วันอังคาร, ธันวาคม 17, 2562

"ในที่สุดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องเกิดจากการต่อสู้บนท้องถนน"




ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วย "ระบอบพันธุ์ทาง" (hybrid regime) ซึ่ง ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์อธิบายว่า เป้าหมายหลักคือเป็นเผด็จการอำนาจนิยม แต่ไม่สามารถดำรงอยู่แบบเผด็จการได้จึงต้องไปหาเสื้อคลุมมาใส่ จัดให้มีการเลือกตั้งและระบบรัฐสภา และไปออกแบบรัฐธรรมนูญให้ตอบโจทย์ตรงนั้น

"ตอนปี 2490 รัฐทหารไทยยังหน้าบาง ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง แต่ไว้คอยโหวตสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น แต่ผ่านไป 70 ปี ไม่หน้าบางแล้ว แต่พร้อมหน้าด้านเพื่ออยู่ในอำนาจ จึงให้ ส.ว. เลือกนายกฯ เลย" ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

87 ปีประชาธิปไตยไทย มี รธน. เป็นประชาธิปไตยแค่ 3 ฉบับ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มธ. เป็นอีกคนที่ยืนยันว่า "การมีรัฐธรรมนูญไม่เท่ากับการมีประชาธิปไตย" เพราะรัฐธรรมนูญกับระบอบเผด็จการไปด้วยกันได้ อีกทั้งในระยะหลังมานี้เผด็จการมีความฉลาดขึ้นในการปรับใช้เครื่องมือตามระบอบประชาธิปไตย แต่ความต่างคือรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการร่างขึ้นเพื่อส่งเสริมให้การครองอำนาจของอำนาจนิยมอยู่คงทนยาวนาน เช่น รัสเซีย จีน กัมพูชา
.
รธน. 2560 สร้าง "ระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้ง"

เมื่อพินิจดูรัฐธรรมนูญ 2560 เราเห็นอะไร คือคำถามชวนคิดจาก รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ คณะรัฐศาสตร์ มธ. เห็น.. รัฐธรรมนูญที่ร่างบนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจคนกลุ่มหนึ่ง คิดว่านักการเมืองต้องโกง อีกทั้งยังเขียนรัฐธรรมนูญให้อ่านยาก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจทางการเมืองตีความ-ใช้ดุลยพินิจได้ ซึ่งจะทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในตัวรัฐธรรมนูญเอง

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. เห็น.. ภาพการเมืองไทยลอกเลียนจากเพื่อนบ้านอาเซียน กล่าวคือ "รัฐธรรมนูญลอกเมียนมา" มีนายทหารเป็น ส.ว., "แบ่งเขตเลือกตั้งแบบมาเลเซีย" มีการแบ่งเขตใหม่เพื่อให้พรรครัฐบาลได้เปรียบ และ "ยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม" เหมือนกัมพูชา

.
อนาคตรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ได้ด้วย "ฉันทามติมหาชน"

ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้รัฐธรรมนูญ 2560 สะท้อนผ่านปรากฏการณ์ "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ-สภาล่ม-ส.ส. งูเห่า-แจกกล้วย" จึงปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภาของ "ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560"

รศ.ดร.สิริพรรณมองว่า การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่จำเป็นต้องฉีกทั้งฉบับ หรือแก้แล้วมีความเป็นประชาธิปไตยแบบแข็งขืนจนชนชั้นนำบางส่วนรับไม่ได้ เพราะบรรยากาศการเมืองขณะนี้แตกต่างจากช่วงก่อนปี 2540 มาก มีการแบ่งขั้วการเมืองชัดเจน การสร้างฉันทามติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

นักรัฐศาสตร์จากรั้วจามจุรีแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของนักการเมืองคนหนึ่งที่ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าไม่ได้มาด้วยเลือด ก็ต้องมาด้วยการยินยอม" เพราะทำให้เกิดความเห็นแบบ 2 ขั้วที่อันตราย ดังนั้นอาจต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ ซึ่งอาจไม่ดีที่สุดเท่าที่อยากได้ แต่สร้างการยอมรับระยะหนึ่งแล้วค่อย ๆ แก้ไขไป

"ฉันทามติ" และ "ความชอบธรรม" คือคาถาที่จะทำให้ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ

หนึ่งในโจทย์หลักที่ รศ.ดร.สิริพรรณคิดว่าต้องแก้ไขคือ ระบบเลือกตั้ง ซึ่งผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ โดยสามารถจัดการพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ในระดับที่เขาพอใจ แต่ได้ก่อให้เกิดพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในสมการตอนที่ออกแบบระบบเลือกตั้งมา "สุดท้ายระบบที่เขาคิดว่าจะมีความมั่นคงไปเจออนาคตใหม่เป็นภัยคุกคามใหม่ต่อระบอบนี้"

.
การเมืองที่ "มืดมัว" ในปี 2563

ท่ามกลางภาวะอึมครึมการเมืองในช่วงส่งท้ายปี ทำให้ ผศ.ดร.ประจักษ์มองเห็นแต่ความ "มืดมัวมาก ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ไม่มีสัญญาณบวกเลย" ในปี 2563 สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดคือพฤติกรรมการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบันทั้งที่มีตำแหน่งทางการและไม่มีตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอารมณ์ของสังคม แต่ขณะนี้ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจสังคมเท่าไร เรียกว่า "โนแคร์ โนสน"



เขากล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ ส่วนตัวไม่อยากเห็นการได้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการนองเลือด แต่ถ้าไปดูเงื่อนไขตอนนี้เหมือนยากมาก เนื่องจากชนชั้นนำไม่เปิดให้มีพื้นที่ทางการเมืองในระบบ เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในระบบไม่ได้ มันก็บีบให้คนเหลือช่องเดียวคือโมเดลแบบเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรืออาหรับสปริง

"ในที่สุดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องเกิดจากการต่อสู้บนท้องถนนโดยปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเราไม่อยากให้เกิดเหตุนองเลือด ชนชั้นนำก็ต้องเห็น ไม่ใช่เรื่องยากที่ต้องใช้สติปัญญาอะไร ต้องเปิดในระบบ และยอมให้แก้ไขกติกาได้... สติปัญญาและวุฒิภาวะของชนชั้นนำจะไปกำหนดว่าสังคมจะไปทางไหน" ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์วิจารณ์ว่า เป็นความไม่ชาญฉลาดของชนชั้นนำไทยที่กำจัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากสภา เพราะการให้อยู่ในสภาเป็นการจำกัดบทบทของหัวหน้า อนค. "เขาอาจมองว่านี่คือกระบวนการทางกฎหมาย แต่ในทางสังคมไม่ได้มองอย่างนั้น มองว่านี่คือการกำจัด" นอกจากนี้ยังปรากฏข่าวเรื่องการกำจัด อนค. ซึ่งสะท้อนภาวะภูมิปัญญาที่ขาดแคลนของชนชั้นนำ และไม่มีความฝันกับการสร้างอนาคตประเทศ แต่ในช่วง 2-3 วันมานี้กลับบอกว่ามีอะไรให้มาคุยกันที่สภาสิ เล่นเกมสภาสิ อย่าไปเล่นเกมถนน

เขายังเตือนด้วยว่า มีการก่อ "อาชญากรรมโดยรัฐ" แทบทุก ๆ 10 ปี ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2519, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 2535 และคิดว่าชนชั้นนำอาจกำลังคิดอย่างนี้ นี่คือความรุนแรงของรัฐไทยที่อยู่กับเรามาช้านาน

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณเห็นว่า แรงกดดันต่อความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างหนักในปีหน้า หากผู้ยึดกุมโครงสร้างอำนาจรัฐ "ไม่มีปัญญาบริหารให้ประชาชนสุขสบายได้ โดยอ้างแต่ความมั่นคง ๆ มันไปไม่รอด"

อ่านบทความเต็ม
https://www.bbc.com/thai/50805487