วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 25, 2563

ขนาด นิติฯ มธ.งัดข้อ '๗ ตลก.หลวง' นี่ต้องเรียกว่า 'จุดติด' จริงๆ



อยากจะบอก อจ.ปิยบุตร ว่าไม่ต้องไปทวงความจำเขาเรื่อง “วันที่ให้สัตยาบันว่าจะต่อสู้ร่วมกันจนกว่าจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย” เพราะมันแสดงว่า ๙ ส.ส.ที่ไปซบภูมิใจไทย กับ ๑๐ รายที่ไปกินกล้วยเจ้าพ่อบ่อนล้วน ไม่ใช่

ประเด็น “จัดการกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ” เป็นภาระของพวกท่านๆ ที่ยังยืนหยัด เชื่อสิพวกนั้น “แค่ไปยกมือเติมเต็มให้กับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เป็นจำนวนนับให้เขาได้ที่นั่งรัฐมนตรีมากขึ้น” อย่างที่ อจ.ตั้งข้อกังขา ไม่ช้าถ้าไม่พบจุดจบ ก็ต้องระเห็ดกันต่อไป

ในเมื่อรู้ๆ อยู่ ราคา ๒๓ แค่เพื่อให้ พี่ ได้เป็นรัฐมนตรี ดังที่ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.รายชื่อ เอาเทปมือถือมาเปิดแฉ ผู้ชายปลายสายต้องการ ๘-๑๐ คน “ถ้าตกลงก็ไปคุยกันที่บ้านนาย” ส่วนจะ “ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น” เหมือนก๊วน พี่หนู หรือไม่เดี๋ยวรู้
 
ข้อสำคัญตอนนี้ มวลชนแบบ ๑๔ หรือ ๖ ตุลา ทำท่า จุดติด แล้ว การเปิดตัวฝ่ายค้านนอกสภา ของ เอก-ป็อก-ช่อสนุกแน่ แบบที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เขียน “เยาวชนก็ถูกปลุก ถูกกระชากให้ตื่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนตั้งแต่ ๒๕๑๖”

เพราะการไม่ให้ธนาธรสู้ในสภาฯ ทำให้เขา “มีเวลาเดินสายพบปะนักศึกษาปชช.ตลอดหลายเดือน การแบนธนาธรจากสภาจึงเป็นความผิดพลาดข้อแรก” ของแก๊งสืบทอดอำนาจ “การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นความผิดพลาดที่สอง

...เพราะคือการประกาศเป็นศัตรูอย่างตรง ๆ กับนักเรียนนักศึกษาเยาวชนจำนวนมากมายที่รู้สึกว่า อนค.คือคะแนนเสียงและปากเสียงตัวแทนของพวกเขาโดยตรง...#เราไปต่อ #เราจะไม่ทน #กลัวที่ไหน” หลังจากที่ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งวัน

Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล ต่อยอดพาดหัวข่าวมติชน “ม.ดังนัดรวมตัว” ว่า “มาอีกเป็นสิบมอ” คือนอกจากธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ ศิลปากร รามคำแหง แล้วที่จุฬาฯ ก็มี เติมด้วย เกษตรฯ มหิดล มศว. หาดใหญ่ สารคาม หอการค้า นเรศวร บางมด กรุงเทพฯ สุนันทา ดุสิต ราชภัฏ อุบล พะเยา พระจอม ฯลฯ

กระทั่ง “พี่น้องเตรียมทหาร พี่น้องโรงเรียนเหล่า” ก็ยังเอากะเขาด้วย โพสต์ “ร่วมกันติด #ที่ประเทศชิบหายทุกวันนี้ ก็พี่กูทั้งนั้น จะมีใครกล้าบ้างไม้” แบบนี้ก็มี พี่ๆ ว่าไง ฉะนั้นที่กลุ่มนี้เขาชวนจ้อง #อภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ใช่เลย
 
ดั่งเช่น ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.สารคาม เพื่อไทย ถาม “ว่าการขายที่ดินมูลค่า ๖๐๐ ล้านบาทของบิดาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อบริษัทแห่งหนึ่งที่เชื่อว่า เจ้าสัว คนหนึ่งเป็นเจ้าของ” นั่น “สภาต้องพิสูจน์ว่าเงินนี้เป็นเงินบริสุทธิ์หรือไม่”

แค่จะตอบว่า “วันนั้นผมเป็น ผบ.ทบ. ผมไม่รู้จักใคร ไม่รู้ด้วยว่าจะเอื้อประโยชน์กับใคร...ผมจะไปสัญญากับเขาได้ไหมว่าผมจะเป็นนายกฯ ในวันนี้” แล้วสะบัดก้นเดินออกไปน่ะ เงิน ๖๐๐ ล้านน่ะเอามาใช้มาช่วยในการยึดอำนาจก็ได้นะ

ใช่ว่าการทุบโต๊ะประกาศ ถ้างั้นผมยึดอำนาจใช่ว่าจะตัดสินใจทันทีทันใด การเตรียมการนาน ๖ เดือน ที่ผู้สมรู้ร่วมคิดอย่าง ทิดเทือกคุยโอ้ไว้ แม้แต่ตัวเองก็เคยหลุดออกมาบ้างบางคราว นั่นใช่ว่าใช้แต่กำลังพล กำลังเงินย่อมจำเป็นอย่างยิ่ง

ข้อสำคัญกว่านั้น การที่เกิด โห่ฮาต่อคำพิพากษาของ ตลก.รัฐธรรมนูญให้ยุบอนาคตใหม่ จนใกล้อาการ ปริ่มจะลุกฮือ อยู่ที่ความ งั่งด้วยคิดว่าประชาชน โง่ ตีความบิดเบี้ยวหลักกฎหมาย วันข้างหน้าถ้าอ้างจำเป็นต้องทำตาม บัญชา ก็ไม่มีใครช่วยแล้ว

ในเมื่อคณาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ๓๖ คน เข้าชื่องัดคำตัดสินของ เจ็ด ตลก.หลวงหลายข้อ หนึ่งนั่น “'เห็นต่าง' จากศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ”

สอง- “การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 'เป็นเสรีภาพ' ในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา ไม่ใช่เรื่อง 'ผิดปกติทางการค้า'” และ สาม- “ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ไม่สามารถนำมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาสั่งยุบพรรคได้”

จะเรียกว่าตีกันแสกหน้าก็ใช่ ในเมื่อมี ตลก.หลายคน (๖ ใน ๙) ในคณะหลวงนี่ ได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชามาจากสำนักนี้ ที่ “หมายชูประเทศชาติ” ก็ควรที่จะรับฟังเสียบ้าง สุดท้ายแถมข้อคิดนิดนึงด้วยว่า “ระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ”

ข้อไม่สำคัญ (ก็กระไรอยู่) คือว่า หนึ่งใน ๓๖ คณาจารย์ที่ลงชื่อ มี สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มธ. รวมอยู่ด้วย ศาสตราจารย์ทั่นนี้เคยฟัดกับคณะนิติราษฎร์อย่างถึงพริก ตอนที่คณะนี้บอกว่าควรยุบศาล รธน.ของคณะ รปห.

จนเมื่อทั่นเกษียณ พ้นจากอธิการแล้ว ได้รับการสมณาคุณให้ไปเป็นบอร์ด ปตท. ซึ่งสมัยนั้น (หรือสมัยนี้ด้วยก็ไม่รู้) ว่ากันว่าทหารคุม