ภายหลังที่ไทยได้พ่ายแพ้ต่อคาซัคสถานในการช่วงชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประเภทสมาชิกไม่ถาวรไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
ได้มีการสอบถามค้นหาข้อมูลกันอย่างกว้างขวาง
ทั้งทางอินเตอร์เน็ตหรือการสอบถามด้วยวาจา ผู้รู้ต่างๆ ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อทั้งหลาย
ทำให้คนไทยเรารู้จักคาซัคสถานมากขึ้นกว่าที่เคยรู้ว่ามีนักมวยสมัครเล่นที่ติดอันดับโลก
และมีทีมวอลเลย์บอลอยู่ในระดับแนวหน้า
ผมจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับคาซัคสถานมาเสนอเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
คาซัคสถานนั้นมีชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐคาซัคสถาน
(Republic of Kazakhstan) มีที่ตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง
ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างรัสเชียและอุซเบกิสถาน โดยทิศตะวันออกติดจีน
ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติร์กเมนิสถาน
โดยไม่มีทางออกทะเล (landlocked)
ซึ่งเราสามารถนึกภาพได้คร่าวๆ คืออยู่ใกล้กับเทือกเขาอัลไตที่คนไทยบางคนยังเชื่อว่าบรรพบุรุษของเรามาจากที่นั่น
มีพื้นที่ ๒,๗๑๗,๓๐๐
ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๕ เท่าของไทย) ประชากร ๑๗.๗ ล้านคน เมืองหลวงคือกรุงอัสตานา
(Astana)
ภูมิอากาศเป็นแบบทะเลทรายบนภาคพื้นทวีป ฤดูหนาวหนาวจัดประมาณ
(ติดลบ) - ๑๘ ถึง - ๔๐ องศาเซลเซียส ฤดูร้อนร้อนจัดและแห้ง ประมาณ ๒๐-๓๕
อาศาเซลเซียส มีภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำชาติ มีคนใช้ประมาณ ๖๔ % แต่ใช้ภาษารัสเซียในการสื่อสารระหว่างเชื้อชาติต่าง
ๆ กว่า ๙๕ % ประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม ๗๐.๒% (ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่), คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์
๒๖.๒%, อเทวนิยม ๒.๘% อื่นๆ ๐.๗%
คาซัคสถานมีระบบการเมืองแบบกึ่งประธานาธิบดีและกึ่งรัฐสภา
เฉกเช่นประเทศทั้งหลายที่แยกตัวจากอดีตสหภาพโซเวียต โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
เป็นประมุขที่มีอำนาจมากโดยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสามารถยับยั้ง (veto) กฎหมายที่ผ่านรัฐสภามาแล้วได้ อยู่ในวาระละ ๗ ปี
โดยมีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล
มีรองนายกรัฐมนตรี ๒ คน และรัฐมนตรี ๑๓ คน ซึ่งประธานาธิบดี Nazarbayev
นั้นเป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งคาซัคสถานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต
และได้รับเลือกดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถานตั้งแต่ปี ๒๕๓๔
จนถึงปัจจุบัน(เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง)
นับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียต คาซัคสถานได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของคาซัคสถาน
โดยมุ่งเน้นความเป็นกลางทางการเมืองในเวทีระหว่างประเทศ
และเข้าร่วมกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศอย่างแข็งขัน ส่งเสริมนโยบายต่างประเทศรอบด้าน
(Multi-Vectored Foreign Policy) ที่ให้ความสำคัญกับรัสเซีย
จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นหลัก รวมทั้งประเทศอื่น ๆ
ในเอเชียและประเทศในตะวันออกกลาง ด้วยการขยายความสัมพันธ์มายังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยเข้าเป็นสมาชิก Asia Cooperation Dialogue (ACD) Asia – Europe Meeting
(ASEM) และความสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก ASEAN Regional Forum
(ARF)
คาซัคสถานได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิก World
Trade Organization (WTO) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘
ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่คาซัคสถานเป็นสมาชิก ได้แก่ Shanghai Cooperation
Organization (SCO), Commonwealth of Independent States (CIS), Organization for
Security and Cooperation in Europe (OSCE) และ Organisation
of Islamic Cooperation (OIC)
นอกจากนี้
คาซัคสถานเป็นผู้ก่อตั้งการประชุมระหว่างประเทศอย่าง Conference
on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA) จากการที่ประธานาธิบดี
Nazarbayev เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
ครั้งที่ ๔๗ เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าจีนจะดำรงตำแหน่งประธาน
CICA (ต่อจากคาซัคสถานและตุรกี) ระหว่าง ๒๕๕๗ - ๒๕๖๐
แต่สำนักเลขาธิการ CICA ก็ยังอยู่ที่กรุงอัสตานา
ประธานาธิบดี Nazarbayev
เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งองค์การความร่วมมืออิสลามเพื่อความมั่นคงทางอาหาร
(Islamic Organisation for Food Security – IOFS) ภายใต้ OIC
โดยมีสำนักงานใหญ่ ณ กรุงอัสตานา ได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาทั่วไปขององค์การฯ
เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ ณ กรุงอัสตานา นอกจากนี้ เมืองอัลมาตี
ยังได้รับเลือกจาก Islamic International Educational, Cultural and
Scientific Organization ให้เป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมอิสลาม (Capital
of Islamic Culture) แห่งปี ๒๕๕๘
สำหรับบทบาทของคาซัคสถานในองค์กรระหว่างประเทศนั้น
คาซัคสถานได้ดำรงตำแหน่งประธาน OSCE ในปี
๒๕๕๓ และประธาน SCO ระหว่าง ๒๕๕๓-๒๕๕๔
ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างประเทศของหุ้นส่วนความร่วมมือแห่งเอเชียใน OSCE
ในปี ๒๕๕๔ ดำรงตำแหน่งประธาน OIC ในปี
๒๕๕๔-๒๕๕๕ และดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศ CIS ปี ๒๕๕๘
นอกจากนี้ คาซัคสถานได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพงาน EXPO ๒๐๑๗
หลายปีที่ผ่านมา
คาซัคสถานได้ยกสถานะของตนในเวทีระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก อาทิ การเป็นเจ้าภาพการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในซีเรียเมื่อปี
๒๕๕๘,
การจัดตั้งธนาคารเชื้อเพลิงยูเรเนียมพลังงานต่ำของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(IAEA Low Enriched Uranium Bank) ในคาซัคสถาน
ซึ่งเป็นการเน้นย้ำนโยบายของคาซัคสถานในเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์,
การเป็นเจ้าภาพจัด Retreat for the Landlocked Developing Countries
(LLDCs) เมื่อปี ๒๕๕๗
ไม่เพียงเท่านั้นคาซัคสถานได้ริเริ่มการจัดประชุม
The Congress of Leaders of World and Traditional
Religions ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เพื่อเป็นเวทีเสวนาระหว่างกลุ่มศาสนาต่าง
ๆ และส่งเสริมขันติธรรมของการอยู่ร่วมกันอีกด้วย
ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๙
ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้แถลงนโยบายการต่างประเทศของคาซัคสถานต่อการประชุมประจำปีของคณะผู้แทนทางการทูตต่างประเทศประจำคาซัคสถานว่า
หวังผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการระงับข้อพิพาทการพัฒนา
Plan of Global Strategic Initiative และการลดอาวุธ โดยคาซัคสถานสนับสนุนการปฏิบัติการเชิงรุกในการต่อต้านการสะสมอาวุธ
และวางนโยบายให้ศตวรรษที่ ๒๑ เป็นศตวรรษแห่งการลดอาวุธนิวเคลียร์ของมวลมนุษยชาติ และขอรับการสนับสนุนจากทุกประเทศต่อการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวร
UNSC วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๘ ซึ่งในที่สุดคาซัคสถานก็ได้รับการรับเลือกเข้าเป็นสมาชิกฯดังเป็นทราบกันแล้วนั้น
ฉะนั้น
จึงจะเห็นได้ว่าการที่คาซัคสถานได้รับเลือกฯ ทั้งๆที่ในสายตาขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายต่างมองว่าคาซัคสถานนั้นก็มีปัญหาที่เลวร้ายไม่ยิ่งไปกว่าไทยสักเท่าใด
แต่การที่เขาได้รับเลือกเป็นเพราะผลงานด้านยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศที่สั่งสมมาโดยตลอดนั่นเอง
---------------
หมายเหตุ
๑) ขอขอบคุณข้อมูลทั่วไปบางส่วนจากสถานเอกอัครราชทูต
ณ กรุงอัสตานา และกองเอเชีย ใต้และเอเชียกลาง
กระทรวงการต่างประเทศ
๒)
ปรับปรุงเพิ่มเติมจากกการเผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๖
กรกฎาคม ๒๕๕๙