‘Red and Yellow in Germany’ เป็นข้อเขียนของ นิค นอสติทซ์ ผู้สื่อข่าวและตากล้องชาวเยอรมัน ตีพิมพ์บนเว็บไซ้ท์ ‘นิว แมนดาล่า’ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (เวลาออสเตรเลีย) ที่ให้ข้อสรุปโดยรวม และเนื้อหาบางตอนในการสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหารุ่มร้อนภายในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยบอนน์ เยอรมนี ไว้อย่างกระจ่าง ควรแก่การถ่ายทอดและแพร่หลายให้รับทราบกันอย่างถ้วนทั่ว
(http://www.newmandala.org/red-and-yellow-in-germany/)
นิค ซึ่งมีประสบการณ์อย่างลึกซึ้งในปัญหาขัดแย้งและความล้มเหลวในการพัฒนาสังคม-การเมืองในไทย ผู้อยู่ในสนามระหว่างเหตุการณ์ ‘ขอคืนและกระชับ’ พื้นที่บริเวณแยกคอกวัวและราชประสงค์ ช่วงความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทยเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ๒๕๕๓ อันมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อย บาดเจ็บนับพัน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ไปชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ ที่รู้จักกันดีในนาม ‘เสื้อแดง’
เขาเรียกการสัมมนากว่า ๑๒ ชั่วโมงเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ที่บอนน์ว่า “การสัมมนาพิเศษเกี่ยวกับวิกฤตที่ยังกลิ้งไปไม่หยุดของประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของสติฟตุงเอเซียนเฮ้าส์ และกลุ่มเสื้อแดงในยุโรปหลายแห่ง ที่เขาเป็นหนึ่งในจำนวนคณะผู้รับเชิญจำนวนมาก
ตัวเขาเองได้พูดที่กลุ่มสัมมนาย่อยเชิงปฏิบัติการเรื่องเสื้อแดงหลังจากการรัฐประหาร กับการประชุมหลักช่วงสุดท้ายเรื่องอนาคตของประชาธิปไตยในประเทศไทย นอกเหนือจากนั้นยังมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่เขาไม่ได้เข้าร่วมอีกหลายอย่าง
การประชุมในห้องโถงใหญ่ช่วงเปิดรายการลงท้ายด้วยการอภิปรายโดยอาจารย์ พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ และนพพร คุณิกา เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วน อจ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์
ส่วนการสัมมนาย่อยเชิงปฏิบัติการแยกเป็นหัวข้อต่างๆ ได้แก่เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ โดยศาตราจารย์วู้ล์ฟแฟรม แช้ฟเฟอร์ ดร.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ และดร.วิเชียร ตันศิริคงคล เรื่องสถาบันกษัตริย์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยสองผู้ลี้ภัย จรรยา ยิ้มประเสริฐ กับ อั้ม เนโกะ ดร.แซร์ฮัท อูนอัลดิ และแอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษชนภายใต้รัฐบาลทหาร โดยกุณฑิกา นุตจรัส และคีตนาฏ วรรณบวร
การสัมมนาย่อยเกี่ยวกับขบวนการเสื้อแดง นำโดยแกนนำเสื้อแดงผู้ลี้ภัย วิสา คัญทัพ นักกิจกรรเสื้อแดงในท้องที่ บังอร ชว๊าร์ทซ์ ดร.คลาวดิโอ โซปราเนทตี และนิค เวิร์คช็อปสุดท้ายเกี่ยวกับนักกิจกรรมลี้ภัย สหภาพยุโรป และยุทธศาสตร์สู่ประชาธิปไตย นำโดย ดิน บัวแดง แกนนำเสื้อแดงลี้ภัย จรัล ดิษฐาอภิชัย และขวัญใจ จุลรัตน์
“ในส่วนกลุ่มปฏิบัติการของผม” นิคเล่าว่ามีคุณบังอรพูดถึงการที่เธอเป็นคนไทยธรรมดาคนหนึ่งที่กลับมาให้ความสนใจการเมือง วิสา คัญทัพ กล่าวถึงประสบการณ์ต่อสู้ทางการเมืองอันยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ ของเขา
ส่วนนิควิเคราะห์เรื่องทำไมคนเสื้อแดงจึงไม่ได้ต่อต้านการรัฐประหารแข็งขันนัก ว่าเป็นเพราะเสื้อแดงทั่วไปไม่ใช่นักปฏิวัติ หากแต่เป็นประชาชนธรรมดาเฉกเช่นคนไทยทั่วไปที่เพียงต้องการแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันการต่อต้านอย่างเปิดเผยหมายถึงต้องติดคุกหรือถูกปลิดชีวิต
นิคแสดงความเห็นด้วยว่าข้อเรียกร้องให้เสื้อแดงแยกส่วนออกจากทักษิณก็เป็นการปฏิเสธความจริง เนื่องจากคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ อีกทั้งข้อเรียกร้องดังกล่าวย่อมจะเป็นการล่วงล้ำสิทธิทางประชาธิปไตยในการสนับสนุนนักการเมืองที่เขาพึงพอใจ ทำนองเดียวกับการที่พวก พธม. ต่อต้านทักษิณ ในปี ๒๕๔๘/๒๕๔๙
ถามว่าควรที่จะมียุทธศาสตร์เชิงรุกอย่างเด็ดเดี่ยวต่อจากนั้นไหม นิคชี้ว่านั่นจะก่อผลในทางตรงข้าม เพราะสงครามกลางเมืองไม่ใช่สิ่งที่ใครควรได้เห็น และท้ายที่สุดแล้วทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองต่างก็เป็นคนไทยเหมือนกัน จึงต้องหาทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้
ในห้องสัมมนาของนิคมีกลุ่ม กปปส. ยุโรปเข้าไปร่วมแสดงความเห็นอยู่ด้วย แน่นอนมีการกระทบกระทั่งเล็กน้อย พวกเสื้อแดงในนั้นไม่ต้องการให้กลุ่ม กปปส.ถ่ายทำวิดีโอการสนทนา แต่เนื่องจากเป็นรายการที่มีถ่ายทอดสด และคนอื่นๆ ที่ไปร่วมหลายคนก็ถ่ายคลิปกันไว้ นิคเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้พวก กปปส. ด้วย
มี กปปส.จากเดนมาร์คคนหนึ่งกล่าวในที่ประชุมว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้ง (ท่วมท้น) เพราะการซื้อเสียง จึงไม่นับเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย นิคจึงตอบว่านี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่มีหลักฐาน องค์กร แอนเฟรล ซึ่งไปสังเกตการณ์สรุปผลแล้วว่าการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔ เป็นไปอย่างเรียบร้อย นอกจากนั้นอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ระบุว่าการกล่าวหาเรื่องซื้อเสียงเป้นเรื่องเหลวไหล
ครั้นโอลิเวอร์ พาย ผู้ดำเนินรายการขอให้กลับไปถกเรื่องขบวนการเสื้อแดงต่อ กปปส. สามคนที่ไปโต้แย้งในที่ประชุมก็พากันเดินออกจากห้อง จากนั้นระหว่างช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน กลุ่ม กปปส. ราว ๑๕ คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากเดนมาร์ค ไปรวมตัวกันที่บริเวณใกล้ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อจัดการประท้วง ผู้จัดรายการจึงโทรศัพท์แจ้งทางการตำรวจ เกรงว่าจะเกิดเหตุร้าย
ตลอดเวลาทั้งวันของการสัมมนา ตำรวจได้เฝ้าดูกลุ่ม กปปส. คอยช่วยเหลือหากจะเกิดมีเสื้อแดงของขึ้นจู่เข้าไปทำร้าย แต่ก็ไม่ปรากฏเหตุอย่างที่ห่วง ทั้งที่กลุ่มเสื้อแดงไม่พอใจพวก กปปส. แต่ก็ให้ความเชื่อถือไม่มีการก้าวร้าวใดๆ ครั้นเมื่อตำรวจไปถึงได้ขอให้กลุ่ม กปปส.ไปจัดประท้วงกันในบริเวณหนึ่ง ซึ่งหนังสือพิมพ์แนวหน้าเอาไปทำเป็นข่าวใหญ่ แต่รายงานการสัมมนาเพียงเล็กน้อย
การประชุมรอบสุดท้ายในห้องบรรยายกลาง มีจรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล ดิษฐาอภิชัย วู้ลฟ์แฟรม แช้ฟเฟอร์ และนิคขึ้นอภิปราย โดยมีโอลิเวอร์ พาย ดำเนินรายการ วู้ลฟ์แฟรมพูดถึงปัญหาขัดแย้งในประเทศไทยในบริบทของการพัฒนาประชาธิปไตยเสรีภายใต้การกระหน่ำโจมตีจากกลุ่มชนชั้นนำ บวกกับปัญหาในการกระจายความกินดีอยู่ดีในสังคม
สำหรับนิคนั้นมองความขัดแย้งระหว่างแดง-เหลืองว่าเป็นเรื่องของวิกฤตแห่งเอกลักษณ์บุคคล ความไม่ลงรอยในการปรับเปลี่ยนสถานะ และความขัดแย้งด้านการมีส่วนร่วม ในกระบวนการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย
หลังการสัมมนามีการเดินขบวนไปตามถนนในกรุงบอนน์ประท้วงรัฐบาล คสช. โดยที่นักวิชาการส่วนที่ไปร่วมจากประเทศไทยไม่ได้เดินด้วย เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัด นิคเองไม่ได้ร่วมเดินด้วยเช่นกัน แต่ก็ทำการจับภาพอันคมชัดได้เนื้อหา ดังปรากฏในบรรดาภาพประกอบเรื่อง