วันจันทร์, เมษายน 04, 2559

รัฐประหาร ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ใช่หรือไม่?





รัฐประหาร ไม่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ‪#‎วิชาTP102รัฐศาสตร์เบื้องต้น‬ (Introduction to Political Science)

ประเทศต้องการเสถียรภาพทางการเมือง เพราะนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการทำให้ประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสร้างสรรค์ ซึ่งอาจใช้คำที่คนไทยคุ้นเคยได้ว่า อยู่อย่างปรองดอง อย่างสมานฉันท์ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมีชาติกำเนิดเช่นไรก็ตาม

เสถียรภาพทางการเมืองจะนำมาซึ่งความเจริญมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางความคิด การผลิตและชีวิต รวมทั้งการลดทอนทำลายสภาพรวยกระจุกที่คนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ครองทรัพย์สิน 75%-80% ของทั้งหมดประเทศ

ประชากรไทย 67 ล้านคน = มีกลุ่มที่รวยกระจุก 6.7 ล้านคน ที่เหลือคือ จนกระจาย 60.3 ล้านคน ซึ่งไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่คนรวยกระจุกในอันดับที่ 6 ของโลกนี้

เสถียรภาพทางการเมือง (political stability) จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาทางการเมือง (political development) ซึ่งนี้คือวิชาที่สำคัญหนึ่งของการศึกษารัฐศาสตร์ต่อประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา

แต่ในรอบ 70 ปีที่ผ่านมาของไทย ตั้งแต่ปี 2490 การมีทหารรัฐประหาร 11 ครั้ง มีรัฐประหารล้มเหลวและกวาดจับกบฏอีก 8 ครั้ง รวม 19 ครั้ง

ดังนั้น เฉลี่ยทุก 3 ปีครึ่ง มีทหารและผู้สนับสนุน (ส่วนใหญ่คือ 10% ของประชากรจากกลุ่มรวยกระจุก) ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังรัฐประหารหนึ่งครั้ง ย่อมเท่ากับว่า รัฐประหารไม่ได้ก่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง แต่กลับทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ไร้เสถียรภาพและวุ่นวายตลอดมา

ขณะเดียวกัน รัฐประหารทุกๆ สามปีครึ่ง ย่อมชัดเจนว่า ไม่ได้ทำให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาในเรื่องปรองดองสามัคคีสมานฉันท์ แต่กลับเห็นได้เพิ่มขึ้นว่า การใช้อำนาจดิบๆ แบบรัฐทหารเผด็จการ ไม่อาจจะปิดบังประชาชนจำนวนมากจากการไม่ยอมรับอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ที่กินรวบแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป

รัฐประหารจึงเป็นเสมือนใบบัวที่ปิดช้างไม่มิด

ดังนั้น รัฐประหารทุกๆ 3 ปีครึ่งตลอด 70 ปีของไทย คือวิธีการที่ต้องใช้อำนาจและความรุนแรงกำจัดกำหราบปราบประชาชนที่ไม่เชื่อและไม่เชื่องในอำนาจนำของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มอำนาจแบบเดิมๆ อีกต่อไป

รัฐประหาร ในความหมายที่แท้จริงแล้ว คือเครื่องมือของการทำลายเสถียรภาพและความเจริญมั่งคั่งรุ่งเรืองของประเทศชาติ และทำลายล้างหลักเอกภาพปรองดองสมานฉันท์ในความหลากหลายของประชาชน เพื่อให้ก้มหน้ายอมรับอย่างไร้ข้อต่อรองโต้แย้งกับกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจแบบรวยกระจุกเดิมๆ ตลอด 70 ปีมานั่นเอง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์