วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 21, 2563

การเมืองหลังคำตัดสินคดียุบพรรควันนี้ จะราบคาบหรือร้อนแรง น่าคิด

ยุบ-ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นคำถามที่ ลุ้น กันทั้งสองฝ่ายในวินาฑีนี้ และข้อข้องใจของฝ่ายสนับสนุน กับการจับจ้องของฝ่ายอยากกำจัด มันก็ไม่บังเอิญ ตรงกันที่ว่าถ้ายุบ ตลก.จะอ้างเหตุผลไร ในเมื่อกฎหมายสองข้อที่ใช้ฟ้องมันไม่เข้าเป้า

ข้อแรก มาตรา ๖๖ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ออกมาปูดเมื่อ ๑๐ มกรา ๖๓ ว่ามีเอกสารหลุดจากภายใน กกต. (ผู้ฟ้อง) พบว่าเมื่อ ๒๓ ส.ค. ๖๒ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ ๑๓ ของ กกต.มีมติเอกฉันท์ ยกคำร้อง

ยืนยันว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินมาดำเนินกิจการได้ “เงินกู้ไม่ใช่เงินบริจาค” แล้วก็ยังไม่ยอมยุติ ๒๓ ก.ย.ส่งเรื่องไปให้ สำนักสืบสวนที่ ๑๘ พิจารณาอีก กรรมการชุดนี้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องเช่นกัน กกต.ชุดใหญ่จึงต้องส่งต่อไปหาอนุกรรมการ

คราวนี้ได้ผล คณะกรรมการชุดที่นายมหินทร์ สุรดินทร์กูล เป็นประธาน มีมติ ๓ ต่อ ๒ ว่าพรรค อนค.มีผิดตามมาตรา ๖๖ กกต.ก็เลยเอาตามนี้ ซึ่งปิยบุตรตั้งข้อสังเกตุว่าหากนับคะแนนการยกคำร้อง ๒ ต่อ ๑ ให้ ๑ ชนะนี่มันยังไง

“ตามกฎหมายการเลือกตั้ง มาตรา ๔๑ ระบุว่า หากคณะกรรมการยกคำร้องเมื่อไหร่ เรื่องต้องยุติทันที แต่กรณีนี้ กกต.ไม่ยุติ เดินเรื่องต่อไปทั้งๆ ที่กฎหมายระบุว่าให้หยุด” ปิยบุตรพูดด้วยเหตุผลอย่างนักกฎหมายมหาชน

อีกข้อที่ กกต.ใช้กล่าวหาคือมาตรา ๗๒ “กกต. เพิ่งมาคิดออกเมื่อ ๒๗ พ.ย. ๖๒  จน ๑๑ ธ.ค. ๖๒ กกต. มีมติ ๕-๒ ว่า อนค. มีความผิดฝ่าฝืน จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญขอยุบพรรค” ปิยบุตรว่าจู่ๆ ข้อหานี้โผล่ขึ้นมา “หลักประกันของพรรคอนาคตใหม่ในชั้นการต่อสู้อยู่ตรงไหน
 
กกต. เป็นองค์กรอิสระไม่ใช่นักร้องที่จะหยิบบัตรสนเท่ห์หน้าหนังสือพิมพ์มาส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ คุณมีระเบียบการไต่สวนต่างๆ ใช้กับทุกเรื่องทุกคน ยกเว้นไม่ใช้กับพรรคอนาคตใหม่พรรคเดียว” เขายกตัวอย่างเรื่องแบบนี้

“หาก กกต.ดำเนินการข้ามขั้นตอนศาลจะยกคำร้อง อย่างเช่นกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกร้องให้ยุบพรรคในกรณีเงินบริจาคที่เกี่ยวโยงกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งในท้ายที่สุดศาลยกคำร้องเพราะบอกว่ากระบวนการในชั้นสืบสวนสอบสวนมาโดยไม่ชอบ”

ข้อต่อสู้ของ อนค.ที่ไม่มีโอกาสได้ไต่สวนพยานในชั้นศาล ประการหนึ่งอยู่ที่ รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๐ ระบุอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ ๓ กรณีชัดเจน แม้นว่าข้อ ๓ ระบุ “หน้าที่อื่นๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ก็ไม่มีมาตราไหนเขียนว่าศาลฯ ยุบพรรคได้

ซึ่งอำนาจยุบพรรคการเมืองอยู่ใน พรป.พรรคการเมือง มาตรา ๙๒ ที่ศาลฯ ใช้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แต่ปิยบุตรบอกว่ามาตรานี้ไปขัดแย้งกับมาตรา ๒๑๐ ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่กำลังต่อสู้อยู่

ย้อนไปที่มาตรา ๖๖ ของ พรป.พรรคการเมือง “เป็นความผิดเรื่องบริจาคเงินเกิน ๑๐ ล้าน โทษคือเพิกถอนสิทธิทางการเมือง และดำเนินคดีอาญา ผู้รับเงินก็โดนโทษปรับและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค...ไม่มีโทษยุบพรรคอยู่เลย”

พอไปดูมาตรา ๗๒ อีกก็พบว่า ห้ามพรรคการเมืองรับเงินจากแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฏหมาย เงินสกปรกหรือเงินจากมิจฉาชีพ “ซึ่งธนาธรไม่ได้เปิดซ่อง เปิดบ่อน เป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน หรือกระทำการคอรัปชัน เป็นเงินจากการประกอบธุรกิจ” จึงไม่เข้าข่าย


เช่นนี้จึงเป็นที่จับจ้องจากทั้งสองฟากการเมือง ว่า ตลก.ศาลรัฐธรรมนูญจะเล่นแร่แปรธาตุ สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อมาใช้ยุบพรรค ที่เป็นเสี้ยนหนามของการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร คสช.ในยุคประชาธิปไตยอย่างไร

ปิยบุตรกล่าวในการอภิปรายญัตติขอจัดตั้งกรรมาธิการศึกษาลู่ทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก “ไม่รู้ว่าวันนี้อาจจะเป็นการทำงานครั้งสุดท้ายของตนก็ได้ จึงหวังว่าทุกคนจะร่วมกันยกมือโหวตรับญัตตินี้” ซึ่งก็ ผิดหวัง

เมื่อเสียง ส.ส. ๒๔๒ คน (รวมทั้งของพรรคประชาธิปัตย์) โหวตคัดค้านการจัดตั้ง กมธ. ดังกล่าว ในความคิดของปิยบุตรเห็นว่าพวกนี้ เป็น ลูกน้องของนายพล มากกว่าเป็น ผู้แทนของราษฎรจึงทำให้ญัตติตกไป เฉือน ๒๑๕ เสียงที่สนับสนุน

ฤๅว่าการโหวตเมื่อวาน เป็นสัญญานบ่งบอกว่า ส.ส.ในสภาฯ จำนวนมากกว่า พร้อมรับอำนาจที่สืบทอดมาจากการรัฐประหาร ไม่เห็นคุณค่าแห่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไป จะทำให้ฝักฝ่ายตนกระชับอำนาจได้แน่นกว่าเดิม

ทว่าพรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศแล้วหลายครั้งว่าจะไม่ยอมสยบง่ายๆ โดยเฉพาะการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ จะชี้ว่าแม้แต่ฝ่ายตุลาการก็ยังอิงแอบอำนาจรัฐประหารด้วยหรือไม่ การเมืองหลังคำตัดสินคดียุบพรรควันนี้ จะราบคาบหรือร้อนแรง น่าคิด