วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 24, 2563

อยากให้คนอ่าน.. “อยากให้คนรู้มากขึ้น เผื่ออนาคตจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง” คุยกับนิรนาม_เด็กหนุ่มอายุยี่สิบคิดอะไร? ตีพิมพ์ในประชาไท




คุยกับนิรนาม_เด็กหนุ่มอายุยี่สิบคิดอะไร?


2020-02-23
ประชาไท

ไม่มีชื่อ

คุณอาจมองว่ามันเป็นความเลินเล่อ หรือสะเพร่าของเขาในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่ผมอยากจะบอกว่าคุณคงไม่เข้าใจโลกของเขา พอๆ กับที่เขาไม่ค่อยเข้าใจว่าโลกของพวกคุณนั้นเสรีภาพในการพูด “เรื่องทั่วไป” กลายเป็นอาชญากรรม

สำหรับเด็กชายเงียบๆ ที่มีชีวิตเรียบๆ อย่างเขา แต่ละวันไม่มีอะไรสลักสำคัญนักทุกอย่างล้วนเป็น “เรื่องทั่วไป” ยี่สิบสี่ชั่วโมงไม่ได้ทำอะไรผาดโผน “ตื่นแปดโมง เข้าทวิต เช็คข่าว กินข้าว อาบน้ำ ดูทีวี ดูหนัง อ่านหนังสือบ้าง” เขาเล่าว่ากิจวัตรประจำวันมีแค่นี้ นานๆ ครั้งจึงจะออกไปหาเพื่อน เยี่ยมญาติ หรือทำธุระเรื่องการเรียนและสอบ

“ก็อาจจะต้องติดคุก”

เขาตอบนิ่งๆ เมื่อผมถามว่าได้ประเมินไว้ไหมว่าสิ่งเลวร้ายสุดที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองคืออะไร เมื่อทวิตถึงเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย

“ถ้าจุดนั้นมาถึง...น่าจะพอทนได้” ผมได้แต่คิด ... “เด็กน้อยเอ๋ย” คุกไทยมันไม่เหมือนสิ่งที่เราเห็นในหนังหรอกนะ แต่ผมก็ไม่บังอาจที่จะขุดเซาะบ่อนทำลายพลังความใฝ่ฝันของใคร ผมให้เกียรติและเคารพในสิ่งที่นิรนาม เชื่อ คิด และพยายามทำ ผมทำได้แค่เตือนเขาเบาๆ ด้วยความเป็นห่วงว่าให้ระมัดระวังตัว

นิรนามบอกว่าได้ติดตามข่าว “ไผ่ ดาวดิน” ที่ถูกจำคุกเพราะศาลตัดสินว่ากระทำความผิด ม.112 เคยได้คุยกับคนที่รีทวิตข้อความของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แล้วถูกจับ “เห็นเขาฟอลโลวตัวเองอยู่เลยทักไปว่าเป็นยังไงบ้าง” เขาบอกว่าถูกให้เซ็นเอกสารบางอย่าง ทำให้คนนั้นพักไม่ทวิตเรื่องทำนองนั้นแล้ว และไม่เปิดบัญชีให้สาธารณะมองเห็น

“อยากให้คนรู้มากขึ้น เผื่ออนาคตจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง”

นั่นคือความฝันน้อยนิดแต่ยิ่งใหญ่จากการเพียรทวิตของเด็กชายวัย 19 ปีคนหนึ่ง (ผมคุยกับเขาก่อนวันคล้ายวันเกิดขวบปีที่ 20 เพียงเล็กน้อย)

อ่านมาก พูดน้อย เขียนเยอะ

คนติดตามทวิตเตอร์ย่อมรู้ดี การทวิตของนิรนามไม่ใช่การสาดอารมณ์ก่นด่าตามประสาวัยรุ่น แต่เขาใช้พื้นที่ทวิตเตอร์เพื่อสื่อสาร “ความรู้”

จากเนื้อหาที่เขาทวิตเข้าใจได้ว่าเขาเป็นนักค้นคว้าและนักอ่านตัวยง เขาติดตามอ่านงาน และชื่นชอบ อาจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล มากเรียกได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจเลยทีเดียว ก่อนจะมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ เขาเล่าว่าชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างเช่นโดราเอมอน “เป็นเด็กเก็บตัว นั่งอ่านคนเดียวไปเรื่อยเปื่อย” เขาบอก ผมแซวไปว่าถ้าอย่างนั้นเราก็วัยเดียวกัน เพราะผมอ่านโดราเอม่อนมาก่อนเหมือนกัน เขาหัวเราะเบาๆ

เขาเริ่มสนใจการบ้านการเมืองมาตั้งแต่ช่วงมัธยมต้น ด้วยเหตุหลายอย่าง เช่น ไปยืนอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ตามร้านหนังสือบีทูเอส การได้ฟังพิธีกรช่อง ASTV ด่าอาจารย์สมศักดิ์ ซึ่งทำให้เขาไปค้นหาและติดตาม อ.สมศักดิ์ ในเฟสบุ๊ค มาโดยตลอด

“ติดตามคนอื่นด้วย เช่น อ.ประจักษ์ (ก้องกีรติ) อ.ปิยะบุตร (แสงกนกกุล) ก็ชอบ แต่ไม่ค่อยได้อ่านงาน”

บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “นิรนาม” เพิ่งเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม ปี 2018 ล่าสุดก่อนบัญชีถูกตำรวจยึดไป มีผู้ติดตาม 142,000 บัญชี ส่วนเขาติดตามคนอื่นอยู่เพียง 87 บัญชี เขาบอกว่าช่วงแรกๆ ที่เปิดบัญชีมีคนติดตามไม่มาก ราวๆ หนึ่งพันบัญชี

โดยทั่วไปแล้วหากเราอยากให้สิ่งที่เราทวิตถูกมองเห็น หรือได้รับความสนใจจากคนอื่น จะต้องติดแฮชแท็กข้อความสาธารณะนิยมและใช้ร่วมกันในขณะนั้น แต่การทวิตก็ต่างจากคนอื่นตรงที่เขาไม่ค่อยติดแฮชแท็ก กลับสร้างผู้ติดตามได้นับแสน เขาบอกว่าเรื่องที่เขาทวิตเป็นเรื่องที่มีคนสนใจมาก ทำให้ยอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่เรารู้มันมีทั้งจริงและไม่แน่ใจ เรื่องที่ไม่มั่นใจก็อยากให้สังคมเอามาถกกัน” เขาบอก

เมื่อมีคนติดตามทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น ก็ทำให้เขากังวลนิดหน่อยว่าจะนำเสนอเนื้อหาอะไรให้ควรค่าต่อการอ่าน บางทวิตของเขาจึงมีการถามความเห็นจากผู้ติดตามว่า อยากให้ทวิตเตอร์นิรนามเป็นไปในทิศทางใด เขาบอกว่าเขาต้องใช้เวลาเรียบเรียงพอสมควรก่อนทวิตออกมาเพื่อให้คนเข้าใจ บางเนื้อหาก็อ่านมาจากสำนักข่าวต่างประเทศ

คนรุ่นใหม่ไร้เดียงสา หรือว่าสังคมไม่ปกติ ?

“ถ้ากลัวก็อยู่เฉยๆ อย่างกูนี่” เพื่อนคนหนึ่งเคยพูดกับผมแบบนี้ เขายอมรับอย่างไม่อายว่า “เขากลัว”

ใช่ ! ผมเองก็กลัว ไม่กล้าแม้แต่จะพูดสิ่งที่อยู่ในความคิด เอาเข้าจริงผมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็น “ผู้ใหญ่” มากกว่านิรนามเลยแม้แต่น้อย

ความเป็นเด็ก-ความเป็นผู้ใหญ่ วัดกันที่ตรงไหนล่ะ ? อายุ ? การศึกษา ? หรือวุฒิภาวะ ? ผมว่าระหว่างเราไม่ต่างกัน เพียงแต่ผมอยู่ในโลกเส็งเคร็งใบนี้มานานกว่าเขาสักหน่อย ความเชื่อ ความหวัง และความฝันถึงสังคมที่งดงามจึงระเหิดหายไปกับความเลวร้ายจากประสบการณ์จริง

จะว่านิรนามเป็นเด็กโลกสวยก็ไม่เชิงนักหรอก ผมถามความเห็นของเขาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของวัยรุ่นในต่างประเทศอย่างเช่นกรณีฮ่องกง เขาบอกว่าอาจจะเกิดไม่ได้ง่ายๆ ในสังคมไทย วัยรุ่นที่เคลื่อนไหวในทวิตเตอร์คงกลัว อีกทั้ง “การศึกษาไทยเขาควบคุมหลักสูตรไว้หมด” เขาตอบ

“ต้องรอดูไปเรื่อยๆ หวังว่าสักวัน อาจจะ 50-60 ปี หรือน้อยกว่านั้นที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย” แต่เขาก็ยังมีความหวัง อายุที่ต่างกันของผมกับเขาคงทำให้เราต่างกันตรงนี้ด้วย เพราะผมแทบสิ้นหวังแล้วจริงๆ

เขาพยายามใช้พื้นที่ออนไลน์ให้ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง VPN อำพรางตำแหน่งแห่งที่ซึ่งช่วยให้ปลอดภัยเขาก็รู้จักและใช้มัน แต่จะรอบคอบและรัดกุมแค่ไหนใครล่ะประเมินได้ ?

การเท่าทันเทคโนโลยีจะมีส่วนในการปกป้องตนเองให้ปลอดภัยจากภัยกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่ปัญหาแท้จริงของสังคมเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้เท่านั้น เพราะการพูด “เรื่องทั่วไป” ในสังคมอื่นกลายเป็น “เรื่องต้องห้าม” ในสังคมไทย
และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เราไม่มีวันคาดการณ์ได้ว่า เมื่อไหร่ และทำไม เราจึงกลายเป็นเป้าหมายของการยัดเยียด “ความผิด” ...จนกว่า...เหยื่อรายต่อไปจะเป็นเราเสียเอง

“สังคมแบบนี้ไม่ปกติ” นิรนามพูด เมื่อเล่าว่าเขาถูกตอบโต้อย่างรุนแรงหลายรูปแบบจากการใช้อักขระไม่เกิน 140 ตัวในการทวิตแต่ละข้อความ บางคนทักมาด่าเฉยๆ หรือบางทีถูกแค็ปไปไว้ในเพจที่จะมีคนไม่เห็นด้วยมารุมด่า มีคนขู่ว่าอยากฆ่าให้ตายบ้างก็มี

การมีผู้ติดตามนับแสนไม่ได้หมายความว่าทุกคนฟอลโลว์เขาด้วยความชื่นชม

“ตำรวจครึ่ง ทหารครึ่ง” เพื่อนผมกระเซ้านิรนาม

ผู้คนที่มีโลกทัศน์แบบหนึ่งอาจมองว่าสิ่งที่เขาทวิตไม่ปกติ และแน่นอนว่าเขาไม่ใช่ “เด็กดี” ในโอวาทของผู้ใหญ่กะโหลกกะลาในบ้านเมืองนี้ แต่สังคมจะดีขึ้นก็มักมาจากความคิดอ่านและฝันใฝ่ของคนรุ่นใหม่ๆ ต่างหาก

“ใช้ชื่อ “นิรนาม” มาตลอดเพราะไม่ได้อยากมีตัวตน บางครั้งมีเปลี่ยนคำต่อท้ายบ้าง” เขาบอกว่าเพื่อนไม่ค่อยรู้หรอกว่าเขาใช้ทวิตเตอร์ชื่อนี้ และเขาเองก็ไม่ค่อยมีเพื่อนในโลกความเป็นจริง.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
'นิรนาม_' ถูกจับคดีพ.ร.บ.คอมฯ เหตุทวิตเกี่ยวกับ ร.10 ศาลไม่ให้ประกัน อ้างเป็นเรื่องร้ายแรง
นิรนาม_ "ความเป็นผู้ใหญ่ทำลายชีวิตเขาอย่างเลือดเย็น"
...