วันพุธ, กรกฎาคม 10, 2567

เหตุใดพื้นที่ป่าอาจไม่เพิ่ม แม้ #Saveทับลาน สำเร็จ - 5 ประเด็นต้องรู้


ภาพจาก @migphonnx
.....

เหตุใดพื้นที่ป่าอาจไม่เพิ่ม แม้ #Saveทับลาน สำเร็จ ?


ที่มา บีบีซีไทย

เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

หลังจากเกิดกระแส #saveทับลาน ในสื่อสังคมออนไลน์ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าไปลงชื่อ “ไม่เห็นด้วย” ต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 2.65 แสนไร่ กลุ่มองค์กรประชาสังคมด้านสิทธิที่ดินทำกิน ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า การคัดค้านการเพิกถอนดังกล่าว อาจกระทบต่อกลุ่มชาวบ้านที่ทำกินในที่ดินก่อนประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ และกลุ่มที่ทำประโยชน์เพื่อการเกษตร

กลุ่มผู้สนับสนุนกระแส #saveทับลาน วิจารณ์ว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ดังกล่าว จะลดพื้นที่ป่าอนุรักษ์และเอื้อต่อนายทุน โดยกลุ่มหลักที่คัดค้านคือมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งออกมาบอกว่า เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติจะทำให้เกิดการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ

ทว่าอีกฟากหนึ่งได้อธิบายว่า นี่ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของ "นายทุนรุกป่า" แต่ยังมีชุมชนที่มีที่ดินที่ถูกประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ดินของตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาเป็นเวลากว่า 40 ปี

บีบีซีไทยสำรวจข้อเท็จจริงและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญต่อกรณี #saveทับลาน ใน 5 เรื่อง ดังนี้

1.) พื้นที่ 2.65 แสนไร่ ที่จะถูกเพิกถอน เป็นของนายทุนทั้งหมดหรือไม่ ?

พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการแลนด์ วอทช์ ไทย (Land Watch THAI) บอกว่าพื้นที่ทั้ง 2.65 แสนไร่ไม่ได้เป็นของนายทุนทั้งหมด และจัดกลุ่มประเภทผู้ถือครองที่ดินในพื้นที่ทับซ้อนอุทยานแห่งชาติทับลานไว้ 3 กลุ่ม ดังนี้
  • กลุ่มพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กว่า 58,000 ไร่ เป็นที่ดินจากการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี 2521 ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.วังน้ำเขียว แต่หลังจากกรมอุทยานฯ ประกาศเขตอุทยานฯ ออกมาในปี 2524 พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ กลุ่ม Land Watch Thai ระบุว่า ปัจจุบันการครอบครองพื้นที่ในส่วนนี้ได้กินออกมากนอกเขตอุทยานฯ ด้วย
  • กลุ่มพื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งเป็นโครงการด้านความมั่นคง รวมพื้นที่ 59,194 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ใน อ.เสิงสาง, อ.ครบุรี ของ จ.นครราชสีมา
  • กลุ่มพื้นที่ที่ดำเนินการตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 รวมพื้นที่กว่า 150,000 ไร่ มติ ครม. นี้ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่า โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่รัฐดำเนินการตรวจสอบแนวเขตระหว่างปี 2541-2545 กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินการโดยนโยบายของรัฐบาล กระจายอยู่ในที่ดินฝั่งวังน้ำเขียวของ จ.นครราชสีมา จนถึงเขต อ.นาดี ของ จ.ปราจีนบุรี และถูกตั้งคำถามมากที่สุดในเรื่องของการครอบครองที่ดิน
"กลุ่มที่สามมีเยอะที่สุด แต่มีการปะปนกันอยู่ของชาวบ้านจริง ๆ" พรพนา กล่าว

ผอ.แลนด์ วอทช์ ไทย ยังบอกด้วยว่า ชาวบ้านที่ไม่ใช่นายทุนมีอยู่ในทุกกลุ่ม โดยเห็นว่าหน่วยงานรัฐมีข้อมูลอยู่ในมือที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะว่ามีการตรวจสอบผ่านกระบวนการที่มีมายาวนาน อีกทั้งยังเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบภายใต้โครงการวันแมป (One map) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช.

ทางกรมอุทยานฯ อ้างว่า หากปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวเขตใหม่นี้ จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ และแม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันได้ว่าสามารถผนวกพื้นที่เข้ามาเพิ่มได้จริง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ระหว่างการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้

ความเป็นมาของเรื่องนี้สามารถย้อนกลับไปเมื่อกว่า 40 ปี ก่อน ราวปี พ.ศ. 2524 ซึ่งทางกรมป่าไม้นำพื้นที่ชุมชนและป่าเสื่อมโทรมจากการให้เอกชนทำสัมปทานไม้หวงห้าม มากำหนดเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566

ในรายงานฉบับเดียวกันยังกล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการกำหนดพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 ทางหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้าไปสำรวจรังวัดพื้นที่จริง ส่งผลให้การประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับที่ทำกินของประชาชนในเวลาต่อมา



2.) หาก #Saveทับลาน สำเร็จ จะเพิ่มผืนป่าได้หรือไม่

หากสามารถคัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,000 ไร่ได้สำเร็จ จะสามารถเพิ่มผืนป่าให้มากขึ้นได้หรือไม่

ผอ.แลนด์ วอทช์ ไทย กล่าวว่า "ไม่จริง" เพราะนิยามคำว่าป่าไม้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าไม้ ปี 2484 บอกว่า ป่าไม้คือที่ดินที่ไม่ได้มาโดยการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

"ที่ดินตรงไหนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินจะเรียกว่าป่าหมดเลย พอบอกว่า 'เฉือนป่า' จริง ๆ แล้วคือ การเฉือนที่ดินทำกินออกไป มันไม่ได้เป็นเรื่องการสูญเสียป่าที่เป็นสภาพป่า แต่มันเป็นการหายไปในเชิงตัวเลข" พรพนา กล่าว

นอกจากนี้ หนึ่งในเหตุผลที่กรมอุทยานฯ นำมาเป็นข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็นต่อการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ระบุว่า การเพิกถอนจะส่งผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2548

ในประเด็นนี้ พรพนา กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีคนอยู่อาศัยอยู่กว่า 4,000 ชุมชน บนที่ดินกว่า 4 ล้านไร่ ซึ่งรวมทั้งอุทยานแห่งชาติทับลานด้วย แต่เกณฑ์การเป็นพื้นที่มรดกโลกขององค์การยูเนสโก มีประเด็นของการบริหารจัดการคนที่สามารถอยู่ร่วมกันในพื้นที่ป่าได้ ซึ่งไม่ได้ระบุให้คนต้องออกจากป่า

"เขาไม่ได้บอกว่า ต้องย้ายคนหรือไม่ให้มีคนอยู่ อันนี้เป็นเรื่องของหน่วยงานไทย และกลุ่มอนุรักษ์"

เธอกล่าวด้วยว่า พื้นที่ที่จะเพิกถอนอยู่ในจุดที่เป็นขอบของอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งพื้นที่ตรงกลางคือป่า ส่วนที่เพิกถอนสามารถบริหารจัดการด้วยการสร้างพื้นที่กันชนบัฟเฟอร์โซนเหมือนพื้นที่กันชนของกลุ่มป่าตะวันตก หรือการร่วมมือกับชุมชน ส่วนผู้ที่ครอบครองอย่างไม่ถูกต้อง ทั้งกลุ่มทุนหรือนักการเมือง รัฐต้องตรวจสอบโดยไม่เหมารวมกลุ่มชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน

3.) หาก #Saveทับลาน สำเร็จ ชาวบ้านในที่ดินพิพาทจะถูกไล่ออกจากพื้นที่หรือไม่

ปัจจุบันกรมอุทยานฯ อนุญาตให้มีคนอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเงื่อนไขภายใต้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

พรพนา แสดงความเห็นว่า กรมอุทยานฯ จะใช้กฎหมายข้อนี้ในการดำเนินการกับผู้ที่อยู่ในเขตอุทยานฯ แต่เธอเห็นว่ามาตรการนี้ยังมีปัญหา เนื่องจากกฎหมายลำดับรองยังไม่ได้บังคับใช้เพราะถูกคัดค้านจากชุมชน

มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ กำหนดให้มีการสำรวจ 4,000 กว่าชุมชน และจัดทำโครงการการอยู่อาศัยในพื้นที่คราวละ 20 ปี ซึ่งกฎหมายนี้หมายความว่า ชุมชนต้องยอมรับว่าบุกรุกและยินดีเข้าโครงการนี้

พรพนา กล่าวว่า เมื่อโครงการมีระยะเวลาแค่ 20 ปี ชุมชนก็ไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังมีการจำกัดการใช้ประโยชน์ที่เข้มงวดมาก เช่น การเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรกรรม และมีมาตรการลงโทษปรับที่สูงมาก กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มากที่สุด คือกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตการทำเกษตรเฉพาะอย่างไร่หมุนเวียน กลุ่มเหล่านี้ไม่เห็นด้วยเพราะพวกเขาจะ "ถูกลบวิถีชีวิตของเขาออกไป"

"เท่ากับว่าแก้ไขกฎหมายแล้วเอาไปใช้ย้อนหลังกับคนที่เขาบอกว่าอยู่มาก่อน ซึ่งชุมชนเหล่านั้นบอกว่า ควรได้รับการแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่กรมอุทยานฯ ไม่เคยยอมรับการแยกคนที่อยู่มาก่อน กลายเป็นว่าประกาศแล้ว ถือว่าคุณอยู่ในเขตอุทยานฯ คุณผิดกฎหมาย"

หลังจากออกมานำการรณรงค์ลงชื่อคัดค้าน ทางด้านมูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์เฟซบุ๊กในวันนี้ (9 ก.ค.) ระบุถึงข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน ว่ารัฐ "ไม่ควรแก้ไขปัญหาแบบเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน" และ "ควรแก้ไขปัญหาแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน และให้ความเป็นธรรมทั้งในแง่ของมนุษย์ ผืนป่า และสัตว์ป่า"



4.) แผนที่ที่ใช้เป็นเกณฑ์เพิกถอนอุทยานฯ คือฉบับไหน

ความพยายามแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนดำเนินมานานกว่า 30 ปี จนเกิดคำสั่งให้กรมป่าไม้ในขณะนั้น ปรับปรุงแนวเขตครั้งแรกในปี 2534 ประกอบกับมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 เม.ย. 2540 ยืนยันให้แก้ไขแนวเขต จึงเกิดเส้นแนวเขตปี 2543 ซึ่งมาจากการเดินสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังเขตหลักอุทยานฯ ร่วมกันเป็นครั้งแรกโดยส่วนราชการ ชุมชน และราษฎรในพื้นที่

“กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 มิใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ” รายงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ

อย่างไรก็ตาม เส้นแนวเขตปี 2543 ยังไม่ได้บังคับใช้แต่อย่างใด โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ในปี 2545

จนกระทั่งยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติ ครม. ในปี 2558 เห็นชอบให้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 หรือที่เรียกว่า “วันแมป”(One Map) เพื่อให้ประเทศไทยมีเขตแนวที่ดินที่ถูกต้อง ทันสมัย เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของรัฐและเอกชน

หลังจากนั้นแผนที่วันแมป จึงถูกนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาพิพาทที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. หลายวาระในช่วงปี 2564-2566

มติ ครม. ล่าสุด คือ วันที่ 14 มี.ค. 2566 เห็นชอบให้ใช้เส้นแนวเขตปี 2543 มาปรับปรุงแผนที่วันแมป เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นไปตามการเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน

มติ ครม.ที่เกิดในช่วงท้าย ๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า พื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานฯ จะถูกส่งมอบให้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินตามแนวทางของ คทช. หรือตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อเกษตรกรรม แล้วแต่กรณี โดยการเพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีรุกป่าเพื่อสร้างรีสอร์ทและโรงแรม รวมกันกว่า 400 คดี พื้นที่รวมกันกว่า 12,000 ไร่

5.) จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลังลงชื่อในแคมเปญ #saveทับลาน

กรมอุทยานฯ ระบุว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยเปิดให้ลงชื่อระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. นี้ ในเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ

ในแบบสอบถามความเห็นมีเพียงคำถามเดียวที่ระบุว่า “ท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2566 เพื่อกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี, จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ใหม่ หรือไม่” ซึ่งผู้ตอบสามารถเลือกตอบเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย พร้อมกรอกข้อเสนอแนะหรือความเห็นลงไปได้

วานนี้ (8 ก.ค.) เกิดกระแส #saveทับลาน ขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าไปลงชื่อ “ไม่เห็นด้วย” ด้วยข้อมูลที่ระบุเพียงว่ากำลังจะสูญเสียพื้นที่ป่า 265,000 ไร่ ให้กับนายทุน ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าไปลงชื่อ “ไม่เห็นด้วย” ซึ่งการลงชื่อดังกล่าวไม่สามารถลบหรือแก้ไขได้

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยวันนี้ (9 ก.ค.) ว่า จะรวบรวมความเห็นทั้งหมด เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอ ครม. ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยทำกินและการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิมจากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่

ส่วนที่หลายคนมองว่า มติ ครม. เมื่อปี 2566 เป็นการเอื้อนายทุน อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า “รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก. จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ” โดยในส่วนของกรมอุทยานฯ เองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอ ครม. ต่อไปเช่นกัน

“เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ บางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว


การประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว และนครราชสีมา เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติ ครม. วันที่ 14 มีนาคม 2566

https://bbc.in/3xEMLyR