วันจันทร์, สิงหาคม 19, 2562

'ปาหี่' แก้ภัยแล้งตอนอุทกภัยกำลังจะมา แถมด้วย #SaveTG ที่ ปชป.ได้ช่องแสดงบทบาท หวังว่า 'คมนาคม' คงฟัง


อะไรนี่ ปาหี่ไหมนั่น ประยุทธ์ควงสี่รัฐมนตรีลงพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ ทั้งเรียกประชุม ๒๐ ผู้ว่าฯ อีสาน แก้วิกฤติภัยแล้งและปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่เห็นข่าวเรื่องบุรีรัมย์น้ำแห้งสองอาทิตย์มาแล้ว ทีม คสช.๒ ไม่สายไปหน่อยหรือ

เมื่อวาน (๑๘ ส.ค.)  สถานการณ์ใหม่มาแล้ว หลังฝนตกหนักหลายวัน กรมอุตุฯ เตือนระวังน้ำท่วมเฉียบพลัน แถวน่านน้ำเริ่มล้นเข้าบ้าน แล้วเมื่อไรประยุทธ์แอนด์เดอะแก๊งจะเรียกประชุมผู้ว่าฯ แก้ปัญหาอุทกภัยล่ะ เดือนหน้าเร็วไปมั้ย

นี่ไงการบริหารบ้านเมืองแบบนักรัฐประหารที่ทำมาแล้ว ๕ ปี กำลังทำอีกอย่างน้อยๆ สี่ปี เป็นงูกินหางต่อไป ที่จริงการลงพื้นที่ครั้งนี้น่าจะเป็นการดันก้นทีมบุรีรัมย์ของรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ชิดชอบ เสียละมากกว่า

เพราะ รมว.คมนาคม น้องหมอผีการเมืองเจ้าของตำรา งูเห่า คนสำคัญ เพิ่งเปิดความจริงบางประการว่า กระทรวงที่ก่อนหน้านี้แย่งกันนักว่าเงินหนา ที่แท้ ถังแตกอย่างน้อยๆ ในปีงบประมาณนี้ ๒๕๖๓ ต้องเลื่อนไปปีงบประมาณหน้า ๒๕๖๔

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีคนที่ร่วมกับ อนุทิน ชาญวีรกูล จัดการต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ เพิ่งแจ้งชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ต้องเลื่อนออกไป รองบประมาณปี ๖๔

ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเหลืองบประมาณอยู่ราว ๓๐,๐๐๐ ล้านบาท ทว่าโครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณมากถึง ๙๐,๐๐๐ ล้านบาท” ขออภัยที่รัฐบาล คสช.ใช้จ่ายมือเติบไปหน่อย ตอนอำนาจเบ็ดเสร็จควักจากคลังไม่อั้น

ตอนนี้สวมหน้ากาก มาจากการเลือกตั้ง เลยต้องรักษาระเบียบวินัยการคลังเสียหน่อย ซ้ำยังจะเริ่มของใหม่ที่ คสช.๑ ไม่ค่อยจะทำ นั่นคือการ ประหยัดงบประมาณโดยเฉพาะในโครงการคมนาคม ดังเช่น สั่งให้ยกเลิกการสร้างเกาะกลางถนนบนทางหลวง

หันไปใช้แผงกั้น แบริเออร์ที่ทำจากยางพารามาเป็นตัวกั้นกลางระหว่างทางวิ่งสวนบนทางหลวงแทน โดยจะปรับคุณภาพของแบริเออร์จากที่ทนความเร็ว ๑๑๐ ก.ม./ชั่วโมง ไปเป็น ๑๒๐ ทั้งนี้เพราะการสร้างเกาะสิ้นเปลืองมากกว่า


ส่วนเรื่องที่อยู่ในข่ายดูแลและรับผิดชอบของคมนาคมเหมือนกัน แต่ยังไม่พูดถึงในตอนนี้ทั้งที่เรื่องเกิดมาสองอาทิตย์แล้วก็คือ ครึ่งปีแรกของ ๒๕๖๒ ผลประกอบการของการบินไทย “ขาดทุนสุทธิ ๖,๘๗๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึง ๑๒๒.%

รายละเอียดว่าขาดทุนอย่างไร ไม่ต้องไปดูมากเพราะเหมือนๆ เดิมที่ผ่านๆ มาหลายต่อหลายปีนั่นละ (แต่ถ้ายังจะดูให้ได้ ไปที่ https://www.pptvhd36.com/news//108449) ส่วนที่เป็นการแก้ตัวครั้งใหม่นี่ต้องฟังกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สุเมธ ดำรงชัยธรรม โอด

เขาอ้างว่านี่เป็น กลยุทธ์ตั้ง ๖ ข้อเชียวละ มีทั้ง “ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ” กับ “ประหยัดและสร้างมูลค่าเพิ่ม (Circular Economy) ให้ทั้งกับองค์กรและประเทศชาติ” หูย แค่ฟังสองข้อก็ขนลุกซู่แล้วสิ

กลยุทธ์อื่นล้วนไม่ใช่ของใหม่ สายการบินอื่นๆ เท่าที่เห็นระดับท้องถิ่นแถวนี้ อย่างอะล้าสก้า ฮาวาย เซ้าท์เวสต์ และเดลต้า เขาทำกันมานานแล้ว ไม่เพียงระดับนานาชาติอย่างเอ็มมิเรท สิงคโปร์ เอเอ็นเอ เอเซียน่า หรือว่าฮ่องกง

ไม่ว่าจะเป็น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง-การตลาดออนไลน์ ซิเนอร์จี้-ผสานการค้า ที่บอกว่าจะเปิด คาเฟ่ แอมาซอนเร็วๆ นี้ ก็ช้ากว่าชาวบ้านเป็นสิบปี ฉะนั้นจะยัง ไทยสมายล์ อยู่อีกไหมไม่ใช่ประเด็นแล้วขณะนี้ แต่อยู่ที่ว่าจะตัดอะไร ประหยัดตรงไหนแน่
 
ถึงจะยังมองไม่เห็นว่า “การปรับโครงสร้างงานบริการแบบรวมศูนย์...อีกทั้งยังมีการรณรงค์เรื่ององค์กรคุณธรรมภายในองค์กรอย่างทั่วถึง...อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน #SaveTG” จะได้ผลไหม แต่ก็ส่งกำลังใจให้สำเร็จเถิดเจ้าประคุณ ประชาชนจะได้ไม่ต้องอุ้มพวกคุณทั่นอีลีทกันอีก

เห็น บก.ลายจุด พูดถึงการขาดทุนของการบินไทยทันทีที่เป็นข่าว (Aug 10) เขาว่า “ตั้งแต่อ่านข่าวการบินไทยมาตลอดชีวิต ไม่เคยได้ยินข่าวการบินไทยทำกำไรเลย” ไม่ทราบอายุแกเท่าไร เชื่อว่าคงไม่ใช่ยี่สิบสามสิบ

มิหนำซ้ำมีพลพรรคการเมือง อีลีทไปโต้แก “ฝั่ง ปชป. มาอธิบายว่าช่วงที่เขาเป็นรัฐบาลเคยทำกำไร ๖ พันล้าน” สมบัติ บุญงามอนงค์ เผยถูก FC ปชป. ตามถล่ม “แต่พอไปอ่านในข่าว thaipublica เขาอธิบายว่าราคาน้ำมันลดลงทำให้ต้นทุนลดลงเดือนละ ๘๐๐ ล้านบาท”

จึงทำให้การบินไทยมีกำไรในครั้งนั้น “แล้วมันฝีมือของผู้บริหารยังไง” เขาถาม โดยคนสำคัญ ปชป. ไม่ได้ไปตอบ แต่เสนอความเห็นในฐานะอดีต รมว.คลัง และเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อขณะนี้ กรณ์ จาติกวณิช ติ๊ดขึ้นเลยถามเหมือนกัน

ทำไมคนไทยต้องอุ้มการบินไทยในสภาพนี้ด้วยเงินภาษี” เขาย้อนความตามท้องเรื่องกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งเขาเป็น รมว.คลัง ร่วมกับกระทรวงคมนาคมยืนยัน “บริษัทต้องมีแผนฟื้นฟูโดยเร็วที่ต้องแสดงให้เห็นว่าต้นทุนจะลดลงอย่างไร”

ผลคือการบินไทยกลับมากำไรได้ในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ แต่ผู้บริหารและกรรมการถูกปลดออกเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลในปี ๒๕๕๔ และจากนั้นการบินไทยก็ขาดทุนตลอดมาทุกปี” เขาแนะให้ไปอ่านบทความของบรรยง พงษ์พานิช ที่เขียนถึงหนี้สินของบริษัทการบินไทย

นอกเหนือจากแสดงบทบาทตนเอง “ในฐานะ สส. ผมจะนำเรื่องนี้เสนอรัฐบาล และหวังว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน”


หวังเหมือนกันว่า รมว.คมนาคม และคลัง จะตั้งใจฟังพรรคติดสอยห้อยตามของทั่น