วันจันทร์, กรกฎาคม 18, 2559

เบื้องหลังคำสั่งคสช. ๔๑/๕๙ คำสั่งปิดปากสื่อ





เจตนาของ คสช. เบื้องหลังคำสั่ง ๔๑/๕๙ ให้อำนาจโดยปราศจากความรับผิด (Impunity) แก่ กสทช. ในการกำกับควบคุมสื่อ

นอกจากมุ่งหมายปกป้องกรรมการเสียงส่วนมากจากการถูกฟ้องร้องเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว ยังมุ่งมาดระยะยาวในการข่มขู่กลุ่มประชาธิปไตยต้านรัฐประหารและสื่อทางเลือกออนไลน์ ให้หงอ-กลัว ไม่กล้ารุกเร้า (ไล่ คสช.) หากร่าง รธน. เกิดไม่ผ่าน

โดยที่การประกาศคำสั่ง ๔๑ พุ่งเป้าโดยตรงในกรณี กสทช. หรือองค์กรอิสระด้านกระจายเสียงและโทรคมนาคม มีมติสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ‘พี้ชทีวี’

จากนั้น กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานลงดาบ มือขวาของ กสทช. ก็ออกคำสั่งซ้ำ ให้ระงับใช้ใบอนุญาตพี้ชทีวีชั่วคราว ๓๐ วัน เพื่อปิดปากไปจนกระทั่งหลังวันออกเสียงประชามติ

ทั้งๆ ที่มีคำฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางโดย นปช. ผู้ดำเนินการพี้ชทีวี คานอยู่ โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ให้การต่อศาลเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ว่าการที่ กสท. สั่งพักใช้ใบอนุญาตบริษัท พีซ เทเลวิชั่น นั้น

“เป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ...ถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด ที่พีซทีวีสามารถแพร่ภาพออกอากาศต่อไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๖๓/๒๕๕๘ ก่อน”

ขณะที่ นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะรองโฆษกศาลปกครองได้ชี้แจงว่า คำสั่ง คสช. ที่ ๔๑ ไม่มีผลต่อคดีที่ นปช. ฟ้องว่า กสทช. ทำให้เสียหาย

“ผู้ฟ้องยังสามารถพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ กสทช.กล่าวหาได้ คำสั่ง คสช. เป็นเพียงการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กสทช.เท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองการกระทำผิดของหน่วยงาน”

อย่างไรก็ดี คำสั่งปกป้อง กสทช. ดังกล่าว ทำให้คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตพี้ชทีวีจะมีผลบังคับในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ตามกำหนด เว้นแต่หากมีการหารือระหว่าง นปช.กับ กสทช.และ กสท. แล้วมีผลออกมาเป็นอื่น

ส่วน นพ. เหวง โตจิราการ ผู้บริหารพี้ชทีวีกล่าวถึงคำสั่ง ๔๑/๕๙ ว่า “เหมือนเป็นการเอาน้ำมันถังใหญ่สาดเข้าไปในกองไฟที่จะลุกลามไปทั่วเมือง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน”

(http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)

ซึ่งก็มีสื่อมวลชนบางส่วนเห็นว่าคำสั่ง คสช. น่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี ดังที่นาย เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ความเห็นว่า

“เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนโดยเฉพาะสื่อควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้สังคมมีข้อมูลรอบด้านที่สุดในการตัดสินใจ...

เพราะปกติ กสทช. ก็มีกระบวนการที่จะบริหารจัดการกับผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว มีกติกาที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าจะบอกว่าปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยก็ควรมีกระบวนการแบบนั้นอยู่”

(http://workpointtv.com/คสช.ใช้ ม.44 ให้อำนาจ กสทช. ควบคุมสื่อ)

ทว่านายเทพชัยอาจมองโลกไทยภายใต้กะลาเผด็จการทหารสวยไปหน่อย หรือใช้วาทกรรมเพลินไป เพราะในสภาพความจริงปัจจุบันไม่ได้เป็นประชาธิปไตย





น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อยในมติสั่งปิดพี้ชทีวีเสียอีก น่าจะมองเห็นเพดานชัดกว่า

เธอทวี้ตข้อความ “คำสั่งตามมาตรา ๔๔ ของ คสช.ในวันนี้ เป็นการปกป้องการใช้อำนาจของ กสท./กสทช.(เสียงข้างมาก) จะกระทบกับภาพรวมเสรีภาพสื่อทั้งหมด...

ดิฉันเห็นว่าองค์กรสื่อ วิชาชีพสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ ควรแสดงจุดยืนต่อคำสั่ง คสช.เพื่อการถ่วงดุลอำนาจของ กสทช. ให้สื่อใช้สิทธิ์สู้ในศาลต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลอาญา หรือ ศาลแพ่ง”

ความเห็นเช่นนั้นก่อผลให้เกิดแรงกดดัน จนเจ้าตัวบอกว่า “เอกสารของพีซทีวีอ้างข้อมูลจากดิฉันทุกครั้ง จนทำให้ตกเป็นเป้าแทนแล้ว คิดอยู่เหมือนกันว่าจะลาออกดีไหม อาจอยู่ได้ไม่ครบวาระ

ซึ่งสรุป มีความเป็นไปได้ที่ดิฉันจะหยุดเองก่อนครบวาระ ถ้าส่วนตัวแบกรับความกดดันในทางการเมืองและอื่นๆ ในฐานะฝ่านค้านใน กสท.ไม่ไหวเอง” (จากข่าวไทยโพสต์ ๑๕ ก.ค.)

เราจึงได้เห็นโพสต์ “เพื่อความแฟร์” ของ Thanapol Eawsakul เสนอว่าการเรียกร้องให้สุภิญญาเลิกเล่นบทฝ่ายค้านตลอดกาล โดยลาออกเสีย ควรจะรวมถึงที่ปรึกษาที่กินเงินเดือน ๑๒๐,๐๐๐ บาทด้วย

ธนาพลอ้างข่าวผู้จัดการ “เปิดเงินเดือน ๓๑ ที่ปรึกษาบอร์ด กสทช.” ว่าที่ปรึกษา น.ส.สุภิญญามี ๓ คนคือ “นายจอน อี๊งภากรณ์ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ นายนคร ชมพูชาติ”

โดยนัยนี้ชี้ว่า แรงกดดันข่มเหงจากอำนาจรัฐประหารได้คืบเข้าไปในเครือข่าย ‘ไม่แดง’ อีกด่านหนึ่งแล้ว

ความเดือดร้อนของสื่อ (สายหลัก) ไทย ที่ส่วนใหญ่ถ้าไม่โคตรเกรงใจ คสช. ก็เป็นนั่งห้างเสียเองนั้น ได้อ่าน Atukkit Sawangsuk เมื่อวันก่อนแล้วอึ้ง เขาว่า “กำลังกระอัก...โดนไม่เลือกสี”

โดยดูจากงบโฆษณาโดยนีลเส็นพบว่าลดลงกันระนาวในช่วง ๖ เดือนนี้ “เฉพาะบริษัทในตลาดหุ้นที่เผยตัวเลขไตรมาสแรก” มติชน โพสต์ เนชั่น สยามสปอร์ต ซีเอ็ด อัมรินทร์ ขาดทุนรวด ไม่นับไทยรัฐ เดลินิวส์ ที่อยู่นอกตลาด

(ดูตัวเลขละเอียดที่ https://www.facebook.com/baitongpost/posts/1103656876382807)

พวกทีวีดีกว่า เมื่อช่อง ๓ ยังกำไร (แค่ลดไปสองล้าน) เวิร์คพ้อยท์ กับ อาร์เอสก็กำไร แต่แกรมมี่ กับ อสมท. ขาดทุน

“ไม่มีผลประกอบการไทยพีบีเอส เพราะนอนกินภาษีเหล้าบุหรี่ (ฮา)” เขาแซว

หนังสือพิมพ์ “ยอดขายลดทุกฉบับไม่เว้นแม้แต่ไทยรัฐ เชื่อได้เลยว่าในปีนี้จะมีสื่อตกงานเพิ่มขึ้น เพราะเลือดไหลไม่หยุด โดยเฉพาะพวกที่มีทั้งทีวี+นสพ....

อมรินทร์ นี่น่าห่วงมากครับ ปีที่แล้วขาดทุน ๔๑๗ ล้าน ภาระทีวีดิจิตอล HD มันเกินขนาดบริษัท ในขณะที่ตลาดหนังสือ+นิตยสารก็ลดลง

MCOT นี่เจอผลกระทบรุนแรงทั้งจากทีวีดิจิตอลและรัฐประหาร ในฐานะทีวีรัฐต้องสนองนโยบาย”

(น่าสนใจมากกว่าน่าห่วงสำหรับกรณีการขาดทุนของอมรินทร์ ที่ซึ่งกล่าวกันว่าได้รับความเชื่อถืออย่างสูงในหมู่ประชาชน ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตน์ ทรงถือหุ้นอยู่จำนวน ๓ ล้านกว่าหุ้น และ ๑ ล้านกว่าหุ้น ตามลำดับ

ดู http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=AMARIN )

จึงทำให้พินิจได้ว่าการออกคำสั่งที่ ๔๑ ของ คสช. น่าจะทำด้วยความ ‘พร่ำเพรื่อ’ เพราะง่ายและว่องไวดี โดยไม่คิดคำนึงผลสะท้อนอย่างหลากหลายแง่มุม ประการหนึ่ง ซึ่งยังไม่หนักหนาเท่าประเด็นที่สอง

ถ้าหาก คสช. ใช้อำนาจมาตรา ๔๔ กับสื่อนี่เป็นใบเบิกทางการจัดตั้งระบบคัดกรองข้อมูลอินเตอร์เน็ตช่องทางเดียว หรือ Single Gateway โดยคราวนี้เอาจริงดังที่มีข่าวออกมาเมื่อต้นอาทิตย์

ดังที่กลุ่ม ‘พลเมืองต่อต้าน Single Gateway’ ได้ชักชวนกันสองวันก่อน รณรงค์ “นัดนักรบโซเชียลเข้าไปกด F5 เว็บไซต์ของรัฐบาล...เพื่อแสดงให้เห็นถึงคำเตือนเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกต่อการลงประชามติ (ที่ไร้เสรีภาพของประชาชน)”

กลุ่มดังกล่าว “ประกาศชัยชนะในการฝึกซ้อมรบประจำเดือนกรกฎาคม กับเป้าหมายจริง เนื่องในโอกาสใกล้วันลงประชามติ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙” กับเว็บของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเวลา ๑๐ นาที





แถลงการณ์เครือข่ายพันธมิตรต่อต้าน Single Gateway เมื่อวันที่ ๑๕ ก.ค. แจ้งว่า “ในการฝึกซ้อมรบในครั้งนี้มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จนส่งผลให้เว็บไซต์ทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถใช้งานเกือบตลอดเวลาที่พวกเราซ้อมรบในครั้งนี้”

(http://www.matichon.co.th/news/213487)

ทำให้โล่งใจไปเปราะหนึ่ง ว่าทางด้านสื่ออินเตอร์เน็ตยังพอมีทางสู้ เมื่อไหร่เครือข่ายฯ นัดมาขอให้ไปช่วยกันกดรัวๆ ก็พอสกัดความห่ามเฮี้ยวของ คสช. ได้บ้าง

แต่พวกลูกจ้างสื่อนี่สิ เจอ “เลือดไหลไม่หยุด” จริงๆ จะทำอย่างไรกัน ดูเหมือนจะไม่ได้มีแบ็คดีอย่างพนักงานการบินไทยและธนาคารออมสินเสียด้วย