วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 20, 2563

‘เชฟโรเลต์’ ปิดตัวในไทย สถานวิจัยหลายแห่งเห็นพ้องเศรษฐกิจตกอับตลอดปี

เรื่องกิจการรถยนต์ เชฟโรเลต์ปิดตัวในไทย อันจะทำให้มีคนตกงานอีกระนาว รมว.แรงงานทั่นว่ากระทรวงสามารถประสานติดต่อหางานใหม่ให้ได้ แต่ก็แนะให้ใช้ ‘search engines’ “อย่าง 'กูเกิ้ล' (เพื่อเสาะ) หาตำแหน่งงานออนไลน์”

เพิ่งรู้ว่า หม่อมเต่าก็ชอบใช้ อากู๋ เหมือน ไอตู๋นะเธอว์ อ้างว่าเข้าไปดูแล้วพบ เมื่อวันที่ ๑ ต.ค. มีงานว่าง ๗๖,๐๐๐ รายการพร้อมจะรับคนทำงาน ส่วนเมื่อวันที่ ๑๘ ก.พ. สามารถรับได้ถึง ๙๔,๔๔๐ รายการ

โดยเฉพาะด้านยานยนต์ “มีตำแหน่งงานในระดับแรงงานว่างอยู่ ๑๕,๐๐๐ ตำแหน่ง และอยู่ในอีอีซี ๒,๕๓๖ ตำแหน่ง” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล แจงว่าบริษัทจีเอ็มซึ่งเป็นเจ้าของเชฟโรเลต์ ผลิตขายรถยนต์ในไทยเพียง ๒ เปอร์เซ็นต์
 
ฉะนั้น “ปัญหากับอุตสาหกรรมไม่น่าจะมีมากนัก” ซ้ำก่อนปิดกิจการ เชฟโรเลต์ลดราคารุสต็อคครั้งใหญ่ รถรุ่นแค้ปติวาลด ๕๐% ลูกค้าแห่ไปกันแน่นโชว์รูมถนนพระราม ๗ กวาดซื้อ เชฟวี่ที่มีเหลืออยู่ก่อนปิดกิจการสิ้นปีนี้

ชนิดนายกฯ ผู้ซึ่งมีฝรั่งไปเยี่ยมคำนับไม่เว้นแต่ละวัน คงเป็นปลื้มเก็บเอาไปคุยได้เลย ว่าเห็นไหมใครว่าเศรษฐกิจไม่ดี วานนี้วันเดียวมีผู้จองรถเชฟวี่แล้ว ๓๐ คัน แถมบางคนซื้อเงินสดด้วยซ้ำ


แต่ก็อย่าได้มองภาพรวมเชียวละ “เศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๓ ส่อเค้าไม่ดีตั้งแต่ต้นปี แค่เดือนแรกก็ต้องเผชิญสารพัดปัจจัยลบที่ประดังเข้ามา” ข่าว ประชาชาติธุรกิจแฉ อ้างอิงสภาพัฒน์ฯ (สศช.) คาดเศรษฐกิจปีนี้โตแค่ ๑.๕-๒.๕ เปอร์เซ็นต์

มีข้อแม้ว่า ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ตกไปต่ำกว่า ๓.๒% ส่งออกขยายได้ถึง ๒% ไวรัส COVID-19 จบได้ภายในพฤษภา ๖๓ นี้ โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาอยู่ที่ ๓๗ ล้านคน และภัยแล้งไม่กระทบผลผลิตภาคเกษตรกรรมเกิน ๕% 
ก็เห็นจะเป็น ‘wishful thinking’ ค่อนข้างเพ้อฝัน ในเมื่อ ดอน นครทรรพ “ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากที่สภาพัฒน์ประมาณการจีดีพีปี ๒๕๖๓ ต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมิน

สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวแรง ซึ่งเป็นผลกระทบของภัยแล้ง (และ) ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ” ขณะที่การระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย ดังนั้นเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอาจกลับมาโตเกิน ๓% อีกได้ในปี ๖๔


ทว่าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงศรีกลับบอกว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ท่าทางจะไม่โตถึง ๒.๕% เสียแล้ว อย่างดีก็แค่ ๑.๕% เพราะโดนเรื่อง พรบ.งบประมาณไม่ผ่าน เงินไม่ออก และนักท่องเที่ยวไม่มา สินค้าเหลือบาน

วิจัยกรุงศรีชี้ว่าการระบาดของไวรัสโคโรนา D-19 มี “ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจะหนักสุดในไตรมาสแรกของปี แต่การขาดตอนของห่วงโซ่การผลิตจะมีผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสสอง” รวมแล้วทั้งปี นักท่องเที่ยวจะลดลงราว ๔-๕%

นอกนั้น “ภาวะภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นจากฤดูร้อนที่กินเวลานานกว่าเดิม ฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและระดับน้ำในแหล่งน้ำที่ลดลงถึงขั้นวิกฤติ” ประเมินว่า “มูลค่าความเสียหายข้าวเปลือกคาดไว้ที่ ๒๑,๖๐๐ ล้านบาท และมันสำปะหลังที่ ๒,๕๐๐ ล้านบาท รวมเป็น ๒๔,๑๐๐ ล้านบาท”

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ภัทรให้ภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้หนักกว่าสถานวิจัยอื่น “ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปี ๒๕๖๓ ลงจาก ๒.% เหลือ ๑.%” ทั้งนี้อ้างว่า “เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้”


ขณะที่ภาพลักษณ์เศรษฐกิจไทยขี้เหร่หนักปานนี้ ส.ส.พรรครัฐบาลก็ป่วนปั่นกันใหญ่ เหตุจากข่าวลือว่าจะมีการปรับใหม่คณะรัฐมนตรี หลังจากเสร็จสิ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ยกโขยงกันไปพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
โดยแบ่งเป็นสองฝักฝ่าย แม้จะสังกัดพรรคพลังประชารัฐด้วยกันทั้งนั้น กลุ่มหนึ่งเป็นของประธานวิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ มี ส.ส.ในสังกัดราว ๘๐ คน อีกกลุ่มนำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ มี ส.ส.หนุนหลังราว ๔๐ คน

กลุ่มธรรมนัสไปพบประวิตรเพื่อขอให้ปลดนายวิรัช อ้างว่าทำงานไม่ได้เรื่อง แล้วยังเล่นพวก ข่าวมติชนระบุว่าพรรค พปชร.แปลกแยกกันออกไปเป็นสามเส้า นอกจากกลุ่มของวิรัชและธรรมนัสแล้ว ยังมีกลุ่มเก่า สามมิตร ที่มี ส.ส.ประมาณ ๔๐ คน

(https://www.matichon.co.th/politics/news_1988358)

เสร็จศึกอภิปรายจากฝ่ายค้านแล้ว เตรียมจะมี ศึกในแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกัน คาดว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ๖ รัฐมนตรี นายกฯ และรองฯ น่าจะช่วยดันกันจนผ่านไปได้ แต่ศึกในนี่คงไม่มีทางทำให้พรรคแตก แต่ก็จะไม่มั่นคงอีกแล้ว

หลายคนอาจจะยังคงมั่งคั่งต่อไป สำหรับเรื่อง ยั่งยืน จึงเป็นที่น่าสงสัย