อนาถกับจิตสำนึกอย่างทหารในบ้านเมืองไทยเสียจริง
ดังเมื่อพันเอก ไตรจักร์ นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดีไปออกรายการ ‘จอมขวัญถามตรงๆ’
พอจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการถามว่า “ถ้าบางคนไม่อยากเรียน รด. ไม่อยากเกณฑ์ทหาร ไม่อยากเป็นทหารแม้แต่วันเดียว เขาต้องทำยังไงคะ” ทั่นสัสดีตอบทันทีว่า “ง่ายเลยฮะ ก็ไม่ต้องเป็นสัญชาติไทย”
(http://news.mthai.com/hot-news/social-news/488528.html)
นี่ไง วิธีคิดอย่างตะหานไตแลนเดีย แทนที่จะพูดถึงปัญหาว่าทำไมถึงมีคนไม่อยากเรียน รด. อาจเป็นเพราะไม่อยากเป็นพวกโฆษณาชวนเชื่อ เที่ยวรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ เอานะ เอานะ ร่างฯ ฉบับเปลี่ยนผ่าน ๕-๒๐ ปี อย่างที่ทั่นรองฯ วิษณุ เครืองาม ออกมาพูดเหมือนคราว รธน. ๕๐ อีกแล้วว่า “ผ่านแล้วแก้ได้”
หรือที่เห็นชัดๆ อาจไม่ชอบนิสัยกดขี่ ข่มเหงแบบทหาร ก็เลยไม่ต้องการทหารเกณฑ์ก็ได้
ทั่นสัสดีกลับพูดเหมือนดั่งอาชีพทหารเป็นผู้บังเกิดเกล้าของชายไทยวัยแตกเนื้อแน่นไปเสียหมดทุกคน
ยศแค่พันเอก อายุอานามคงยังไม่ถึงขั้นหงำเหงือก ก็น่าจะพอมีสำเหนียกบ้างว่า โลกยุควิทยาการก้าวหน้า ศัตรูของชาติไม่ได้มาในรูปแบบของชายฉกรรจ์ถืออาวุธเข้าห้ำหั่นประจันบานอีกต่อไป ศักดิ์ศรีแห่งชายชาติทหารไม่ค่อยมีเหลือให้เกทับกันมากนักแล้ว
ยิ่งเหตุที่เกิดแก่พลทหารสองคนที่บันนังสตา ยะลา ถูกทหารรุ่นพี่ ๖ คนรุมซ้อมจนทำให้พลฯ ทรงธรรม หมุดหมัด หนึ่งในนั้นเสียชีวิต ต่อมามารดาของผู้เสียชีวิตเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดทั้งหก
การนี้แรกทีเดียว พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกชี้แจงว่าการซ้อมเป็นการลงโทษพลทหารทั้งสองที่กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ความจริงจากปากคำของญาติผู้ตายเชื่อว่า
การซ้อมเหตุจากนายสิบคนหนึ่งขอยืมเงินของพลฯ ทรงธรรม ๕ พันบาท พลฯ ทรงธรรมไม่ให้เพราะเตรียมเอาไว้ให้แม่ แต่เงินนั้นได้หายไป พลฯ ทรงธรรมไปทวงกับนายสิบคนนั้นเกิดปากเสียงกัน จึงทำให้ถูกนายสิบและพวกรวม ๖ คนรุมซ้อมดังกล่าว
(https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1758285644392468/?type=3&theater)
แม้ว่าโฆษกจะออกมาแถลงภายหลังว่า ขอโทษครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ กับได้ดำเนินการทางวินัยกับทหารที่กระทำผิดทั้งหกแล้ว ปัญหาการใช้อำนาจบาทใหญ่ข่มเหงทำร้าย รวมทั้งการปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์ที่หมักหมมมาตลอดอายุขัยของกองทัพไทย ก็ยังไม่มีท่าทีได้รับการแก้ไข
คสช. ทำหูทวนลมกับเสียงเรียกร้องจากองค์กรสากล อาทิ สำนักงานข้อหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอียู และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น ไม่เพียงต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการพิจารณาคดีถูกเจ้าหน้าที่ซ้อม จากการให้ญาติผู้เสียหายกล่าวหาพิสูจน์ความผิด ไปสู่การดำเนินคดีโดยรัฐเองอย่างไม่ไว้หน้าใคร
ประเด็นสำคัญในการปฏิรูประบบยุติธรรมไทยเกี่ยวกับการข่มเหงผู้ต้องหา (รวมทั้งการซ้อมทหารเกณฑ์) ก็คือข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เสียที กฎหมายเช่นนี้มาติดกักตั้งแต่คณะรัฐประหารเข้ามาปกครองประเทศ
(http://prachatai.org/journal/2016/04/65066)
วิถีทางปฏิบัติในการใช้อำนาจข่มเหงแบบทหารนี้เอง ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางภายใต้การกุมบังเหียรประเทศโดย คสช. ตลอดสองปีที่ผ่านมา และจะยิ่งแผ่ขยายขึ้นไปอีกไม่น้อยกว่า ๕ ปี ที่ คสช. พยายามจะกระชับอำนาจต่อ ด้วยการกำหนดไว้บนบทเฉพาะกาลของร่าง รธน. และคำสั่งที่ ๑๓/๒๕๕๙
ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เตือนเรื่องการขยายขอบข่ายอำนาจของทหารตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ ๑๓/๒๕๕๙ ไว้ว่า
“ให้อำนาจจนท.ทหารลงไปถึงระดับร้อยตรี เป็น ‘เจ้าพนักงาน’ และต่ำกว่าร้อยตรีลงไปเป็น ‘ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน’ มีอำนาจเรียกตัว ควบคุมตัว จับกุม ตรวจค้น ได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องมีหมายศาล ตามความผิดในกฎหมายอาญา ๖ ข้อและกฎหมายปกติอีก ๒๐ ฉบับ (พรบ.เด็ก แรงงาน ป่าไม้ สรรพสามิต ทางหลวง ขนส่ง โรงงาน ท่องเที่ยว ฯลฯ)” เพียงใช้ข้ออ้างว่า “เพื่อปราบผู้มีอิทธิพล”
แต่แท้จริงเป็นการ “ขยายอำนาจของทหารไปสู่อำนาจตำรวจ ให้ร่วมเป็นพนง.สอบสวน ทำหน้าที่ตำรวจได้ ให้จนท.ทหาร "เป็นพนง.สอบสวนและจนท.ตำรวจ" ในคนๆ เดียว โดยไม่อยู่ภายใต้ศาลปกครอง (ขณะที่ตำรวจยังต้องมีหมายศาล) นี่เท่ากับแผ่อำนาจทหารครอบคลุมสังคมเศรษฐกิจโดยรวม”
ประหนึ่งเป็นการ “ขันน็อต กระชับและขยายอำนาจ แผ่ครอบคลุมให้เบ็ดเสร็จเพื่อ ‘กด’ กระแสการเคลื่อนไหวให้หมดไป และเพื่อรับมือกับการเคลื่อนไหว ‘โหวตโน’ ร่างรธน.ที่กำลังจะเกิดขึ้น” ด้วย
(https://www.facebook.com/pichitlk/posts/1032117620189389?pnref=story)
ไม่เพียงแค่นั้น การใช้อำนาจอย่างทหารล่วงล้ำกล้ำเกินเข้าไปในชีวิตส่วนบุคคลของประชาชน ยังแตกหน่อออกมาในรูปแบบของการจัด ‘หลักสูตรอบรม เพื่อปรับทัศนคติ’
ก่อนหน้านี้มีการประกาศใช้หลักสูตรอบรมกับนักการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้นหลังจากที่มีนักเรียน-นักศึกษาสามคนไปยกป้ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่กำหนดให้รัฐอำนวยการศึกษาฟรีแก่ประชาชน ลดจาก ๑๕ ปีเหลือ ๑๒ ปี
สำหรับเหตุการณ์ประท้วงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นั้นรายงานข่าวบอกว่า
“ได้มีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ชูป้ายข้อความที่ระบุว่า ‘ร่างรัฐธรรมนูญอย่าทำร้ายเยาวชน #เอาม.ปลายฟรีของเราคืนมา’ และ ‘อนุบาลฟรีก็ดี แต่ม.ปลาย/สายอาชีพฟรี ก็ต้องมี ไม่ต้องง้อกองทุน #เอาม.ปลายฟรีของเราคืนมา’
ทำให้การปาฐกถาของนายมีชัยหยุดชะงักลง จนอาจารย์และเจ้าหน้าที่ได้มาเชิญกลุ่มนักเรียนดังกล่าวออกจากห้องไป โดยผู้ร่วมสัมมนาได้ตะโกนต่อว่า พร้อมขับไล่ ว่า ‘เรียนเตรียมอุดมเสียเปล่า แต่ไม่มีมารยาท’
นายมีชัยจึงได้กล่าวปาฐกถาต่อว่า เรื่องนี้สะท้อนชัดเจนว่า เราต้องได้รับการศึกษาเพื่อให้คนมีวินัยและมีความอดกลั้น เพื่อรับฟังความเห็นคนอื่น ซึ่งสำคัญมาก ที่บ้านเมืองไม่ได้เดินหน้าเพราะเยาวชนขาดวินัย การบังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัด”
(http://www.matichon.co.th/news/95557)
เช่นนั้นเลยทำให้ทีมโฆษก คสช. ออกมาแถลงขยายขอบข่ายอบรมไปถึงนักเรียนและนักศึกษาด้วย
โดย พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกฯ กล่าวว่า “หลักสูตรดังกล่าวเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ซึ่งหลักสูตรนี้คล้ายหลักสูตรทหารโดยทั่วไป โดยมีกรมกิจการพลเรือนทหารบกเป็นผู้รับผิดชอบ...
(และ) ขอย้ำว่าเราไม่ได้บังคับให้มีความคิดเห็นเหมือนรัฐบาล และ คสช. เพียงแต่ขอให้มีความคิดเห็นทางที่สร้างสรรค์เท่านั้น”
(http://www.matichon.co.th/news/96178)
กระนั้นก็ดี ดร.เกษียร เตชะพีระ กรุณาเพิ่มเติมให้ “ในฐานะครูสอนหนังสือมาร่วมสามสิบปี พอมีประสบการณ์บ้าง ผมขอแนะนำอะไรสักเล็กน้อยนะครับ
การเรียนรู้พูดให้ถึงที่สุดต้องเกิดจากความสมัครใจ จึงจะเรียนรู้ได้ผล การเรียนรู้ไม่ใช่สิ่งที่บังคับกันได้
นั่นแปลว่าถ้าผู้เรียนไม่อยากเรียน ต่อให้บังคับขับไสเคี่ยวเข็ญเขาอย่างไร เขาก็ไม่เรียนรู้อยู่ดี ในทางกลับกันถ้าผู้เรียนอยากเรียนรู้เสียอย่าง ต่อให้ขัดขวางกีดกันห้ามปรามเขาอย่างไร เขาก็หาทางเรียนรู้เองจนได้
แปลกไหมครับ?
สำหรับวินัยนั้น เป็นสิ่งเกิดขึ้นตามมาหลังจากเขาอยากเรียนรู้แล้ว โดยอาศัยความอยากเรียนรู้นั่นแหละ เป็นฐานจูงใจให้เขายอมรับวินัยบางอย่างเพื่อประโยชน์แห่งการเรียนรู้นั้น เช่น การตรงต่อเวลา เคารพสถานที่และกระบวนการเรียนรู้ ทำงานอย่างรับผิดชอบ ฯลฯ
วินัยที่ยั่งยืนเกิดมากจากข้างในใจของบุคคลที่เห็นดีเห็นงามเห็นความสำคัญและอยากทำเอง วินัยที่บังคับยัดเยียดให้ด้วยกำลังจากภายนอกนั้น เป็นวินัยฟองสบู่ มันอยู่ด้วยฟองอากาศแห่งความกลัว เดี๋ยวก็แตก
ถ้าเห็นจริงว่า ไม่มีใครกุมความคิดอ่านที่ถูกต้องเบ็ดเสร็จทั้งหมดไว้ผู้เดียวฝ่ายเดียว หากต้องอาศัยการรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้ว ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่จะจัดงานสานเสวนา
‘ปรับทัศนคติเข้าหากัน’ ทุกฝ่าย ไม่ใช่ถือฝ่ายหนึ่งเป็นสรณะ แล้วให้ฝ่ายอื่นปรับเข้าหาท่าเดียว จะได้ผลดีต่อประเทศชาติมากกว่าครับ”
(https://www.facebook.com/kasian.tejapira/posts/10209078623665642?fref=nf)