ในโอกาสที่ประเด็นศาลรัฐธรรมนูญถกเถียงอีกครั้ง— prachatai (@prachatai) February 21, 2020
หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจเมื่อปี 55 ของคณะนิติราษฎร์ขณะนั้นคือ เสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ
จึงขอย้อนทวนอีกครั้ง https://t.co/XzH9PuAgTF
ข้อเสนอนิติราษฎร์: ยุบศาล รธน. และจัดตั้ง 'คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ'
2012-07-15
เสนอยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน ทำหน้าที่พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ
15 ก.ค. 2555 นักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” จัดการเสวนาหัวข้อ “การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มธ. โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาจำนวนมาก ทำให้ต้องขยายการถ่ายทอดไปยังห้อง LT.2
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้อ่านเอกสาร อธิาบยว่าคณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรธน. เป็นองค์กรที่รธน. สร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรธน. แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจไปในทางทีเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ โดยขยายแดนอำนาจของตนออกไปกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐสภา ทำลายหลักนิติรัฐ และประชาธิปไตย
เหตุการณ์วันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก แต่ศาลรธน. ได้ทำลายหลักประชาธิปไตยหลายครั้ง โดยการเพิ่มเติมคำที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเข้าไปในการพิจารณา เช่นกรณีเขาพระวิหาร หรือการพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร และล่าสุด ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งมีผลขยายอำนจของตนเองเกินกว่าที่รธน. บญญัติให้และมีผลเป็นการยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรธน. ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา
จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าศาลรธน. คณะนี้ได้ทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยโดยสินเชิง วัตถุประสงค์ของรธน. ไม่อาจะบรรลุได้และถูกทำลายไปโดยศาลรธน. นั้นเอง
และการได้มาซึ่งตลก. ในศาลนั้นขาดความเป็นประชาธิปไตยไม่มีการยึดโยงกับประชาชน ซึ่เงป็นสาระสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั่วโลก
นอกจากนั้นการถอดถอนตัวบุคคลที่เป็นตลก. ก็ทำได้ยาก เพราะต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกวุฒิสภาขณะนั้น
โดยเหตุนี้เสนอให้มีการแก้ไขรธน. เพื่อยุบเลิกศาลรธน. และจัดตั้งคณะตลก. พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นจนกว่าจะมีการแก้ไขรธน. ฉบับที่สมบูรณ์ที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
แนวทางคือการเสนอชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ปิยบุตร แสงกนกกุล อธิบายข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยประการแรก ให้มีการยกเลิกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหมวด10 ศาล ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง
ประการที่ 2 ให้เพิ่มความในรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 3 อำนาจหน้าที่: คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ 1) พิทักษ์ประชาธิปไตยและนิติรัฐ 2) รักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ 3) โดยการใช้อำนาจนั้นต้องคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการประกันสิทธิและเสรีภาพ
ประการที่ 4 ที่มาและองค์ประกอบ: คณะตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการ 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำนำนำของประธานรัฐสภา โดยมาจากบุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2 คน และคณะรัฐมนตรี 3 คน
โดยส่วนของสภาผู้แทนฯ นั้นประธานสภาเป็นผู้เสนอ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด
สำหรับวุฒิสภา ก็ให้ประธานวุฒิ ผู้ได้รับเลือกอย่างน้อย 1 คนต้องเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ส่วนคณะรมต. ให้นายกเสนอ แล้วที่ประชุมครม. เลือก
ประการที่ 5 คุณสมบัติของผู้เป็นตุลาการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและลักษณะต้องห้าม: บุคคลผู้ซึ่งจะได้รับเลือกเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้อง 1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ในวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
3) เป็นผู้เคารพและยึดมั่นหลักการนิติรัฐประชาธิปไตย 4) เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ
ลักษณะต้องห้าม: 1) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใด และ 2) ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดที่ตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประการที่ 6 วาระการดำรงตำแหน่ง: ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
ประการที่ 7 ข้อห้ามระหว่างการดำรงตำแหน่ง: ระหว่างวาระการดำรงตำแหน่ง ประธานตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญและตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพประจำอื่นใด
องค์คณะ
ประการที่ 8 องค์คณะและการลงมติ: องค์คณะของตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน โดยคำวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้คำร้องนั้นตกไป
ประการที่ 9 ผลแห่งคำวินิจฉัย: คำวินิจฉัยของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญให้มีผลทั่วไปและเป็นเด็ดขาด ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และหน่วยงานของรัฐ
ประการที่ 10 วิธีพิจารณา: วิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
ประการที่ 11 ข้อจำกัดการใช้อำนาจ: ห้ามมิให้คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการใดอันมีผลเป็นการขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง หากข้อเสนอนี้ถูกนำไปใช้ ตลก. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ปัจจุบันนี้จะพ้นจากตำแหน่งทันที ส่วนคดีที่คาอยู่ในศาลให้พักไว้ก่อนจนกว่าจะตั้งตุลาการพิทักษ์รธน. เข้าไปใหม่ และต้องตั้งให้เสร็จภายใน 30 วัน
วรเจตน์ ภาคีรัตน์กล่าวเสริมว่าเหตุผลที่ไม่ให้ตุลาการมีสิทธิเสนอ อยู่บนฐานของการที่ศาลยึดโยงกับประชาชนซึ่งสังคมไทยไม่คุ้นชิน เป็นกระบวนการยุติธรรมในระบบปิด ส่วนข้อเสนอนี้ตระหนักว่าขาดคนที่มาจากศาลไม่ได้ โดยกำหนดว่าอย่างน้อย 2 ใน 8 เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด
ปิยบุตร กล่าวว่า ศาลรธน. มีอำนาจหน้าที่ได้เท่าที่รธน. กำหนดเท่านั้น จะขยายอำนาจของตนเองจนขึ้นไปอยู่เหนือรธน. เลยไม่ได้ อำนาจหน้าที่ และความเป็นอิสระที่ให้มานั้นเพื่อพิทักษ์รัฐธรรนูญ ไม่ใช่ขยายจนกลายเป็นตัวรัฐธรรมนูญเสียเอง
ทั้งนี้ วรเจตน์กล่าวฝากไปยังฝ่ายการเมืองว่า ควรต่อสู้ในเชิงหลักการก่อนส่วนการต่อรองกันทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาทีหลัง และคณะนิติราษฎร์จะไม่มีจดหมายไปถึงใครทั้งสิ้น โดยเชื่อว่าสื่อมวลชนได้สื่อสารในประเด็นนี้สู่สาธารณะแล้ว และนิติราษฎร์ได้ทำหน้าที่ในส่วนของตนคือการเสนอทางวิชาการแล้ว