วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 24, 2563

ฐานอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช ถูกทุบแล้ว - "...รัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นไว้ที่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุหลักสี่บางเขน เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนให้คนไทยรุ่นหลังระลึกว่าการที่ชีวิตของท่านเหล่านั้นได้สูญสิ้นไปก็เพื่อต่อต้านขัดขวางบุคคลคณะหนึ่งที่ได้เพียรพยายามจะนำประเทศไทยให้ถอยหลังกลับ”




อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ



พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ


ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
สถาบันพระปกเกล้า

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ตั้งอยู่ที่กลางวงเวียนหลักสี่บางเขน วงเวียนแห่งนี้อยู่ที่ตรงถนนพหลโยธินตัดกับถนนรามอินทราและถนนแจ้งวัฒนะ มุ่งหน้าไปทางเหนือทางขวามือจะเห็นสำนักงานเขตบางเขนตั้งอยู่ ส่วนทางซ้ายมือก็คือวัดพระศรีมหาธาตุ อนุสาวรีย์นี้มีการเรียกกันทั่วไปอยู่หลายชื่อ ถ้าเรียกตามสถานที่ก็เรียกกันว่าอนุสาวรีย์หลักสี่ ถ้าเรียกกันตามเหตุการณ์ก็เรียกกันว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏ และยังมีบางคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอนุสาวรีย์หลวงอำนวยสงคราม

ที่เรียกกันตามเหตุการณ์ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏนั้นที่จริงก็หมายถึงกบฏครั้งที่สำคัญมากในเหตุการณ์ทางการเมืองไทย คือ กบฏบวรเดช เพียงกบฏเดียว ไม่เกี่ยวกับกรณีกบฏรายอื่น ๆ ที่ยังมีอีกหลายครั้งหลายหนในการเมืองไทย กบฏบวรเดชนั้นเริ่มเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้สร้างขึ้นหลังจากรัฐบาลปราบกบฏได้สำเร็จและมาทำพิธีเปิดในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โดยประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

ถ้าใครผ่านไปจะเห็นว่าอนุสาวรีย์แห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่โต ออกแบบมีลักษณะเป็นเสา มองคล้ายปลายแหลมลูกกระสุนปืนที่บนยอดตั้งพานรัฐธรรมนูญเอาไว้ รองลงมาเป็นฐานกลีบบัวซ้อนอยู่ 2 ชั้น ดูเรียบง่าย แต่เดิมทำฐานใหญ่มีบันไดวนรอบ ดูแล้วสง่างามดีแม้จะไม่ใหญ่โตก็ตาม ที่น่าสังเกตก็คือด้านหนึ่งที่แกะเป็นรูปคนนั้นเป็นครอบครัวชาวนา ที่มีพ่อแม่และลูก โดยพ่อนั้นถือเคียวเกี่ยวข้าวและแม่ถือรวงข้าว กับอีกด้านหนึ่งจารึกโคลงสยามานุสติ อันเป็นโคลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏมาตั้งอยู่ที่บางเขนนี้ก็เพราะกบฏบวรเดชครั้งนั้นได้มีการต่อสู้กันในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพทั้งที่ดอนเมืองและบริเวณใกล้เคียง ลงไปตามแนวทางรถไฟที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพ ดังที่มีการเขียนและบันทึกเผยแพร่ที่จะเอามาเล่าสู่กันฟัง ในส่วนของการสู้รบที่เป็นจุดเริ่มและจุดจบของกบฏบวรเดชดังนี้

การเตรียมการเรื่องจะล้มรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนานั้นคงมีมาตั้งแต่หลังวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นอย่างช้านั่นเอง เพราะวันนั้นเป็นวันที่นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและนายพันโทหลวงพิบูลสงคราม และพวกได้ยึดอำนาจซ้ำล้มรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คณะปฏิวัติ ตุลาคม 2476 นี้มีนายทหารสำคัญระดับสูงที่อยู่นอกราชการหลายคนร่วมกับนายทหารที่ยังรับราชการอยู่ได้วางแผนที่จะยึดอำนาจโดยใช้กำลังทหารหัวเมือง ซึ่งมีทั้งจากนครราชสีมา อุบลฯ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อยุธยา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และเพชรบุรี โดย “ทุกสายมีกองอำนวยการตั้งอยู่ที่นครราชสีมา”

แผนการที่คุณหลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เขียนเล่าไว้มีดังนี้

“กองทหารสระบุรีเคลื่อนไปยึดควบคุมกรมอากาศยานดอนเมืองไว้ในอำนาจก่อน โดยฉับพลันกองทหารนครราชสีมา อุบลฯ, อยุธยา รวมลงมายึดดอนเมือง ส่วนหน้ายึดคลองบางเขน กองทหารนครสวรรค์, ลพบุรี มารวมกับทหารนครราชสีมาที่ดอนเมือง กองทหารปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา เคลื่อนไปยึดสถานีหัวหมาก ส่วนหน้ายึดมักกะสัน กองทหารราชบุรี, เพชรบุรี ส่วนใหญ่ยึดสถานีตลิ่งชัน ส่วนหน้ายึดสถานีบางกอกน้อย และสะพานพระราม 6”

ดูจากแผนการนี้จะเห็นว่าเป็นการระดมทหารหัวเมืองเข้ามาทางรถไฟทางสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ เข้ามายึดพระนครอันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลนั่นเอง และจะใช้ดอนเมืองเป็นฐานของคณะผู้ยึดอำนาจ

ส่วนพวกที่จะร่วมมือในพระนครจะให้ทำอย่างไร ท่านได้เขียนเล่าต่อไปว่า

“กองทหารในพระนครอยู่เฉย ๆ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลภายหลังเมื่อทางอยุธยาตกลงร่วมงานด้วย จึงกำหนดให้ไปยึดกรมอากาศยานดอนเมืองและคลองบางเขนแทนทหารม้าสระบุรี เพราะอยู่ใกล้กว่าใช้เรือได้ไม่ต้องใช้รถไฟให้แพร่งพราย เมื่อกองทหารมาพร้อมกันทุกทิศทุกทางแล้ว เป็นหน้าที่ของกรมอากาศยานดอนเมืองจัดเครื่องบินโปรยใบปลิวในพระนคร ประกาศข้อความซึ่งกองอำนวยการกลางเตรียมไว้”

หากลุล่วงไปตามแผนการที่วางไว้ คณะผู้ยึดอำนาจก็เห็นว่า

“ถ้าการเป็นไปสมความมุ่งหมายนี้แล้ว ทหารฝ่ายรัฐบาลซึ่งอยู่ในมือของพวกก่อการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 ก็หมดกำลังสู้...”

เมื่อมีแผนการแล้วก็ได้มีการติดต่อประสานงานกันในบรรดาผู้ร่วมคิดยึดอำนาจล้มรัฐบาลกันอย่างจริงจัง ได้คนมาร่วมหลายคนทีเดียว จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2476 หลวงโหมรอนราญก็เล่าถึงการเปิดตัวผู้นำการยึดอำนาจ

“9 ตุลาคม 2476 พระยาฤทธิรงณ์รณเฉท กลับจากพระนครถึงสระบุรีแจ้งว่าผู้นำคือ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเก่า...”

ในวันเดียวกันนี้เองที่หลวงโหมรอนราญเล่าว่าท่านเองได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร มีความว่า

“10 ตุลาคม 76 เวลา 17.45 น. ให้จัดการยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองตามจังหวัดต่าง ๆ และให้กองทหารสระบุรีเตรียมการที่จะสมทบกับทหารเมืองนครราชสีมาที่สถานีปากเพรียว แล้วขึ้นรถขบวนเดียวกันไป”

บวรเดช

แต่ต่อมาตอนสาย ๆ ของวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ก็มีโทรเลขจากนครราชสีมาให้เลื่อนวันปฏิวัติการยึดอำนาจเป็นวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ดังนั้นวันเริ่มของการปฏิวัติตุลาคม 2476 หรือกบฏบวรเดช จึงเริ่มขึ้นจริงในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 และยืดเยื้อต่อมาอีกหลายวัน

ที่ทางคณะผู้ยึดอำนาจคิดว่าเอาทหารหัวเมืองเข้ามาขู่ล้อมพระนครแล้วทางรัฐบาลของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จะยอมนั้นนับว่าผิด เพราะรัฐบาลสู้เต็มที่ตั้งแต่วันแรก ยิ่งล้อมทุกด้านถอยหนีก็ไม่ได้ สู้ตายจึงเป็นทางเลือกที่ไม่มีทางเลือกนั่นเองทั้งนายพันเอกพระยา พหลฯ และนายพันโทหลวงพิบูลสงครามจึงจับมือกันสู้ และนายพันโทหลวงพิบูลสงครามคือผู้ที่ได้รับอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชากองกำลังผสมของทหารเพื่อปราบคณะผู้ยึดอำนาจ

ความพยายามที่จะล้มรัฐบาลของพระยาพหลฯ หรือของคณะผู้ก่อการฯ นั้น มีมาก่อนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 แล้ว ทางรัฐบาลก็รู้และได้มีการเตือนไปกว้าง ๆ ตลอดจนเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิดเพียงแต่ไม่ทราบวันเวลาแน่นอน

ก่อนหน้าที่ฝ่ายที่ต้องการจะล้มรัฐบาลจะลงมือสัก 2 วัน เขาเล่ากันว่าขณะที่นายกฯ พระยาพหลฯ ไปตรวจราชการอยู่ที่ราชบุรี ก็มีนักบินเอาเครื่องบินมาลงและนายทหารนักบินได้นำเอาจดหมายของหัวหน้าปฏิวัติตุลาคม 2476 ให้พระยาสุรพันธเสนี ผู้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑล จดหมายนี้ก็คือจดหมายให้ร่วมปฏิวัติ พระยาพหลฯ จึงรีบเดินทางกลับพระนคร

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อฝ่ายปฏิวัติฯ รุกเข้ายึดดอนเมืองและยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออกนั้นทางรัฐบาลจึงประชุมหารือกันเพื่อ “สู้” ดูจากทางด้านรัฐบาลนั้นน่าจะดูจากข้อเขียนของ อ.พิบูลสงครามผู้เป็นบุตรชายของนายพันโทหลวงพิบูลสงครามที่เขียนเล่าเอาไว้

“...ต่างลงความเห็นสถานการณ์ทางทหารของฝ่ายรัฐบาลตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างน่ากลัวอันตราย ทางด้านเหนือกำลังทหารหัวเมืองของพระองค์เจ้าบวรเดชก็ได้ยึดดอนเมืองเป็นที่ตั้งกองบัญชาการไว้แล้ว ทางด้านใต้ก็ปรากฏว่า พ.ท.หลวงสรสิทธิยานุการ ผู้บังคับการทหารที่จังหวัดเพชรบุรีก็กำลังเรียกระดมพลรวบรวมกำลังทหารทั้งที่เพชรบุรีและราชบุรี มุ่งหมายที่จะนำเข้าสมทบกำลังของฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชในการยึดกรุงเทพพระมหานคร คำขาดของพระองค์เจ้าบวรเดชที่บังคับให้รัฐบาลตอบภายใน 1 ชั่วโมง ก็วางอยู่ตรงหน้า...”

ดังที่บอกมาแล้วว่ารัฐบาลต้องสู้แม้จะเห็นว่าเสียเปรียบ

“...รัฐบาลได้ตกลงจะสั่งให้กองทัพเรือส่งเรือรบหลวงสุโขทัยแล่นเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยาให้ทำการยิงทำลายกองบัญชาการของฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชที่ดอนเมือง...”

แต่ก็มีปัญหาเกิดจากทหารเรือ เพราะผู้บัญชาการทหารเรือไม่ได้เป็นผู้ก่อการฯ พ.ศ. 2475 ด้วย ถึงยามนี้จึงได้รู้

“สถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลได้ทรุดหนักลง เมื่อผู้บัญชาการทหารเรือ นาวาเอกพระยาวิชิตชลธีได้ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล แทนที่จะสั่งให้เรือรบหลวงสุโขทัยทำการยิงทำลายกองบัญชาการของฝ่ายกบฏที่ดอนเมืองกลับออกคำสั่งให้เรือรบทุกลำถอยไปอยู่ที่บางนา ซ้ำประกาศว่ากองทัพเรือจะขอตั้งตัวเป็นกลาง...”

แต่ดีว่าทางทหารเรือยังมีเรือเอกสังวร สุวรรณชีพ ผู้ก่อการฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับการเรือรบหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือรบลำนี้ที่หลวงสังวรฯ คุมอยู่ได้ไปรวมกับเรือสุริยะมณฑลอีกลำหนึ่งที่เหลืออยู่ข้างรัฐบาลคุณหลวงสังวร สุวรรณชีพได้เขียนเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“เรามารวบรวมนายทหารเรือที่เหลืออยู่กับนายทหารประมาณ 300 คน จัดแบ่งออกเป็นหมู่รักษาการณ์ที่สำคัญ ๆ และจัดเรือสุริยะมณฑลพร้อมด้วยกำลังไปยึดอยุธยา มีทหารอาสาสมัครหน่วยหนึ่งสมัครไปรบทางบกถึงปากช่อง”

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ตกตอนเย็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก คือ นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ไปถึงทุกหน่วย

“ในพระนครเหตุการณ์เรียบร้อย อย่าฟังคำสั่งผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากข้าพเจ้า

พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ

ร.อ.หลวงโหมรอนราญได้เอามาเล่าว่าท่านก็ได้รับโทรเลขคำสั่งนี้ เพียงแต่เก็บใส่กระเป๋าโดยไม่บอกใคร

หลวงพิบูลสงครามนั้นเมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับกองกำลังผสมก็ไม่รอช้านำกำลังฝ่ายรัฐบาลไปตั้งมั่นที่บางซื่อและเตรียมโต้ฝ่ายปฏิวัติทันที

มีคนกล่าวกันว่าศึกครั้งนั้นเป็นการรบของสำนักฝรั่งเศสกับเยอรมนีคุณหลวงพิบูลฯ ท่านเป็นนักเรียนทหารปืนใหญ่จากฝรั่งเศส ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงคราม เรียนทหารจากเยอรมนี ที่จริงแล้วกลายเป็นไทยรบไทยที่น่าเศร้า

บ่ายวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ขณะที่รัฐบาลเตรียมรบ กำลังของฝ่ายปฏิวัติของพระองค์เจ้าบวรเดชก็รุกคืบจากดอนเมืองมาตามสองข้างทางรถไฟ มุ่งผ่านบางเขน มาบางซื่อ โดยไม่ถูกต้านทาน จนกระทั่งค่ำทางทหารฝ่ายรัฐบาลจึงระดมยิงเข้ามาที่ทหารของฝ่ายปฏิวัติและ อ.พิบูลสงคราม สรุปภาพในช่วงเวลานั้นว่า

“ในเวลาเดียวกัน กองทหารของพระองค์เจ้าบวรเดชที่กำลังยึดพื้นที่อยู่ตามเส้นทางรถไฟใกล้สถานีบางซื่อก็ต้องร่นถอยอย่างไม่เป็นขบวนเพราะถูกขับดันจากฝ่ายรัฐบาลด้วยกระสุนปืนเล็ก ปืนกล ปืนใหญ่ และปืน ป.ต.อ. ติดตั้งบนรถตีนตะขาบ ทำให้พื้นที่แห่งหนึ่งระหว่างสถานีบางซื่อและบางเขนปลอดภัยจากการยิงของฝ่ายถอยหนี ณ ที่นี้เอง พ.ท.หลวงพิบูลสงครามได้มาอำนวยการปราบปราบอยู่ในกองบังคับการกองผสมที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น...”

แต่ถ้าอ่านจากคำให้การของ ร.อ.หลวงโหมรอนราญ ซึ่งอยู่ฝ่ายปฏิวัติฯ ถึงการสู้รบของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายปฏิวัติ จะเห็นว่าในระยะเวลา 2 วันแรกคือวันที่ 11 และ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการยิงตอบโต้กันอย่างดุเดือดทีเดียว ยังไม่น่าจะเห็นท่าว่าฝ่ายใดจะแพ้หรือฝ่ายใดจะชนะ ทางฝ่ายปฏิวัติฯ ก็ยังขนกำลังลงมาจากทางเหนือและอิสานอยู่ ฝ่ายปฏิวัติฯ มาเริ่มแพ้ให้เห็นอย่างชัดเจนก็ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ถึงขนาดที่หลวงโหมรอนราญเขียนว่า

“ท่านที่ยังไม่ทราบก็ขอให้ทราบเสียเดี๋ยวนี้ว่า วันนี้เป็นวันที่ทหารหัวเมืองแพ้อย่างเด็ดขาด ทหารทุกเหล่าทุกกองกลับไปดอนเมืองหมด คนนับพันไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรกัน”

นอกจากนี้ท่านยังเล่าว่า นายทหารจากนครราชสีมาคนหนึ่งบอกท่านว่า

“ตุ๊ ยกธงขาวยอมแพ้เถอะ เขาทิ้งเราไปหมดแล้ว...”

แม้จะรู้ว่าแพ้ แต่การสู้รบก็ยังไม่สิ้นสุด ยังยิงกันต่อมาและมีคนตายอีก.

เมื่อทางฝ่ายปฏิวัติฯ เริ่มแพ้ จึงได้คิดถอยกลับที่ตั้ง ถอนจากพระนครคือที่ชานเมืองกลับโคราช แต่ดูจะเป็นการถอยอย่างมีระบบ และดูเหมือนยังคิดว่าจะเจรจากับทางฝ่ายรัฐบาลได้

วันที่กองทหารหัวเมืองของฝ่ายปฏิวัติฯ ได้เริ่มถอยทัพอย่างจริงจังตามคำให้การของหลวงโหมรอนราญ นั่นคือคืนวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แต่เป็นเวลาดึกดื่นมาก เมื่อออกเดินทางจึงล่วงเข้า 3 นาฬิกาของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยมีจุดหมายปลายทางที่ปากช่อง

“ในรถขบวนที่ 1 ข้าพเจ้ามาด้วย เริ่มเคลื่อนจากสถานีดอนเมืองเมื่อเวลา 03.00 น. ....................13.00 น. ถึงสถานีปากช่อง ซึ่งเป็นแนวต้านทานหนาที่สุดที่เราจะยึดอยู่ใหม่ เพื่อป้องกันเมืองนครราชสีมาไว้ในอำนาจ”

นอกจากคิดป้องกันนครราชสีมาแล้ว ยังคิดจะสู้ใหม่อีก ดังหลวงโหมรอนราญบันทึกคำของแม่ทัพสูงสุดของฝ่ายตนที่กล่าวกับทหารในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ที่จันทึก

“การที่เราทำครั้งนี้ก็เพื่อจะตัดอำนาจรัฐบาลคณะนี้ ถึงจะมีรัฐธรรมนูญจริงแต่เป็นการบังหน้า รวมอำนาจไปทำเองเสียหมด การที่กองทหารของเรามาหยุดอยู่ที่นี่ ก็จะพูดขอร้องกับฝ่ายรัฐบาลอีกและสู้กันใหม่ไม่ใช่ยอมแพ้เขา”

การขอร้องรัฐบาลให้ยอมแพ้อย่างนี้ เห็นทีจะไม่รู้จักหลวงพิบูลสงคราม

ตอนสายของวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2476 กองทหารของฝ่ายปฏิวัติฯ ก็ถึงนครราชสีมา แต่ยังมีกองระวังหลังเตรียมรับมือทหารรัฐบาลที่ปากช่อง ถึงตอนนี้ฝ่ายปฏิวัติฯ ก็ทราบดีแล้วว่ากองทหารจากอุบลไม่เอาด้วย และได้ถอยกลับไปอุบลแล้วด้วยก่อนที่พระองค์เจ้าบวรเดชและกองทหารจะกลับเข้ามาที่นครราชสีมา ฝ่ายปฏิวัติฯ จึงกลับเข้ามาคุมนครราชสีมาได้อีก ทั้งตำรวจและข้าราชการพลเรือนก็ต้องยอมอยู่ในอำนาจ ตอนนั้นแพ้ชนะจึงไม่เด็ดขาด

ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แม่ทัพของฝ่ายปฏิวัติฯ ยังส่งทหารที่นำโดย ร.อ.หลวงโหมรอนราญ ขึ้นรถไฟไปปราบทหารอุดรที่เป็นฝ่ายรัฐบาลและให้ยึดขอนแก่น แต่แล้วตอนตี 3 ของคืนวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นั่นเอง ก็มีโทรเลขเป็นคำสั่งเรียกให้หลวงโหมรอนราญนำทหารกลับมาที่นครราชสีมา ทั้งนี้เพราะมีข่าวว่ากองกำลังของรัฐบาลรุกคืบเข้ามาใกล้ถึงแก่งคอยแล้ว

ความคิดของทางฝ่ายปฏิวัติฯ ยังไม่แพ้ ยังมีคนคิดสู้อยู่ ดังที่หลวงโหมฯ เองเสนอว่า

“เกล้ากระหม่อมมีความเห็นว่าไหน ๆ เราก็ได้ลงมือลงแรงทำมาแล้ว เรานึกว่าพวกเราไม่กบฏ แต่มันกลายเป็นกบฏไปแล้ว เราจำเป็นจะต้องทำงานกันอย่างเด็ดขาด ให้สมกับที่ถูกตราชื่อว่ากบฏ คือประกาศยึดอำนาจการปกครองดินแดนมณฑลนครราชสีมา จัดนายทหารที่ไว้วางใจได้เข้าควบคุมการงานฝ่ายพลเรือน บังคับให้ฝ่ายปกครองอยู่ในอำนาจเรา และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วดินแดนนี้...”

แต่แม่ทัพเองท่านไม่เห็นด้วย ดังที่หลวงโหมฯ จำมาเล่าให้ฟัง

“ฉันเห็นว่าเราไม่สามารถจะทำเช่นนั้น เพราะเวลานี้ใคร ๆ ก็แลเห็นว่าเราแพ้แล้วทั้งนั้น จะยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเราก็ไม่มีนายทหารมากพอจะให้ไปควบคุม โทษผิดเท่านี้ก็พอแล้ว อย่าให้มากกว่านี้เลย”

จึงเป็นอันยอมรับว่าแพ้แล้ว จึงคิดเรื่องหนี และข่าวร้ายของฝ่ายปฏิวัติฯ ก็ตามมาอีกในคืนวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 คือข่าวการเสียชีวิตของนายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม ในการสู้รบที่ส่วนหน้าที่มีการปะทะกันระหว่างทหารของรัฐบาลกับทหารของฝ่ายปฏิวัติฯ ข่าวนี้จึงเป็นตัวเร่งที่ผู้นำทางฝ่ายปฏิวัติฯ ที่แพ้และเป็นฝ่ายกบฏจะต้องหนีให้เร็วขึ้น

ตามแผนที่วางไว้ในการหนีออกนอกประเทศนั้น ท่านแม่ทัพกะจะไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินบุรีรัมย์ หรือสุรินทร์ จึงออกเดินทางขึ้นรถไฟมุ่งไปที่บุรีรัมย์ แต่ครั้นถึงสถานีลำปลายมาศ มีรายงานว่าสนามบินทั้งสองไม่ปลอดภัย จึงต้องย้อนกลับมาที่นครราชสีมาอีกครั้ง โดยมาลงกันที่สถานีจิระ และที่โคราชนี่เองที่หัวหน้าคณะปฏิวัติฯ ได้ขึ้นเครื่องบิน เบรเกต์ เพื่อลี้ภัยไปต่างประเทศ

หลวงโหมรอนราญ ผู้ภักดีต่อหัวหน้า ได้บันทึกเล่าไว้ว่า

“ทรงดำเนินไปถึงเครื่องบิน เมื่อนายสิบนำม้ามาวางรองพระบาทแล้ว พระองค์ พระชายา เสด็จขึ้นบนเครื่องบิน ซึ่งหลวงเวหนเหินเห็จเป็นคนขับ ข้าพเจ้ายืนส่งเสด็จอยู่ข้าง ๆ ส่งพระหัตถ์ให้ข้าพเจ้าทรงจับมือข้าพเจ้าบีบแล้วบีบเล่า ข้าพเจ้าเห็นดวงพระเนตรสลด แต่ไม่มีน้ำพระเนตรไหล คงทรงแข็งแกร่งตามขัตติยะมานะ ข้าพเจ้าไม่ร้องไห้ แต่ดวงตาทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันดี ทรงรับสั่งว่า

“ลาก่อนหลวงโหมฯ”

...............

13.30 น. เครื่องบินเคลื่อนที่แล่นขึ้นสู่ฟ้า มุ่งไปทางทิศตะวันออก แม่ทัพเสด็จจากไปแล้ว เหลือแต่กองทหารระส่ำระสายไม่มีประมุข”

พระองค์เจ้าบวรเดชได้ลี้ภัยอยู่ “ตลอดเวลา 15 ปี 6 เดือน” เพราะเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

หัวหน้าไปแล้ว ผู้ร่วมงานอีกหลายคนก็อยู่ไม่ได้ ต้องหนีอีกเหมือนกัน

แนวรบทางด้านเหนือของคณะปฏิวัติฯ ถอยและแพ้แล้วเหลือแต่แนวรบด้านใต้ที่ห่างจากพระนครไม่มากคือทหารที่เพชรบุรี ที่ยังดำเนินการแข็งข้อกับรัฐบาลอยู่ ทางนายพันเอกหลวงพิบูลฯ ก็ต้องไปปราบ ดังที่ อ.พิบูลสงคราม บุตรชายของท่านเขียนเล่า

“เสร็จสิ้นการปราบปรามฝ่ายกบฏทางด้านเหนือ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามผู้บังคับกองผสมก็มอบการกำจัดกวาดล้างให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาชั้นรอง ตัวท่านเองพร้อมด้วยกองบังคับการกองผสมก็ได้รีบเดินทางไปทางใต้โดยขบวนรถไฟ เพื่ออำนวยการปราบปรามกำลังทหารที่เพชรบุรีและราชบุรีภายใต้การนำของ พ.ท.หลวงสรสิทธิยานุการต่อไป แต่ทันทีที่ขบวนรถไฟของกองบังคับการกองผสมได้เดินทางมาถึงราชบุรี พ.ท.หลวงสรสิทธิยานุการ ก็ยอมแพ้ต่อผู้บังคับกองผสมโดยปราศจากเงื่อนไข กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลจึงได้รับชัยชนะจากกองทหารฝ่ายกบฏทางใต้อย่างง่ายดาย”

ส่วนนายทหารที่ร่วมกบฏที่หนีไปลี้ภัยนั้น นอกจากพระองค์เจ้าบวรเดชที่ลี้ภัยไปอินโดจีนแล้ว ยังมีนายทหารตั้งแต่ยศนายพันเอกและบรรดาศักดิ์เป็นพระยาลงมาจนถึงยศนายร้อยเอก บรรดาศักดิ์เป็นหลวงอีกหลายนายก็ได้เดินทางด้วยม้าบ้างและเดินเท้าบ้างออกไปทางชายแดนเขมรอีกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 40 นาย เข้าไปยังกรุงพนมเปญและเมืองเสียมเรียบของเขมร และพากันลี้ภัยอยู่กันนาน

ครั้นรัฐบาลปราบกบฏได้ รัฐบาลโดย พ.อ.พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้แถลงต่อสภาถึงเหตุการณ์สงครามกลางเมือง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 มีความปรากฏดังที่ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์บันทึก

“วันที่ 28 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมสภามีความว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม รัฐบาลได้ข่าวว่า พระองค์เจ้าบวรเดชกับพวก ได้มั่วสุมชุมพลขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเพื่อระงับเหตุ พอไปถึงตำบลปากช่อง ฝ่ายกบฏได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต และได้จับกุมเจ้าหน้าที่ชั้นหัวหน้าอีกด้วย ฝ่ายกบฏได้เคลื่อนพลมาทำการยึดดอนเมือง ไว้เป็นที่บัญชาการของฝ่ายกบฏทั้งได้มีหนังสือให้พระแสน (น่าจะเป็น “พระแสง” – ผู้เขียน) สิทธิการถือมา บังคับให้รัฐบาลยอมแพ้ภายในหนึ่งชั่วโมง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ทำการปราบกบฏจนเสร็จสิ้น รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ เหตุการณ์ได้สงบแล้ว

ที่ประชุมรับทราบและลงมติขอบคุณรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไปโดยความเรียบร้อย

ต่อจากนั้น สภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีกบฏในครั้งนี้ และได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้”

น่าสังเกตว่า คำแถลงของนายกรัฐมนตรีดูสั้นและรวบรัดมาก วันที่ 16 ตุลาคมที่ยกมานั้นก็ล่วงเลยกว่าวันที่ 11 ตุลาคม 2476 มาถึง 5 วัน

แต่ที่สำคัญคือสภา ผ่านกฎหมายตั้งศาลพิเศษมาดูเรื่องกบฏนี้โดยเฉพาะ

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 จึงน่าจะเป็นวันที่ทางรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้จริงทั้งประเทศแล้วทุกด้าน ในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีได้เสด็จประทับอยู่ที่จังหวัดสงขลา

การพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏครั้งนี้ หากอ่านความเห็นของ ร.อ.หลวงโหมรอนราญ แล้วจะเห็นว่ามีความน่าสนใจทีเดียว ท่านเขียนแสดงความเห็นไว้ดังนี้

“...ท่านผู้อ่านได้หนังสือเกี่ยวกับการรบ ครั้ง ต.ค. 76 มาแล้วหลายเล่มและหลายคนเป็นผู้เขียน ท่านไม่ทราบแก่นความจริงเลยว่า ทำไมกองทหารหัวเมืองครั้งนั้นจึงพ่ายแพ้ ทั้ง ๆ ที่มีคนเอาใจช่วยทั้งประเทศสยาม มีกำลังใจดีที่สุดทั้งนายสิบพลทหาร ท่านอ่านถึงตรงนี้ท่านแลเห็นแล้วว่านายทหารทุกคนแต่จะเข้าไปครองอำนาจ นั่งเก้าอี้ที่เขาจัดไว้ให้โดยเรียบร้อยแล้ว หามีใครคิดว่าจะต้องทำการรบเสี่ยงชีวิตกับความตายไม่แต่ครั้นเมื่อไม่ได้เข้าไปเสวยอำนาจง่าย ๆ ดังที่นึกคิด จำเป็นต้องเสี่ยงชีวิตบุกกองเลือดเข้าไป ต่างคนต่างก็เอาตัวรอด แล้วแต่ที่ใดจะปลอดภัย วันที่ 15 นี้ เป็นวันที่กองทหารหัวเมืองแพ้แล้วอย่างราบคาบ”

หนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ” ของ ร.อ.หลวงโหมรอนราญ จึงน่าอ่านมากสำหรับท่านผู้สนใจการเมืองในอดีต

ส่วนการสรุปผลของการปราบกบฏนั้น อ.พิบูลสงครามได้เขียนสรุปเอาไว้ว่า

“ผลของการปราบกบฏครั้งนี้ปรากฏว่าทหารและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตไปเป็นจำนวน 17 นาย เช่น พ.ท.หลวงอำนวยสงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามและเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ด้วย รัฐบาลได้ประกอบพิธีศพวีรชนทั้ง 17 ท่าน ที่เมรุท้องสนามหลวงอย่างสมเกียรติ โดยมีนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน คณะทูตานุทูตต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มาร่วมพิธีนี้อย่างแน่นขนัดล้นหลาม ต่อมารัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นไว้ที่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุหลักสี่บางเขน เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนให้คนไทยรุ่นหลังระลึกว่าการที่ชีวิตของท่านเหล่านั้นได้สูญสิ้นไปก็เพื่อต่อต้านขัดขวางบุคคลคณะหนึ่งที่ได้เพียรพยายามจะนำประเทศไทยให้ถอยหลังกลับ”

หลังเหตุการณ์กบฏ พ.ศ. 2476 แล้ว ความแตกแยกในสังคมไทยที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายก็ดูจะชัดเจน ฝ่ายที่แพ้นอกจากหนีกันไม่เป็นขบวนแล้ว ยังถูกจับดำเนินคดี โดยส่งไปติดคุกกลางทะเลที่เกาะตะรุเตา ที่ซึ่งในวันโน้นไม่ใช่รีสอร์ท แต่เสมือนนรกกลางน้ำ ครอบครัวของผู้แพ้เดือดร้อนสาหัส กว่าจะมีการให้อภัยกันเป็นทางการก็เมื่อเวลากว่าสิบปีให้หลัง

ถึงวันนี้ผู้คนอาจลืมเรื่องความขัดแย้งเก่าไปหมดแล้ว อาจเป็นเพราะเรามีความขัดแย้งใหม่ ให้คิดแค้น คิดฆ่ากันใหม่ได้อย่างรุนแรงก็เป็นได้