วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 07, 2559

2 มุมต่างปฏิรูประบบสุขภาพ ‘รัฐประหาร vs เลือกตั้ง’ อุดมการณ์แบบไหนจะทำให้เกิดนโยบายสุขภาพที่ดี




ที่มา HFocus.org
2014-11-12

หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดของไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์ของประเทศไทยเดินมาสู่จุดที่ ณ บัดนี้ ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะนำไปสู่ทิศทางใด แม้กระแสการปฏิรูปดูเหมือนว่ากำลังจะมาแรง โดยเฉพาะหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เริ่มเห็นหน้าค่าตากันชัดเจนว่าใครไปใคร แต่ท่ามกลางสังคมที่มีความหลากหลาย หลายฝ่ายก็ยังไม่แน่ใจนักว่า กลไกที่มีที่มาจากอำนาจพิเศษนี้จะทำให้เกิดการปฏิรูปได้จริงหรือไม่

ประเด็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน แม้จะดูเหมือนว่ามีทิศทางที่ดี 2 รัฐมนตรีใหม่จากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ดูเป็นหมอน้ำดี ที่ลั่นวาจาว่าจะเข้ามาปฏิรูประบบสุขภาพ จะเดินหน้าไปสู่ทิศทางที่ดีกว่า โดยเชื่อกันว่า ทุกครั้งที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่มีรัฐประหารนั้น ระบบสาธารณสุขของไทยมีการพัฒนาขึ้นอยู่เสมอ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีความเห็นที่ตรงกันข้าม และเชื่อว่า รัฐประหารไม่น่าจะใช่ทางออกทางเดียวที่จะทำให้ไทยปฏิรูประบบสุขภาพได้ และชี้ให้เห็นว่า ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขจะเกิดจากช่วงที่คนไทยถูกปกครองด้วยอำนาจพิเศษเพียงอย่างเดียว ในช่วงที่เป็นสถานการณ์ปกติ อำนาจปกครองมาจากครรลองตามปกติ ก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในระบบสุขภาพได้เช่นกัน

สำนักข่าว Health Focus จึงขอนำไปสำรวจมุมมองจากทั้ง 2 ฝ่าย ผ่าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และอดีตคนเดือนตุลา ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่ารัฐประหารครั้งนี้ จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นในระบบสาธารณสุข ขณะที่ฝั่งที่เห็นค้าน คือ นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผอ.รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และแพทย์ดีเด่นในชนบทปี 52 ที่เชื่อว่า รัฐประหารไม่ว่าครั้งไหนไม่เคยส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน




นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.

“เมื่ออำนาจพิเศษเกิดขึ้น สาธารณสุขมีแนวโน้มดีขึ้นทุกครั้ง เพราะมีแนวคิดปฏิรูป กระจายอำนาจ กระจายการบริการ และสร้างความเสมอภาค มุ่งสู่ชนบท ซึ่งในภาวะปกติมีแรงต้าน แต่พอมีอำนาจพิเศษ การออกกฎหมายให้ทิศทางรัฐไปชนบทเพื่อคนส่วนใหญ่ทำได้ง่าย”



นพ.ประทีป เคยอธิบายประเด็นนี้ ในนสพ.คมชัดลึก วันที่ 19 ตุลาคม 2557 (ดูที่นี่) ว่า เมื่อมีอำนาจพิเศษเกิดขึ้น เซ็กเตอร์ของสาธารณสุขมีแนวโน้มที่ดีขึ้นทุกครั้ง เพราะมีแนวคิดการปฏิรูป ตัวระบบคือ กระจายอำนาจ กระจายการบริการ และการสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ

แนวคิดดังกล่าวมุ่งสู่ชนบท ซึ่งในภาวะปกติมีแรงต้าน แต่พอมีอำนาจพิเศษ การออกกฎหมายเพื่อให้ทิศทางของรัฐไปทางชนบท เพื่อคนส่วนใหญ่ทำได้ง่าย ตั้งแต่ปี 2516-2519 เกิดมาตรการของรัฐ สร้างโรงพยาบาลชุมชน สร้างสถานีอนามัย มีหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น ปี 2535-2540 และคาดว่าปี 2557-2558 ระบบสาธารณสุขจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อย 5 เรื่องดังนี้

1.การปฏิรูประบบบริการที่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข 12-13ปีก่อน มีการปฏิรูปในผู้ซื้อบริการ ให้อำนาจประชาชนในการซื้อบริการมากขึ้น โดย สปสช.เป็นตัวแทน แต่ระบบบริการยังรวมศูนย์อยู่ภาครัฐ/กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ยังมีอุปสรรคด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านการจัดกำลังคน การบริหารจัดการแบบย่อย การสนับสนุนท้องถิ่น เกิดปัญหาการเดินไปข้างหน้าของตัวระบบ คาดหวังว่าการปฏิวัติเที่ยวนี้ ซีกสุขภาพจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทำให้การบริการซึ่งอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุข ถูกกระจายอำนาจให้พื้นที่มากขึ้น กระทรวงมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง และกำกับนโยบาย

2.การสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุระยาว จัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่กับชุมชนกับครอบครัวเป็นหลัก (การอยู่กับหน่วยพยาบาลหรือเนิร์สซิ่งโฮมเป็นทางเลือกรอง) ถ้าไม่จัดระบบ แนวโน้มจะเป็นจัดบริการเนิร์สซิ่งโฮม ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง และนำผู้สูงอายุมาปล่อยในสถานดังกล่าว ซึ่งแยกจากครอบครัว รัฐบาลควรมีนโยบายจัดระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุให้ท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนกลางสนับสนุนด้านวิชาการ จัดตั้งกองทุน สร้างอาสาสมัคร ทำเดย์แคร์ในชุมชน

กล่าวโดยสรุปคือ ต้องมีการออกแบบระบบ การจัดการ และตั้งงบประมาณต้องไม่ลืมว่า อีก 15-20 ปี ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 25 เปอร์เซ็นต์ และทางเลือกในการออกแบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จากประสบการณ์ประเทศต่างๆ คือ ให้บริการโดยใช้โรงพยาบาลเป็นฐาน เช่น ญี่ปุ่น เป็นบริการที่ดีมากแต่แพงมาก (ค่าใช้จ่ายที่รัฐใช้เกือบเท่างบสาธารณสุข) ถ้าไม่จัดระบบ ทิศทางการโตเป็นแบบประเทศอื่นๆ คือบริการดีที่สุดโดยใช้โรงพยาบาลเป็นตัวตั้ง มีเพียงคนกลุ่มเล็กที่เข้าถึงบริการ เป็นคนเมือง ที่มีกำลัง (ซื้อ) แต่ผู้สูงอายุของไทยกระจายตัวในพื้นที่ มีจุดแข็งคือ อยู่กับครอบครัว หากภาครัฐไม่ช่วยจัดระบบจะเป็นภาระให้ครอบครัว

การจัดตั้งระบบดูแลผู้สูงอายุให้อยู่ในชุมชนทำได้โดยจัดตั้ง ศูนย์ผู้สูงอายุระดับตำบล โดยให้เทศบาล หรือ อบต. 7,000 กว่าแห่ง เป็นเจ้าของ ศูนย์ดังกล่าวมีกิจกรรมคือ 1.ข้อมูลการวางแผนดูแลผู้สูงอายุ 2.เป็นศูนย์บริหารจัดการฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรระยะสั้น โดยหนึ่งคนดูแลผู้สูงอายุ 10 คน ดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้าน เพื่อแบ่งเบาภาระญาติพี่น้อง 3.บริการฟื้นฟูผู้สูงอายุ ทั้งทางสังคมและการแพทย์ แบบไปเช้าเย็นกลับ

"ตามที่เราออกแบบกัน ศูนย์นี้มีผู้จัดการ อาจเป็นนักกายภาพบำบัด พยาบาลวิชาชีพ นักสาธารณสุข และฝึกอบรมอาสาสมัครให้ท้องถิ่นดูแล ขยายงาน 7 ปีที่ผ่านมา สปสช.จัดตั้งจัดตังกองทุนสุขภาพตำบล ถ้าเราขยายประสบการณ์กองทุนให้กว้างขึ้น ด้วยการที่รัฐบาลกลางออกกฎหมาย ตั้งงบกองทุนดูแลผู้สูงอายุ เป็นเงิน 2 หมื่นบาท/คน/ปี รัฐบาลกลางออก 1 หมื่น ท้องถิ่นออก 1 หมื่นบาท มีกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ 1 แสนคน ใช้งบ 2,000 ล้านบาท อยู่ในวิสัยทำได้ น่าจะมีมติ ครม. หรือกฎหมายจัดตั้งขึ้นมา ทำการขยายภายใน 3 ปี ระบบดังกล่าวจะเกิดได้ในสถานการณ์แบบนี้ ที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจ ภายใน 3 ปี ทำให้ครบและรันไปเรื่อย"

ทำไมสถานการณ์ปกติถึงทำไม่ได้ ?

คำตอบคือ 1.ต้องใช้เงิน 2.ทิศทางการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนมันทวนกระแส กระแสใหญ่ต้องผลักดันการดูแลในเมืองเข้าถึงผู้สูงอายุในเมืองและมีกำลัง ในโรงพยาบาลเอกชนกำลังเตรียมการรองรับผู้สูงอายุ การมีทิศทางของรัฐออกไปชุมชนมันไม่รองรับ ภาวะปกติมีแรงต้าน ตอนนี้มีตัวอย่างบ้าง แต่เป็นการทำของท้องถิ่น ซึ่งมีมากพอให้เห็นเป็นตัวอย่าง สถานการณ์ขณะนี้สุกงอมพอที่จะทำ ปัญหาคือต้องมีกลุ่มคนผลักดันออกมา

3.สร้างระบบบริการปฐมภูมิให้เข้มแข็งขึ้น ที่ผ่านมาการสร้างระบบบริการของไทยเข้มแข็งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งดึงดูดงบ และกำลังคนมหาศาล ต้องมีการลงทุนกระจายการบริการไปในพื้นที่มากขึ้น เช่น ทำให้โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (เดิมคือสถานีอนามัย) มีศักยภาพเพิ่มทำเชิงรุก เช่น เพิ่มกำลัง

คนตอนนี้มีพยาบาลเวชปฏิบัติ สาธารณสุข หากเพิ่มนักจิตวิทยาคลินิก นักกำหนดอาหาร หน่วยบริการปฐมภูมิจะมีทีมงานสุขภาพผสมสผานทำงานแก้ปัญหาสาธารณสุขได้ดีขึ้น

4.ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เรามี พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน มีการจัดตั้งหน่วยงานสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ผ่านมายังทำหน้าที่ไม่ดีพอ เช่น เกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน หัวใจวาย ควรไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้โดยไม่ถูกเรียกเก็บเงิน รัฐบาลชุดที่ผ่านมาพยายามทำ แต่ไม่มีการเตรียมตัว ประชาชนคิดว่าเป็นสิทธิ์ โดยเฉพาะราชการไปใช้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรียกเก็บเงิน เพราะไม่ยอมรับราคาหรือระบบที่รัฐวางไว้ รัฐบาลใหม่น่าจะมีการเตรียมให้เมื่อมีภาวะฉุกเฉิน ไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าสิทธิ์อะไร

5.ทำให้สามกองทุนมีความเท่าเทียม เนื่องจากกองทุนข้าราชการให้สิทธิ์ค่าใช้จ่ายสูง กองทุนประกันสังคมมีข้อจำกัด.. แต่การลดสิทธิ์ข้าราชการลงมาคงทำได้ยาก การจะเพิ่มเงินของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ยากเช่นกัน สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือ ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการร่วมกัน เช่น คอลเซ็นเตอร์ ระบบฐานข้อมูล เพื่อเอื้อแก่การรวมกองทุนในอนาคต บางเรื่องสามารถออกแบบให้บริการเหมือนกันได้ เช่น โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่ง สปสช.ให้บริการชดเชยเงินด้วยอัตราค่อนข้างสูง ตามการจ่ายจริงใกล้เคียงราชการ ถ้าระบบนี้ทำให้เหมือนกัน เช่น โรคหัวใจ โรคไตวาย มะเร็ง หรือการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง ตรงนี้สามารถจดระบบให้เหมือนกันได้

การเหมือนกันมีข้อดีคือ 1.ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงบริการเท่าเทียมกัน 2.ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในการจัดซื้อยา หรือระบบบริการรวม 3.กองทุนอื่นไม่ต้องลงทุนในบางเรื่อง เช่น สปสช.มีการลงทุนในคอลเซ็นเตอร์แล้วกองทุนอื่นๆ มาใช้ร่วมกันได้

เมื่อมีอำนาจพิเศษกลายเป็นว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ประโยชน์มากขึ้น ?

นพ.ประทีป ตอบว่าสาธารณสุขได้มากที่สุด เหตุผลคือ 1.อำนาจพิเศษทั่วไปมีข้อจำกัดด้านข้อมูล ประสบการณ์ และการจัดการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นงานเทคนิค ที่ผ่านมาอำนาจพิเศษมักให้เกียรติให้นักวิชาการในแวดวงสาธารณสุขบริหารจัดการเอง

2.เซ็กเตอร์สาธารณสุข มีกลุ่มคน นักวิชาการนักบริหาร ที่มีแนวคิดแง่ปฏิรูปจำนวนพอสมควร แม้ภาวะปกติเป็นกลุ่มเสียงข้างน้อย แต่มีการรวมตัวระดับหนึ่ง มีเป้าหมายและแผนผลักดันชัดเจน ในช่วงพิเศษมักมีบทบาทกำหนดทิศทางช่วงสั้นๆ ซึ่งพอวางรากฐาน ทำให้เกิดระบบประกันสุขภาพได้




นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต

“รัฐประหารไม่ส่งผลดีต่อสาธารณสุข...เราไม่ต้องลงทุนทำรัฐประหารเพื่อให้เกิดนโยบายดีๆ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นพ.สงวนเสนอ ก็ได้รับการตอบรับช่วงเลือกตั้งปี 44 จากไทยรักไทย แม้แต่การควบคุมยาสูบถูกผลักดันช่วงรัฐบาลชวน ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน”



แม้จะเป็นแพทย์ที่ทำงานในชนบทมายาวนาน แต่ด้วยความเป็นคอการเมือง ทำให้ “นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2552” ไม่เพียงแต่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แต่ยังวิพากษ์ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองทางการเมืองที่ได้เปรียบเทียบการบริหารในช่วงของการรัฐประหารและการเลือกตั้งที่ส่งผลต่อนโยบายสาธารณสุขประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

จากจุดเปลี่ยนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างปี 2549-2557 ที่เกิดปรากฎการณ์เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่กลับหลังสนับสนุนรัฐประหารของกลุ่มปัญญาชน นพ.กิตติภูมิ ได้เริ่มต้นกล่าวว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากความผิดหวังต่อนักการเมือง ในยุคของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ดำเนินการหลายเรื่องโดยไม่ฟังเสียงประชาชน จนทำให้เกิดการต่อต้านระบอบทักษิณ ผิดหวังต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทำให้เกิดความความรู้สึกที่ว่า ระบบการเลือกตั้ง ระบอบตัวแทนประชาชนไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ได้เป็นการทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย เพื่อหวังให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง เช่นเดียวกับในช่วงพฤษภาทมิฬในปี 2535 และในปี 2549 ฝ่ายทหารก็ได้เข้าแทรกแซง เช่นเดียวกับปัจจุบันปี 2557 ที่ทหารได้เข้าแทรกแซงหลังการเคลื่อนไหวของทางกลุ่ม กกปส.

นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า การดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เพียงแต่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แต่ยังได้ฟื้นฟูระบบราชการ โดยเชื่อว่าข้าราชการเป็นผู้มีความรู้มีความชำนาญในการบริหาร จึงควรมีอำนาจในการตัดสินใจต่อนโยบายการบริหาร ไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากคนภายนอก ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งรัฐบาลจึงได้มอบอำนาจให้กับปลัดกระทรวงเทียบเท่ากับรัฐมนตรี สอดคล้องกับแนวคิดของระบบราชการไทย ที่มองว่า ราชการต้องเป็นผู้คิดและกำหนดทิศทางนโยบายประเทศ ขณะที่ประชาชนมีหน้าที่ยอมรับ ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2550 จึงได้เห็นความพยายามในการรื้อฟื้นอำนาจเก่า

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า จากหลายนโยบายที่ออกมาโดยข้าราชการ สธ. อย่างการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ขณะเดียวกันได้เพิ่มความภาคภูมิใจให้กับข้าราชการ สธ.ด้วย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าราชการจะต้องเป็นผู้ชี้นำนโยบายและปกครอง ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายที่ดี มักจะถูกตั้งคำถามและไม่ยอมรับการชี้นำนโยบาย นำมาสู่การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งรวมถึงชมรมแพทย์ชนบทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบราชการ

นพ.กิตติภูมิ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการเผยแพร่แนวคิดในหมู่แพทย์และข้าราชการ สธ.ว่า นโยบายดีๆ จะออกโดยนักการเมืองไม่ได้ ต้องมาจากผู้ที่รู้จริงโดยราชการ และเห็นว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว ควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้ประโยชน์จากรัฐประหารให้ได้มากที่สุดแทนที่จะต่อต้านคัดค้าน พร้อมบอกว่านโยบายดีๆ จะออกมาในช่วงวิกฤตนี้ แต่ในความเป็นจริงเป็นแนวคิดที่หลอกลวงสังคม หลอกตัวเอง เพราะหากกลับไปไล่ดูในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะพบว่ามีหลายนโยบายที่ดีๆ ออกมาในขณะนั้น โดยเฉพาะนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องฟังเสียงและตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมไปถึงการเดินหน้านโยบายค่าตอบแทนทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อให้แพทย์คงอยู่ในพื้นที และการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (Pay for Performance: P4P)” แพทย์ดีเด่นในชนบท ปี 2552 กล่าว

“หากถามแพทย์และข้าราชการ สธ.ว่า นโยบาย 30 บาทดีหรือไม่ ก็จะบอกว่าดีและจะตามมาด้วย “แต่” เพราะมองว่าแม้นโยบาย 30 บาทจะเป็นนโยบายที่ดีและเป็นที่ยอมรับในสังคม รวมถึงในแวดวงสุขภาพ แต่เป็นการสร้างความหวังให้กับประชาชน ทั้งยังทำให้แพทย์พักผ่อนน้อยลง ทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อการฟ้องร้อง ซึ่งยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความดีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องบอกว่ามีมากกว่า” นพ.กิตติภูมิ กล่าว และว่า ทั้งนี้ในกรณีผู้ที่คัดค้านนโยบาย 30 บาท หากถามว่ามีข้อเสนอนโยบายอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ คำตอบคือไม่มี ด้วยเหตุนี้ทำให้การรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งที่เกิดขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงยังคงอยู่

สำหรับช่วงเริ่มต้นของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้จัดเก็บ 30 บาทกับผู้รับบริการนั้น นพ.กิตติภูมิ กล่าว่า มองว่าเป็นรูปแบบที่สมเหตุสมผลแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการใช้บริการพร่ำเพรื่อ เรียกว่าช่วยเป็นกันชน แต่พอรัฐประหารปี 2549 กลับยกเลิกการจ่าย 30 บาท ส่งผลให้จำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลหยิบยกมากล่าวอ้างยังฟังไม่ขึ้น เพราะระบุว่าการจ่าย 30 บาท เป็นเหตุให้หน่วยบริการต้องทำบัญชีเพิ่มขึ้น และเป็นอุปสรรคการเข้าถึงการรักษา ทั้งที่ตามนโยบายได้ยกเว้นกลุ่มจัดเก็บ 30 บาทอยู่แล้ว อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และพระสงฆ์

ผู้สื่อถามว่า แสดงว่าในมุมมองคุณหมอเชื่อว่า ช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อนโยบายสุขภาพมากกว่าในช่วงรัฐประหาร นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า มองว่าการรัฐประหารไม่ส่งผลดีต่อนโยบายสาธารณสุข แม้ว่าจะบอกว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แต่ในสายตาประชาชน สิ่งที่ชั่วร้ายกว่าทุจรติคอรัปชั่นคือการไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้นจึงควรสำรวจประชาชนว่ามีความต้องการอะไร และตอบสนองความต้องการประชาชนดีกว่า ซึ่งรวมไปถึงนโยบายต่างๆ ด้านสุขภาพ

ต่อข้อซักถามว่า ช่วงรัฐประหารได้มีนโยบายที่ดีออกมาเช่นกัน อย่างนโยบายบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing หรือ CL) นพ.กิตติภูมิ กล่าวว่า มองว่าอยู่ที่การชง หากนโยบายนี้ถูกชงให้กับรัฐบาลเลือกตั้ง เชื่อว่าจะได้การตอบรับเช่นกัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่สามารถใช้หาเสียงได้ ไม่ต้องลงทุนทำรัฐประหารเพื่อให้เกิดนโยบายดีๆ อย่างกรณีนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.สงวน นิติยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นำเสนอข้อมูลเพื่อเป็นนโยบายให้กับทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แต่ปรากฎว่าไม่มีรัฐบาลใดตอบรับ เพราะเป็นโครงการที่กระทบต่อโครงสร้างงบประมาณประเทศ แต่ก็ได้รับการตอบรับจากในช่วงเลือกตั้งปี 2544 จากพรรคไทยรักไทยจนออกเป็นนโยบายดำเนินมาถึงปัจจุบัน แม้แต่การควบคุมยาสูบได้ถูกผลักดันในช่วงรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

นพ.กิตติภูมิ สรุปในตอนท้ายว่า “ในมุมองผม นโยบายที่ดีเป็นนโยบายที่ออกมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง แม้ว่าผมจะไม่ชอบนักการเมืองก็ตาม”