แน่นอน ‘รัฐประหารฝ่อ’ หรือทหารยึดอำนาจไม่สำเร็จในตุรกีช่วงสองวันที่ผ่านมา ย่อมทำให้กระบวนประชาธิปไตยในประเทศไทยชุ่มชื่น และมีกำลังใจ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง หนึ่งใน ‘คนเด่น’ หรือที่ภาษามิลเล็นเนียลเรียกว่า ‘เซเล็บ’ ของฝ่ายประชาธิปไตย ได้เอ่ยถึงโดยทันควันว่าเป็น ‘โมเดล’ น่ารับเอามาปรับใช้ หรือว่าเป็นตัวอย่างให้บ้านเรา
ขณะเดียวกันก็มีทั้งนักวิชาการและนักการเมือง ทั้งที่เป็นอดีตและอาจจะเป็นอนาคต ช่วยกันท้วงหรือปราม (อย่างเบาๆ) ให้ตีความชัยชนะประชาชน (ต่อทหาร) ในตุรกีกันอย่างลุ่มลึกและรอบคอบ ตามบริบทที่แท้จริงในกรณีไทย
Thanapol Eawsakul บก.ฟ้าเดียวกันโพสต์ไว้ตรงหลายอย่างกับความตั้งใจในที่นี้ จึงขออนุญาตนำมาต่อยอด เขาชวนอ่านบทความสามชิ้น ว่าด้วยความเหมือนและต่างของรัฐประหารไทยกับที่เพิ่งล้มเหลวในตุรกี
ชิ้นแรกคือ ‘บทเรียนจากกบฏสีเขียวในตุรกี’ โดย จักรภพ เพ็ญแข https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1228717880494522&id=560398830659767 ที่ควรอ่านควบกับ ‘บทวิพากษ์จักรภพ เพ็ญแข’ ของ พิชิต
และ ๓. บทความ ‘รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจและศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.๒๕๔๐ – ๒๕๕๘)’ ที่เขียนโดย Eugénie Mérieau แปลโดย วีระ อนามศิลป์ และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดพิมพ์จำหน่าย โดยเขียนบทแนะนำไว้ที่ http://www.sameskybooks.net/journal-store/deepstate/
ซึ่งเราเห็นว่าน่าที่จะต้องอ่านบทความเห็นแย้งเรื่อง ประเทศไทยไม่มี ‘รัฐพันลึก’ โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ ประกอบด้วย https://turnleftthai.wordpress.com/author/turnleftthai/
จักรภพบอก สรุปบทเรียนบทที่หนึ่งได้ว่า “เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยรู้จักปรับปรุงตัวเองจนลดความบกพร่องลง จะไม่มีระบอบเผด็จการทหารหรือเผด็จการศาสนา หรือเผด็จการไสยศาสตร์หน้าไหนจะอ้างความชอบธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ทั้งนั้น
เพราะมวลชนจะร่วมสู้กับพวกที่คิดทำลายลงจนสิ้นซาก อย่างที่เราเห็นในตุรกีขณะนี้”
อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย อ้างถึงเครือข่ายทางการเมืองของประธานาธิบดีเออร์โดกันในตุรกีมีหลากหลาย ทั้งในฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) และหมู่ทหาร
“นี่คือสิ่งที่เราควรต้องศึกษาและพิจารณาอย่างจริงจัง การสู้กับเครือข่ายเชื้อชั่วไม่มีวันตายนั้นเราจะต้องวางโครงสร้างทางอำนาจในฝ่ายประชาชนอย่างไร หัวเดียวกระเทียมลีบอย่างที่เคยนั้นเพียงพอหรือไม่ ในการรับมือกับสัตว์ร้ายหลายหัวแบบในเทพนิยายกรีก”
แท้จริงอำนาจในทางปกครองของเออร์โดกันนั้นล้นหลาม ในฐานะที่เขาได้รับเลือกตั้งติดต่อกันสามสมัย และดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศอย่างแข็งกร้าว (iron fist) อนุรักษ์นิยมและเชิดชูวิถีอิสลามอย่างสุดโต่ง
ชนิดที่นักพรตผู้เคยเป็นพันธมิตรทางการเมืองของเขาคนหนึ่ง เฟตูลาห์ กูเล็น ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐ และรอเบิร์ต อัมสเตอดัม ทนายนานาชาติซึ่งมีรัฐบาลเออร์โดกันเป็นลูกความ กล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการวางแผนรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ ซึ่งกูลันได้ออกมาปฏิเสธแล้ว
หลักใหญ่ใจความที่ทหารแพ้ในตุรกีครั้งนี้อยู่ที่กลุ่มซึ่งริอ่านจะยึดอำนาจไม่ได้มีกำลังหนาแน่นพอ และ/หรือไม่สามารถประสานผลประโยชน์กับขุมกำลังกลุ่มอื่นๆ ได้ เมื่อฝ่ายประธานาธิบดีประกาศสู้อย่างแน่วแน่ ทำให้พลพรรคและฐานเสียงประชาชนพากันออกมาแสดงพลังต่อต้าน
ข้อสำคัญที่เรียกว่าเป็น ‘โมเดล’ ได้ อยู่ที่จิตสำนึกทางประชาธิปไตยของชาวตุรกีมีเหนียวแน่นพอที่จะทัดทานรถถัง พรรคการเมืองย่อยๆ ฝ่ายค้านทุกพรรคต่างพร้อมใจกันประกาศไม่ยอมรับรัฐประหาร ไม่มีแมลงสาบ ไม่มีงูเห่า กลุ่มทหารที่พยายามยึดอำนาจจึงทำไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ดีในแบบบทรัฐประหารไทย จากข้อวิพากษ์จักรภพของ อจ.พิชิต ที่ว่า “บกพร่องอย่างมากที่ไม่พูดถึงบทบาทของนักการเมืองทั้งปชป.และทักษิณ ที่มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่ รปห. ๕๗...
ทักษิณนอกจากจะไม่ต่อต้านแล้ว กลับเลือกที่จะ ‘ร่วมมือ’ กับทหาร รู้ล่วงหน้าและก็ให้ยึดอำนาจไปง่ายดาย แม้แต่วิธีการ ‘สันติ’ อย่างรัฐบาลพลัดถิ่นก็ยังถูกโยนลงถังขยะ กลายเป็น ‘องค์กรเสรีไทย’ ที่หายสาบสูญจนถึงวันนี้”
เป็นข้อวิพากษ์แรง ไม่ใช่กระทุ้งจักรภพ หากแต่ไป ‘กระแทก’ ทักษิณตรงๆ อาจบอกได้ว่านั่นเป็นข้อด้อยพื้นฐานในด้านหลักการ ของกระบวนประชาธิปไตยต้านรัฐประหารและรัฐพันลึก ที่พวกทหารกำลังใช้ปั่นประเทศไทยอยู่ขณะนี้
หากใครได้ดูหรือรู้เห็นต่อสิ่งที่พวก ‘ก้าวไม่พ้นทักษิณ’ ในหมู่นักปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปฏิรูปพลังงาน และสิทธิชุมชนขณะนี้ จะเห็นข้อโจมตีของพวกนั้นต่อคณะทหารประยุทธ์ จันทร์โอชา และบูรพาพยัคฆ์ ว่าทักษิณเป็นคนวางแผนยึดอำนาจ ๒๒ พฤษภา ๕๗ เสียด้วยซ้ำ
มาถึงประเด็น ‘รัฐเร้นลึก’ ซึ่งคล้องจองกับที่จักรภพบอกว่า “ระบอบในตุรกีจึงเป็นเรื่องของระบอบทหารชนกับระบอบที่ประชาชนเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยกว่า ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างระบอบทหารรับจ้างที่รับใช้แต่เจ้านายของตนเองกับระบอบประชาธิปไตย แต่อย่างใด”
แต่รัฐเร้นลึกของยูจีนนี่ แมริออ “ผ่านการศึกษาบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านแหล่งอ้างอิงความชอบธรรม ที่เป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
จากตุลาการภิวัฒน์มาจนกระทั่งถึงเนติบริกร นักร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมกเม็ดและมัดมือ จะสามารถนำเอา ‘ตุรกีโมเดล’ มาใช้กับประเทศไทยได้บ้างไหม หรือว่าเอาแค่ให้ชุ่มชื้นใจไว้ยืนหยัดกันต่อไป จนกว่า...เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หรือไม่
คงต้องหันมาสำรวจเสบียง ‘พลังปัญญา’ ด้วยการศึกษาความเห็นต่างบ้างด้วย เสียก่อน
กรณี ‘รัฐพันลึก’ ที่ ใจ อึ๊งภากรณ์ เขียนไว้ว่า “ใช้มุมมองบกพร่องแต่แรก” ดังที่เจ้าตัวพูดเสมอว่าเขาเป็นนักสังคมนิยม มุมมองของใจย่อมไปทางนั้น
“ในประเทศประชาธิปไตยตะวันตก นอกจากอำนาจเผด็จการทางเศรษฐกิจของนายทุนแล้ว มีหลายส่วนของรัฐที่ไม่ถูกตรวจสอบหรือเลือกมาจากเสียงประชาชน เช่นหน่วยราชการลับ ผู้พิพากษา ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้ว่าธนาคารชาติ หรือผู้บังคับบัญชาทหาร...
ดังนั้นรัฐบาลกับรัฐไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และการคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจนตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้แปลว่าคุมอำนาจรัฐ นี่คือเรื่องปกติของรัฐในระบบทุนนิยม”
“ในยุคแรกๆ ของรัฐบาลทักษิณ ชนชั้นนำไทยเกือบทุกส่วนชื่นชมรัฐบาลทักษิณ ที่สัญญาว่าจะทำให้เศรษฐกิจและสังคมทันสมัย หลังวิกฤตต้มยำกุ้งและปัญหาความขัดแย้งพฤษภาปี ๓๕ ตอนนั้นนายกทักษิณ ในฐานะส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองนายทุน มีอิทธิพลในกองทัพ และมีอิทธิพลเหนือตุลาการและข้าราชการระดับสูง”
“ในหมู่พวกที่มารวมตัวกันต้านทักษิณในภายหลัง มีคนจำนวนมากที่เคยเป็นแนวร่วมกับทักษิณก่อนหน้านั้น และมีคนที่เคยร่วมปราบประชาธิปไตยในอดีตสมัยสงครามเย็น ที่เข้ามาอยู่กับทักษิณอีกด้วย...
สิ่งที่พวกอนุรักษ์นิยมในหมู่ชนชั้นปกปครองไม่พอใจ คือการเริ่มรวบอำนาจทางการเมืองในมือทักษิณและไทยรักไทยผ่านการเลือกตั้ง”
“ข้อแตกต่างแท้คือ ฝ่ายทักษิณสามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในการเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเอง ประกอบกับการเชิดชูกษัตริย์ ในขณะที่พวกทหารและเสื้อเหลืองมีสิ่งเดียวที่เขาหวังใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม คือเรื่องความคิดกษัตริย์นิยม”
“สาเหตุหนึ่งที่เผด็จการครองเมืองตอนนี้ได้ ก็เพราะหลายส่วนที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวในขบวนการทางสังคม ไปโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหาร”
“เมริเออ ยอมรับว่ากระแสประชาธิปไตยปัจจุบันทำให้พวกอนุรักษ์นิยมเลือกไปเพิ่มอำนาจตุลาการ เพราะดูดีกว่าการใช้อำนาจโดยตรงของทหารหรือกษัตริย์”
ถึงแม้ใจจะปิดท้ายว่า “แนวรัฐพันลึก...มันไม่มีประโยชน์อะไรในการอธิบายวิกฤตการเมืองไทยเลย” เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐทหารไทยขณะนี้ใช้ทั้งอำนาจทหารและศักดาตุลาการในการข่มขู่ให้พวกต่อต้านหงอ
มันผสมกันมาในรูปแบบ ‘ศาลทหาร’
และการแอบอ้าง ‘กฎหมาย’ ในรูปแบบของคำสั่งและการออกกฎหมาย โดยคณะรัฐประหารที่เป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’
เหล่านี้ต่างหากเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบ แนบไปกับความฮึกเหิมในพลังประชาชนของ ‘ตุรกีโมเดล’