พวงทอง ภวัครพันธุ์ เขียนบทความเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปีของเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษา-19 พฤษภา 2553 และ 40 ปี 6 ตุลา
ที่มา ประชาไท
Sun, 2016-04-10
พวงทอง ภวัครพันธุ์
เป็นที่รู้กันดีว่าวัฒนธรรมประการหนึ่งที่เข้มแข็งอย่างมากในสังคมไทยคือ วัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับผิด (Culture of impunity) ของผู้มีอำนาจที่กระทำความผิดต่อชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, และเมษายน-พฤษภาคม 2553 แม้ว่าในบางกรณีผู้มีอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องลงจากอำนาจในทันที แต่ความพยายามที่จะนำผู้กระทำผิดต่อประชาชนมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แทบไม่เกิดขึ้นเลย
พูดกันให้ถึงที่สุด การเรียกร้องให้ดำเนินคดีทางอาญากับผู้มีอำนาจเหล่านี้ออกจะเป็นสิ่งที่มากเกินไปด้วยซ้ำ เพราะในความเป็นจริง แค่คำกล่าวขอโทษหรือสำนึกผิดจากพวกเขาก็ไม่เคยปรากฏ แต่ฝ่ายประชาชนก็เฉลิมฉลองชัยชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภา 35 ได้อย่างสะดวกใจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรงสักเท่าไร ฝ่ายพ่ายแพ้ก็ยังอยู่ดีมีสุขต่อไป ช่างเป็นชัยชนะที่แปลกประหลาดสิ้นดี
ภาวะซ้ำซากเช่นนี้ทำให้ความหวังที่จะได้เห็นการคืนความความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเหยื่อจากเหตุการณ์ทั้งเก่าและใหม่ ช่างริบหรี่เสียเหลือเกิน คนเดือนตุลาจำนวนมากที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุคงทำใจแล้วว่า ชั่วชีวิตนี้พวกเขาคงไม่มีโอกาสได้เห็นความยุติธรรมให้กับเพื่อนๆ ที่เสียชีวิตไป ขณะที่รัฐประหาร 2557 ทำให้ครอบครัวของเหยื่อในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 รู้สึกว่าหนทางต่อสู้เพื่อความยุติธรรมนั้นยังอีกยาวไกลและยากลำบากขึ้นอีกมากมาย
ภาวะลอยนวลจากการรับผิดอันซ้ำซากนี้จึงบั่นทอนจิตใจและความหวังของผู้ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง และนี่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมากยุติการเคลื่อนไหวเรียกร้องในที่สุด
แต่ท่ามกลางความสิ้นหวังในสังคมไทยนี้ การรับรู้ประสบการณ์การต่อสู้ของเหยื่อความรุนแรงในประเทศอื่นๆ อาจช่วยเป็นทั้งกำลังใจ ความหวัง และบทเรียนข้อคิดสำหรับเราได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาร์เจนตินา ชิลี บราซิล เปรู พวกเขาใช้เวลาต่อสู้เรียกร้องยาวนานถึง 20-30 ปี ในบางกรณี แม่ที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกกลับถูก “อุ้มหาย” (forced disappearance)ไปแบบเดียวกับลูกๆ ของตน แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ยอมแพ้
เหยื่อในประเทศเหล่านั้นเคยผ่านช่วงเวลา “หมดหวัง” ที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายเมื่อมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ แต่การไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรมและการเปลี่ยนแปลงหลายประการในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้พลิกฟื้นโอกาสให้กับเหยื่อในที่สุด ดังเช่นกรณีเหล่านี้
“สงครามสกปรก” (the Dirty War) ในอาร์เจนตินาโดยรัฐบาลทหารระหว่างปี 1974-1983/2517-2526 ประมาณว่ามีคนหนุ่มสาวเสียชีวิตจากการอุ้มหายและทรมานราว 30,000 คน แม้ว่าเมื่อรัฐบาลทหารหมดอำนาจลง รัฐบาลที่มีจากการการเลือกตั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้น เปิดเผยถึงความโหดเหี้ยมของทหาร แต่อิทธิพลของทหารยังดำรงอยู่ รัฐบาลพลเรือนเกรงกลัวว่าทหารอาจทำรัฐประหารยึดอำนาจ ทำให้โอกาสที่ประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปได้ต้องหยุดชะงักลง รัฐบาลพลเรือนจึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1986/2529 เสียเอง และยังสรรเสริญกองทัพที่ช่วยปกป้องประเทศจากการถูกบ่อนทำลาย
แต่ในปี 2005/2548 ศาลฎีกากลับตัดสินว่ากฎหมายนิรโทษกรรม “ขัดกับรัฐธรรมนูญ” นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีกับสมาชิกของรัฐบาลทหาร ในปีถัดมา อดีตเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในค่ายกักกันรวม 20 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาลักพาตัว ทรมาน ฆาตกรรมประชาชน พวกเขาถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 12 ปีถึงตลอดชีวิต ในคำตัดสินคดีนี้ ศาลระบุว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทหารคือ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity)[1]
ในปี 2012/2555 การดำเนินคดีครั้งใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินาเริ่มขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ 68 นายถูกดำเนินคดีด้วยข้อหารวม 800 ข้อหา[2] จนถึงปี 2013/2556 มีเจ้าหน้าที่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลถึง 2,088 คนจากจำนวน 381 กรณี[3]
ความสำเร็จในกรณีอาร์เจนตินาเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่ามีความพยายามในลักษณะเดียวกันที่จะล้มล้างกฎหมายนิรโทษกรรมให้จงได้
ในบราซิล กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1964/2507 และอยู่ในอำนาจต่อถึง 21 ปี ในปี 1979/2522 รัฐบาลทหารออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับพวกพ้องของตนเอง อีกทั้งสังคมบราซิลในขณะนั้นตกอยู่ในภาวะ “ถูกวางยา” คนส่วนใหญ่ไม่สนใจการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารและผลกระทบที่เกิดกับเหยื่อ
หลังจากบราซิลเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงกลางทศวรรษ 1980s ความพยายามที่จะรื้อฟื้นความยุติธรรมค่อยๆ เริ่มขึ้น แต่ก็ต้องรอจนถึงปี 2011/2554 กว่ารัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงขึ้นมา ซึ่งได้เปิดเผยรายงานในปี 2014/2557 ที่สรุปว่าภายใต้รัฐบาลทหาร มีประชาชน 191 คนถูกสังหาร 243 คนถูกอุ้มหาย มีคนมากกว่า 50,000 คนถูกจับกุมคุมขัง คนหลายพันคนถูกทรมานอย่างทารุณ และมากกว่า 10,000 คนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แม้ว่าตัวเลขผู้เลขผู้เสียชีวิตจะไม่สูงเท่ากรณีอาร์เจนตินา แต่ระบอบทหารบราซิลขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยมในการทรมานเหยื่อ ซึ่งได้เรียนรู้เทคนิคมาสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหยื่อที่รอดชีวิตจากการทรมาน ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และกลุ่มสิทธิมนุษยชนพยายามต่อสู้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงล้มเลิกกฎหมายนิรโทษกรรม[4]
กรณีชิลี ภายใต้เผด็จการทหารของนายพลออกัสโต ปิโนเช่ ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในปี 1973/2516 และอยู่ในอำนาจถึงปี 1990/2533 ในปี 1978 ปิโนเช่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 1973-1978 หลังปิโนเช่ลงจากอำนาจ รายงานของคณะกรรมการค้นหาความจริงฯ สรุปว่าภายใต้ 17 ปีของปิโนเช่ มีคนถูกสังหาร 3,216 และคนที่รอดชีวิตจากการถูกคุมขังและทรมานรวม 38,254 คน[5] คนราวแสนคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
ในปี 1998/2541 ปิโนเช่เดินทางไปอังกฤษเพื่อรับการผ่าตัดหลัง แต่ต้องถูกจับกุมตัวในวันที่ 17 ตุลาคม หรือเจ็ดวันหลังจากศาลสเปนรับคำฟ้องว่าปิโนเช่ได้กระทำความผิดในข้อหาคุมขังทรมานพลเมืองสเปนที่อาศัยอยู่ในชิลี 94 คน และสังหารนักการทูตสเปนอีกหนึ่งคน โดยศาลสเปนยืนยันว่าตนมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีที่เป็นสากลแม้ว่าชิลีจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมให้ปิโนเช่แล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ในที่สุด รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจส่งปิโนเช่กลับชิลี แทนที่จะส่งตัวให้รัฐบาลสเปน ด้วยเหตุผลว่าเรื่องสุขภาพของปิโนเช่
แม้ว่าปิโนเช่จะยังมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่สูงจนทำให้รัฐบาลชิลีในขณะนั้นพยายามปกป้องปิโนเช่ แต่เหตุการณ์ที่สเปนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชิลีในเวลาต่อมา ในเดือนธันวาคม 2000/2543 ปิโนเช่ถูกอัยการสูงสุดยื่นฟ้องในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “คาราวานแห่งความตาย” โดยเป็นการ “ลักพาตัว” ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 75 คนที่หายสาปสูญไปในที่สุด แต่คดีนี้ศาลตัดสินระงับการดำเนินคดีเพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพของปิโนเช่อีกเช่นกัน กระนั้นก็ตาม ปิโนเช่ก็ต้องเจอกับการฟ้องร้องอีก 177 คดี ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ศาลมีคำสั่งให้คุมขังเขาไว้ในบ้าน แต่ในที่สุด ปิโนเช่เสียชีวิตก่อนที่จะมีการตัดสินคดีใด ๆ ปัจจุบันมีความพยายามผลักดันให้กฎหมายนิรโทษกรรมปี 1978 เป็นโมฆะ
แน่นอนว่าการต่อสู้ที่ใช้เวลา 20-30 ปีเหล่านี้ ไม่ได้อาศัยเพียงเจตจำนงของผู้ที่ต้องการเห็นวัฒนธรรมแห่งการไม่รับผิดดำเนินต่อไป แต่มีความซับซ้อนของปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ความเสื่อมสลายของระบอบทหาร ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมและสถาบันประชาธิปไตย ข้อมูลความโหดเหี้ยมที่ปรากฏออกมามากขึ้น ความรู้สึกของสังคมโดยรวมที่มีต่อระบอบทหารเริ่มเปลี่ยนไป การตีความใหม่และค้นพบช่องโหว่ทางกฎหมาย ฯลฯ เหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่สังคมไทยที่มีวัฒนธรรมแห่งการไม่ต้องรับผิดเกิดขึ้นซ้ำซาก ควรได้พิจารณา ฉะนั้น ผู้เขียนหวังว่าจะนำเสนอรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การยุติวัฒนธรรมแห่งการไม่รับผิดของสามประเทศต่อไปในโอกาสข้างหน้า
เชิงอรรถ
[1] “Justice for Laura: 20 repressors convicted”, Bueno Aires Herald. October 25, 2014,
http://buenosairesherald.com/article/173044/justice-for-laura-20-repressors-convicted
[2] “Largest trial of 'Dirty War' crimes starts in Argentina”, BBC, 28 November 2012,
http://www.bbc.com/news/world-latin-america-20523955
[3] Argentina Dirty War - 1976-1983, Global Security.
http://www.globalsecurity.org/military/world/war/argentina.htm
[4] Transitional Justice in Brazil. https://transitionaljusticeinbrazil.com/
[5] Amnesty International, “Chile: 40 years on from Pinochet’s coup, impunity must end”,
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2013/09/chile-years-pinochet-s-coup-impunity-must-end/