วันพุธ, ธันวาคม 18, 2562

ข้อคิดต่อเติมจากงานอภิปราย "อดีต ปัจจุบันและอนาคตรัฐธรรมนูญไทย" - อ.เกษียร เตชะพีระ




ข้อคิดต่อเติมจากงานอภิปราย
"อดีต ปัจจุบันและอนาคตรัฐธรรมนูญไทย"
%%%%%
ผมเข้ารับฟังการอภิปรายบ่ายวันนี้ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ข้อมูลความรู้และข้อคิดวิเคราะห์มากมาย (https://www.facebook.com/textbooksproject/videos/2815595528490804/UzpfSTUxODM0MzU5NDg4MzU3NjoyODIxNjEyNDQ3ODkwMDAx/?__tn__=%2Cd%2CP-R&eid=ARDfMXYxd4Wj4W70A1wgYZaWoDSmLhzkS_5NZtLyOrMNvMHf-lwVVXY6x_5mWBzvdbsd2kTmPEInN9Yz

ใคร่ขอขอบคุณอาจารย์วิทยากรทั้ง ๔ ท่านไว้ในโอกาสนี้

ระหว่างนั่งฟัง ก็ทำให้ผมเกิดข้อคิดต่อเติมขึ้นมาบางประการ ขอสังเขปประเด็นที่ผมคิดว่าอาจสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปลองใคร่ครวญต่อสำหรับผู้สนใจปัญหารัฐธรรมนูญ ดังนี้นะครับ:

๑) กล่าวในทางประวัติศาสตร์ของยุโรปและอาจครอบคลุมรวมถึงกรณีไทยเราด้วยได้ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของคนชั้นกลางในการจำกัดอำนาจรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์ (ผมใช้คำว่า "คนชั้นกลาง" ในความหมายกลุ่มชนผู้มีฐานะช่วงกลางระหว่างผู้ปกครองเบื้องบนและคนชั้นล่างตามแต่บริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม)

คำว่า "จำกัด" หมายรวมถึงทั้งทำให้นิ่ง-คาดการณ์ได้-ถ่วงดุลและควบคุมได้ด้วย

๒) เมื่อคนชั้นกลางและนักคิดของพวกเขาโฆษณาป่าวร้องรัฐธรรมนูญ (หรือสัญญาประชาคม) นั้น พวกเขาพูดมากกว่าที่ให้จริง กล่าวคือมักนำเสนอหลักการมูลฐานที่เอื้ออำนวยสิทธิเสรีภาพให้แก่คนทุกคน แต่เอาเข้าจริงในระเบียบสถาบันที่สร้างขึ้น สิทธิเสรีภาพดังกล่าวตกอยู่แก่คนชั้นกลางเอง มากกว่าคนชั้นอื่น

การพูดมากกว่าที่ให้จริงนี้ ได้สร้างความใฝ่ฝันขึ้นในตัวแนวคิดรัฐธรรมนูญในแง่ระบบระเบียบอำนาจรัฐและสิทธิเสรีภาพ

เมื่อแนวคิดรัฐธรรมนูญเข้ามาถึงสังคมไทย ก็เผชิญเข้ากับวัฒนธรรมทางการเมืองไทยแต่เดิม ซึ่งมันกลับตาลปัตรสมมุติฐานเรื่องอำนาจของวัฒนธรรมดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่:

-ขณะสมมุติฐานไทยเดิมถือว่า "ปัจเจกบุคคลอยู่เพื่อรัฐ"; แนวคิดรัฐธรรมนูญที่นำเข้ามากลับถือว่า "รัฐอยู่เพื่อปัจเจกบุคคล"

-ขณะสมมุติฐานไทยเดิมถือว่า "อำนาจมาจากบนลงล่าง"; แนวคิดรัฐธรรมนูญที่นำเข้ามากลับถือว่า "อำนาจมาจากล่างขึ้นบน"

ความพลิกกลับตาลปัตรทางแนวคิดรากฐานดังกล่าว ทำให้ยากที่แนวคิดรัฐธรรมนูญจะหยั่งรากมั่นคงในสังคมไทย

๓) กลุ่มชน/ชนชั้นที่กำลังรุ่งเรืองขึ้นจะอ้างตนพูดในนาม "ประชาชน" และนิยามตนเองเป็น "ประชาชน" เสมอ

๔) วิถีดำเนินของการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญทั้งในไทยและในต่างประเทศ จึงเป็นบทสนทนาไม่รู้จักจบระหว่างผู้ที่ผลัดกันขึ้นมานิยามตนเองเป็น "ประชาชน" (ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามหลักรัฐธรรมนูญสมัยใหม่) กับผู้กุมอำนาจอธิปไตยตัวจริง

บทสนทนาดังกล่าว อาจใช้ถ้อยคำ ข้อเขียนโดยสันติ หรือสื่อสารด้วยกำลังและอาวุธตามแต่จะหาได้ก็เป็นได้ แล้วแต่กรณี

๕) การลงท้องถนนเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ กับ ความรุนแรง

ผมเห็นว่าการลงท้องถนนเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ กับ ความรุนแรง มิจำเป็นต้องไปด้วยกันเสมอไป เพราะหากเรายอมรับว่ามันต้องไปด้วยกัน และเราเองก็ปฏิเสธความรุนแรงแล้ว ก็จะไม่มีทางเลือกอื่นใดเหลืออยู่นอกจากยอมจำนน

การเปลี่ยนวิธีการต่อสู้จากกำลังรุนแรงเป็นสันติวิธี มิจำต้องหมายถึงการเปลี่ยนจุดยืนการต่อสู้ การต่อสู้ทางการเมืองสามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยสันติวิธี ยิ่งกว่านั้นโดยหลักมูลฐานแล้ว สันติวิธีซื่อตรงคงมั่นต่อฐานรากที่แท้จริงของการเคารพยอมรับคุณค่าชีวิตของเพื่อนมนุษย์ว่ามีค่าเท่ากันมากกว่า มิควรที่ใครจะสละสังเวยชีวิตคนอื่นเพื่อหลักนามธรรมใด ๆ

อย่างไรก็ตาม การลงท้องถนนเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐโดยสันติวิธี (แม้จะมีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เช่น ในการปฏิวัติล้มระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกหลายประเทศช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ ต่อต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ การล้มระบอบอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย การปฏิรูปประชาธิปไตยในชิลีและมาเลเซีย เป็นต้น) มิใช่ทำได้ง่าย ๆ เพราะเดิมพันสูงระดับอำนาจรัฐ ผู้ปกครองที่กุมอำนาจรัฐไว้แต่เดิม ย่อมมิยอมสละอำนาจโดยง่าย อีกทั้งเครื่องมือกลไกแห่งความรุนแรงทั้งกฎหมายและอาวุธก็ผูกขาดสั่งสมอยู่ในมือผู้กุมอำนาจมากกว่า ง่ายที่จะหยิบออกมาใช้เล่นงานปราบปรามประชาชนผู้ลงถนนต่อสู้โดยสันติวิธี

การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐจำต้องเข้าใจเนื้อแท้ของอำนาจรัฐ ดังที่ แมกซ์ เวเบอร์ เสนอว่า รัฐหมายถึงองค์การที่ผูกขาดกำลังความรุนแรงโดยชอบในอาณาเขตหนึ่ง ๆ

การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐก็อาจมุ่งเป้าไปที่เชื้อมูลองค์ประกอบในคำนิยามข้างต้น ได้แก่
ก) การผูกขาดความรุนแรง โดยตั้งกองกำลังอาวุธต่างหากขึ้นมา เช่น กองทัพแดงของเหมาเจ๋อตง เพื่อทำลายบั่นทอนการผูกขาดดังกล่าว
ข) อาณาเขต โดยสร้างเขตปลดปล่อยนอกอำนาจรัฐเดิม เช่น ฐานที่มั่นเยนอานของเหมาฯ หรือแม้แต่เขตชุมนุมที่ปิดล้อมขัดขวางทำให้หน่วยงานรัฐเป็นอัมพาต สร้างภาวะรัฐล้มเหลวเฉพาะส่วนเฉพาะเขต
ค) ความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ในสายตาเพื่อนพลเมืองร่วมประเทศและในสายตาชาวโลก

กล่าวในแง่สันติวิธี การมุ่งเป้าใส่ความชอบธรรมมีความเป็นไปได้มากที่สุด เป้าหมายคือเปลี่ยนใจ เปลี่ยนท่าที เปลี่ยนความเห็นผู้มีอาวุธ ให้พวกเขาไม่สามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงเพื่อปกป้องระเบียบอำนาจเก่าอีกต่อไป เพราะยอมรับว่ามันไม่ชอบธรรม

นี่ย่อมไม่ใช่มนต์คาถาที่จะประกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐ ในกรณีนั้น การประท้วงต่อสู้โดยสันติวิธี คงทำได้แค่ "ทำให้ราคาทางการเทืองที่ผู้มีอำนาจต้องจ่ายให้กับทุกความรุนแรงที่ตนทำลงไปนั้นแพงที่สุด"