วันอังคาร, กรกฎาคม 05, 2559

"ทำไมลูกฉันถึงตายในสถานที่ราชการ" คลิปเสวนา “กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย”




https://www.youtube.com/watch?v=jt4Lhd5HMMY

"กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย"

Amnesty International Thailand

Streamed live on Jun 29, 2016

เสวนา “กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย”
วันที่ 29 มิถุนายน 2559 เวลา 13.00 น. – 17.00 น.
ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

เวทีเสวนาดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ในการรับความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้นำชุมชน และผู้เสียหาย อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการมีส่วมร่วมระหว่างวิทยากรรับเชิญและผู้เข้าร่วมงานด้วย

วงเสวนาประเด็น “ฟังเสียงผู้รอดชีวิตจากการทรมานและผู้เยียวยา” ดำเนินรายการโดย ประทับจิตร นีละไพจิตร

วงเสวนาประเด็น “การป้องปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นไปได้หรือไม่?” ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

กล่าวปิดงาน โดย โลรอง เมยอง รักษาการผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ooo


รายงานเสวนา: “ทำไมอยู่ในสถานที่ราชการแล้ว ลูกชายดิฉันยังต้องตาย”






ที่มา ประชาไท
Mon, 2016-07-04 12:40

ฟังเสียงสะท้อนจากครอบครัวของผู้เสียชีวิตในห้องขังและผู้รอดชีวิตจากการทรมาน ทนายความด้านสิทธิฯแจงผู้เสียหายเข้าถึงความเป็นธรรมลำบาก จนท.รัฐไม่รับผิด-มีอำนาจ กรรมการสิทธิฯ หวั่น สนช. เพิ่มข้อยกเว้นท้าย กม.อ้างเหตุความมั่นคงของชาติ

26 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันต่อต้านการทรมานสากล และประเทศไทยเองได้เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี 2550 แต่จากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนยังสะท้อนว่า หลายครั้งการซ้อมทรมานเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เห็นประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาดังกล่าวได้

สังคมไทยยังคิดและเชื่อเช่นกันว่าการทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรียังคงเกิดขึ้น เพียงแต่เสียงของผู้ถูกกระทำถูกทำให้เบาลงจนเงียบหายไปในที่สุด ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา ‘กฎหมายป้องกันทรมานกับความยุติธรรมที่รอคอย’ ที่ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะ สุโกศลก กรุงเทพฯ เมื่อ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ช่วยยืนยันความคิดและความเชื่อนี้ได้อย่างดี

ทำไมลูกฉันถึงตายในสถานที่ราชการ

เรื่องราวการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ที่เสียชีวิตในเรือนจำมณฑลทหารบก 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดสุรินทร์ ถูกเล่าผ่าน บุญเรือง สุธีรพันธ์ ผู้เป็นแม่ บุญเรืองรู้ว่าลูกชายถูกจับกุมข้อหาให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหาผ่านสายโทรศัพท์ เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอได้พยายามยื่นประกันตัวลูกชายต่อศาลจังหวัดทหารบกสุรินทร์แต่กลับโดนปฏิเสธพร้อมเหตุผลว่ากลัวผู้ต้องหาหลบหนี คำถามหนึ่งของบุญเรืองในวันนั้น คือลูกชายกลายเป็นผู้ต้องหาได้อย่างไรในเมื่อยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

บุญเรืองตั้งหน้าตั้งตารอวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เพื่อขอเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำ พร้อมหิ้วน้ำ ขนม หนังสือพิมพ์ สมุดจดบันทึกหวังเป็นช่องทางติดต่อกับลูกชายและจดหมายอีก 1 ฉบับ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ให้เยี่ยมเพราะอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวน เธอจึงฝากของที่ซื้อไปและทิ้งจดหมายไว้ให้ 13 กุมภาพันธ์ เธอเดินทางไปขอเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำอีกครั้งและซื้อของฝากไปมากกว่าครั้งก่อน หวังให้ลูกชายได้แบ่งกับเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน แต่ผู้คุมไม่ให้เยี่ยม ทั้งบอกด้วยว่า “เยี่ยมไม่ได้ ผู้การสั่งให้เอาตาย”

บุญเรืองกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ จนเวลาประมาณ 8 โมงเช้าของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เธอรับโทรศัพท์ที่ปลายสายแจ้งว่าสิบโทกิตติกรเสียชีวิต เธอรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นและคิดว่าเป็นเหตุการณ์ผิดปกติจึงโทรศัพท์หาน้องสาวและตกลงกันว่า ให้เจ้าหน้าที่นำร่างของลูกชายออกมาผ่าพิสูจน์ศพ จากนั้นเธอนำผลการผ่าพิสูจน์ศพไปแจ้งความว่าลูกชายถูกฆ่าในเรือนจำ

คำถามที่บุญเรืองยังไม่ได้คำตอบและทิ้งไว้ชวนให้เราคิดว่า “ทำไมอยู่ในสถานที่ราชการแล้ว ลูกชายดิฉันยังต้องตาย”

บุญเรืองยังคงจมอยู่กับคำถามนั้นเช่นเดียวกับ วาสนา เกิดแก้ว ที่ยังจมอยู่กับสิ่งที่เธอคาใจจากเหตุการณ์ที่ลูกชายหมดสติจากห้องขังและมาเสียชีวิตในโรงพยาบาล ก่อนหน้านี้ลูกชายของเธอโดนจับคดียาเสพติดเมื่อพฤศจิกายน 2558 และเคยโดนจับคดีเดียวกันเมื่อปี 2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จับเป็นชุดเดียวกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 พฤศจิกายนปีก่อน ตำรวจโทรศัพท์มาแจ้งกับมานิสาลูกสาวของวาสนาว่า อนันต์ พี่ชายโดนจับ เพราะมียาเสพติดในครอบครอง 8 เม็ด และได้หลบหนีการจับกุมวิ่งล้มหัวฟาดฟุตบาท เมื่อ 9 พฤศจิกายน ซึ่งต้องขยายผลและใช้เงินประกันตัว 10,000 บาท วันนั้นมานิสาได้เดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่ห้องขังพบว่า พี่ชายปากแตกและมีการขยายผล รวมถึงรู้ว่าเพื่อนของพี่ชายอีกคนที่โดนจับพร้อมกันได้ใช้เงินประกันตัว 7,000 บาท ไปก่อนหน้านี้แล้ว

มานิสามาที่บ้านและรวบรวมเงินจากครอบครัวเพื่อไปประกันตัวพี่ชายในวันรุ่งขึ้น แต่ตำรวจโทรศัพท์มาแจ้งกับเธอเสียก่อนว่าอนันต์หมดสติในห้องขังและได้นำตัวส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นเธอคิดว่าพี่ชายไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลกลับเห็นพี่ชายนอนหมดสติอยู่ในห้องไอซียู สองวันต่อมาอนันต์ได้เสียชีวิตลงขณะที่วาสนากำลังเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น พยาบาลบอกกับเธอว่าสามารถผ่าพิสูจน์ศพได้ถ้ายังติดใจถึงสาเหตุที่ลูกชายเสียชีวิต เธอจึงให้มีการผ่าพิสูจน์ศพลูกชายแล้วพบว่ามีเลือดคั่งในปอดและทั่วตัวเต็มไปด้วยบาดแผล

“ทำไมอยู่ในสถานที่ราชการแล้ว ลูกชายดิฉันยังต้องตาย”

หลังอนันต์เสียชีวิต ตำรวจได้นัดวาสนาไปคุยและบอกว่าอยากให้เงินทำบุญงานศพลูกชาย 100,000 บาท แต่เธอต้องเซ็นเอกสารบางอย่าง ซึ่งเธอบอกกลับไปว่ารับไว้ได้เพียงเงิน ตำรวจได้นัดเธอไปคุยอีกสองครั้งโดยบอกเช่นเดิมแต่จะเพิ่มเงินทำบุญให้เป็น 300,000 บาท และ 500,00 บาท จนในที่สุดวาสานาบอกว่าอย่าให้เงินทำบุญอีกเลยเพราะสิ่งที่เธอต้องการคือความยุติธรรม เพียงอยากรู้ถึงสาเหตุที่ลูกชายต้องเสียชีวิตและไม่อยากให้คนทำผิดลอยนวล

คำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากการทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้

เรื่องราวของเด็กผู้ชายในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานจนต้องหามส่งโรงพยาบาลถูกเล่าผ่านแม่ของเขาว่า ลูกชายโดนค้นตัวครั้งแรกตอนอายุ 14 ปีและโดนเข้าค้นตัวอีกครั้งตอนอายุ 19 ปี เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาค้นที่บ้านแล้วพบโทรศัพท์ที่ไม่มีซิมจึงได้ถามหาซิมโทรศัพท์โดยตบตีและชกท้องลูกชายเพื่อหาคำตอบ เมื่อลูกชายบอกว่าซิมโทรศัพท์อยู่ที่แม่ แต่เธอเองก็ไม่ทราบว่าซิมโทรศัพท์อยู่ไหน ลูกชายจึงโดนเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายต่อ

“ตอนจะพาลูกชายของดิฉันไปโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็ยกแขนยกขาเขาอย่างกับหมูหมา ดิฉันไม่ยอม บอกว่าให้เขาเสียชีวิตที่บ้าน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็โทรศัพท์หาป่อเต็กตึ๊งให้มารับไปส่งโรงพยาบาล และเขาไปรู้สึกตัวที่โรงพยาบาล เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะเจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่าซิมโทรศัพท์อยู่ไหน” เธอเล่าให้เราฟัง

สำหรับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่ต่างกันมากนัก อิสมาแอล ปาเต๊ะ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี เล่าให้ฟังว่า ตอนเขาเป็นนักศึกษา นักกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาถูกเจ้าหน้าที่ใช้กฎอัยการศึกควบคุมตัวให้อยู่ในค่ายทหาร 9 วัน ทั้งที่ตามกฎอัยการศึกให้อำนาจในควบคุมตัวเพียง 7 วัน

“ผมถูกซ้อมทรมานจนเกือบตาย อยู่ในห้องแอร์ ถอดเสื้อ ถอดกางเกง ถูกใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ ช็อตไฟ มัดมือไว้ที่เสาไฟฟ้าแรงสูงเพื่อให้ผมรับสารภาพเหตุการณ์ที่เกิดในสามจังหวัด” อิสมาแอลพูดย้อนกลับไปเมื่อปี 2551

ตอนนี้เป็นเวลา 8 ปีแล้วที่อิสมาแอลได้ให้ศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมฟ้องคดีให้ แม้ว่าคดียังไม่สิ้นสุดและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตอนไหน เขาก็ยังยืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อไป

อิสมาแอลยังพูดถึงความลำบากในการรวบรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและให้ความรู้ประชาชนเรื่องกฎหมายพิเศษว่า ถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งและคุกคามอยู่ตลอด ถูกมองว่าเป็นองค์กรเลือกข้างและถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่ช่วยเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตจากระเบิด ซึ่งเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีภาครัฐคอยช่วยแล้ว

มองการทรมานผ่านนักกฎหมายและนักสังคมสงเคราะห์

สมชาย หอมลออ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน พูดถึงเหยื่อจากการซ้อมทรมานว่า มีน้อยรายที่จะกล้าออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม พวกเขาอาจออกมาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในช่วงแรกแต่ก็ต้องลงยุติลง เช่น อาจมีคนเข้ามายื่นเงินให้ แต่มีนัยยะว่าถ้าไม่รับเงินแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนระหว่างการดำเนินคดีไม่ได้สนใจผู้เสียหายจากการซ้อมทรมาน ซึ่งทำให้ผู้เสียหายท้อแท้และไม่ดำเนินคดีต่อในที่สุด

“เหยื่อจะเข้าถึงความเป็นธรรมได้ยากลำบากมากเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ และสำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้ยังเป็นผู้มีอำนาจอยู่” สมชายบอกถึงผลกระทบเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำให้มีการทรมาน

เดวิด เองสตอร์มส นักสังคมสงเคราะห์ด้านการเยียวยาผู้เสียหาย พูดถึงรากฐานของการซ้อมทรมานว่า ผู้กระทำอยากให้ทุกอย่างเป็นความลับจึงข่มขู่ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อว่าอย่าบอกใคร ถ้าไม่อยากถูกทำร้ายอีก ดังนั้น การที่เหยื่อต้องเงียบทำให้ไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งเหยื่อต้องรับภาระความลำบากในการต่อสู้คดีเพราะผู้กระทำผิดมักปฏิเสธ และสังคมมีความคิดบางอย่างอยู่ เช่น เหยื่อสมควรแล้วที่ถูกซ้อมทรมานถ้าเป็นผู้ก่อการร้าย

นอกจากนี้ ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด เดวิดบอกว่ายิ่งทำให้เหยื่อถูกซ้ำเติมทางจิตใจ และต้องลำบากมากขึ้นถ้าผู้กระทำผิดเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งไม่มีทางยอมรับว่าตนเองทำผิด

กสม.หวั่นรัฐอ้างความมั่นคงปกปิดข้อมูล

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงภาพรวมร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายว่า ได้หยิบยกเอาเนื้อความของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอุ้มหายที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีมาเป็นเนื้อหาในกฎหมาย

ปกป้อง บอกด้วยว่า กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่จะออกมานี้มีการกำหนดโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้มีการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูงสุดที่สังคมทั่วโลกยอมรับไม่ได้ รวมถึงการกำหนดการรับผิดของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้เกิดการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องติดตามดูแลการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยสถานที่ที่นำตัวบุคคลไป และทำข้อมูลต่างๆ เปิดเผยให้ญาติพี่น้องของบุคคลที่ถูกนำตัวไป

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการที่จะเข้ามามีอำนาจทำให้ยุติการทรมานและการบังคับให้สูญหาย ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เมื่อผู้เสียหายเกิดความไม่ไว้ใจระหว่างการดำเนินคดี คณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีต่อไปอย่างไร เพื่อป้องกันการขัดผลประโยชน์ระหว่างบุคคลที่กล่าวหาว่าเกิดการทรมานและบังคับให้สูญหายกับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้สอดคล้องอนุสัญญาฯ มากที่สุด แต่บางมาตรา เช่น ที่ว่าด้วยคณะกรรมการที่จะเข้ามามีอำนาจทำให้ยุติการทรมานและการบังคับให้สูญหายนั้นยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนของผู้หญิงหรือให้ญาติผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทรมานและการบังคับให้สูญหายอยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวเช่นเดียวกับอนุสัญญาฯ

อังคณา ยังกังวลว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะออกข้อยกเว้นต่อท้าย ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายด้วยหรือไม่ เช่น สามารถปฏิบัติได้ด้วยเหตุความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจทำให้มีการปกปิดข้อมูล ทั้งที่ข้อดีอย่างหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือสิทธิที่จะทราบความจริง

ooo


Infographic เรื่อง ต่อต้านการทรมานเพื่อให้รับสารภาพ





https://www.youtube.com/watch?v=EJNEulIyvo0

Infographic เรื่อง ต่อต้านการทรมานเพื่อให้รับสารภาพ

Sawita Sanguanrattanachot

Published on Mar 28, 2015

วิชา Animation Design III
ICT : Silpakorn

13550097 นางสาวกุลณัฐ อนันต์วุฒิสมบัติ
13550167 นางสาวนันทัชพร มาตราช
13550224 นางสาวศวิตา สงวนรัตนโชติ
13550237 นางสาวสริศดา วิบูลย์มงคลชัย

นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยศิลปากร