อย่างที่ อจ.นันทนา นันทวโรภาส ว่าไว้ในรายการ ‘สมมุติว่า’ กับ สุทธิชัย หยุ่น ว่าเขาทำกันได้อย่างน่าทึ่งตอนเลือก สว.จากระดับจังหวัดสู่ประเทศ จู่ๆ ก็เกิดคะแนนเสียงเรียงแถว มาเป็นชุดๆ หลายจังหวัดเหมือนกัน
นั่นเองทำให้มี ๘ จังหวัดที่ได้เข้าไปเป็น สว.อย่างเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะ ‘จัดตั้ง’ และ ‘ฮั้ว’ กันมา ‘ไอลอว์’ นำตัวเลขมาพิเคราะห์ จัดทำกร๊าฟฟิคให้เข้าใจชัดเจนขึ้น
จะเห็นว่า ๘ จังหวัดนั้นมีจำนวนผู้ผ่านเข้ารอบไขว้สูงมาก จาก ๔๐ คน อยุธยา บุรีรัมย์ และ สตูล ได้เข้า ๓๘ คน รองลงไป อ่างทองและเลยได้ ๓๗ คน อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ ได้ ๓๖ ๓๔ และ ๒๘ ตามลำดับ
พอไขว้เสร็จปรากฏว่าบุรีรัมย์ได้เป็น สว.มากสุด ๑๔ คน ตามด้วยอยุธยาและสุรินทร์ถูกทิ้งห่างได้ ๗ คน ที่เหลือได้ ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๘ จังหวัดที่ได้เป็น สว.มากกว่าใครรวมกันแล้วมี สว.ถึง ๕๒ คน เหล่านี้น่าจับตาเมื่อปฏิบัติหน้าที่
ว่าจะมีการโหวตเป็นบล็อค หรือตามแห่กันในบางประเด็นที่ล่อแหลมหรือไม่ เพราะลักษณะของการเข้ามาเป็นก้อนเป็นกำบ่งถึงการจัดตั้งมาก่อนสมัคร หรือในระหว่างกระบวนการเลือก เพราะมีผู้สมัครบางคนเปิดเผยว่ามีการเสนอเงินสมนาคุณ
ไอลอว์บอกว่ากลุ่ม ๘ จังหวัดได้เข้ารอบไขว้ ๒๘๖ คน ผู้สมัครในกลุ่มจะได้คะแนนใกล้เคียงกันที่ ๒๒-๒๘ คะแนนถือเป็นเกณฑ์ปลอดภัยได้ผ่าน ตรงกันข้ามคะแคนของผู้สมัครจากอีก ๖๙ จังหวัดมีลักษณะกระจัดกระจาย
ครั้นพอถึงรอบไขว้ ปรากฏว่ารูปแบบของคะแนนในกลุ่ม ๘ จังหวัดเปลี่ยนเป็น ๒ แบบตรงข้ามกัน คือกลุ่มหนึ่งคะแนนสูงโด่ง ไอลอว์บอกว่านี่คือ ‘ตัวจริง’ ส่งเข้าไปเป็น สว. อีกกลุ่มคะแนนน้อยไปจนถึงไม่มีคะแนนเลย นี่เป็นผู้เสียสละมาส่งตัวจริงเข้าวิน
นี้คือการยืนยันว่า สว.๖๗ ชุดนี้ถูกครอบงำโดยการจัดตั้งอย่างแน่นอน จำนวนราว ๑๒๐ คนกว่าๆ ใครหนอช่างเฉียบไว สามารถจัดตั้งเอาชนะวิธีการเลือกแบบซับซ้อนพิสดารได้ อย่าเพิ่งไปจ้องเสี่ยหนู แกออกตัวไว้แล้วว่า “โดนอยู่เรื่อย”
เดี๋ยวก็รู้ ถึงตอนโหวตมันต้องมีระบบจัดตั้งกำกับให้เห็นจนได้
(https://www.ilaw.or.th/articles/40112 และ https://www.thaipbs.or.th/program/WhatIf/episodes/102578)