วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 20, 2563

กระทรวงเฟคนิวส์ว่าไง...



.

ภาพฝันที่ประเทศไทยจะมี Ministry of Truth แบบในนิยาย 1984 ผลงานของจอร์จ ออร์เวล เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัฐบาลตั้งศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์มาคอยกำหนดว่า เรื่องไหนจริง เรื่องไหนปลอม
.
และล่าสุด หลังสื่อไทยโดนสังคมรุมถล่มจากกรณี live เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช ทำให้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ใช้โอกาสนี้ประกาศว่า “หลังจากนี้คงต้องไปหาวิธีจัดระเบียบสื่อ และควบคุมโซเชียลมีเดีย อาจต้องพิจารณาสื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียว ให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการนำเสนอข่าวช่วงเกิดเหตุการณ์วิกฤต”
.
ไม่เพียงแค่รัฐบาลเท่านั้น ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทยเอง ได้แถลง ในที่ประชุมของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจเข้าร่วมด้วยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังดำเนินนโยบายรัฐบาล ติดตามเฝ้าระวังการกระทำความผิดทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ตลอดจนอาจมีการใช้มาตรการ ‘ตรวจยึดทรัพย์สิน’ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
.
จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐใช้วิธีให้สื่อหลักของรัฐเพียงแห่งเดียวผูกขาดการให้ข้อมูลการรายงานข่าวต่างๆ ในช่วงสถานการณ์วิกฤต เราลองย้อนสำรวจถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ว่าเมื่อรัฐ หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ภายใต้การปฏิบัติงานของรัฐ เป็นผู้ให้ข่าว ให้ข้อมูลจนนำไปสู่ประเด็นที่อาจเรียกได้ว่าเฟคนิวส์ การให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่ที่เกิดแฮชแท็กในสังคมออนไลน์ว่า #รัฐบาลโป๊ะแตก นั้นเป็นอย่างไร เพื่อนำมาจินตนาการถึงวันที่หากรัฐจะกลายมาเป็นผู้ผูกขาดข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริง การรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตแต่เพียงผู้เดียว