ผู้ช่วย ผบ.ทร.อธิบายเรื่องซื้อเรือดำน้ำจีนไว้อย่างนี้ “มันเป็นความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อจีนไม่สามารถหาอุปกรณ์นี้ได้ ทั้งสองฝ่ายก็ได้มาเจรจาแล้วหาทางออกด้วยกัน” ถ้อยทีถ้อยเจรจาอย่างมหามิตร
พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ช่างเปรียบเปรย “เหมือนเราสร้างบ้านแล้วเราไม่ได้หลังคารุ่นนี้ เราจะเลิกสร้างบ้านหรือไม่ เราก็ไม่เลิก...อีกทั้งถ้าเครื่องที่เขาเอามาทดแทนไม่ได้เรื่องจริงๆ เราก็ไม่รับ” มันช่างง่ายดายเสียนี่กระไร
แต่ข้อเท็จจริงอยู่ที่ จีนถูกเยอรมนีสั่งห้ามเอาเครื่องยนต์ที่เขาขายให้จีนสำหรับใช้งานปกติ ไม่ใช่กับการสงคราม ไปติดตั้งเรือดำน้ำที่จะขายให้ไทย ทางไทยเราอุตส่าห์ไปขอซื้อเครื่องนั้นเองกับเยอรมนี จะไปให้จีนติดตั้ง เขาก็ไม่ให้
จีนเจอปัญหานี้ก็หาทางแก้ไข ไม่ใช่คิดสร้างเครื่องใหม่ที่เทียบสมรรถนะกันได้ (แบบที่จีนทำกับสินค้าอื่นๆ –เลียนแบบ) แต่จีนก็หันไปใช้เครื่องยนต์ที่ติดตั้งกับเรือแล่นบนผิวน้ำ เอามาดัดแปลงเพื่อใช้กับเรือดำน้ำ ไม่รู้เริ่มทำเมื่อไร
แต่สำหรับการติดตั้งเรือดำน้ำรุ่นที่ขายให้ไทยนั้น ต้องยืดเวลาส่งมอบจากกำหนดในสัญญาเดิมออกไปอีก ๓๖๕ วัน รวมเป็น ๑,๒๑๗ วัน ทั่นผู้ช่วยฯ บอกไม่เป็นไร เรารับได้ เพราะได้เจรจาเรื่องค่าเสียเวลา ทางจีนก็ดี๊ ดี จัดให้
“ได้เพิ่มในส่วนของการรับประกันเป็นมูลค่า ๒๐๐ ล้าน เช่น การรับประกันอะไหล่, ให้ตอร์ปิโดฝึก และยังรับประกันความเสียหายเครื่องยนต์จาก ๒ ปีเป็น ๘ ปี, ขยายเวลาการอบรมเจ้าหน้าที่ทางเทคนิค” ดูท่าจะเป็นสวี้ทดีล
แถมเมื่อปีที่แล้ว ทร.ได้ส่งทีม “มืออาชีพ” ๒๓ คนไปกินนอนอยู่ที่จีน ๒๘ วัน ร่วมทดสอบเครื่องที่จีนจะดัดแปลงนั้น กลับมารายงานว่า “เครื่องยนต์มีขีดสมรรถนะเทียบเท่า เป็นไปตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ในสัญญา”
แต่ว่า ยังไม่มีการติดตั้งและนำเรือลงดำทดสอบปฏิบัติการอย่างสมจริง การตรวจสอบที่ไปดูมาเป็นการตรวจสอบแห้ง ว่าเครื่องทำงานได้ตามเกณฑ์หรือไม่เท่านั้น เรื่องนี้จะรู้ได้เมื่อผลิตเสร็จ ติดตั้งเรียบร้อย แล้วลงดำ ก่อนส่งมอบ
คือ “จะเอาเรือลงไปทดลองใช้ในทะเลจริง และต้องดำไปใต้น้ำ ๓๐๐ เมตร ต้องผ่านขั้นตอนพวกนี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เราถึงจะยอมรับเรือ” หมายความว่าถ้าตอนนั้น “เครื่องที่เขาเอามาทดแทนไม่ได้เรื่องจริงๆ” ต้องยืดเวลาแก้ไขไปอีก ๓๖๕ วันหรือไม่
ประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องนี้ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ช่วงปี ๒๕๖๔-๖๖ คาบเกี่ยวรัฐบาล ‘ไอทู้บ’ ไม่ยอมทำอะไรก็เพราะความเป็นมหามิตรนี่ละมัง ที่ไทยส่งส่วยค่าเรือดำน้ำไปทุกปี ๑๐ งวด จากทั้งหมด ๑๘ งวดไม่เคยขาด
ณ ขณะนี้จ่ายไปแล้ว ๖๐% จำนวน ๗,๗๐๐ ล้านบาท ยังต้องจ่ายต่ออีก ๔๐% ๕,๕๐๐ ล้านบาท การก่อสร้างตัวเรือก็เสร็จสิ้นไปแล้ว ๖๔% แสดงว่าช่วงที่มีการพูดถึงว่าจะเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นฟรีเกต เป็นเพียงการเต้นสลับขาหลอกตาประชาชน
การซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำนี้จึงเป็น ‘done deal’ มาแต่อ้อนแต่ออก ยังไงก็ต้องเอา แม้จะต้องดัดแปลงเป็นเรือดำเก็บหอยจับกุ้ง ก็ต้องเอา