ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่มากว่า ๕ ปี
คนหาได้พอกินมั่งไม่พอมั่ง มีจำนวนมากกว่าคนมั่งมีเหลือกินถึง ๙๙ เท่า
เสียงบ่นว่ารัฐบาลบริหารไม่เป็นอึงมี่ ขณะที่รัฐบาลใช้วิธีการควักทุนเก่า
ที่ก่อนหน้าทำไว้เอามาไล่แจก ขายผ้าเอาหน้ารอด
ท่ามกลางกระแสฮึดฮัดของคนที่ขัดสน ต่อคำพูดของคนที่มีสิทธิและโอกาสพิเศษเหนือคนอื่น
เรื่อง ‘ปรัชญาพอเพียง’ ก็ปรากฏคลิปประเภทแนะแนวทำมาหากินของผู้ใช้ชื่อว่า ‘โค้ชแบ๊งค์ศุภกิจ’
เป็นที่นิยมพอดู มีผู้ติดตามเป็นสมาชิกเกือบ ๕ หมื่น
โดยเฉพาะรายการ ‘รู้รอบตอบโจทย์ธุรกิจ’ ซึ่งเผยแพร่มาได้สองอาทิตย์กว่า มีผู้เข้าชมแล้วเกินล้านวิว
ดูแล้วสะดุดหูพอประมาณ ไม่ว่าจะในทางวิชาการหรือในด้านจิตสำนึก ดูเหมือนเขาจะใช้หลักการอนุรักษ์นิยมพื้นๆ
ที่ว่าต้องเรียนรู้และใช้ ‘ทักษะ’ ถึงจะรวยได้
ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ
แต่ไม่อาจ ‘ฟันธง’ ได้เลยเสมอไป ในเมื่อเรื่องราวเนื้อความ ‘narratives’ ที่เขานำมาใช้อ้างหลายอย่างในคลิป ‘๗ สิ่งที่คนจนทำ
แต่คนรวยไม่ทำ’ นั้นออกจะเป็นการหยามหมิ่น ‘คนจน’ เกินไปนิด
ข้อหนึ่งเขาว่า คนจนรับเงินตามเวลา
คนรวยรับเงินตามผลลัพท์ “คนจนถูกสอนว่าขยันๆ นะ แล้วจะรวย ไม่จริงครับ”
โค้ชแนะหนทางรวยนายนี้ชี้ว่า การทำมาหากินโดยพึ่งค่าแรงรายชั่วโมง มีเวลาจำกัดเพียง
๒๔ ชั่วโมง
ต่างกับคนที่มีรายได้จากผลลัพท์
จะทำเงินได้มากกว่าหลายเท่าในหนึ่งวัน “เพราะตลาดไม่สนใจว่าทำงานใช้เวลาขนาดไหน”
ถ้าผลลัพท์ถูกใจก็ยินดีจ่าย ผลิตภัณฑ์ซึ่งใช้เวลาทำหลายวันหลายเดือน
เสร็จแล้วตลาดไม่ชอบก็เจ๊ง
การอุปมาอุปมัยอย่างนี้ฟังเผินๆ
ก็ใช่ แต่ลึกลงไปชี้ช่องทำนองยอมรับใน ‘ทักษะ’ ที่เกิดจากการใช้เล่ห์กล
การใช้โอกาสที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน การใช้อำนาจบารมีกอบโกย ขัดกับหลัก ‘ความเป็นธรรมในสังคม’ แต่ทำให้รวยได้
นักสวัสดิการสังคมถกเถียงเรื่องนี้ว่า
คนรวยล้นฟ้ากอบโกยเอาทรัพย์ศฤงคารไปครอบครองไว้เหลือกินเหลือใช้
ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงจำเป็นต้องมี ‘redistribution
of wealth’ กระจายความอยู่ดีมีสุขให้ถ้วนทั่ว คล้ายกับแนวทางที่รัฐบาล
คสช.ทำ
คสช.เรียกว่า ‘ประชารัฐ’ ปากแข็งไม่ได้ลอกการบ้านนโยบาย
‘ประชานิยม’ จากรัฐบาลทักษิณ
ทั้งที่เหมือนยังกับแกะออกมา ต่างก็แต่วิธีดำเนินการ ‘execution’ ของเก่าเขาได้ผล ไฉนที่กำลังทำอยู่ ‘บ้อท่า’ เปรียบเทียบกับทฤษฎีทักษะของโค้ชแบ๊งค์ได้ไหมว่า ‘ขยันแต่โง่’
นั่นเป็นเรื่องขัดหูอย่างยิ่งในคลิปรายการ
‘๗ สิ่งที่คนจนทำ
แต่คนรวยไม่ทำ’ ในเมื่ออีก ๖ ข้อที่เขาอ้างบางอย่างฟังเหมือน
‘เออใช่’ แต่ไม่จริงเสมอไป
อีกหลายอย่างดูถูกคนจนดุ้นๆ ขณะยกตนว่าใช้ทักษะจัดรายการ
ทำเงินได้เท่ากับถูกรางวัลที่หนึ่ง ๖ ครั้ง
ข้อกล่าวหา
คนจนเอาแต่ดูละคร คนรวยชอบอ่านหนังสือ คนจนโทษคนอื่น คนรวยโทษตนเอง คนจนหาว่าเงินคือรากฐานความชั่วร้าย
แต่คนรวยเชื่อว่าการขาดแคลนต่างหากที่ชั่วร้าย และคนจนชอบแสดงความเห็น
แต่คนรวยชอบหาความรู้
เหล่านั้นเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงบางส่วนมาใช้เหมาเอากับส่วนใหญ่
เป็นวิธีการเดียวกับที่คนส่วนน้อย ‘ชั้นสูง-ผู้ปกครอง’ ใช้อ้างความไม่เท่าเทียมว่าเป็นผลกรรมของผู้ต่ำต้อยเอง
ประมาณเดียวกับที่พวก กปปส. เคยอ้างว่าคนบ้านนอกโง่ ไม่ควรมีสิทธิเสียงทางการเมือง
ข้อสุดท้ายที่โค้ชแบ๊งค์แนะว่า
คนจนพึ่งพาชีวิตไว้กับโชคชะตา คนรวยพึ่งการกระทำของตน
เป็นเรื่องดีหากมีคนจนที่หมดอาลัยชีวิตได้คิดฮึดสู้ อาจไม่เลิกซื้อล็อตเตอรี่ แต่เลิกรอรับของแจกจากลุงตู่
ทว่าคนจนไม่มากนักที่รอบุญหล่นทับอย่างโค้ชว่า
ในหลักสวัสดิการสังคม ไม่ได้มองคนยากไร้ว่าไม่มีความสามารถเหมือนอย่างที่โค้ชแบ๊งค์เห็น
แต่ถือว่าเป็นเรื่องของการ ‘ด้อย’ หรือ ‘พลาด’ โอกาส ‘miss opportunity’ and/or ‘fall through the crack’ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐจักต้องอำนวยให้พวกเขาได้มีโอกาสเท่าเทียมคนอื่น
ในหลักการแก้ไขความ ‘ไม่พอกิน’ ในสังคมตามวิชาการเศรษฐศาสตร์แผนใหม่เอี่ยม
ซึ่งทำให้ ดร.แมริอาน่า แมซซูเคโต นักเศรษฐศาสตร์จาก University College London ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางขณะนี้
หลังจากการสัมมนาวิชาการที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
เธอบอกว่าปัญหาในปัจจุบันเป็นเพราะ
“เจาะจงในด้านการกระจายรายได้มากเกินไป และสร้างเสริมความมั่งคั่งน้อยเกินไป”
ดร.แมซซูเคโต เน้นให้ ‘รัฐ’ เข้ามาเป็นผู้ลงทุนในขั้นตอนเบื้องต้นของการพัฒนา
“มองหาตลาดการค้าใหม่ๆ และอำนวยเงินทุนระยาวอย่างมีน้ำอดน้ำทน”
หลักการของ ดร.แมซซูเคโต ตอนหนึ่งเจาะจงว่า การลงทุนของภาครัฐสามารถเก็บดอกผล
(returns) ได้ “ผ่านการเก็บค่าธรรมเนียมและการถือครองหุ้นส่วน” ถือเป็นการร่วมกับสังคมทั้งในรางวัลและการเสี่ยง
ข้อเสนอของเธอมีนักการเมืองอเมริกันโอบรับเอาไปใช้
ไม่ว่า เอลิซเบ็ธ วอร์เร็น วุฒิสมาชิกแมสซาชูเส็ทพรรคเดโมแครท
ผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปีหน้า มาร์โก รูบิโอ วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน
ฟลอริด้า และ อเล็กซานเดรีย อ็อคแคสิโอ คอร์เทซ ส.ส.สมัยแรกอายุน้อยที่สุด คู่หู
เบอร์นี่ แซนเดอร์ ผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกคน
(https://www.nytimes.com/2019/11/26/business/mariana-mazzucato.html และ https://www.facebook.com/probiz.ilearning.class/videos/2428336384144083/)