วันเสาร์, กรกฎาคม 02, 2559

เมื่อรั้วของชาติ ทำลายรั้วของประชาชน สารคดีว่าด้วยพฤติกรรมของทหาร





+++เมื่อรั้วของชาติ ทำลายรั้วของประชาชน+++

การควบคุมตัวตามอำนาจของ คสช. "ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง" Chapter II
โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สารคดีว่าด้วยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหาร
ในการควบคุมตัวประชาชนชาวไทย
ตามอำนาจที่ได้รับมาจากกฎอัยการศึก
จนถึงคำสั่งจากหัวหน้า คสช.

จริงหรือไม่ที่ทหารกำลังจะปราบมาเฟีย
ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

สารคดีชิ้นนี้จะเปิดเผยคำบอกเล่าจากบุคคลที่ถูกควบคุมตัว
โดยเจ้าหน้าที่ทหารจะมาเล่าข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่า
ใครคือ “มาเฟีย” ตัวจริง

พร้อมบทความที่สะท้อนคำบอกเล่าของบุคคล
ที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
ที่ เป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจจาก คสช.
เป็นเพียงความชอบธรรมเดียวของเจ้าหน้าที่ทหาร

ทำให้พวกเขาสามารถควบคุมตัวประชาชนได้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา
ไม่มีหมายจับ ขัดกับหลักประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญา
และมีเสียงสะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศว่า
อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

อ่านบทความประกอบได้ที่นี้
https://tlhr2014.wordpress.com/…/07/01/ncpoorderforsecurity/

ชมคลิปประกอบบทความได้ที่นี้
https://www.youtube.com/watch?v=2c5nuxSDjE4


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


ooo


ไม่ผิดจะกลัวอะไร : “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง”


คำสั่ง หน.คสช. “ปราบมาเฟียเพื่อความมั่นคง” Chapter II โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน





https://tlhr2014.wordpress.com/2016/07/01/ncpoorderforsecurity/

1 กค. 2516


“เมื่อรั้วของชาติ ทำลายรั้วของประชาชน”

สารคดีว่าด้วยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวประชาชนชาวไทยตามอำนาจที่ได้รับมาจากกฎอัยการศึกจนถึงคำสั่งจากหัวหน้า คสช.จริงหรือไม่ที่ทหารกำลังจะปราบมาเฟียตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

สารคดีชิ้นนี้จะเปิดเผยคำบอกเล่าจากบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจะมาเล่าข้อเท็จจริงโดยละเอียดว่าใครคือ “มาเฟีย” ตัวจริง

พร้อมบทความที่สะท้อนคำบอกเล่าของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ เป็นการควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจจาก คสช.ที่เป็นเพียงความชอบธรรมเดียว ทำให้ทหารสามารถควบคุมตัวประชาชนได้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีหมายจับ ขัดกับหลักประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาและมีเสียงสะท้อนจากองค์กรระหว่างประเทศว่า อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

– การควบคุมตัวตามมาตรา 44

“ผมจะถามคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากแค่นั้นแหละ อย่างเช่นถามว่ามาทำแบบนี้กับไปใช้วิธีดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไหนถูกต้องกว่า … ถามทุกคนที่มา ถามเจ้าหน้าที่ทุกคน ระหว่างใช้มาตรา 44 กับไม่ใช้มาตรา 44 แล้วทำแบบนี้ได้ไหม…”

คืนวันที่ 9 มี.ค. 2559 สราวุธ บำรุงกิตติคุณ ถูกทหารตำรวจอย่างน้อย 30 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวไปจากห้องที่ทำงาน ใน จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมยึดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโทรศัพท์มือถือของเขา โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบ ไม่มีหมายจับหรือแม้กระทั่งหมายค้น

อาศัยแค่อำนาจตามมาตรา 44 เพียงเท่านั้น เขาก็ต้องไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ในค่ายทหารถึง 8 วัน โดยไม่ได้สมัครใจ หรือกระทำผิดกฎหมายใด

อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ว่านี้ ระบุให้ “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

อาจถือได้ว่า อำนาจตามมาตรา 44 ได้ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่แทบจะเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้ซึ่งข้อจำกัด ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มักถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำมาอ้างเพื่อควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหาร ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559

ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ให้อำนาจทหารในการตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล ใช้เพียงแค่ความสงสัยของทหารเพียงฝ่ายเดียวก็สามารถกระทำการดังที่ว่านี้ได้


– กรณีควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

สราวุธ บำรุงกิตติคุณ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า มีผู้แจ้งว่าเขาเป็นพวกหมิ่นสถาบันและรับจ้างทำเพจการเมือง คือเพจ “เปิดประเด็น” ที่สราวุธทำเป็นงานอดิเรกด้วยตนเองคนเดียว ทำให้เขาถูกควบคุมตัวราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ตัวเขาเองไม่ชอบเฮทสปีช ไม่ชอบภาพตัดต่อใส่ร้าย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสถาบันหรือไรก็ตาม

คืนที่ถูกควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่พาสราวุธไปไว้ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต (มทบ.45) ก่อนจะนำตัวขึ้นเครื่องบินมายัง มทบ.11 กรุงเทพมหานคร และถูกกักอยู่ในห้องหน้าต่างปิดทึบ มีทหารเวรคอยเฝ้ากะละสามนาย เขาถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และควบคุมตัวอยู่ที่ มทบ.11 ก่อนจะถูกส่งตัวกลับมาปล่อยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 16 มี.ค. 2559

“เขาก็พยายามโยง เขาคิดว่ามีต้นสาย ก็พยายามจะโยงให้ได้ เรื่องเครือข่าย ด้วยรูปแบบเพจ ด้วยรูปแบบเนื้อหา ด้วยภาษาที่ใช้ มันทำให้นึกว่ามีคนที่มีความรู้สูง ๆ ที่เรียนจบมาทางด้านกฎหมาย ทางด้านอะไรเป็นทีมงานกันหลายคน และมีการจ้างทำกราฟฟิก มีการจ้างทำทุกขั้นตอนอะไรแบบนี้ ภาพมันดูเหมือนว่าทำกันหลายคน ซึ่งจริง ๆ มันทำคนเดียวก็ทำได้ เขาพยายามถามว่ามีใครร่วมขบวนการบ้าง” สราวุธเล่าถึงการสอบสวนภายใน มทบ.11

ถึงจะไม่มีการทำร้ายร่างกายในกรณีของเขา แต่สราวุธก็ยอมรับว่าถูกข่มขู่ และมีความกังวลใจที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ในระหว่างนั้น

“แต่ว่าขนาดนั้นมันก็คือการจำกัดสิทธิแล้ว คือการจำกัดความเห็น มีข่มขู่ว่าจะให้ขึ้นศาลทหารอย่างนี้ ผมก็ฟุ้งซ่านไปเยอะ”

เป็นเวลากว่า 8 วัน ที่สราวุธถูกควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร โดยไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกได้ เช่นเดียวกับที่ญาติและทนายความต่างถูกปฏิเสธไม่ให้ติดต่อกับสราวุธ ในขณะที่โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่มีข้อมูลการควบคุมตัวแอดมินเพจเปิดประเด็น

ตลอดระยะเวลา 8 วันนั้น สราวุธกลายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือ “อุ้มหาย” ซึ่งเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัว และปฏิเสธจะทราบชะตากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)

– กรณีควบคุมตัวแกนนำร้องเรียน เรื่องไล่รื้อบ้านเรือนและพื้นที่ประกอบอาชีพประมงริมชายหาด อ.เมือง จ.ระยอง

หลังการควบคุมตัวสราวุธในอีก 20 วันถัดมา เช้ามืดวันที่ 29 มี.ค. 2559 ชาวระยองสามคนถูกทหารควบคุมตัวจากบ้านพักไปยังค่ายนวมินทราชินี (มทบ.14) จ.ชลบุรี

“โอ๊ย! ทำไมมาเยอะแยะ อย่างกับจับเสือ จับโจร ทหารมาเยอะ หลายคัน เป็นแถวเลยตรงหน้าบ้าน ชาวบ้านก็แตกตื่นออกมาดู ก็ตกใจทหารมาเยอะ”ละม่อม บุญยงค์ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์วันนั้น ก่อนที่ตัวเขา อนันต์ ทองมณี และรังสรรค์ ดอกจันทร์ จะถูกพาตัวไปที่ค่ายมหาสุรสิงหนาท (พัน ร.7) ที่ จ.ระยอง แล้วจึงส่งตัวต่อไปยัง มทบ.14 จ.ชลบุรี

“ถามว่ามาเชิญเรื่องอะไร เขาก็บอกว่ามันมีข่าวมาว่าลุง พวกลุงสามคน จะก่อม็อบ ชวนชาวบ้านทั้งหมดก่อม็อบไล่นายอำเภอ ลุงก็งง มันไม่เคยมีความคิดของลุงที่จะไปก่อม็อบอะไรพวกนี้ แล้วชาวบ้านหยิบมือแค่นี้จะไปก่อม็อบทำไม”

เช่นเดียวกับอนันต์ ทองมณี ที่ยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอย่างที่ทหารอ้าง “คือกล้าพูดและกล้าแสดงออก กล้ามีจิตอาสาที่จะทำเพื่อชาวบ้าน คือกล้า ถ้าถามว่าจะกล้าไปก่อม็อบนั่นไม่กล้าหรอก บอกท่าน ผบ. ผมไม่ได้คิดทำอะไรท่านไปสืบดูได้ ไปสืบถามชาวบ้านว่า ณ วันนี้ชาวบ้านรวมตัวกันไหม รวมตัวไหม ไม่มี”

แม้ปรากฏข้อเท็จจริงดังว่า แต่ทั้งสามคนก็ต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ มทบ.14 หนึ่งคืน และถูกยึดโทรศัพท์ไว้ ก่อนจะปล่อยตัวในเช้าวันถัดมาโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายใด


– การควบคุมตัวที่มีราคาต้องจ่าย

จุดร่วมของสี่คนนี้ คือการถูกจับจากข่าวที่ทหารได้รับ นำตัวพวกเขาไปไว้ในค่ายทหาร และปล่อยตัวออกมาหลังจากพบว่าไม่มีใครทำผิดตามที่ถูกสงสัย

“เรียกว่ามันเกิดความผิดพลาดที่เขา หน่วยข่าวกรองเขา การกรองข่าวเขามันผิดพลาด การกรองข่าวเขาว่าเขาจะต้องได้อะไรที่มันใหญ่โต ได้คนผิดแน่นอนอะไรอย่างนี้ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วเขาไปได้เอาประชาชนธรรมดาที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างบริสุทธิ์ใจ สุจริต” สราวุธให้ความเห็น

ไม่ผิดก็ไม่ต้องกลัว เนื้อความที่ผู้นำทหารย้ำผ่านสื่อมวลชนบ่อยครั้งเมื่อถูกถามถึงมาตรการที่นำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านมาตรา 44 เห็นได้ว่า กรณีตัวอย่างทั้งสี่คนนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายใด ๆ ตามมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้

“นอกจากเสียเวลาไป 7-8 วันในการถูกควบคุมตัวแล้วยังต้องมานั่งตั้งสติ เรียกขวัญตัวเองอีก 4-5 วัน แล้วต้องมานั่งเช็คคอมพิวเตอร์อีก 3-4 วันอย่างนี้ กว่าจะเรียกกลับมาได้ก็เสียหายไปเยอะนะ” สราวุธชี้แจงในกรณีของเขา

อดีตแอดมินเพจเปิดประเด็นเล่าว่า คอมพิวเตอร์ของเขาเสียหายในส่วนของเมนบอร์ดและพาวเวอร์ซัพพลาย สายฮาร์ดดิสก์และฮาร์ดดิสก์บางตัวหลุดออกมา คล้ายกับถูกถอดเพื่อรื้อดูข้อมูลในนั้น ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหาย อ่านข้อมูลไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เขาเข้ารหัสคอมพิวเตอร์ไว้

นอกจากนี้ เขายังถูกบีบให้ต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขของ คสช. เพื่อจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวระบุว่า จะไม่เดินทางออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต ละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ และเมื่อไหร่ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง เขายินยอมที่จะถูกดำเนินคดีและถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน อันเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่เพิ่มเติมคือ สราวุธถูกทหารสั่งให้ปิดเพจเปิดประเด็นอีกด้วย

เช่นกันกับที่ระยอง ละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ถูกห้ามรวมตัวกัน หรือไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก

“เขาก็บอกสั่งมาว่า ถ้ามานี่แล้วอย่าไปรวมตัวกันอีก อย่าไปอยู่กับคนหมู่มาก ถ้าเขาถ่ายรูปลุงอยู่ในคนหมู่มากอีก เขาจะเชิญมาอีก ทีนี้จะมาอยู่หลายวัน เขาว่าแบบนั้น” ละม่อมเล่าถึงเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ถูกกำชับมาจากฝ่ายทหาร

อย่างไรก็ตาม ที่ จ.ระยอง นั้นดูเหมือนการควบคุมตัวและตั้งเงื่อนไขของ คสช. จะยิ่งส่งผลกระทบหนัก เมื่อคนที่ถูกควบคุมตัวไปคือหัวหน้าครอบครัว ผู้มีภาระหน้าที่ดูแลอีกหลายชีวิตในบ้าน

“มาจับผมทำไม ทางนี้ก็เดือดร้อนสิ หมึกก็ไม่มีใครไปซื้อ นั่นก็ไม่มีใครไปซื้อ ตาย มันเดือดร้อนนะ ถ้าอยู่สามวัน ครอบครัวผมจะทำไง มีกินไหม ลูกเต้าจะทำไง เพราะว่าเงินต้องอยู่กับผม ตื่นเช้ามาค่าใช้จ่ายอยู่กับผมหมด ทางนี้จะทำไง เอทีเอ็มก็อยู่กับผมหมด จะทำยังไงทีนี้” อนันต์เล่าถึงความร้อนใจระหว่างถูกควบคุมตัว

นอกจากนี้ ทั้งละม่อม อนันต์ และรังสรรค์ ต่างเป็นกลุ่มชาวประมงเรือเล็กและประกอบอาชีพแปรรูปอาหารทะเลริมชายฝั่ง ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไล่รื้อที่อยู่ของพวกเขาบริเวณชายหาด ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อขอให้รัฐจัดพื้นที่รองรับสำหรับผู้ได้รับผลกระทบเสียก่อน แต่เมื่อมีเงื่อนไขห้ามรวมตัวดังกล่าวแล้ว กระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างก็เกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่กล้าคัดค้านอะไรอีกต่อไป


“เขาบอกว่าให้ทำตามมติที่ประชุม จับมือทำตามมติที่ประชุมเลย คือรื้อ บอกให้รื้อเลย แล้วห้ามให้เราเข้าไปในที่ที่มีคนมาก ห้ามประชุมชาวบ้านห้ามอะไร เราก็ไม่ทำ เราก็ไม่เคยเข้าไป แม้แต่จะไปงานบวชเขาเรายังไม่ไปเลย กลัวเขาจะมาเชิญเราอีก กลัวเดือดร้อน ไปงานแต่งก็กลัวที่มีคนเยอะ ๆ เพราะเขาห้ามไว้แล้ว” อนันต์เล่าถึงสถานการณ์หลังได้รับการปล่อยตัว

ปัจจุบันนี้ อนันต์อาศัยอยู่ในเพิงผ้าใบที่ทางเทศบาลนำมาตั้งไว้ เนื่องจากบ้านถูกรื้อทำลายตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดของ คสช. ซึ่งนโยบายนี้ได้หอบเอาวิสาหกิจชุมชน ต.ปากน้ำ และธนาคารปูหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณชายหาดอีกด้วย


“จะจัดยังไงก็ให้มีที่รองรับให้กับเรามั่ง ให้คนจน ๆ ระบบรากหญ้าได้มีที่ยืน ได้มีที่ทำกิน ไม่ใช่มารื้ออาชีพดั้งเดิมเขา ไม่ใช่ไม่มีที่รองรับอะไรเขาเลย อย่างนี้มันเดือดร้อนครับ มันเดือดร้อน ถามทุกคนได้ บางคนร้องไห้เลย มีภาพทหารมาหิ้ว ร้องไห้ ก็หมดตัวน่ะ คนเราหมดตัวจะทำไง

วันนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ ตามคำสั่งของเทศบาล เขียนไว้ว่าที่รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ผมก็จำเป็นจะต้องมานั่งกินตรงนี้ นอนกินตรงนี้ เพื่อรออะไร รอให้เขาได้จัดสรร ได้เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็อยากรู้ ท่านจะทนเห็นได้ไหมกับคนที่ถูกล้มล้างอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายต้องมาเป็นอย่างนี้” อนันต์เปิดปากเล่าท่ามกลางเครื่องเรือนและอุปกรณ์ทำกินกองระเกะรกะภายใต้เพิงผ้าใบที่เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน

เวลา สภาพจิตใจ ทรัพย์สิน บ้าน อาชีพ และสิทธิที่จะเรียกร้องชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง คือสิ่งที่เสียหาย หรือถูกทำลายไปหลังการควบคุมตัวทั้งสี่คน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44

หากไม่ผิดจะกลัวอะไร คงเป็นคำตอบที่ คสช. อยากจะย้ำกับสราวุธ ละม่อม อนันต์ รังสรรค์ และคนไทยคนอื่นอีกหลายล้านคน เพื่อให้ยังคงสามารถใช้อำนาจควบคุมตัวประชาชนได้ต่อไปไม่รู้จบ แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทั้งสี่ และอาจมีอีกมากมายนับพันคนที่ถูกควบคุมตัวโดย คสช. เราอาจต้องเริ่มเปลี่ยนคำถามมาเป็นหากปล่อยให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ ถึงไม่มีความผิด ใครเลยจะกล้าการันตีว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียอะไรไปอีกมากต่อมากเท่าไหร่.