สิงคโปร์-มาเลเซีย ลงนาม! รับรถไฟหัวกระสุน เชื่อม "สิงคโปร์ – กัวลาลัมเปอร์"
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
20 ก.ค. 2559
รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ลงนามข้อตกลงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียกับสิงคโปร์โดยจะใช้เวลาเดินทางเพียง90 นาที!
บลูมเบิร์กรายงานว่า นายลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างทางรถไฟระหว่างสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ พร้อมเตรียมเปิดการเจรจาในขั้นสุดท้าย โดยรายงานจากคณะกรรมการด้านการขนส่งทางบกสาธารณะของทั้ง 2 ประเทศระบุว่า ในปีหน้า โครงการดังกล่าวน่าจะบรรลุข้อสรุปในเรื่องของงบประมาณและเปิดประมูลหาผู้ประกอบการต่อไป โดยคาดว่ารถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นได้ในปี 2026 นี้
แถลงการณ์จากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ระบุว่า "รถไฟความเร็วสูง ถือเป็นโครงการความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญระหว่างทั้ง 2 ประเทศ" ... "รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศมีความมุ่งมั่นต่อโครงการดังกล่าว เพื่อสะท้อนความร่วมมือทวิภาคีที่แน่นแฟ้น และจะมั่นคงมากขึ้นต่อไป โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการ รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะยิ่งเสริมความเชื่อมโยง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความใกล้ชิดระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมากขึ้น"
ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการ รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์เผยว่า รถไฟเส้นทางดังกล่าวมีความยาวประมาณ 300 กิโลเมตร ขณะที่รถไฟจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ใช้เวลาเพียงประมาณ 90 นาทีเท่านั้น
จีน-ญี่ปุ่น ชิงดีลค้าเทคโนโลยี
การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค (connectivity) ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งประกาศแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 5.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีคู่แข่งเป็นบริษัทจากจีนและญี่ปุ่นขับเคี่ยวชิงดำเพื่อเป็นผู้ดำเนินโครงการ เช่นเดียวกับในไทย ที่ทั้ง 2 รัฐบาลต่างก็เดินหน้าคุยเพื่อรับเหมาช่วงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นไม่น้อยหน้ากัน
สำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นการส่งออกเทคโนโลยีรถไฟหัวกระสุนความเร็วสูงเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่นายกรัฐมนตรีชินโสะอาเบะ ต้องการผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดหวังให้ญี่ปุ่นส่งออกเทคโนโลยีเป็นมูลค่าอย่างน้อย 30 ล้านล้านเยน (ราว 284,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2020 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการใหญ่ๆ ในหลายประเทศ และเอาชนะจีนไปได้ในการเจรจาโครงการรถไฟมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ที่ประเทศอินเดีย
ด้านจีนเอง ในฐานะประเทศที่มีโครงข่ายเส้นทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งเป้าให้การส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน ได้ออกมาผลักดันการส่งออกอุปกรณ์รถไฟ และได้เริ่มผูกมิตรทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อจับโครงการรถไฟที่สำคัญ รวมทั้งเส้นทางการเดินรถในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งจากกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ โดยนิวเสตรทไทมส์รายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ได้คัดเลือกบริษัท 98 แห่ง จากทั้งหมด 250 แห่ง ที่ยืนเสนอตัวเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยในจำนวนนี้มีบริษัท Alstom จากฝรั่งเศส, Siemens AG จากเยอรมนี, CAF และ Talgo SA จากสเปน, Bombardier จากแคนาดา และกลุ่มผู้ประกอบการรถไฟจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ท้าทายสายการบิน
หากโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์เกิดขึ้นจริง สายการบินโลว์คอสต์ เช่น แอร์เอเชีย และไทเกอร์แอร์เวย์ ซึ่งมีเที่ยวบินในเส้นทางบินดังกล่าวอาจต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น
นายจอห์น มาไทย นักวิเคราะห์ด้านการขนส่งของบลูมเบิร์กระบุว่า "สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นฐานสำคัญของกลุ่มธุรกิจการบินในภูมิภาค และการสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าว อาจชิงส่วนแบ่งของนักเดินทางจากกลุ่มการบิน แต่ก็อาจจะช่วยลดความแออัดในสนามบินได้"
เครดิตภาพ: ภาพจาก http://www.japantimes.co.jp