วันอาทิตย์, พฤษภาคม 03, 2558

เมื่อ "ผู้ใหญ่" กลายเป็น "เด็กน้อย" ดังเช่น ผู้ใหญ่ลี ที่ไม่รู้ว่า "สุกร" แปลว่าอะไร



กล้า สมุทวณิช : ผู้ใหญ่เพิ่งมา

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ในวัฒนธรรมไทยเรานับถือ "ผู้ใหญ่"

สำนวนไทยมากมายบอกย้ำว่าทำไมเราควรเคารพผู้ใหญ่ นั่นก็เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน ดังนั้น เติมตามหลังผู้ใหญ่หมาถึงไม่กัด เด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมจึงควรต้องรู้จักนิ้วก้อยหัวแม่มือ นี่คือสิ่งที่สำนวนไทยสั่งสอนสั่งสมกันมา

หรืออย่างหัวหน้าหมู่บ้านเราก็เรียก "ผู้ใหญ่บ้าน"

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมไทยที่ให้เคารพผู้ใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องตื้นเขินแค่เกิดมาหายใจหลายรอบกว่าก็ได้เป็นผู้ใหญ่ เพราะก็มีสำนวนเอาไว้เสียดสีผู้ชิงเกิดก่อนแต่ใช้ชีวิตอย่างเปล่าประโยชน์ ว่าเป็นพวก "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน" (หรือบางสำนวนหวือหวาหน่อยก็อาจว่า "แก่เพราะกินเหล้า เฒ่าเพราะดูดกัญชา") เพราะคนจะได้เป็น "ผู้ใหญ่" ไม่ใช่แค่ว่าคลอดมาแล้วอยู่รอดนานกว่าก็ได้เป็นผู้ใหญ่ แต่ก็ต้องมีการสั่งสมบางอย่าง ที่เราเรียกว่า "ประสบการณ์"

เหตุที่เรานับถือประสบการณ์ของผู้ใหญ่ นั่นก็เพราะความรู้และทักษะสมัยก่อนเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสม "ประสบการณ์" จึงเป็นที่มาของความรู้ที่สอนไม่ได้ ต้องฝึกฝน สังเกตและทำซ้ำเอาจนกระทั่งเกิดเป็นความชำนาญ เหมือนที่ชาวสวนผู้คร่ำหวอดจะรู้ว่า ไม้ผลต้นใดจะให้ลูกดกงาม หรืออย่างพ่อค้าทุเรียนที่แค่เคาะเปลือกฟังเสียงก็รู้ว่าลูกไหนสุกพอดีกิน หรือในทางศิลปะเขียนภาพฝาผนังอย่างสวยงามประณีต การเขียนบทกวีร้อยกรองหนังสือร้อยแก้วที่เน้นความไพเราะสละสลวย หรือลายมืออาลักษณ์อันงดงามเป็นเอกลักษณ์ ประสบการณ์เหมือนจะเป็นหนทางเดียวในการขัดเกลาความสามารถของบุคคลจนเกิดเป็นทักษะภูมิรู้

เพราะ "ความรู้" จาก "ประสบการณ์" ที่บ่มด้วยกาลเวลา ยิ่งนานยิ่งลงลึกเข้าไปในองค์ความรู้นั้นๆ เราจึงนับถือผู้ใหญ่ในแง่มุมเช่นนี้

นอกจากนี้ ตามปกติแล้ว ผู้ใหญ่ยังมีวุฒิภาวะโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นไปเพราะสภาวะชีวเคมีที่เรียกว่าฮอร์โมนผสมกับประสบการณ์ที่ว่านั้นด้วย ทำให้ผู้ใหญ่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีวิจารณญาณในการตัดสินใจที่รอบด้านกว่าผู้มีอายุและประสบการณ์เยาว์กว่า มักจะมีมุมมองที่รอบคอบหลากหลาย อย่างที่เรียกว่า "ผ่านโลกมามาก" ความเป็นของผู้อาวุโสในสังคมจึงเคยเป็นที่น่ารับฟัง

ที่ใช้คำว่า "เคย" เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกในทศวรรษหลัง ที่องค์ความรู้ในโลกสมัยใหม่นั้น จะต้องมีทั้งมิติที่ทั้งลึกและกว้าง ทั้งการถ่ายทอดและแพร่กระจายความรู้นั้นทำได้ง่ายดายแพร่หลายมากขึ้น ประสบการณ์จึงเป็นเพียงช่องทางหนึ่งสำหรับการแสวงหาความรู้ทางลึก ซึ่งเฉพาะประสบการณ์อย่างเดียวแต่ไม่มีช่องทาง หรือไม่คิดจะเปิดช่องทางสำหรับการเรียนรู้ ก็ยากที่จะได้ความรู้ทางกว้าง

ความรู้บางอย่างประสบการณ์ช่วยไม่ได้ เหมือนผู้ใหญ่ลี ที่ไม่รู้ว่า "สุกร" แปลว่าอะไร ก็เลยถูกตาสีหัวคลอนแซะเข้าไปให้ปล่อยไก่ว่าเป็นหมาน้อยธรรมดา

ยิ่งผู้ใหญ่บางท่านยังมีประสบการณ์อันจำกัด โดยส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการจำกัดประสบการณ์ตัวเอง ก็ทำให้ช่องทางการได้รับความรู้นั้นแคบลงไปอีก บางครั้งเรื่องที่เคยรู้ เคยเชื่อ เคยเข้าใจในยุคของท่าน กลับกลายเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ความแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ๆ ที่มากับกระแสโลก ทำให้มุขตลกบางอย่างที่สมัยก่อนก็พูดกันเป็นธรรมดา กลายเป็นเรื่องผิดวาทจรรยาที่เรียกว่า Political correctness เช่นการเหยียดเพศเหยียดพันธุ์ หรือเอาเรื่องเจ็บตายวายวอดของคนอื่นมาทำเป็นเรื่องตลกล้อเล่น อันเป็นเรื่องไม่ต้องไม่ควรในปัจจุบัน

หรืออย่างมารยาทในห้องอาหารยุคเก่า ที่ถือว่าเป็นที่สาธารณะในความหมายว่าที่อันไม่ใช่สมบัติของใคร โต๊ะไหนจะกินแล้วคะนองฤทธิ์คะนองเดชเฮฮาพูดจาอย่างไรก็ได้ไม่มีใครสนใจกัน แต่ในยุคที่ร้านอาหารตามจารีตสมัยใหม่นั้นเป็นที่สาธารณะแบบเป็นสมบัติส่วนรวมของทุกคน จะพูดจะจาอะไรก็ควรต้องเกรงใจคนที่เขาจะต้องเห็นต้องได้ยินบ้าง

โซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็เป็นอีกพื้นที่ซึ่ง "ผู้ใหญ่เพิ่งมา" ได้ราวๆ ปีสองปีนี้เอง จากการแพร่หลายของแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้ง่ายยิ่งกว่าเครื่องซักผ้าบางรุ่น ทำให้คนรุ่นผู้ใหญ่หลายท่านอาจจะมาสัมผัสกับโลกออนไลน์เอาอย่างกะทันหัน บางท่านก็มาแบบก้าวกระโดดจากเดิมเคยเขียนหนังสือด้วยมือส่งให้คนอื่นพิมพ์ให้ ก็ข้ามยุครวดเดียวมาจิ้มแป้นพิมพ์เสมือนที่หน้า ข้ามเครื่องพิมพ์ดีดและเครื่องคอมพิวเตอร์กันเลยก็มี

เช่นนี้ "ผู้ใหญ่" บางท่านจึงเหมือนกลับกลายเป็น "เด็กน้อย" ในพื้นที่เสมือนจริงผ่านจอ ประสบการณ์ของท่านๆ จะมีค่าเป็นศูนย์บนพื้นที่ใหม่นี้ คุณลุงคุณปู่ถือเป็นหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์กว่าเด็กวัยรุ่นที่เคยผ่านยุคเว็บบอร์ดและโปรแกรมสนทนา MSN มาอย่างช่ำชองแล้วเสียอีก จนกระทั่งคนรุ่นๆ สมัยนี้เล่ากันอย่างขำๆ ว่า พวกข้อมูลปลอมข่าวลวงต่างๆ ที่เคยได้รับสมัยฟอร์เวิร์ดเมล์ เช่น กินกุ้งกับวิตามินซีแล้วจะกลายเป็นสารหนู ดาวเคราะห์เรียงตัวกันจะเกิดพายุสุริยะให้ปิดโทรศัพท์ก่อนนอนคืนนี้ ฯลฯ ก็หวนย้อนกลับมาท่วมจออีกครั้งผ่านแอพพลิเคชั่น LINE

ผู้ใหญ่บางท่านเพิ่งเล่นเฟซบุ๊ก ยังไม่รู้วิธีการเซตค่าการเข้าถึงข้อความ ก็โพสต์สเตตัสหุยฮา ตรรกะวิบัติ หรือปล่อยมุขตลกแดกดันผู้ที่ตนเกลียดชังแบบไม่สนใจวาทจรรยาให้คนอ่านกันได้ทั้งเมือง จนกระทั่งโดนสวดยับระงมไปทั่วโดยไม่สนใจว่าจะเป็นปัญญาชนแห่งชาติหรือยิ่งใหญ่มาจากไหน ในยุคที่ใครๆ ก็มีปากมีเสียง ซึ่งความอาวุโสก็ไม่อาจสร้างเอกสิทธิ์ความคุ้มกันอะไรให้ได้ทั้งนั้น

เช่นนี้ ลูกหลานผู้หวังดี จึงควรสั่งสอนแนะนำบรรพชนของท่านผู้มาใหม่ในโลกโซเชียลว่าด้วยการตั้งค่าข้อความก่อนโพสต์เสียหน่อยว่า ข้อความไหนอยากเขียนบอกคนทั้งโลก ให้กดรูปลูกโลก ข้อความไหนท่านอยากเฮฮาสนุกสนานกันประสาเพื่อนๆ คอเดียวกันเท่านั้น ก็กดรูปคน หรือถ้าอยากเขียนแล้วเก็บไว้อ่านคนเดียวไม่ให้ใครมา "เผือก" ก็ให้กดรูปแม่กุญแจล็อกเสีย เท่านี้ก็ไม่มีใครมายุ่งกับท่าน

เพื่อรักษาชื่อเสียงเก่าๆ ที่เคยสั่งสมไว้ของบรรดาท่าน "ผู้ใหญ่เพิ่งมา" อย่าให้คนรุ่นหลังเขาเห็นแล้วถึงกับต้องเมิน

ที่มา : คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง มติชนรายวัน

โดย กล้า สมุทวณิช