วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 07, 2559

ให้ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ ดีไหม?




ให้ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ ดีไหม?

โดย นิติภูมิ นวรัตน์
ที่มา FB
นิติภูมิ นวรัตน์

(เคยพิมพ์ลงในไทยอีนิวส์ 07 เมษายน 2559)

ท่านผู้ใหญ่ถามผมว่า ถ้าการเมืองถอยหลัง ยอมให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ประเทศไทยและคนไทยจะเป็นยังไง?

ผมเรียนท่านว่า

ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ล้าหลัง

เศรษฐกิจไทยจะลงเหว

คนไทยจะอดอยากยากแค้น อีกไม่เกินยี่สิบปี ลูกหลานไทยจะต้องไปเป็นคนใช้ คนงานในเวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา

ท่านผู้ใหญ่เถียงว่า ประเทศจะดีหรือจน คนจะเจริญหรือตกต่ำ มันขึ้นอยู่กับคุณภาพ? ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ว่าแข็งหรืออ่อน? ไม่ใช่เรอะ?

ผมเรียนถามว่า ท่านรู้จักเกาหลีไหมครับ?

ท่านผู้ใหญ่ผงกหัวกึกๆ

ผมพูดต่อว่า อ้า ทั้งคนเกาหลีใต้และคนเกาหลีเหนือ เมื่อก่อนอยู่ในประเทศเดียวกัน มีมาตรฐานชีวิตแบบเดียวกัน

วันหนึ่งประเทศถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน

คือสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ

แม้จะแยกประเทศออกจากกันไปแล้ว

แต่คนเกาหลีทั้งสองประเทศก็ใช้ชื่อนามสกุลเหมือนกัน พูดและเขียนภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายกัน?

ทุกอย่างเหมือนกันเกือบหมด ต่างกันแต่เพียงอย่างเดียว คือเกาหลีเหนือเป็นเผด็จการ เกาหลีใต้เป็นประชาธิปไตย มีระบบเลือกตั้งที่เป็นสากล

ผลก็คือ...

เกาหลีใต้เป็นประเทศเศรษฐกิจดี ผู้คนแฮปปี้มีความสุข

แต่เกาหลีเหนือเป็นประเทศยากจนข้นแค้น ผู้คนไม่มีอะไรจะกิน มีภาพและข่าวเล็ดรอดออกมาบ่อยๆ ว่า เกาหลีเหนืออดยากจนขนาดบางหมู่บ้าน ผู้คนกินหญ้าแทนข้าว

ความแตกต่างของสองประเทศนี้ก็คือ 'การเมืองการปกครอง' ที่เป็นประชาธิปไตย และที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ขอกราบเรียนถามท่านหน่อย ว่า ส.ว.แต่งตั้งยึดโยงกับประชาชนตรงไหน?

ไม่ได้มาจากประชาชนเลยนะครับ คนกลุ่มไหนแต่งตั้ง ก็ต้องไปรับใช้คนกลุ่มนั้น

การให้ ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นการพาบ้านเมืองลงนรก ท่านก็รู้ผลอยู่แล้ว ว่าถ้าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์และสากล คนทั้งโลกก็จะไม่ยอมรับ สถานะของประเทศจะตกต่ำย่ำแย่แน่ ทั้งท่านทั้งผมก็พอมองออก ทำไมท่านยังถึงยังกล้าที่จะสนับสนุนให้ประเทศของเราเดินไปสู่นรกขุมนั้นเล่าครับ?

ท่านผู้ใหญ่นิ่ง
ผมจึงรุกต่อ....

55 ปีที่แล้ว

ในทวีปเอเชีย 47 ประเทศ เมียนมาเป็นประเทศที่มีความเจริญอยู่แถวหน้า มีมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐาน มีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย

ถึงคราวที่ทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะเลือกผู้นำเบอร์หนึ่งของตน ซึ่งคราวนั้นเป็นวาระของเอเชีย เกือบทุกประเทศเลือกนายอู ถั่น คนเมียนมา ท่านเป็นเบอร์หนึ่งของโลกนี้อยู่นานถึง 10 ปี (30 พฤศจากายน 2504 - 31 ธันวาคม 2514)

ต่อมา เมียนมามีปฏิวัติรัฐประหาร เผด็จการยึดบ้านยึดเมือง เมียนมาจึงตกต่ำไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว

จนกระทั้งถึงจุดที่ลูกหลานเหลนโหลนคนเมียนมาต้องเข้ามาเป็นคนใช้ตามบ้านเรือนคนไทย ในปั๊ม ตามโรงงาน ท่านไปดูซี คนเมียนมาทั้งนั้น

สิบกว่าปีมานี้ เกาหลีใต้เป็นประเทศมาแรงแซงโค้งหลายประเทศ เศรษฐกิจเกาหลีใต้ดีมาก การเมืองการปกครองของเกาหลีใต้ก็นิ่งและเป็นประชาธิปไตยสากลสมบูรณ์

1 มกราคม 2550 คนเกาหลีใต้ คือนายบัน คีมุน ก็ได้รับเลือกจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้เป็นเลขาธิการ เป็นเบอร์หนึ่งขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในขณะที่คนเกาหลีเหนือ 25 ล้าน ที่ใช้ชื่อนามสกุลเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาเหมือนกัน กลับแทบไม่มีอาหารจะกิน

ความแตกต่างทั้งหลายนี้ มาจากระบบการเมืองการปกครอง คนเกาหลีเหนือจะเก่งอย่างไร คิดนี่ได้ คิดโน่นได้ คิดดีวิเศษเพียงไหน แต่คนข้างบนสุด คือ นายคิม จ็อง-อึน ไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็จบ ที่ทำสร้างและพัฒนามา ก็มีค่าเป็นศูนย์

คณะผู้นำเกาหลีเหนือไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี สมาชิกสมัชชาประชาชนสูงสุด นายกรัฐมนตรี ฯลฯ

หน้าที่ของคนไทยในปัจจุบัน เราต้องค้นหาคนที่...
1. แพ้เป็น
2. รู้จักพอ
แบบพลเอก เต็ง เส่ง อดีตประธานาธิบดีเมียนมาที่เพิ่งลงจากตำแหน่งไป ให้เจอ

หลังจากที่คนเมียนมาทั้งประเทศเลือก ส.ส.จากพรรคของนางซูจีท่วมท้น พรรคของพลเอกเต็ง เส่ง แพ้หมดรูป ท่านก็ไปบวชเป็นพระภิกษุ

คนใกล้ชิดเล่าให้ฟัง ท่านเห็นว่าคนเมียนมาทุกข์ทรมานยากจนข้นแค้นแสนสาหัสจากระบบเผด็จการมานาน ท่านจึงวางรากฐานเอาไว้ในระหว่างท่านที่เป็นผู้นำ ให้คนเมียนมามีสิทธิเสรีภาพ

พลเอก เต็งเส่ง เสียสละ

เมียนมาจึงทะยานบิน เป็นประเทศขาขึ้น.

ส่วนไทย เพราะไม่ยึดโยงกับประชาชน

เราจึง...
เป็นประเทศขาลง.