วันศุกร์, เมษายน 15, 2559

ฟังคลิปฉบับเต็ม "ประยุทธ์ดูถูกชาวนา-คนตัดหญ้า" + ถึง 'ประยุทธ์-ปีย์' ปชช.ไปถึงไหนแล้ว เปิดวิจัยลบวาทกรรม 'ประชาชนโง่ ซื้อเสียง'




https://www.facebook.com/stopfakethailand/videos/987537888009627/

คลิปฉบับเต็ม "ประยุทธ์ดูถูกชาวนา-คนตัดหญ้า"

(จริงๆวีดีโอเต็มมัน 40 นาที แต่เอาช่วงที่พูดชัดประมาณ 2 นาทีกว่าๆมาให้ชมกัน)

ไอ้พวก "คนดี" หาว่าเพจดัดจริตตัดต่อคลิปใส่ร้ายประยุทธ์ คือถ้าเอาคลิปขนาดนี้มาให้ดูแล้วยังว่าตัดต่อก็เอาที่มึงสบายใจเถอะนะ ส่วนคนที่บอกว่า "ท่านก็พูดถูกแล้วนี่ เลือกตั้งมีการซื้อเสียง"

เออ.....ไม่เถียง ว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมันมีการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลย ประเทศที่พัฒนาแล้วมีเรื่องการทุจริต การซื้อเสียงหมด แต่การมาพูดดูถูกชาวนา-คนตัดหญ้า ว่าไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ไม่เข้าใจการเมือง มันเป็นแนวคิดล้าหลังของพวกชนชั้นนำ ที่เอาไว้กดหัวคนชั้นล่าง แล้วบอกว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตย วิธีแก้ไขคือต้องพัฒนาคุณภาพคน ไม่ใช่มาพูดจาโง่ๆ ดูถูกเขา

เอาแบบนี้ไหม เดี๋ยวจัดเวทีดีเบตเลย เอา "ประยุทธ์" เจอกับ "ชาวนา" สักคน
ที่หนึ่งของรุ่น เจอกับชาวนาจบ ป.4 คุยกันเรื่อง "ประชาธิปไตย" กล้าไหม?

ถึงแม้ว่าชาวนา-คนตัดหญ้า เขาอาจจะไม่มีความรู้เท่าพวกคนดี แต่อย่างน้อยเขาก็ทำอาชีพสุจริต เขาก็คือประชาชน พลเมืองของประเทศ สิทธิความเป็นมนุษย์เขามีไม่ต่างจากคนรวย อย่าเอาความคิดเลวๆมาดูถูกคุณค่าความเป็นมนุษย์

เข้าใจตรงกันนะ

@ หยุดดัดจริตประเทศไทย
14 เมษายน 2559



ooo

ถึง 'ประยุทธ์-ปีย์' ปชช.ไปถึงไหนแล้ว เปิดวิจัยลบวาทกรรม 'ประชาชนโง่ ซื้อเสียง'



ที่มา ประชาไท
2016-04-14

เกษียรชี้ข้ออ้าง 'ประชาชนไม่รู้/ไม่พร้อม' คือการตัดโอกาสปชช.เรียนรู้ประชาธิปไตย อภิชาตระบุชาวบ้านรู้จักต่อรองทุกระดับ/รูปแบบกับนักเลือกตั้ง ปริญญาเผยผลวิจัยชี้ซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้/ชนะเลือกตั้งอีกต่อไป ผาสุก-คริส ชี้แบบแผนเลือกตั้งเปลี่ยนไปจาก 30 ปีก่อนแล้ว จนซื้อเสียงไม่เป็นตัวชี้ขาด วิจัยของสิริพรรณไม่ปฏิเสธการซื้อเสียง แต่ผู้สมัครที่ใช้เงินมหาศาลกลับไม่ชนะ ปชช.เลือกที่พรรคการเมือง นโยบาย ฯลฯ





หากพูดถึงวาทะร้อนทางการเมืองตอนนี้คงหนีไม่พ้นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่เพจ 'หยุดดัดจริตประเทศไทย' หยิบมาเผยแพร่ต่อ ซึ่งเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดไว้เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา


"ประชาชน เดี๋ยวผมจะถามคุณให้ดูนะ ผมจะถามไอ้ข้างนอก(ทำเนียบ) ไอ้ที่ตัดหญ้ามันรู้เรื่องไหม คุณจะมาพูดคำว่าประชาชนกับผมนักเลย ชาวนารู้เรื่องสักกี่คน เขาหากินงกๆๆทุกวัน เพราะไอ้..ทำให้เขายากจนออยู่ทุกวันนี่ เขารู้เรื่องไหม นั่นล่ะประชาชนที่เขาอ้างกันแล้วทำไมจนอยู่เล่า ทำไมไม่ทำให้เขา พูดประชาชนอยู่ได้สักกี่คนที่สนใจรัฐธรรมนูญ ตอบมาดิ ..ผมถามคนบางคนเดี๋ยวใกล้เลือกตั้งก็มีค่ารถกลับบ้านอีก มีค่าเดินทางไปไหนมาไหนทำไมเขาพูดกันอย่างนั้นล่ะ แล้วเขาไม่รู้สึกผิดหรอ ไม่ผิดอะ เขาก็รับเงินมา ได้รับเงินก็ดีเหมือนกันเลือกตั้ง ไอ้คนดีโอโหตั้งใจเลือกแทบตาย ปรากฏไม่ได้หรอก" พล.อ.ประยุทธ์


คำพูดในลักษณะที่มองประชาชนยังไม่เท่าทันทางการเมืองและขายเสียงนั้น ไม่เพียง พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น หากแต่สะท้อนผ่านความคิดของกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นนำโดยตลอด เช่นเมื่อต้อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ เครือแปซิฟิก ผู้รับสัมปทานดำเนินการ สถานีวิทยุ จส.100 และประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารดิฉัน และ คอสโมโพลิแทน (Cosmopolitan) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ new)talk ดำเนินรายการโดย อัญชะลี ไพรีรัก ซึ่ง ปีย์ กล่าวในลักษณะเดียวกันคือ ประชาชนยังขายเสียและยังต้องให้การศึกษากับประชาชน


"พูดอย่างนั้นเขาก็ไม่ฟังครับ ต้องบอกคุณทำอย่างไรถึงจะยืดได้ ถ้าเขาไม่ยอมประเทศก็เป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่าวันนี้เรานั่งกันนี้ เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปกันทางไหน บ้านผมพูดง่ายๆ ครับ ผมมีคนทำงานที่บ้านสัก 8-9 คน ช่วงเลือกตั้ง ทุกคนลากลับบ้านกันหมดไปเลือกตั้ง ถามไปทำไม ไปรับเงิน ถ้าตราบใดมันเป็นอย่างนี้ประเทศจะเป็นอย่างไร เราต้องแก้ปัญหาเริ่มที่ให้การศึกษา ให้คนเราเข้าใจจริงๆ ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ความเสมอภาคคืออะไร ความเหลื่อมล้ำมันต้องมีขนาดนั้น ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันจนขนาดนี้" ปีย์ กล่าว


เกษียร ชี้ข้ออ้าง 'ประชาชนไม่รู้/ไม่พร้อม' คือการตัดโอกาสปชช.จะได้เรียนรู้ประชาธิปไตย

วันนี้ (14 เม.ย.59) เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า ในหัวข้อ 'คนตัดหญ้าข้างนอกทำเนียบและชาวนาจะเรียนรู้การเมืองประชาธิปไตยได้อย่างไร?'

โดยเกษียร ระบุว่า 


เป็นอันว่าวิสัยทัศน์เกี่ยวกับพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้ใช้แรงงานและที่อยู่ในชนบทกับระบอบประชาธิปไตยของท่านนายกฯพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สอดรับกับของแกนนำกปปส.อย่างคุณจิตภัสร์ กฤดากร, เสรี วงษ์มณฑา, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ฯลฯ ที่ได้เคยแสดงปรากฏออกมา อย่างเปิดเผยชัดเจนเสียที

จะว่าไปนี่ก็ไม่เหนือความคาดหมายและไม่มีอะไรแปลกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คำพูดของท่านนายกฯทำให้ผมนึกถึงคาบแรกของวิชาต่าง ๆ ที่ผมสอนนักศึกษาปริญญาตรีทั้งหลายที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

หนแรกที่พบเห็นหน้าค่าตานักศึกษาใหม่สดใสซิง ๆ เป็นสิบเป็นร้อย ขณะที่ผมไม่ด่วนสรุปว่าพวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย แต่ผมก็ไม่คิดว่าพวกเขาเข้าใจเนื้อหาวิชารัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่ผมกำลังจะเริ่มสอนพวกเขาอย่างเรียบร้อยถ่องแท้ทะลุปรุโปร่งหมดแล้วล่วงหน้า มิฉะนั้นพวกเขาจะเสียเวลามาลงเรียนทำไม ใช่ไหมครับ?

ผมจึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพวกเขาคงยังไม่รู้ จึงได้มาลงเรียนหาความรู้ แต่ขณะเดียวกันผมก็สันนิษฐานไว้เช่นกันว่าพวกเขามีศักยภาพเช่นเดียวกับผมและคนทั้งหลายในสังคมที่สามารถจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้ หากอยู่ในเงื่อนไขเอื้ออำนวยที่เหมาะสม เหมือนกับที่ผมได้เคยเรียนรู้เนื้อหาวิชาเหล่านี้ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนและจะนำมาสอนพวกเขาเหมือนกัน

คงมีข้อต่างอยู่บ้างระหว่างการเรียนในห้องเรียน กับการเรียนรู้การปกครองตัวเองแบบประชาธิปไตย ในเรื่องนี้ ผมเห็นตามโรซ่า ลุกเซมบูร์ก นักคิดหญิงสังคมนิยมประชาธิปไตยชาวเยอรมันที่ว่า หนทางเดียวที่ประชาชนจะเรียนรู้ประชาธิปไตยได้ คือให้เขาได้ประสบและปฏิบัติการเมืองระบอบประชาธิปไตยโดยตรงด้วยตัวเองเลย ไม่มีโรงเรียนใดในโลกจะสอนพวกเขาให้เรียนรู้เจนจบความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยสำเร็จรูปก่อนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงได้ มีแต่พวกเขาต้องเข้าไปทำเองเรียนรู้เองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยด้วยการปฏิบัติประชาธิปไตยเองดังกล่าวคงไม่สะดวกโล่งเรียบง่าย หากยืดเยื้อยาวนาน มีอุปสรรคกีดขวาง บกพร่องผิดพลาด โน้มเอียงเบี่ยงเบน สะเปะสะปะ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ บ้าง แต่ผมเกรงว่านี่เป็นวิธีการเดียวที่ประชาชนจะสรุปบทเรียนและเรียนรู้ประชาธิปไตยได้ ไม่มีวิธีอื่น

ในความหมายนี้ การยุบเลิกระบอบประชาธิปไตยไปดื้อ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่านับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา โดยอ้างว่าประชาชนไม่รู้หรือไม่พร้อมก็คือการตัดโอกาสที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ประชาธิปไตยไปเรื่อย ๆ ตลอดกาลนั่นเอง

อภิชาต ระบุชาวบ้านรู้จักต่อรองในทุกระดับและทุกรูปแบบกับนักเลือกตั้ง

ขณะที่หลายปีที่ผ่านมามีงานวิจัยและงานศึกษาที่เสนอออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชาชนไม่ได้โง่หรือขายเสียง หรือการซื้อเสียงไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญแต่อย่างเดียวในการตัดสินใจอีกต่อไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 54 อภิชาต สถิตนิรามัย เขียนบทความชื่อ 'สิทธิเลือกตั้ง เงินซื้อเสียง ใครโง่ ?' (อ่านรายละเอียด) ซึ่งสรุปว่า การซื้อเสียงซึ่งขาดไม่ได้ในทุกระดับการเลือกตั้ง คงไม่ได้หมายความว่าเป็นเพราะชาวบ้านเป็นคนยากจน อยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ และขาดวิธีคิดที่ซับซ้อน แต่อาจหมายถึงเพราะการที่ชาวบ้านพึ่งตัวเองได้และคิดแบบ calculative ต่างหาก ในขณะที่เขาก็ตระหนักดีด้วยว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินยังคงสูงมาก เขาจึงต่อรองในทุกระดับและทุกรูปแบบกับนักเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสดในระหว่างการเลือกตั้ง และโครงการที่ "กินได้" ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในช่วงที่ไม่มีการเลือกตั้ง และเขารู้ดีว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิผลที่สุดในการกระจายรายได้และทรัพย์สินก็คือ การเลือกตั้งที่ทุกคนมี 1 เสียงเสมอหน้ากัน เพราะเขาคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม

ปริญญา เผยผลวิจัยชี้การซื้อเสียงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้/ชนะเลือกตั้งอีกต่อไป 

เมื่อ 17 ส.ค. 2555 ในการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง” โดยการวิจัยดังกล่าวได้สุ่มตัวอย่างผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 941 คน ในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่ผ่านมา พบว่า ในส่วนการเลือกตั้งระดับชาติปัจจุบันการใช้เงินเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตนเองในการเลือกตั้งระดับชาติ มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยลงจากเดิม และไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการแพ้หรือชนะการเลือกตั้งอีกต่อไป


ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ยอมรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ถึงร้อยละ 46.79 และที่ตอบว่า แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก มีร้อยละ 48.62 ส่วนผู้ที่ตอบว่าเลือกเพราะได้รับเงินมีเพียง 4.59 ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสัมมนากลุ่มย่อยของผู้นำชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่พบว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกผู้สมัครเพราะเงิน

นอกจากนี้ยังพบว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นและความรู้สึกผิดที่รับเงิน แล้วไม่เลือกหรืออาจเป็นบาปที่เลือกลดลงไป ทำให้ในการตัดสินใจเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ ปัจจุบันผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล โดยจากผลสำรวจในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 54 แม้ในแบบแบ่งเขต ซึ่งเลือกเฉพาะชอบตัวบุคคลคิดเป็นร้อยละ 46.26 ขณะที่เลือกเพราะชอบนโยบายพรรค ร้อยละ 37.64 และเลือกเพราะอยากได้หัวหน้าพรรค ร้อยละ 16.10 แต่เมื่อรวมผลสำรวจระหว่างการเลือกเพราะชอบนโยบายพรรคและอยากให้หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ เท่ากับว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชน เลือกพรรคมากกว่า ร้อยละ 53.74

การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนมาใช้ทำให้พรรคการเมืองต้องแข่งขันกันในทาง นโยบายมากขึ้น ตัวผู้สมัครมีความสำคัญลดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคมากขึ้น ส่งผลให้การใช้เงินซื้อเสียงได้ผลน้อยลง นอกจากนี้ความแตกแยกแบ่งข้างทางการเมืองในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ยังทำให้ประชาชนพิจารณาเลือกพรรคมากกว่าตัวบุคคล และทำให้การรับเงินแล้วไม่เลือกมีมากขึ้น

ผลวิจัยยังระบุว่า การให้เงินปัจจุบันไม่ใช่ความสัมพันธ์ในลักษณะการซื้อและการขายเสียงอีกแล้ว เพราะการให้จะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกตนเอง แต่เป็นการให้ลักษณะให้เปล่าคล้ายเบี้ยเลี้ยงหรือสินน้ำใจ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่าถ้าได้รับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือเป็นการไม่ซื่อสัตย์ โดยจำนวนเงินที่มีการจ่ายกันก็เพียง 300-500 บาท ไม่มากเหมือนสมัยก่อน ซึ่งผู้สมัครที่ยังใช้เงินก็รู้ว่าได้ผลน้อย แต่ที่ยังต้องจ่ายเพราะกลัวแพ้หรือกลัวว่าอีกฝ่ายให้เงินจึงต้องให้เงินด้วย

ผาสุก-คริส ชี้แบบแผนการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจาก 30 ปีก่อนแล้ว จนการซื้อเสียงไม่เป็นตัวชี้ขาด

บทความ “Vote-buying claims nothing but dangerous nonsense” ของ ผาสุก พงไพจิตร เป็น ศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คริส เบเกอร์ (Christ Baker) เป็นนักประวัติศาสตร์ โดย ธรรมชาติ กรีอักษร แปล เผยแพร่ในประชาไท เมื่อปลายปี 56 นั้น ผาสุก และ คริส ชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค. 54 แบบแผนของการเลือกตั้งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ในพื้นที่ขนาดใหญ่แต่ละส่วนของประเทศ เขตการเลือกตั้งที่ติดกัน ส.ส. ที่มาจากพรรคเดียวกันมักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสาน ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยชนะขาดด้วยเสียงสนับสนุนมากกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนน้อยกว่าร้อยละ 10 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละ 50 ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น ในภาคใต้ (ยกเว้นบริเวณใต้สุดที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่) พรรคประชาธิปัตย์ชนะด้วยคะแนนมากกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยชนะด้วยคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 10

ผาสุก และ คริส มองว่า แบบแผนเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคุณคิดว่าการซื้อเสียงเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง ประเด็นคือ พรรคการเมืองจะซื้อเสียงเกินจำนวนคะแนนที่จำเป็นต้องใช้เพื่อชนะการเลือกตั้งขนาดนั้นไปทำไม สมัยที่การซื้อเสียงส่งผลจริง ๆ เมื่อ 30 ปีก่อน แบบแผนของผลการเลือกตั้งนั้นผิดแผกแตกต่างออกไปอย่างมาก สิ่งที่เราเห็นจากแบบแผนของปี 54 คือผลการเลือกตั้งที่มีฐานมาจากสำนึกร่วมกันของคนจำนวนมาก

ข้ออ้างผิด ๆ เกี่ยวกับการซื้อเสียงในปัจจุบันเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์เพื่อทำให้ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอลง ปัญหาที่แท้จริงคือประชาชนที่เข้าใจคุณค่าของคะแนนเสียงกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังใช้มันเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

วิจัยของสิริพรรณ ไม่ปฏิเสธการซื้อเสียง แต่ผู้สมัครที่ใช้เงินมหาศาลกลับไม่ชนะ 
 
ปลายปี 56 สิริพรรณ นกสวน รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวชี้แจงถึงงานวิจัย "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554: ศึกษาบทบาทพรรคการเมือง และพฤติกรรมและการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง" (อ่านรายละเอียด) ด้วยว่า งานวิจัยมิได้ปฏิเสธว่า ไม่มีการซื้อเสียง ข้อค้นพบในหลายพื้นที่คือ มีการใช้เงินจำนวนมาก แต่ผู้สมัครที่ใช้เงินมหาศาลกลับไม่ชนะ การศึกษาพบว่าปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ ได้แก่ พรรคการเมือง นโยบาย และความต้องการตอบสนองผลประโยชน์และความคาดหวังของตน ในขณะที่ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หัวคะแนน และการซื้อขายเสียงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลง และมีความซับซ้อนมากขึ้น


เรื่องที่เกี่ยวข้อง: