกล่าวว่า ถ้านี่เป็นเหตุผลที่แท้จริง อนุสาวรีย์ที่อยู่เป็นวงเวียนก็ต้องรื้อให้หมด แต่ก็ไม่มีที่ไหนถูกรื้ออีก

หลังจากนั้นปี 2558-2559 มีการบูรณะที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า ซึ่งเปลี่ยนจากสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ครุฑแบบของราชการ ปี 2560 หมุดคณะราษฎร์หาย ซึ่งไม่มีเหตุผลใดมาสนับสนุน ปี 2561 อนุสาวรีย์ปราบกบฎหาย

ปี 2563 เป็นปีที่มีความถี่ในการรื้อถอนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ หายไป รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พลเอกพระยาพหลฯ ถูกเปลี่ยนชื่อ ซึ่งในความเห็นของชาตรีนั้นน่าเสียดายมากเพราะภายในมีเอกสารมหาศาลที่ยังไม่ได้ทำเป็นไฟล์ดิจิทัล ยังไม่มีการเผยแพร่ และเกรงว่าอาจถูกทำลาย

ปีเดียวกันตึกเทเวศประกันภัยถูกเปลี่ยนให้เป็นแบบนีโอคลาสสิคด้วยเหตุผลว่าจะเปลี่ยนให้ตรงกับประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5, 6, 7 แต่ความจริงตามประวัติศาสตร์ชาตรีระบุว่า ส่วนที่เป็นถนนราชดำเนินกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่มีตึกใดเลยที่เป็นนีโอคลาสสิค แต่เป็นเพียงต้นมะฮอกกานี เพราะฉะนั้นการปรับแบบนี้ไม่ใช่การย้อนกลับมาหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่คือการสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่

นอกจากนี้ รูปปั้นจอมพลป. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศก็หายไป พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพลป. เชียงราย ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น 'ศูนย์เรียนรู้เชิงประวัติศาตร์'

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ในอีกไม่กี่เดือนคงจะเห็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ชาตรีกล่าว

การพังทลายของวัตถุทางอุดมการณ์คือการพังทลายของเราทั้งหมด

ชาตรีอ้างถึง มิลาน คุนเดอรา ซึ่งเขียนหนังสือ ‘The Book of Laughter and Forgetting’ ว่า ขั้นตอนแรกของการฆ่าหรือกำจัดผู้คนคือการลบความทรงจำเกี่ยวกับพวกเขา ทำลายหนังสือที่เกี่ยวกับพวกเขาออกไป ทำลายวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพวกเขา จากนั้นให้ใครสักคนเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ สร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่ เขียนหนังสือขึ้นใหม่ และภายในเวลาไม่ช้าคนในชาติก็จะเริ่มลืมว่าเคยมีพวกเขาเหล่านั้นดำรงอยู่

ชาตรีระบุว่า ศิลปะหรือสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีจึงความสำคัญ การจะทำลายหรือลบล้างทางกายภาพของบุคคล ขั้นแรกต้องเริ่มจากการทำลายสิ่งที่เป็นวัตถุแห่งความทรงจำของพวกเขาเหล่านั้น

ชาตรีเล่าถึงหนังสือ ‘The Destruction of Memory’ ซึ่งมีตอนหนึ่งเขียนถึง สะพาน ‘Mostar’ ในบอสเนียซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างเชื้อชาติที่หลากหลายระหว่างชุมชนต่างๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ และความเชื่อทางศาสนาทั้งคริสต์ อิสลาม ถูกระเบิดในปี 1993 ผู้คนต่างเศร้าโศกเสียใจ ผู้เขียนหนังสือได้ลงไปสอบถามว่า ทำไมคุณถึงเศร้าโศกกับตัวสะพานที่หายไปนัก โดยในทัศนะของเขารู้สึกว่าคนจำนวนมากรู้สึกเศร้าโศกต่อตัวสะพานที่ถูกระเบิดมากกว่าคนที่ตายอีก

คำตอบของคนที่มีความผูกพันกับสะพานเป็นเวลายาวนานบอกว่า “อาจเป็นเพราะเรามองเห็นความตายของเราภายใต้การพังทลายของสะพาน ในขณะที่ความตายของปัจเจกบุคคลแม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าแต่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องตาย แต่การพังทลายของสะพานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมและทุกคนคาดหวังว่ามันจะอยู่ไปจนชั่วฟ้าดินสลายนั้นให้ความรู้สึกต่างออกไป มันเป็นอัตลักษณ์ที่จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์เหนือชะตากรรมของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกบุคคล ผู้หญิงที่ตายก็น่าเศร้าและเป็นหนึ่งในพวกของเรา แต่การพังทลายของสะพาน คือการพังทลายของพวกเราทั้งหมด”

ชาตรีชี้ว่า คำตอบของเขาชัดเจนว่าสิ่งก่อสร้างไม่ใช่เพียงอิฐ หิน ปูน ทราย มันเป็นอะไรมากกว่าตัวบุคคล เป็นอัตลักษณ์ เป็นประวัติศาสตร์ เป็นความทรงจำที่ส่งทอดต่อเนื่องกันยาวนาน ดังนั้นการทำลายสิ่งก่อสร้างในหลายครั้งมันจึงเจ็บปวดมากกว่าการตายของปัจเจกบุคคล การพังของสะพานนี้จึงเหมือนการพังความหลากหลายทางชาติพันธุ์ลงไปด้วย

ทั้งนี้ ชาตรีกล่าวว่าอย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เคสในหนังสือเล่มนี้คือศิลปะระดับโลกที่มีอยู่ยาวนานและมีคุณค่าเป็นที่ยอมรับในสากล ถ้าจะเทียบกับเคสในไทยมีความแตกต่างกัน นั่นคือในหนังสือและสารคดีสงครามการทำลายศิลปะวัตถุเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะที่ในไทยเป็นสงครามทางอุดมการณ์

การทำลายที่เกินเส้นแดงจะผลักให้สัญลักษณ์นั้นดีเกินจริง

ชาตรีย้ำว่า คณะราษฎรไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ดีไร้ที่ติ พวกเขาทำทั้งสิ่งดีและไม่ดี เช่น จอมพลป. ในสงครามโลกครั้งที่สองก็มีลักษณะค่อนไปทางเผด็จการมาก

“การรณรงค์เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะวิพากษ์คณะราษฎรไม่ได้ หรือจะต้องกราบไหว้บูชาคณะราษฏร การเก็บรักษาสิ่งก่อสร้างในยุคคณะราษฎรโดยเฉพาะชิ้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือการรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าเราเดินทางจากอดีตมาสู่ปัจจุบันอย่างไร วัตถุยุคคณะราษฏรหลายแห่งเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังประชาชนในการเสียสละต่อสู้ให้ประเทศชาติเจริญมาจนถึงปัจจุบัน” ชาตรีกล่าว

เขายกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ได้มีเรื่องราวเพียงแค่ของคณะราษฎร แต่ยังมีเรื่องราวการต่อสู้กับเผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 และการเดินขบวนเรียกร้องอีกเต็มไปหมด

“ประวัติศาสตร์เหล่านี้ฝังอยู่ในตึกอาคารและอนุสาวรีย์ เป็นความทรงจำที่ส่งทอดรุ่นสู่รุ่น การเก็บสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เก็บเพื่อจะเชิดชูคณะราษฎร แต่เก็บเพื่อเชิดชูอุดมคติหรืออุดมการณ์ที่ฝังซ้อนทับในสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ การรื้อถอนสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การหายไปของอิฐ หิน ปูน ทราย แต่คือการทำลายอัตลักษณ์ของกลุ่มคนเพื่อไปสู่การทำลายอุดมการณ์ของคณะราษฏรในฐานะตัวแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” ชาตรีระบุ

ชาตรีกล่าวว่า สิ่งที่น่าเสียดาย น่าตกใจ คือในปรากฎการณ์การทำลายมรดกของคณะราษฏรนั้นเข้าข่ายเลยเส้นแดงของสิ่งที่ควรยึดถือร่วมกันในสังคมไปหมดแล้ว

“เส้นแดงที่ว่าคือเส้นที่ไม่ควรก้าวข้าม เส้นแดงที่ว่าเมื่อก้าวข้ามไป จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดตัวเองเชิงคุณค่ากับคณะราษฎรจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ถ้าปล่อยให้การรื้อทำลายรุนแรงขึ้นจนสะสม จะเป็นปรากฎการณ์ที่ดันคณะราษฏรไปสุดโต่งคือกลายเป็นกลุ่มคนดีในอุดมคติที่ทำอะไรก็ไม่ผิด แล้วคณะราษฏรที่เป็นมนุษย์ที่มีทั้งสิ่งดีและไม่ดีคลุกเคล้ากันไปจะถูกลืม กลายเป็นฮีโร่ในอุดมคติ จะเริ่มเห็นว่ามีคนที่โปรจอมพลป.มากจนลืมทุกอย่างที่จอมพลป.ทำไม่ดีไปหมด เมื่อถึงตอนนั้นต่างฝ่ายจะมีสัญลักษณ์ที่ดีเกินจริงกันทั้งสองฝ่าย แล้วก็เต็มไปด้วยอคติ และห้ำหั่นจนสังคมไม่เหลืออะไร” ชาตรีสะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้

เสนอสร้าง ‘คณะราษฎรศึกษา’ แหล่งข้อมูลต่อสู้เฟคนิวส์

สิ่งที่พอทำได้ต่อจากนี้ ชาตรีมองว่าหลังการรื้อถอนทำลายก็เกิดกระบวนการทางสังคมที่ผลิตวัตถุต่างๆขึ้นมาในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เข็ดกลัด นาฬิกาหมุดคณะราษฏร โมเดล ปฏิทิน สิ่งเหล่านี้เป็นผลสะท้อนกลับของการพยายามทำลายสัญลักษณ์คณะราษฏร

หากเปรียบเทียบกับเคสในสารคดีที่เป็นการทำลายวัฒนธรรมแล้วได้ขึ้นศาลโลก ชาตรีมองว่า เคสในสารคดีนั้นค่อนข้างชัดมากว่ามีความสูญเสีย วัตถุสัญลักษณ์ก็ถูกนิยามว่ามีคุณค่าระดับโลกที่มีมานานเป็นพันปี ขณะที่วัตถุของคณะราษฏรนั้นใหม่กว่ามากเพียงแค่ 80 ปี พูดได้ว่าแม้กระทั่งการรับรู้ของคนในประเทศเองก็ยังไม่เข้าข่ายเป็นศิลปะวัตถุที่มีคุณค่าโดยตัวมันเอง คุณค่าของมันจึงมีแค่ในเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น

ชาตรีแนะว่า อยากให้สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘คณะราษฏรศึกษา’ เพื่อต่อสู้กับเฟคนิวส์ที่มีอยู่ตอนนี้ ถ้ามีข้อเท็จจริง จะช่วยให้ทุกฝ่ายไม่ก้าวข้ามเส้นแดง อย่างเช่น มักมีการกล่าวหาว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าแนวคิดของคณะราษฏรได้รับการสนับสนุนจากประชาชนก็คือสิ่งก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เช่น อนุสาวรีย์พานรัฐธรรมนูญที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสร้างก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอีก และยังมีที่อื่นๆ อีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประชาชน พ่อค้า ข้าราชการ เป็นคนระดมทุนตั้งต้นสร้างอนุสาวรีย์ บางแห่งรัฐบาลบอกไม่ให้สร้าง แต่ชาวบ้านก็ระดมทุนสร้างกันเอง หลักฐานทางวัตถุแบบนี้จึงเป็นตัวบอกว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่เกิดขึ้นในวงจำกัด และการเห็นด้วยกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่คือข้อค้นพบจากการศึกษาวัตถุทางวัฒนธรรมเหล่านี้

ชาตรียกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคืออนุสาวรีย์ย่าโม ซึ่งมีงานวิจัยหลายปีก่อนชี้ชัดว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวคณะราษฏรแน่นอน แต่ตอนนี้อนุสาวรีย์ได้ถูกเปลี่ยนความหมายไปแล้วจนกลายเป็นเทพยดาปกป้องท้องถิ่นชาวโคราช ความรับรู้ที่เกี่ยวกับคณะราษฏรที่มีต่อย่าโมแทบจะเป็นศูนย์ แต่นี่ทำให้อนุสาวรีย์นี้คงอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มขุดประวัติศาสตร์จนอนุสาวรีย์ย่าโมเกี่ยวข้องกับคณะราษฏรก็ไม่แน่ว่าจะถูกรื้อ อันนี้จึงเป็นสิ่งที่เราต้องเลือก

สัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ขึ้นกับดีเบตสาธารณะว่าจะทำลายหรือไม่

ทั้งนี้ชาตรีชี้ว่า การทำลายล้างไม่ใช่สิ่งยอมรับไม่ได้ เคยมีเคสนักศึกษาฮาเวิร์ดรณรงค์ให้รื้ออนุสาวรีย์ของคนที่สนับสนุนการค้าทาส การทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ต้องมีเหตุผลและผ่านการดีเบตของสังคมอย่างเปิดกว้างและมีส่วนร่วม การดีเบตคืออนุสาวรีย์เหล่านั้นเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงรึเปล่า หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหรือไม่

ชาตรียกตัวอย่างการดึงอนุสาวรีย์ซัดดัม ฮุสเซนลง ซึ่งการรื้อนั้นทำได้ แต่อาจมีตัวเลือกเช่น การเอาลงมาเก็บ หรือทำอย่างอื่นที่ลดทอนพลังหรือลดความหมาย เพราะอย่างน้อยการยังมีอนุสาวรีย์อยู่ อีก 50 ปีข้างหน้ามันก็อาจเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่านี่เป็นอนุสาวรีย์ที่ว่าด้วยเผด็จการทางทหาร ดังนั้นจึงมีหลายทางเลือกที่จะจัดการกับความทรงจำที่ไม่ดี



*ถอดความจากการเสวนาหลังฉายหนัง "The Destruction of Memory" เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2563 ห้องออดิทอเรียมชั้น 5 หอศิลปกรุงเทพฯ