วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 14, 2559

จักรพรรดิญี่ปุ่นจะทรงสละราชบัลลังก์





จักรพรรดิญี่ปุ่นจะทรงสละราชบัลลังก์

จักรพรรดิอากิฮิโตะของญี่ปุ่น ปัจจุบันพระชนมายุ ๘๒ ชันษา จะทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ วัย ๕๖ ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้

สำนักข่าวเอ็นเอชเคอ้างแหล่งข่าวในราชสำนัก รายงานว่าองค์มกุฎราชกุมารและพระบรมวงศานุวงศ์ต่างเห็นพ้องในพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ์ซึ่งทรงครองบัลลังก์เบญจมาศ ราชสมบัติที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ล้วนๆ มาเป็นเวลา ๒๘ ปี

รัชกาล ‘เฮเซ’ (ได้รับสันติภาพ) ของพระองค์ถูกจัดว่าเป็นยุคของการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัย ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตะ พระราชบิดา ในปี ค.ศ. ๑๙๘๙ ขณะที่ญี่ปุ่นขึ้นถึงจุดสุดยอดของความเจริญทางเศรษฐกิจ

หนึ่งปีให้หลัง ญี่ปุ่นเผชิญกับเศรษฐกิจฟองสบู่แตกและตกอยู่ในภาวะจมปลักเป็นเวลานับทศวรรษ แต่องค์จักรพรรดิ์กลับเป็นที่นิยมชมชื่นอย่างสูงในหมู่ประชาชน จนเป็นที่กล่าวขานถึงพระองค์ว่าทรงเป็น ‘จักรพรรดิของประชาชน’ จักรพรรดิณีมิชิโกะ พระชายาทรงมาจากสามัญชน และเจ้าฟ้าหญิงมาสะโกะ ชายาของมกุฏราชกุมารนารุฮิโตะก็มาจากสามัญชนนักการทูต

เจฟ คิงสตัน ผู้อำนวยการศึกษาเอเชียของมหาวิทยาลัยเท็มเปิลในญี่ปุ่น บอกว่าจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงเป็น “เสียงแห่งความปรองดอง ท่ามกลางความโศกสลดภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” เขาเชื่อว่าการตัดสินพระทัยสละบัลลังก์ครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอาการเสื่อมโทรมในพลานามัยของพระองค์มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ





องค์จักรพรรดิทรงรับการผ่าตัด ‘บายพ้าส’ หัวใจสำเร็จในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ก่อนหน้านั้นหนึ่งปีทรงต้องประทับในโรงพยาบาลด้วยอาการปอดบวม ย้อนไปในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ทรงรับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก

พระราชกรณีกิจในขององค์จักรพรรดิอันเป็นที่สรรเสริญทั่วโลก แม้เป็นตำแหน่งสัญลักษณ์ซึ่งถูกจำกัดอำนาจทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง โดยรัฐธรรมนูญที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้หลังชนะสงคราม มาจากการที่ทรงประกาศน้อมรับความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ที่รัฐทหารญี่ปุ่นทำไว้กับประเทศต่างๆ

ในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ ทรงดำรัสขอโทษต่อการที่ญี่ปุ่นครอบครองเกาหลีเป็นอาณานิคมในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ถึง ๑๙๔๕ สองปีต่อมาระหว่างการเสด็จเยือนจีน ทรงยอมรับว่าญี่ปุ่นได้ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนั้นต้อง “ทนทุกข์อย่างใหญ่หลวง” (โดยเฉพาะเกี่ยวกับเหตุการณ์ ‘ชำเรานานกิง’ the Rape of Nanking ในปี ค.ศ. ๑๙๓๗-๑๙๓๘ ที่ซึ่งเกิดการข่มขืนแล้วฆ่าสตรีจีนถึง ๒-๘ หมื่นคน)

เมื่อปีที่แล้วในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงมีพระราชดำรัส “สลดพระทัยอย่างลึกซึ้ง” ต่อบทบาทก้าวร้าวของญี่ปุ่นในสงคราม ที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบ ก็ยังไม่ยอมกล่าวเช่นนั้น ถ้อยคำในแถลงการณ์ของรัฐบาลระบุว่า “ญี่ปุ่นไม่ควรที่จะต้องถูกมุ่งหวังให้ขอโทษไม่หยุดหย่อน”

การสละราชบัลลังก์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ ๒๐๐ ปีนับแต่จักรพรรด์โคกากุทรงกระทำในปี ค.ศ.๑๘๑๗ โดยที่ไม่มีบัญญัติไว้แต่อย่างใดในกฎมณเฑียรบาล

และหลังจากรัชสมัยของมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะแล้ว จักรพรรดิองค์ต่อไปจะได้กับราชโอรสในพระอนุชาของพระองค์ เนื่องจากเจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะทรงมีพระธิดาองค์เดียว และราชประเพณีไม่อนุญาตให้กุมารีขึ้นครองราชย์

(ถอดความจาก ‘บลูมเบิร์ก’ https://www.bloomberg.com/…/japan-emperor-expresses-wish-to…)