กฏหมายไทยที่ใช้จำกัดเสรีภาพการแสดงออก
ที่มา ILaw
กฎหมายที่ใช้ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก
เสรีภาพการแสดงออก ถูกรับรองและถูกจำกัดโดยกฎหมายไปพร้อมๆ กัน รัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และฉบับปี 2559 ต่างก็รับรองให้ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะเดียวกัน
กล่าวโดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 รับรองเสรีภาพการแสดงออกไว้ในมาตรา 34 และกำหนดไว้ด้วยว่า เสรีภาพการแสดงออก จะถูกจำกัดได้ตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน
กฎหมายอาญา ที่ใช้จำกัดเสรีภาพการแสดงออกโดยทั่วไป
โดยทั่วไป ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดฐานความผิดที่เกี่ยวกับการแสดงออกไว้หลายฐาน เช่น
ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า ความผิดฐาน “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” มีโทษจำคุก 3-15 ปี
ความผิดฐานสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า ความผิดฐาน “ยุยงปลุกปั่น” มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ตามมาตรา 136 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ตามมาตรา 198 มีโทษคุก 1-7 ปี ปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานดูหมิ่นวัตถุหรือสถานที่เคารพทางศาสนา ตามมาตรา 206 มีโทษจำคุก 1-7 ปี ปรับ 2,000-14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215, 216 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดฐานนี้มักถูกใช้กับการจัดการชุมนุมสาธารณะ
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือการหมิ่นประมาทผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วไป ตามาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ความผิดฐานดูหมิ่น ทั้งดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมายที่ใช้จำกัดเนื้อหาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์
พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ” เป็นกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยมีมาตรา 37 กำหนดไว้ว่า ห้ามออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง หากฝ่าฝืนให้กรรมการ กสทช. มีอำนาจสั่งระงับการออกอากาศรายการ หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตเจ้าของสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์นั้นๆ หรือสั่งปรับ 50,000-500,000 บาท
นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่เกี่ยวข้องกับใช้คลื่นวิทยุ บางครั้งกฎหมายนี้ก็ถูกนำมาใช้เอาผิดกับผู้ที่ใช้สื่อวิทยุส่งข้อมูลข่าวสารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในยุค คสช. มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 กำหนดให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่ง ทุกประเภท เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. ห้ามเชิญบุคคลมาสัมภาษณ์ในลักษณะที่จะขยายความขัดแย้ง ห้ามวิจารณ์คสช.โดยเจตนาไม่สุจริต ห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสน ฯลฯ
กฎหมายที่ใช้จำกัดเนื้อหาในสื่อออนไลน์
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ” มาตรา 14 กำหนดห้ามนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานร้องขอต่อศาล เพื่อปิดกั้นเนื้อหาที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย
ในยุค คสช. มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. หากยังดำเนินการอยู่จะสั่งระงับการบริการ และ ฉบับที่ 17/2557 สั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายติดตาม ตรวจสอบ และระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
กฎหมายที่ใช้จำกัดเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2551 ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาควบคุมเนื้อหาในสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตในประเทศโดยตรง มีเพียงอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามมาตรา 10 ที่จะสั่งห้ามนำสิ่งพิมพ์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเข้ามาในราชอาณาจักร
ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมายที่ใช้จำกัดเนื้อหาในสื่อภาพยนตร์
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ภาพยนตร์ทุกประเภทต้องส่งให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาก่อนเผยแพร่ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจตามมาตรา 26 ที่จะกำหนดอายุผู้ชม หรือจะสั่งห้ามฉาย หรือสั่งให้แก้ไขตัดทอนเนื้อหาก่อนได้
เงื่อนไขของภาพยนตร์ที่จะถูกสั่งห้ามฉาย เป็นไปตามกฎกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2552 ได้แก่ ภาพยนตร์ที่ (๑) เนื้อหากระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (๒) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ (๓) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ (๔) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ (๕) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ (๖) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ
ตามมาตรา 77 ผู้ใดนำภาพยนตร์ที่สั่งห้ามฉายออกเผยแพร่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมายที่ใช้จำกัดการชุมนุมสาธารณะ
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.บ.ชุมนุมฯ” กำหนดว่าก่อนการจัดการชุมนุมสาธารณะ ผู้จัดต้องแจ้งให้ตำรวจในท้องที่ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ผู้จัดการชุมนุมต้องควบคุมดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ และผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ต้องปฏิบัติเช่นกัน หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดตำรวจอาจร้องขอต่อศาลแพ่งเพื่อขออำนาจเข้าสลายการชุมนุมได้
ในยุค คสช. มีประกาศคสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต่อมามี คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก หัวหน้า คสช. มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ถูกออกมาเพื่อทดแทนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 หลังมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร (ยกเว้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในวันที่ 1 เมษายน 2558
กฎหมายที่ใช้ในสถานการณ์พิเศษด้านความมั่นคง
พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “กฎอัยการศึก” มาตรา 11 กำหนดว่า ในช่วงเวลาและพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจสั่งห้ามมั่วสุมประชุมกัน ห้ามจำหน่าย หรือแจกสิ่งพิมพ์ หรือห้ามโฆษณา แสดงมหรสพ ห้ามรับหรือส่งซึ่งวิทยุ หรือวิทยุโทรทัศน์ได้
พ.ร.ก.การบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มาตรา 9 กำหนดว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
กรณีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มาตรา 11 ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบการสื่อสารและระงับการติดต่อสื่อสารได้
กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก
นอกจากกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่มีบทบัญญัติปิดกั้นการใช้เสรีภาพการแสดงออก กฎหมายที่ถูกนำมาใช้ให้เห็นอยู่หลายครั้ง เช่น
พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.บ.ประชามติฯ” มาตรา 61 วรรค 2 กำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งในเว็บไซต์นี้จะเรียกย่อๆ ว่า “พ.ร.บ.ความสะอาดฯ”มาตรา 10 กำหนดว่า การโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 กำหนดว่า การใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท