ภาพจากมติชนออนไลน์
ข้อสังเกตบางประการ: กรณีคุณแชมป์กับประธานาธิบดีตุรกี
28/07/2018 23:23:54
ผู้เขียน:เอกรินทร์ ต่วนศิริ
Patani Forum
คำถามสำคัญที่เราจำเป็นต้องพิจารณาต่อกรณีเรื่องของคุณแชมป์ ผู้สื่อข่าวรายการกีฬาช่อง 3 ที่มีความเห็นต่อประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือคุณแชมป์มีสิทธิจะให้ความเห็นและแสดงทัศนะเรื่องการเมืองกับฟุตบอลหรือไม่ ? ต่อประเด็นเราสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็ย่อมไม่พ้นประเด็นพื้นฐานสุดคือ สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับผมแล้วนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ที่มีต่อ “นักการเมือง” และ “บุคคลสาธารณะ” ในทางด้านวิชาการ “นักการเมือง” สามารถวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงทัศนะ ความเห็นต่าง ๆ ได้นับว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของการทำงานของคนทำงานทางด้านสื่อ และประชาชนคนธรรมดาอย่างเรา ๆ
การจะมีใครพูดว่าประธานาธิบดีตุรกี เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน เป็นเผด็จการ ก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่แปลกและต้องอ่อนไหวรับไม่ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ ผลการเลือกตั้งตุรกีที่ผ่านมาปี 2018 คนตุรกีที่ไปเลือกตั้งจำนวน 48 % ก็ไม่ได้ลงคะแนนเสียงให้เรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน และคนที่เห็นต่างในประเทศตุรกี ก็เรียกว่าเขาว่าเผด็จการ หรือสุลต่านคนใหม่ ไม่นับการล้อเลียนภาพผู้นำ ทำเป็นรูปการ์ตูนต่าง ๆ จากสื่อต่าง ๆ และคนตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันทางการเมืองเพื่อต้องการเสียงโหวต
ข้อตกลงร่วมกันของประชาชนในประเทศตุรกีคือ การไม่ยอมรับให้ทหารเข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ และประชาชนจะเลือกผู้นำเอง โดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันตามกฎกติกาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ผลคือพรรคอัคได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่งคือ 52 % พรรคผ่านค้านก็ยอมรับการเลือกตั้ง เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป ทั้งวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศ และแน่นอนเรยิบ ทายยิบ แอรโดอัน คือเผด็จการในสายตาของคนตุรกีเกือบครึ่งประเทศ
ผมอยากจะเรียนว่า เราไม่ต้องไปหาสื่อที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มีแต่เราเท่านั้นที่จะใช้สติปัญญาในการรับฟังสื่อ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ทำงานด้านสื่อไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อได้
เราพบเห็นความผิดพลาดทางด้านการสื่อสาร การให้ข้อมูลทางด้านสาธารณะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกขอมูลหรือว่าเกิดจากทัศนะคติส่วนตัวที่แสดงผ่านพื้นที่ Onlineและ Offline ทั้งแบบทางการและไม่ทางการ
ต่อกรณีของคุณแชมป์ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง เขามีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและทำหน้าที่สื่อ จะดีหรือไม่ดีนั้นอีกเรื่องนะครับ เพราะผู้รับชมจะเป็นคนตัดสินใจ
โปรดพิจารณาว่า ประธานาธิบดีตุรกีคือประชาชนอย่างเรา ๆ โดยทั่วไป หากทว่าก็มีบทบาทที่แตกต่างกัน และการให้ข้อมูลจากคุณแชมป์ ตั้งแต่การจับนักข่าว ปิดกั้นสื่อ การจับกุมนักวิชาการ และสร้างระบบการเมืองแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศตุรกี ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่เรารับฟังและพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ส่วนเรื่องท่าทีในการเสนอข่าวนั้นของคุณแชมป์นั้นก็เป็นอีกประเด็น เราควรปกป้องและรับฟังด้วยสติปัญญาและหากว่าเราไม่เห็นด้วยก็ควรใช้ปัญญาในการตอบ เพื่อให้คนเข้าใจ ในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง
ผมอยากจะกล่าวถึงพี่น้องมุสลิมไทยที่ต้องการล้มแชมป์ว่า เราล้มแชมป์ได้ แต่เราก็ไม่สามารถพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพได้ กล่าวให้ถึงที่สุด เราเองก็วิพากษ์วิจารณ์ ผู้นำของโลกตะวันตกและผู้นำต่าง ๆ ของโลกที่เราไม่เห็นด้วยจำนวนมากและกระทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่รับรวมที่หลายต่อหลายครั้งมุสลิมไทยจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนาของเราเอง นับตั้งแต่ระดับอีหม่ามจนถึงจุฬาราชมนตรี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติในสังคม เราสามารถกระทำได้เพราะเรามีสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้คุณค่าสังคมแบบนี้ เราควรหันกลับมาพิจารณาในเชิงหลักการของหลักสิทธิและเสรีภาพอันเป็นสิ่งที่เราสำคัญ
ต่อประเด็นการวิจารณ์ประธานาธิบดีตุรกี ที่เราจะเข้าใจว่าเป็นผู้นำของโลกมุสลิม ถึงจะมีคนบ้างกลุ่มสมาทานความคิดนี้ก็ไม่อาจจะเหมารวมได้ทั้งหมดว่ามุสลิมทั้งหมดจะเห็นด้วย สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือเรื่องของการเข้าใจหลักการสิทธิและเสรีภาพ ของสื่อที่มีต่อบุคคลสาธารณะ ที่นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
คุณแชมป์และประธานาธิบดีตุรกี สังคมมุสลิมไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยในความแตกต่างทางด้านความคิด ประชาชาติมุสลิมไทยมีหนทางที่จะเข้าสู่วงถกเถียงด้วยหลักการสากลของการอยู่ร่วมกัน และควรจะทำ เราต้องเสาะหากลุ่มคนที่พร้อมจะขึ้นสู่เวทีการเผชิญหน้าในโลกคุณค่าสมัยใหม่สากลทางความคิดและอุดมคติที่ทั้งสำคัญ ทั้งจุดประกายปัญญา
ประชาชาติมุสลิมมีภาระหน้าที่จะต้องอธิบายให้ชัดว่า ชุดคุณค่าแห่งอิสลามนั้นได้เคารพความหลากหลายและความเป็นปัจเจกทางความคิดในลักษณะต่าง ๆ หาใช่วิธีการฟ้องร้องและบดขยี้คุณแชมป์อย่างเอาเป็นเอาตาย เราไม่มีบุคลิกภาพแห่งศาสนาที่เป็นมรดกของศาสนาอันสำคัญคือ การรับฟังด้วยความอดกลั้นและการอ่อนน้อมถ่อมตน ทบทวนพิจารณาให้รอบด้าน
และท้ายสุด หากว่าเราคิดว่าข้อมูลเราถูกต้อง คนอื่นก็น่าจะมีข้อมูลส่วนถูกต้องด้วย และหากคิดว่าคนอื่นผิดพลาด เราเองก็อาจจะผิดพลาดหรือตกหล่นอะไรไปบ้าง ในสิ่งที่เรายังไม่มีข้อมูล สิ่งที่แน่ ๆ คือประธานาธิบดีตุรกีคือคนปกติ ไม่ใช่สิ่งบุคคลศักสิทธิ์ ไม่ควรมีใครถูกลงโทษด้วยการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำของประเทศ ไม่ว่าประเทศใดก็ตาม
ในนามของมุสลิมคนหนึ่ง ขอยืนยันว่าหลักการของการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะสามารถกระทำได้อย่างมีสิทธิและเสรีภาพ และสิ่งที่ควรจะเป็นคือ ใครก็ตามที่เข้ามาใช้อำนาจสาธารณะ ไม่ว่าในตำแหน่งใด ๆ ก็ย่อมต้องยอมรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม รวมถึงกลุ่มคนผู้สนับสนุนด้วยบุคคลสาธารณะด้วย นี้ต่างหากคือสปิริตของสังคมประชาธิปไตยและหลักการของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่
ooo
เปิดคลิป ต้นตอ “แชมป์ พีรพล” วิจารณ์ ประธานาธิบดีตุรกี เผ็ดร้อน อ้างวิกิพีเดีย (คลิป)
VIDEO
26 กรกฎาคม 2561
มติชนออนไลน์
จากกรณีนายพีรพล เอื้ออารียกูล หรือ แชมป์ พิธีกร ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้รายงานข่าวผ่านช่อง 28 ในช่วงข่าวกีฬาถึงกรณีที่ เมซุต โอซิล เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเยอรมนีซึ่งมีเชื้อสายตุรกีประกาศอำลาทีมชาติ เพราะทนไม่ไหวที่โดนกระแสต่อต้านรุนแรงซึ่งลามถึงการเหยียดเชื้อชาติ หลังจากโอซิลถ่ายรูปร่วมกับประธานาธิบดีตุรกีที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม โดยเนื้อหาที่นายพีรพล ได้รายงานข่าวออกไปนั้น สร้างความไม่พอใจกับสถานทูตตุรกีประจำประเทศไทยอย่างมาก
ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรายการ “คน เฝ้า ข่าว” ออกอากาศทางช่อง 28 โดยนายพีรพล รายงานข่าวเรื่องโอซิล แล้วไปพูดถึง เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี โดยระบุในรายการว่า “เป็นผู้นำที่คนตุรกี และคนรอบโลกยี้ เพราะเผด็จการสุดๆ ทำกฎหมายให้ตัวเองสามารถครองบัลลังก์ได้ 14 ปี เยอะกว่าปกติ เยอะแยะมากมาย คนตุรกีไม่สามารถเข้าอินเตอร์เน็ต คนตุรกีไม่สามารถเข้าเว็บไซต์วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่คนธรรมดาสามารถเข้าไปพิมพ์อะไรก็ได้เพราะตายยิป (ออกเสียงล้อเลียนชื่อ เทยิพ) บอกว่า มีข้อมูลที่ไม่ดีเกี่ยวกับเขา โชคดีเราอยู่ประเทศไทยเราเข้าวิกิพีเดียได้”
จากนั้นนายพีรพล ก็ได้อ้างอิงวิกิพีเดียรายงานข้อมูลว่า ” 5 คำที่คุณจะเห็นเยอะสุดเมื่อพูดถึง เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน คือ เผด็จการ / โกงเลือกตั้ง / ไม่ฟังประชาชน / กำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยทุกวิถีทาง / ผู้นำที่จับนักข่าวเข้าคุกมากที่สุด ซึ่งสิ่งที่คนที่ติดตามข่าวการเมืองเสียความรู้สึกกับเขามากที่สุดคือ พังสวนสัตว์, ทำลายป่า, สร้างวังขาว หลังชนะการเลือกตั้งได้สร้างวังขาวบนพื้นที่ 130 ไร่ 700,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่า 90 สนามบอล และมีห้องถึง 1,000 ห้อง แต่ปัญหาคือ ดันไปสร้างในป่าคุ้มครองที่มีสวนสัตว์อยู่ คนสวนใหญ่ก็งงว่าแทนที่ผู้นำจะรักษากฎหมาย ปกป้องธรรมชาติ แต่กลับทำตรงข้ามหมด ใช้งบประเทศกว่า 11,000 ล้านบาท เอางบนั้นมาช่วยประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึง 20,000 บาทดีกว่าไหม คนตุรกีต่อต้านถึงขนาดว่า ตอนแรกจะมีการฉลองวันชาติที่วังขาว แต่กระแสสังคมต่อต้านเยอะมาก และก็เปลี่ยนชื่อเป็น วังแห่งความโกง วังผิดกฎหมาย บัตรเชิญที่ส่งไปคนส่วนใหญ่รับไม่ได้จนงานเปิดตัวออฟฟิตหมื่นล้านเว่อร์วังต้องยกเลิกไป นี่แค่เรื่องเดียวนะครับเพราะถ้าจะเอาเรื่องอื่นด้วย 3 ชั่วโมงอาจจะไม่พอ ฝ่ายที่โจมตีโอซิลก็บอกว่า โอซิลอาจไม่ผิดถ้าเขาเป็นคนธรรมดา แต่การที่เป็นซุปตาร์กีฬาที่มีแฟนคลับรอบโลกแล้วดันไปถ่ายรูปกับผู้นำที่ภาพไม่ขาวสะอาด และดันเขียนว่า ประธานาธิบดีของฉัน ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน มันไม่เกี่ยวแล้วหล่ะ ไอ้เรื่องเชื้อชาติอะไร แต่คุณดีใจที่คุณได้ถ่ายรูปกับผู้นำที่หลายคนทั่วโลกเขาเหนื่อยใจต่างหาก”