อันว่าเรือดำน้ำ S26T Yuan class ของจีนนี่คงมีสมรรถนะในทางลึก ล้ำเหลือ กองทัพเรือถึงต้องเอาให้ได้ ยืดเวลาผ่อนจ่ายไปเป็น ๑๑ ปี ในวงเงินต้นเดิม ๓๖,๐๐๐ ล้านบาท ก็เอา
อย่างที่ Vanchai Tantivitayapitak บ่นไว้บนเฟชบุ๊ค “เรือดำน้ำ ๓ ลำ ๓๖,๐๐๐ ล้านในยุคที่เงินในคลังแทบไม่มี เศรษฐกิจโลกกำลังซวนเซ ในยุคที่ท่านผู้นำบอกให้ประชาชนช่วยกันประหยัดแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่ท่านขยันก่อหนี้ให้คนรุ่นหลังอีกสิบปีเหลือเกิน”
ใครจะว่า คสช. ทิ้งภาระหนี้ให้ลูกหลาน บิ๊กตือ ตั้วโผหย่ายต้องบอกฮ้าย พูดหยั่งงี้ด้ายงาย พวกเรารับผิดชอบ ‘การจ่ายเงินเอง’* เพราะจะอยู่ยาว ๒๐ ปี
(*อันนี้คงจำกันได้นะว่าทั่น รมว.กลาโหม รองนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยพูดเมื่อไม่นานมานี้เองว่า “กองทัพไม่มีหน้าที่หาเงิน” เราเป็นเพียงผู้ใช้งบประมาณ)
ดูจากข้อมูลละเอียดที่สำนักข่าวอิศราค้นมา เรื่องเรือดำน้ำนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ความจำเป็นอะไร แต่เป็นความจำใจของกองทัพเรือเพราะ “เพื่อนบ้านเขามีกัน เรายังไม่มี” อ้างพม่ามี ๑๐ ลำ มาเลย์เซียก็มีกองเรือดำน้ำเกรดตะวันตก ไทยไม่มี (คสช.) เลยน้อยหน้า
ความเป็นมาในประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างโดย คสช. เมื่อปลายปี ๒๕๕๗ “พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในขณะนั้น ได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน ๒ ลำพร้อมแพ็คเกจ ประกอบด้วยการฝึกกำลังพล ลูกอาวุธ อะไหล่ การซ่อมบำรุง ฯลฯ ไปยังกระทรวงกลาโหม ภายในกรอบวงเงิน ๓.๖ หมื่นล้านบาท”
(http://www.isranews.org/isranews-arti…/item/48113-bord.html…)
มี ๖ ประเทศยื่นข้อเสนอขาย คณะกรรมการพิจารณา ๑๗ นายที่ พล.ร.อ.ไกรสร อ้าง (เมื่อ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘) ว่า
“เรามีคณะกรรมการเดินทางไปดูเรือดำน้ำ ๖ ประเทศที่เราสนใจ โดยจัดคณะกรรมการที่เป็นคนรุ่นใหม่ จำนวน ๑๗ คน จากกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ และให้คะแนน ๑๔ คนเลือกเรือดำน้ำของประเทศจีน”
มิหนำซ้ำข้อเสนอของจีนให้เรือดำน้ำ ๓ ลำ ทั้งที่ไทยเสนอซื้อแค่สองลำ ในวงเงินงบประมาณเดียวกัน
แต่การจัดซื้อให้มีอันต้องหยุดชะงักเมื่อ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.คนใหม่ชี้แจงในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ ว่า “เรือดำน้ำยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อกองทัพเรือ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อประเทศ
อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจ เราคงจำเป็นต้องชะลอและทบทวน แล้วหันมาฝึกกำลังพลให้มีความเชี่ยวชาญ จึงถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียโอกาสแต่อย่างใด”
แต่ครั้น “ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม” แล้ว ๔ วันต่อมาพล.อ.ประวิตรกลับบอกว่า “การจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำนั้นไม่ได้ให้ชะลอหรือทบทวนว่าไม่เอาเรือดำน้ำจีน แต่ให้ทบทวนเฉพาะงบประมาณใหม่และสร้างการรับรู้กับประชาชนถึงความจำเป็นความสำคัญของเรือดำน้ำ”
และ “ได้ส่งโครงการเรือดำน้ำจีนกลับให้กองทัพเรือทบทวนงบประมาณใหม่เท่านั้น”
จนกระทั่ง ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ พล.องประวิตรกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ก็อยากซื้อ อยากได้นะเรือดำน้ำ” อ้างด้วยว่า ผบ.ทร.ก็อยากได้ ทั้งๆ ที่ “แม้ใจจริง พล.ร.อ.ณะ อาจไม่ได้นิยมชมชอบอาวุธจากจีนเป็นพิเศษเหมือนกับคนส่วนมากในกองทัพเรือ”
“เรือที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าจะวิ่งได้ ใช้ในงานรักษากฎหมายในทะเลเช่นการจับกุมเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำได้ แต่ถ้าเกิดต้องใช้งานในสถานการณ์วิกฤติจริงๆ แล้วนับว่าขีดความสามารถไม่สามารถทัดเทียมกับเรือที่ต่อด้วยมาตรฐานตะวันตกอย่างประเทศเพื่อนบ้านได้เลย” อิศราเขาว่าอย่างนั้น
แถมมีเสียงซุบซิบจากแถวหลังกระทรวงฯ (ย่านค้าของเก่า) ว่า “ยี้” ของจีนนี่เวลาขายเป็นเศษเหล็กก็ยังไม่ค่อยได้ราคา
ถึงแม้ในข้อเท็จจริงตอนนั้น วันที่ ครม.ฝ่าทางตันดันฉลุยอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำสามลำ สำนักงบประมาณทำหนังสือชี้แจงว่า “โครงการดังกล่าวจะสร้างภาระค่าใช้ จ่ายปีละไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท โดยเฉพาะในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๔ ที่ภาระงบประมาณจะเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท
ซึ่งยังไม่รวมภาระผูกพันโครงการเดิม เช่น โครงการจัดสร้างเรือฟรีเกตที่จะมีภาระงบประมาณในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๑ อีกประมาณ ๙,๐๐๐ ล้านบาท อาจเป็นผลให้ต้องชะลอการพัฒนากองทัพด้านอื่นๆ ของกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหม”
มิหนำซ้ำกระทรวงการคลังก็ให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยว่า “แม้โครงการจัดหาเรือดำน้ำจะมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การทหารของประเทศ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการคลัง และการนำงบประมาณไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพิ่มขึ้น
ประกอบกับความร่วมมือในประชาคมอาเซียนมีความแน่นแฟ้นขึ้น จึงมีแนวโน้มการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนจะทยอยลดความสำคัญลง จึงเห็นควรที่คณะรัฐมนตรีจะชะลอโครงการดังกล่าวออกไปจนกว่าเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งและสถานะการคลังจะเอื้ออำนวย”
อันนี้ข้อมูลที่ Viroj NaRanong เก็บมาโชว์จากไทยโพสต์ (เมื่อ Tuesday, May 5, 2015 - 00:04) สื่อ ‘กันเอง’ กับ คสช. นี่นะ
“โครงการเรือดำน้ำกองทัพเรือ ๒ ลำ มูลค่า ๓.๖ หมื่นล้านบาททางสะดวก คลัง-สำนักงบฯ-สภาพัฒน์ รุมขวางไม่อยู่” ไทยโพสต์โปรยหัวข่าวคราวนั้น
แต่ก็นะพี่ใหญ่อยากได้ ยังไงก็ต้องผ่าน อ้างว่า “มีไว้ให้เกรงใจ ใช้แสดงศักยภาพ ไม่ได้เอาไว้รบ” ก็เอา ไอ้หยวนคล้าสนี่สมรรถนะทางลึกจริงๆ
ตรงกับที่อิศราแจงว่า “ในความเป็นจริง ณ วันนี้คือ เรือดำน้ำจีนผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก ครม. ไปแล้ว เพื่อให้ทันบรรจุอยู่ใน พรบ.งบประมาณประจำปี ๒๕๖๐”
ทั้งๆ ที่ เมื่อปีที่แล้วได้ค่าปลอบใจจากงบประมาณบ้านเมืองไปแล้ว ๒๐๐ ล้านบาท ตามรายงานของไทยโพสต์
“แต่ ครม.งุบงิบมีมติปลดล็อกมติปี ๕๕ ที่ให้ชะลอโครงการ ก่อนอนุมัติหลักการพร้อมงบ ๒๐๐ ล้านศึกษาความเป็นไปได้”
ทีอย่างนี้ไม่ยักเจรจาขอปรับลดค่าศึกษาเหมือนค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการรถไฟที่ทำกับจีนเหมือนกันบ้าง ไหนๆ ก็จะเอากับ จีน all the way เป็น ‘china man’ กันแล้วทั้งรถถัง รถไฟ เรือดำน้ำ
ดังรายงานเมื่อสองสามวันก่อนของประชาชาติธุรกิจที่ว่า ฝ่ายไทยขอ “ปรับลดค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการ จากเดิมคิดอยู่ที่ ๓.๕-๔.๕% ของมูลค่าโครงการ หรือประมาณ ๖,๐๐๐ ล้านบาท จะขอให้คิดที่ ๑.๒๕% หรืออยู่ที่กว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท” เท่านั้น
(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1467186686)
จะหลักร้อยหรือหลักพันล้าน มันก็งบประมาณรัฐรีดภาษีมาจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เก็บมาจากค่าแว็ตที่ชาวบ้านทุกคนต้องจ่าย ทุกครั้งที่เข้าไปเซเว่น