วันอังคาร, กรกฎาคม 05, 2559

จดหมายเปิดผนึก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงเพื่อนกวี เพื่อนนักเขียน เพื่อนศิลปิน และเพื่อนในแวดวงสื่อมวลชน





จดหมายเปิดผนึก
สุชาติ สวัสดิ์ศรี

ถึงเพื่อนกวี เพื่อนนักเขียน เพื่อนศิลปิน
และเพื่อนในแวดวงสื่อมวลชน

เมื่อ 2 วันก่อน ผมไปเยี่ยมคนหนุ่มนักศึกษาทั้ง 7 ที่ถูก “อำนาจรัฐประหาร”จับกุมด้วยความไม่ชอบใจที่พวกเขามีจิตสำนึกตื่นตัว และมีความใฝ่ฝันที่ต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตของประเทศ นอกจากนักศึกษาทั้ง 7 แล้ว ผมยังมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมคนหนุ่มอีก 2 คน ที่เป็น “นักโทษทางความคิด” ในกรณี ม.112 คนหนุ่มทั้ง 2 ที่ว่านี้ คนหนึ่งเป็นนักเขียน อีกคนหนึ่งเป็นศิลปิน หน้าตายังใส มีพลังแห่งความมุ่งมั่น อายุก็ยังเพียง 20 ต้นๆเท่านั้น เห็นแววตาของพวกเขาแล้ว ทำให้ผมคิดถึงตัวเอง และเพื่อนๆที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อ “สังคมที่ดีกว่า” ในวันเวลาที่ผ่านมาเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ช่วงแห่งวันเวลาที่เรายังมีความใฝ่ฝันแสนงาม หันหลังชนกัน เพื่อสร้างดาวดวงเดียวกัน และดาวดวงนั้นก็คืออนาคตของประเทศอันเป็นที่รักที่เราต้องการเห็นความก้าวหน้า เสมอภาค ไปบนเส้นทางของอารยประเทศ

เราผ่าน “อำนาจเผด็จการรัฐประหาร” มาด้วยกันหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหาร “ยึดอำนาจตัวเอง” เมื่อปลายปี พ.ศ. 2514 และผ่าน “อำนาจรัฐจากกระบอกปืน” ของการทำรัฐประหาร” มาอีกหลายครั้ง ตั้งแต่ปลายปี 2514, 2519, 2535, 2549 และ 2557 เรื่อยมาตราบจนปัจจุบัน

เราเสียเลือดเนื้อเพราะการเรียกร้องรัฐธรรมนูญมาก็หลายครั้ง ต้องสูญเสีย เจ็บปวด และมีแผลเป็นที่บาดลึกอยู่ข้างใน เราเคยเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของกันและกัน อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ชอบนักเขียนคนเดียวกัน ทำกิจกรรมทั้งเรื่องวรรณกรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง บนพื้นฐานของอุดมคติที่ตรงกัน หรือไม่ก็ใกล้เคียงกัน เช่นต่อต้าน “ภัยขาว” ( จักรวรรดินิยม ) ต่อต้าน “ภัยเขียว” ( เผด็จการทหาร ) ต่อต้าน “ภัยเหลือง” ( การรุกรานทางเศรษฐกิจ ) สนับสนุนความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย ต่อต้าน”สงครามเวียตนาม” ต่อต้านฐานทัพอเมริกา สนับสนุนความตื่นตัวของคนเล็กคนน้อยที่เสียเปรียบในสังคม เช่น ชาวไร่ชาวนา กรรมกร และหนุนเสริมความเท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงชาย แม้เราอาจจะมีวิธีคิดที่ต่างกันบ้าง แต่เราก็เหมือนอยู่ในชุดของอุดมคติเดียวกัน คือ “ไม่เอาอำนาจรัฐที่มาจากรัฐประหาร” และ “ไม่เอาทุนนิยมผูกขาด” เราสนับสนุนการต่อสู้กู้ชาติของโฮจิมินห์ – เหมาเจ๋อตุง และมีใจให้กับแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการ แต่ก็ขัดแย้งกันไม่น้อยทั้งเรื่องว่าด้วย “เป้าหมาย” และ “วิธีการ” ในการไปสู่ “สังคมที่ดีกว่า” จนในช่วงเวลานั้น เรามีวรรคทองที่จำกันได้ขึ้นใจ ทั้งเรื่อง “ แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ “ ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล “ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ของ วิสา คัญทัพ “ และเพลงเพื่อชีวิตของ “คาราวาน” ที่มีเนื้อหาชัดเจนตอนหนึ่ง “..ทุนนิยมจักถูกทำลาย”

ดังนั้นเราจึงเหมือนมีเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน และเป้าหมายที่ชัดเจนมาตั้งแต่ช่วงการทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม เมื่อปลายปี พ.ศ.2514 ก็คือ เราจะเรียกร้องให้การมีรัฐธรรมนูญการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ และ “ต่อต้านเผด็จการทหาร” ในทุกรูปแบบเนื้อหา แม้จะมีปัญหาทางความคิดกันบ้าง แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกัน และเมื่อเกิด “รัฐประหาร” ไม่ว่าครั้งใด เราจะยังอยู่ฝั่งเดียวกันมาตลอด ไม่แปลกแยกต่อกัน และอยู่กันไปคนละฝั่งเหมือนเช่นในวันนี้

แม้วันเวลาที่ผ่านมา 40 – 50 ปี เราจะบอบช้ำและมีบาดแผลกันมาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จากกิจกรรมการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ทั้งในเมืองและชนบท เคยผ่านสมรภูมิป่าเขา จนมีบางคนเสียสละแม้ชีวิต เมื่อกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติหลังนโยบาย 66 / 23 จนเพื่อนพ้องหลายคนพบความสำเร็จกลายเป็นนายทุน เจ้าของทุน ทำให้เพลงเพื่อชีวิต “..ทุนนิยมจักถูกทำลาย” ของ “คาราวาน” กลับมาคึกคักได้อีกครั้งในผับเพื่อชีวิตภายใต้ฉายาแห่งคำว่า “ทุนนิยม” นั่นเอง

ทุนนิยมมันไม่ได้ถูกทำลายหรอก แต่ทุนนิยมมันกลับเบิกบานมาตั้งแต่พวกคนในป่าคืนเมือง และมี Somebody กลายมาเป็นคนชั้นกลางผู้ได้เปรียบทางสังคม มีทั้งฐานะและมีต้นทุนทางสังคมแบบใหม่ กลายเป็นคนพันธ์ใหม่ที่เข้ากันได้กับระบบคิดแบบทุนนิยมได้อย่างไม่น่าเชื่อ คำว่า Socialist Realism หายไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็น Capitalist Realism เข้าทำนอง “แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูเป็น “

เพื่อนเปลี่ยนบทบาท ฐานะ กลายเป็นคนชั้นกลางมีระดับทำงานในบริษัท และบรรษัทข้ามชาติ คบกับพวกมหาเศรษฐี แต่ก็ยังทำตัวเป็น “ซ้ายในคอฟฟี่ช้อป” จนลืมบรรดา Nobody ที่ครั้งหนึ่งแม้จะเคยอยู่ในสมรภูมิเดียวกัน แต่ก็เป็นคนในระดับล่าง เป็นคนเล็กคนน้อย อยู่ในที่ห่างไกลเช่นเดิม กระนั้นแม้เมื่อเกิดการทำรัฐประหารของ รสช. “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เราก็ยังกลับมา “ต่อต้านเผด็จการทหาร” และกลับมาเป็นเพื่อนกันเหมือนเมื่อครั้งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีความหวังว่าบ้านเมืองจะมีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มาสานฝันต่อเชื่อมให้สังคมของเรามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีเสรีภาพที่สมบูรณ์ มีส่วนร่วมที่สมบูรณ์ มีความเป็นธรรมที่สมบูรณ์ และมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

พวกเขาหารู้ไม่ว่าตั้งแต่รัฐประหารในปี 2535 เป็นต้นมา เพื่อนพ้องแห่งวันวาร" ในรุ่นนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นคนพันธุ์ใหม่ไปแล้ว และยุคสมัยของคนหนุ่มสาวแสวงหาในรุ่นของเราก็ได้จบสิ้นลงตั้งแต่นั้น มีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ เหมือนเช่นในยุค “คืนความทุกข์ “ของ คสช. ก็ต้องถือว่าเป็นหนุ่มสาวในอีก Generation ใหม่ ที่วรรคทองแห่งคำว่า “ ฉันจึงมาหาความหมาย” ได้หมดมนต์ขลังไปแล้ว แต่ Spirit บางอย่างในพลังบริสุทธ์แห่งคนหนุ่มสาวยังอยู่ นั่นก็คือคำว่า “จิตสำนึกขบถ” ที่ผมเคยเรียกมาตั้งแต่ยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

เพื่อนๆในรุ่นอายุใกล้เคียงกับผมคงยังพอจำได้ และคงยังไม่ลืมความใฝ่ฝันแสนงามในวัยหนุ่มสาวของเราเมื่อครั้งก่อน ที่เคยผ่าน “อำนาจรัฐประหาร”มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง และทุกครั้งที่เกิด “อำนาจรัฐประหาร” ความใฝ่ฝันดังกล่าวก็มักแตกกระจายเหมือนไข่ที่ตกลงมากระทบหิน เพราะนั่นก็คือ “วงจรอุบาทว์” ที่ซ้ำซากมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 , 2501, 2519 , 2535 , 2549 และ 2557 และ “วงจรอุบาทว์” อันเปรียบเหมือน “เกมแห่งอำนาจ” เหล่านี้ก็มักจะผลักให้ทุกอย่างกลับเข้าไปอยู่ในด้านมืดทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีข้ออ้างสวยหรูอย่างไรก็ตาม สมัยก่อนข้ออ้างยอดฮิต ก็คือ “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” และนักการเมืองคอร์รัปชั่น แต่สมัยนี้ข้ออ้างยอดฮิต ก็คือ “ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพตาม ม.112” และส่วนนักการเมืองก็คอร์รัปชั่นตามเดิม

เราทุกคนน่าจะรู้เท่าทันเพราะอายุมากขึ้น แต่ก็แล้วก็เหมือนต้องกลับไปนับหนึ่งกันใหม่ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงปัจเจก เราบางคนมีฐานะมั่นคงขึ้นบ้างก็จริง แต่สภาพของสังคมรอบตัวกลับตกต่ำ มีแต่วัตถุที่เรียกกันว่า “ความเจริญ” และ “การพัฒนา” งอกขึ้นมาอย่างไร้ทิศทาง ความเหลื่อมล้ำยังคงเดิม คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง เหมือนอย่างเพลง Everybody Know ของลีโอนาร์ด โคเฮน ที่กัปตันมันบอกว่าเรือกำลังแล่นไปข้างหน้า ทั้งๆที่ก็รู้ว่าเรือมันมีรูรั่ว เพราะความยุติธรรมยังมีหลายมาตรฐานจนเหมือนไร้มาตรฐาน Rule by Law ไม่มีหรอก มีแต่ Rule of Law ทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดีทุกอย่าง” และระบบราชการก็ยังรับทำของทุกอย่างตามที่ “คุณพ่อ” สั่ง เสรีภาพยังคงถูกปิดกั้น และอิสรภาพเหมือนมี แต่ที่จริงก็คือไม่มี เพราะต้องทำตามที่ “คุณพ่อรู้ดี” บอกมา

“เรา” ในแวดวงเดียวกันต่างเคยมีบทเรียน มีบาดแผล แต่ทำเป็นเหมือนไม่เคยและไม่เคยจดจำ เวลาผ่านไป เราบางคนมีชื่อเสียง มีฐานะทางสังคม มีคนหนุ่มสาวรุ่นลูกหลานเฝ้าติดตาม ด้วยมีความประทับใจ ในความใฝ่ฝันแสนงามที่คนหนุ่มสาวรุ่นเราเคยทำไว้ แต่มันก็เป็นเพียงภาพหลอนเบลอๆ ที่อยู่ไกลๆ พวกเขาหารู้ไม่ว่า พวกเรานั้นชราภาพไปแล้ว เพราะมีความอิ่มตัว กลัวความเปลี่ยนแปลง มีเรื่องที่ทำให้ต้องคิดสองครั้งเสมอ เราเคยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ “พวกเขา” จะเปลี่ยนแปลง แต่ “พวกเขา”กลับไม่เปลี่ยน “พวกเรา” ต่างหากที่เปลี่ยนไปเป็นเหมือน “พวกเขา” คือกลายเป็นเหมือนมนุษย์พันธุ์เก่าแบบ “พวกเขา” ที่เติบโต และมีฐานะทางชนชั้นที่เข้าได้กับระบบที่ยังเหลื่อมล้ำ จากการ “ต่อต้านผู้กดขี่” ก็กลายมาเป็น”ผู้กดขี่”เสียเอง ช่องว่างระหว่างชนชั้นจึงยังคงมีอยู่เหมือนเดิม และคนที่เสียเปรียบก็ยัง “ถูกละเมิด” มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเข้าไปบุกรุกแหล่งทรัพยากรของพวกเขา โดยอ้างคำว่า “ความเจริญ” เมืองอ้วนพี แต่ชนบทพิการ

เราลืมความใฝ่ฝันเมื่อครั้งวัยหนุ่มสาวของเรา ที่เคยออกไปรณรงค์เคลื่อนไหว ร่างแถลงการณ์ ติดโปสเตอร์ จัดกิจกรรม ตั้งกลุ่มศึกษาถกเถียง อภิปราย และร่วมลงชื่อเรียกร้องเพื่อสังคมที่ถูกต้องเป็นธรรม เราลืมแววตาสดใส และพลังบริสุทธิ์ในหัวใจของเราเองเมื่อครั้งหนุ่มสาว เราคิดว่า “เรา” มีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เรากลัวในสิ่งที่เคยกล้า เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่กินตัวเองไปเรื่อยๆอีกครั้ง คือระบบตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด ระบบที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยเรียกว่า พวก “ปฎิบัติตาม” เป็นอยู่ในจำพวก Conformist มากกว่าจำพวก Non - Conformist เราเริ่มเทศนาในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เราเข้าฝักเข้าฝ่ายกับข้างไหนก็ได้ที่คิดว่าต่อไปจะเป็นฝ่ายชนะ เราลืมสิ่งที่เรียกว่า “จิตสำนึกขบถ” เราด้านชาเพื่อจะได้ทำให้ชีวิตปัจเจกของเรามีสถานะทางชนชั้นที่สูงขึ้น เราลืมความใฝ่ฝันแสนงาม เราลืมแสงดาวแห่งศรัทธาและภูเขาแห่งสัจจะที่เราแสวงหา และแน่นอน เราลืม “บาดแผล”ที่กลายเป็น“แผลเป็น”อยู่ลึกๆ

เมื่อผมเข้าไปเห็นแววตาของเด็กหนุ่มในวัย 20 ต้นๆ ที่เรือนจำดังกล่าว ผมจึงหวนไปนึกถึงวัยดรุณของผมเมื่อครั้งที่ยังอายุ 20 ต้นๆ คือผมและพวกท่านในแวดวงที่อยู่ในรุ่นใกล้เคียงกับผม คงจะพอยังจำได้ถึงแสงดาวแห่งศรัทธา และภูเขาแห่งสัจจะที่มีความหมายชัดเจน แต่บัดนี้สิ่งเหล่านั้นมันเหือดแห้งไปอยู่เสียที่ไหนเล่า ทำไมมันจึงกลายมาเป็นความด้านชา ไร้หัวจิตหัวใจ ความจริงอาจยังมี แต่มันมีราคาที่อาจต้องจ่ายสูงขึ้น ก็อยากถามว่า มันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องปล่อยให้เหือดแห้งไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้นของเรา ทำไมท่านจึงจำ “บาดแผล” ที่กลายเป็น “แผลเป็น” ของตัวเองไม่ได้ ด้านชา เพิกเฉย และปล่อยตัวกลับไป “ติดหล่มอำนาจ” ที่ครั้งหนึ่งตัวเองเคยรังเกียจ และเคยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชน เรียกร้องเสรีภาพที่จะคิด ที่จะเขียน ที่จะแสดงออก และจะรู้สึกเลือดขึ้นหน้า เหมือนเช กูเวรา ในทุกครั้งเมื่อเห็นความอยุติธรรมมาปรากฏอยู่ตรงหน้า เราลืมสิ่งที่เรียกว่า “มนุษยชน” [ซึ่งเมื่อ 85 ปีก่อน เจ้าของชื่อหอประชุมแห่งนี้ คือ “ศรีบูรพา” เคยเรียกว่า มนุษยภาพ]

เราบางส่วนในแวดวงคนเขียนหนังสือ คนทำหนังสือ และแวดวง “คนทำสื่อ” ทำไมจึงพากันลืมวัยดรุณของเราไป ปล่อยให้กลุ่มคณะที่อ้างเหตุร้อยแปด ซึ่งมีแต่อคติมาชี้หน้า และบังคับขืนใจ เราลืมความใฝ่ฝันแสนงามของเราไปจริงๆเสียแล้วหรือ

แววตาของเด็กหนุ่มทั้ง 7 ที่เป็นผู้ต้องขังในเวลานี้ รวมทั้ง “นักโทษทางความคิด” คนอื่นๆ พวกเขาต้องโทษก็เพียงเพราะมีความเห็นต่าง แต่ความเห็นต่างนั้นไม่ใช่อาชญากรรม ความเห็นต่างอาจกลายเป็นความถูกต้องรุ่งโรจน์ในเวลาต่อไปก็ได้ ( ตัวอย่างมีมาทุกยุคสมัย ตั้งแต่ “กาลิเลโอ” “ เซอร์วานเตส” “เทียนวรรณ” “นายผี” และเรื่อยมาจนถึงจิตร ภูมิศักดิ์)

ครับ แววตาใส เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความเชื่อมั่นที่ผมเข้าไปเห็นในห้องขังนั้น มันบ่งบอกให้ผมมองเห็นความไม่เป็นปกติของสังคมที่อยู่ข้างนอก สังคมที่สับสน มีอคติ และภยาคติ (คือความกลัว) ที่เข้ามาครอบงำให้สังคมของเราเข้าไปอยู่ในด้านมืด

มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเราจึงวนย่ำอยู่ในเขาวงกตที่เหมือนไร้ทางออก ทางออกนั้นมีถ้าเรายังมีความหวัง และ “ความหวัง” ของคนที่ชราภาพแล้วเช่นผมก็อยู่ที่คนหนุ่มสาวที่เป็นพลังบริสุทธิ์เหล่านี้ พวกเขาเอาตัวเองเข้าเป็น เหยื่อ เหมือนเช่นพวกท่านที่บางคนเคยมีบาดแผลมาตั้งแต่เมื่อครั้ง 40-50 ปีก่อน แต่ทว่าลืมไป พวกคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ทำให้ผมหวนกลับไปนึกถึงวันเวลาที่แสนงามเมื่อครั้งก่อนของผมอีกครั้ง

เพื่อนเอ๋ย คำว่า เพื่อชีวิต ของเพื่อนนั้นมันจะมีความหมายอะไร ถ้าหากมันเข้าไปอยู่ในหล่มน้ำขัง เมื่อน้ำที่ขังอยู่นาน ไม่เคลื่อนไหว มันก็จะกลายเป็น น้ำเน่า ไปในที่สุดใช่หรือไม่

ผมไม่เคยบวช ไม่เคยเข้าป่า ไม่เคยไปเรียนเมืองนอก ผมเป็นในสิ่งที่ผมเป็น ผมพยายามทำตัวเองให้เป็น “ประโยชน์กับผู้อื่น” ตามคำที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยกล่าวไว้เท่านั้น แม้จะมีนิสัยที่ “ไม่ดี”อยู่บ้าง เช่นชอบกระแนะกระแหน เสียดสี ถากถาง เพราะเห็นเป็นอารมณ์ขัน แต่ผมไม่เคย เหยียบย่ำ ใคร การเกิดสถานะของอำนาจรัฐประหารที่มาจากปากกระบอกปืนต่างหาก คือการเหยียบย่ำและหยุดนิ่ง เพราะสิ่งนี้ไม่ว่าจะมีถ้อยคำสวยหรูประการใดมาทำให้เราสับสน ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือไม่เต็มใจ เราก็ต้องเข้าไปอยู่ในความหวาดกลัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ภูเขาแห่งสัจจะบนเส้นทางที่ท่านเคยแสวงหาจึงถล่มลงมาทับตัวท่านเอง ท่านกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน และทำให้เราต่างก่อกำแพงมากกว่าสร้างสะพาน และ “สะพาน” จะเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ถ้าเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ยังไม่มีเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่มอบเสรีภาพ ความยุติธรรม การมีส่วนร่วม และสันติภาวะให้แก่ทุกชั้นชน โดยมีกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นจริง และคำนึงถึง มนุษยภาพ

รัฐธรรมนูญใดที่ล่องลอยอยู่ในเงามืด ย่อมเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นมาเพื่อด้านมืด คนหนุ่มสาว รวมทั้ง นักโทษประชามติ ทั้ง 7 คน และ “นักโทษทางความคิด” ที่มีจิตสำนึกตื่นตัว จึงเป็นเหมือนพลังบริสุทธิ์ที่กระตุ้นเตือนให้เราตระหนักและรับรู้ว่า “เรา” กำลังอยู่ ณ จุดใด เช่น “เรา” ต้องเชื่อว่าฐานคิดของการ “ทำประชามติ” นั้น ประชาชนต่างหากคือเจ้าของอธิปไตย จะ “รับ – ไม่รับ” ผู้จัดการลงประชามติจะต้องมอบความไว้วางใจและให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ไม่ใช่สร้าง พ.ร.บ.ประชามติที่มีบทลงโทษขั้นรุนแรง และมี “ศาล” เป็นตัวช่วยของอำนาจเผด็จการ พ.ร.บ.ประชามติ ต้องไว้วางใจประชาชนของตนเอง ไม่ใช่ใช้วิธี “ยิงก่อน ถามทีหลัง” โดยการวางแผนอนาคตให้ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเดียว คณะเดียวที่ “เลือกมาให้เลือก”

ครับ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่ชราภาพแล้ว ในจำนวนนี้ แทบไม่อยากเชื่อว่ามีเพื่อนของผม หรือเรียกว่า “เคยเป็นเพื่อน” ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการสืบทอดอำนาจเหล่านี้ด้วย กลุ่มคนที่อยู่ในเงามืดเหล่านี้สร้างภาพลวงตาให้กับตนเอง และไม่ได้สร้างดุลยภาพ คุณภาพ และสมรรถภาพให้เกิดขึ้นกับ “ชีวิตของประเทศ” ในอนาคต ตรวจสอบก็ลำบาก เพราะมี “ทุนนิยมถือปืน” ยืนอยู่ข้างหลัง เพื่อนที่ชราแล้วของผมจะทนทานอยู่กับ “ปืนห่อกฎหมาย” เหล่านี้ไปได้อีกสักกี่ปี 20 ปีกระนั้นหรือ ผมคงอยู่ไม่ถึงหรอก แต่คนหนุ่มสาวอายุ 20 ต้นๆ ที่กำลังรณรงค์เคลื่อนไหว “ปลุกจิตสำนึก”ใน ความคิดที่ถูกต้อง เปิดเผย จริงใจ และด้วยสันติวิธีเหล่านี้ต่างหากที่จะยังอยู่ต่อไป และจะเป็นความหวัง พวกเขาคือความหวัง พวกเขาคืออนาคต ไม่ใช่ผม หรือพวกท่านที่เข้ามาเบลอๆ เนียนๆ อยู่ในเงามืดของอำนาจรัฐประหาร

ผมมาในฐานะผู้ชรา มาวิงวอนขอให้ “เพื่อนพ้องแห่งวันวาร” ที่แปลกแยก เมินเฉย ด้านชา โปรดเข้าใจใน ความเป็นจริง ในสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งนี้เองที่มันอาจจะกลับมาก่อ “บาดแผล”ให้เราทุกคนอีกครั้ง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยไหน หรือในสายวิชาชีพใด ท่านก็คือความหวังเช่นเดียวกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
และเราจะไม่ยอมแพ้

นี่คือบทเพลงแห่งสามัญชนของพวกเขา ที่ต้องการจะ “ปลุกผู้คน ปลุกฝัน เพื่อวันของเรา”

พวกเขาคือ ดวงดาวแห่งศรัทธา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวดวงเดียวกับเราเมื่อสมัยก่อน และพร้อมจะอุทิศทุ่มเทเพื่อสังคมที่ดีกว่าในความใฝ่ฝันแสนงาม ครั้งหนึ่งพวกเราก็เคยเดินผ่าน ภูเขาแห่งสัจจะ ลูกนั้นมาก่อน แต่มาวันนี้กลับลืมไป

โปรดให้ความเข้าใจ และเรียนรู้ความจริงใจของพวกเขาผู้เป็นอนาคต พวกเขาคือลูกหลานของท่าน พวกเขาคือเงาสะท้อนของตัวท่านเมื่อวัยดรุณ

ปล่อยพวกเขา และ “นักโทษทางความคิด” ทุกคนให้เป็นอิสระเถิดครับ “พวกเขา” คือส่วนหนึ่งของอนาคต แต่ “พวกท่าน” ไม่ใช่

3 กรกฎาคม 2559

หมายเหตุ : เนื่องจากไม่มีเวลาที่จะ “อ่าน” ตามนี้ ในกิจกรรม “ รณรงค์ประชามติ ไม่ผิดกฎหมาย ” ที่หอประชุมศรีบูรพา ดังนั้นจึงขอนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ เพื่อเป็นกำลังใจ แด่ “ 7 นักโทษประชามติ “ และ “นักโทษทางความคิด” ทุกคนที่ยังถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ภาพถ่าย : วัยดรุณ 2512


ที่มา FB