วันพุธ, กรกฎาคม 17, 2567

ผู้เชี่ยวชาญ ไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ให้สิ้นจากน่านน้ำไทย และจะระบาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่มีอะไรมาหยุดยั้งมันได้

ประชาชนจับปลานิลและปลาหมอคางดำบริเวณบึงมักกะสันใต้ทางด่วน เขตราชเทวี กทม. วันที่ 15 ก.ค. 2567 หลังพวกมันลอยเหนือผิวน้ำจากอาการขาดออกซิเจน เพราะเจ้าหน้าที่ปิดประตูระบายน้ำ

กำจัด 'ปลาหมอคางดำ' ให้สิ้นจากน่านน้ำไทย เป็นไปได้จริงหรือไม่

เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

ผู้เชี่ยวชาญชี้ปลาหมอคางดำกำลังยกระดับขึ้นเป็นสายพันธุ์รุกรานระดับภูมิภาค มีแนวโน้มระบาดจากไทยไปกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ และยากจะกำจัดให้หมดสิ้นได้ ขณะที่ CPF ออกมายืนยันว่าตนเองไม่ใช่ต้นตอการระบาดของปลาชนิดนี้ แม้เป็นเอกชนรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาเมื่อปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว

หลังเกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ หรือก่อนหน้านี้ที่เรียกว่าปลาหมอสีคางดำ ในพื้นที่ชายฝั่งและลำน้ำธรรมชาติมากกว่า 13 จังหวัดทั่วประเทศ ทางกรมประมงจึงออกมาตรการรับมือสายพันธุ์รุกรานที่มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกานี้ เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับชาวประมงและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมี 5 แนวทางดังนี้
  • ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด
  • ปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว และปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นหลายเมนู
  • สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ
  • ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ทางกรมประมงยังมีแนวคิดอื่น ๆ อีกเช่น การดัดแปลงพันธุกรรมปลาหมอคางดำเพื่อให้เกิดลูกปลาที่เป็นหมันในอนาคต รวมไปถึงการขึ้นราคารับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อจูงใจให้ประชาชนล่าปลาชนิดนี้มากขึ้น

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางน้ำ เพื่อหาคำตอบว่ามาตรการต่าง ๆ ทั้งหมดที่ทำแล้วและกำลังจะทำต่อไปในอนาคต จะสามารถลดปริมาณปลาหมอคางดำได้จริงหรือไม่ และเป็นไปได้ไหมที่จะขจัดปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเอเลียนสปีชีส์ให้หมดไปจากน่านน้ำไทย


ปลาหมอคางดำ (ซ้าย) และ ปลานิล (ขวา) สองสายพันธุ์ต่างถิ่นในแหล่งน้ำไทย

“ไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัดมันให้หมดไป”

บีบีซีไทยพูดคุยกับ รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์สัตว์น้ำและการปรับปรุงพันธุสัตว์น้ำ เพื่อสอบถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำจัดปลาสายพันธุ์รุกรานชนิดนี้ให้หมดจากประเทศไทย โดย จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ม.วลัยลักษณ์ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ

“ผมไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัดมันให้หมดไป” รศ.ดร.สุวิทย์ บอกกับบีบีซีไทย “เพราะเราไม่สามารถจำกัดบริเวณมัน เมื่อมันอยู่ในธรรมชาติ มันก็ขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ รอบสืบพันธุ์เร็ว และอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม”

รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ยังบอกด้วยว่า ปลาหมอคางดำไม่ใช่สัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นชนิดแรก ๆ ที่เข้ามาในไทยและหลุดไปแหล่งธรรมชาติ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปลานิล ปลาดุกรัสเซีย ปลาหมอเทศ กุ้งขาวปานามา กุ้งเครย์ฟิช ฯลฯ

“ปัญหาของเอเลียนสปีชีส์คือหากมัน established (ตั้งถิ่นฐาน) แล้วกำจัดมันยากมาก ยกตัวอย่างเช่น หนูท่อ แมลงสาบบ้าน ผักตบชวา หอยเชอรี ที่อยู่มานานจนเราคิดว่ามันเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นไปแล้ว” ดร.นณณ์ ผานิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด บอกกับบีบีซีไทย

เขาอธิบายต่อว่ากรณีศึกษาที่กำจัดสายพันธุ์ต่างถิ่นได้หมดเคยเกิดขึ้นที่เกาะแห่งหนึ่งในต่างประเทศซึ่งร้างผู้คน มีแต่นก และตั้งอยู่ห่างไกลแผ่นดินใหญ่

“เขาโรยยาเบื่อหนูทั่วเกาะ หนูที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นตายหมด นกไม่เดือดร้อน” นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืดอธิบายระบบปิดที่กำจัดสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ได้ผลซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก และกล่าวเสริมด้วยว่าไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากประเทศไทย


ประชาชนจับปลานิลและปลาหมอคางดำบริเวณบึงมักกะสันใต้ทางด่วน เขตราชเทวี กทม. ที่กำลังลอยขึ้นมาบนน้ำ (15 ก.ค.)

ปล่อยกะพงขาวล่าปลาหมอคางดำ จะได้ผลไหม ?

งานวิจัยของกรมประมงในปี 2566 ระบุว่าปลากะพงขาวและปลาอีกงมีความสามารถเป็นผู้ล่าและควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำได้ในระดับหนึ่ง หากปลาหมอสีคางดำมีขนาดเล็กกว่า โดยการทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นในระบบปิด

ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์สัตว์น้ำจาก ม.วลัยลักษณ์ บอกว่า การปล่อยปลากะพงขาวเป็นวิธีที่ดีสามารถช่วยจำกัดปริมาณของปลาหมอคางดำที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นมาได้ แต่ข้อที่ควรคำนึงคือปลากะพงขาวที่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติควรมีขนาดใหญ่กว่าปลาหมอคางดำ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดพฤติกรรมการล่าแบบ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ขึ้น

“มันจำกัดบริเวณไม่ได้ด้วยนะ” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว “เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันจะอยู่หรือกินปลาในแถวที่นำไปปล่อยจริง ๆ หรือมันจะกินปลาหมอคางดำอย่างที่เราอยากให้กิน เพราะมันก็กินลูกปลาทุกชนิด”

ด้าน ดร.นณณ์ บอกว่า การปล่อยปลากะพงขาวของกรมประมงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า “อะไรทำให้ประชากรปลากะพงขาวซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ควรมีอยู่บริเวณชายฝั่งและปากแม่น้ำมันหมดไป บ้านมันหมดไปหรือเปล่า แหล่งน้ำไม่ดีแล้วหรือเปล่า เราจับมันมากไปหรือเปล่า หรือปล่อยมันไปแล้วก็ถูกจับขึ้นมาอยู่ดี หรือแหล่งน้ำไม่ดีพอสำหรับให้พวกมันขยายพันธุ์ ทำให้กรมประมงต้องปล่อยปลาชนิดนี้อยู่เรื่อย ๆ หรือเปล่า”

นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืดยังให้ข้อแนะนำด้วยว่า ไม่ควรปล่อยปลากะพงขาวในจุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว

“ผมกลัวมากว่าจะตั้งปะรำพิธีขึ้นมาแล้วปล่อยทีเดียว 90,000 ตัว อะไรแบบนั้น” ดร.นนณ์ กล่าว “มันต้องปล่อยกระจาย เพราะปลากะพงขาวมันเป็นปลาซุ่มโจมตี เคลื่อนที่ไม่เยอะ”


ไข่ปลาหมอคางดำที่กรมประมงนำมาเหนี่ยวนำโครโมโซม

ดัดแปลงพันธุกรรม-ทำหมัน จะได้ผลแค่ไหน ?

ขณะนี้ ทางกรมประมงกำลังศึกษาวิจัยโครงการการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ โดยสร้างประชากรปลาหมอคางดำชนิดพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำเพื่อให้พวกมันไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) เพื่อให้ได้ลูกปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน สืบพันธุ์ต่อไม่ได้ เพราะมีโครโมโซมเพียง 3 ชุด (3n)

“นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยควบคุมการเพิ่มประชากรในธรรมชาติจนมันหมดไปในที่สุด” อธิบ

ดีกรมประมงบอกกับบีบีซีไทย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มปล่อยปลาที่ถูกนำไปเหนี่ยวนำโครโมโซมแล้วได้เร็วที่สุดช่วงปลายปีนี้ หรือช้าที่สุดราว 18 เดือนข้างหน้า


วิธีการเหนี่ยวนำโครโมโซมปลาหมอคางดำ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์สัตว์น้ำและการปรับปรุงพันธุสัตว์น้ำจาก ม.วลัยลักษณ์ บอกว่า วิธีดังกล่าวจะช่วยลดประชากรของปลาต่างถิ่นได้จริง แต่อาจไม่ใช่ยาแรงที่ทำให้ปลาหมอคางดำหมดไปจากไทยได้อย่างสิ้นเชิง เพราะต้องดูต่อว่าจำนวนปลาที่ถูกปล่อยลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นจะเข้าไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติได้มากเพียงไร และต้องไม่ลืมว่า “ปลาที่อยู่ในธรรมชาติก็ยังผสมพันธุ์กันเองตามปกติ ซึ่งแต่ละครั้งออกลูกได้เยอะมาก” เนื่องจากแม่ปลาหมอคางดำสามารถให้ไข่ได้ถึง 50-300 ฟอง

วิธีปล่อยปลาหมอคางดำที่เป็นหมันสู่แหล่งระบาดก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก รศ.ดร.สุวิทย์บอกว่า วิธีดังกล่าวสามารถทำได้ เพราะปลาที่เป็นหมันจะเข้าไปแย่งพื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของปลาหมอคางดำที่มีอยู่ในธรรมชาติ ส่งผลให้จำนวนปลาหมอคางดำอาจลดจำนวนลงได้ในที่สุด

“แต่ต้องคำนึงด้วยว่าปลาเป็นหมันที่ปล่อยไปนั้นก็มีอายุขัยจำกัด และตายลงเมื่อถึงเวลา ส่วนพวกปลาปกติที่ยังเหลือรอดก็ยังคงเดินหน้าขยายพันธุ์ได้ต่อไป” รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าว

ปลาหมอคางดำอาจระบาดไปประเทศเพื่อนบ้าน

จากเดิมที่กรมประมงเคยรายงานว่าพบการระบาดของปลาหมอคางดำใน 13 จังหวัดบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยนั้น ล่าสุดพบว่าการระบาดขยายวงกว้างไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยด้วย

ดร.นนณ์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ปัญหาหลัก ๆ ของปลาสายพันธุ์นี้คือมันสามารถเคลื่อนไหวไปตามแนวชายฝั่งได้ ประกอบกับแหล่งปากแม่น้ำของไทยไม่ค่อยมีความสมบูรณ์ เนื่องจากมีกิจกรรมมนุษย์ค่อนข้างมาก และป่าโกงกางต่าง ๆ ถูกแปลงสภาพเป็นนากุ้งหรืออื่น ๆ เมื่อมีสายพันธุ์ต่างถิ่นหลุดรอดเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวจึงทำให้มันสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

“อย่างที่อาจารย์ชวลิต วิทยานนท์ กล่าวไว้ว่า ปากแม่น้ำบางปะกงหรือลำน้ำบางปะกงได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับแม่น้ำแม่กลองหรือแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะบางปะกงเป็นสายน้ำที่ค่อนข้างมีความสมบูรณ์กว่าสายอื่น ๆ เนื่องจากมีเขื่อนน้อยและประตูน้ำน้อย ระบบนิเวศทั้งสองฝั่งแม่น้ำยังค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ปลาหมอคางดำเข้าไปได้ไม่เต็มที่เพราะมีเจ้าถิ่นอยู่เยอะ”

เขากล่าวต่อว่าด้วยคุณสมบัติทนน้ำเค็มได้ดีและอยู่อาศัยได้ในเกือบทุกสภาพน้ำของปลาหมอคางดำ จึงมีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดของพวกมันบริเวณชายฝั่งตะวันออกของไทยจะแพร่กระจายเข้าไปในแหล่งน้ำของกัมพูชาและเวียดนามในอนาคตอันใกล้

ขณะที่การระบาดของปลาหมอคางดำช่วงอ่าวไทยตอนล่างนั้นก็มีแนวโน้มสูงว่าปลาดังกล่าวจะเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณแหลมมลายูอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ด้วย รวมถึงชายฝั่งบริเวณอันดามัน

“ไม่น่ามีอะไรหยุดยั้งมันได้เลย” ดร.นณณ์ กล่าว “เป็นปัญหาระดับภูมิภาคแน่นอน”

นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืดบอกว่า ในชีวิตเขาก็ไม่เคยนึกภาพว่าจะเห็นการรุกรานของปลาสายพันธุ์นี้ในไทย สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้จึงเปรียบเสมือน “แจ็กพอต” เพราะที่ผ่านมาสายพันธุ์ต่างถิ่นที่พบในไทยไม่ได้มีความสามารถแพร่กระจายตัวได้เร็วเช่นนี้

ดังนั้น ต้องติดตามต่อว่าสายพันธุ์ท้องถิ่นชนิดใดที่จะปรับตัวกับปลาหมอคางดำซึ่ง “เป็นสมการใหม่” ไม่ได้ จนส่งผลให้เกิดการลดจำนวนลงหรือหายไปจากระบบนิเวศในที่สุด

“แต่ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตชนิดเดียว นั่นคือมนุษย์ที่นำมันเข้ามา” ดร.นณณ์ กล่าว


สารพัดเมนูจากปลาหมอคางดำ

CPF ยืนยันไม่ใช่ต้นตอการระบาด

ล่าสุดวันนี้ (16 ก.ค.) นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของ CPF ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจว่า บริษัทฯ ไม่ได้เป็นต้นเหตุการระบาดของปลาสายพันธุ์ดังกล่าว และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสอดคล้องกับ 5 แนวทางของกรมประมงที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงจะสนับสนุนการวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำด้วย

เมื่อไม่นานนี้ทางผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า CPF ได้สนับสนุนปลากะพง 5,000 ตัวให้กับประมงจังหวัดจันทบุรีเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในลุ่มน้ำพังราด โดยทางตัวแทนของบริษัทฯ บอกด้วยว่าได้ส่งมอบพันธุ์ปลากะพงขาวจำนวน 200,000 ตัวให้กับกรมประมง เพื่อนำไปกำจัดปลาสายพันธุ์รุกรานชนิดดังกล่าวในพื้นที่ 13 จังหวัดที่พบการระบาด

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าวันนี้ว่า เตรียมปรับราคาให้กรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจาก 8 บาท/กิโลกรัม เป็น 15 บาท/กิโลกรัม เพื่อจูงใจให้มีการล่าเพิ่มขึ้น และยืนยันว่ากำลังเร่งหาต้นตอการระบาด

ส่วนความเคลื่อนไหวในรัฐสภานั้น ทางคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอสีคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ได้เชิญบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (CPF) ผู้นำเข้าปลาสายพันธุ์นี้เมื่อ 14 ปีก่อน เข้ามาชี้แจงข้อมูลกับอนุ กมธ.ฯ แล้วเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกับพยายามผลักดันการตรวจสอบสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอย้อนกลับเพื่อหาต้นตอว่าปลาหมอคางสีดำที่ระบาดในไทยอยู่ในขณะนี้มาจากที่ใด แม้ทางกรมประมงบอกว่าไม่มีตัวอย่างปลานำเข้าดองเก็บไว้ที่กรมฯ ขณะที่เอกชนยืนยันว่าส่งมอบปลาหมอคางดำดองในฟอร์มาลีนให้กรมประมงแล้วจำนวน 50 ตัวอย่างตั้งแต่ปีที่นำเข้ามา

ทั้งนี้ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เคยบอกกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ทำเรื่องขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ อาจเกิดขึ้นจากการหลุดรอดจากศูนย์ทดลองของเอกชนผู้นำเข้า หรือหลุดรอดจากผู้ลักลอบรายอื่นที่แอบนำเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยเผชิญปัญหาสายพันธุ์ต่างถิ่นถูกลักลอบนำเข้าประเทศแบบไม่ถูกต้อง

ทั้ง รศ.ดร.สุวิทย์ และ ดร.นณณ์ เห็นตรงกันว่าสิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนี้คือควบคุมการระบาดและลดจำนวนประชากรปลาหมอคางดำลง เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าให้ได้มากที่สุด

“เราคงต้องหาวิธีอยู่กับมัน หาวิธีกินมัน หาวิธีตกมัน เห็นแบบนั้นมันไม่ใช่ปลาที่จะตกด้วยเบ็ดได้ง่าย ๆ นะครับ” ดร.นณณ์ แนะนำ แต่เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กลิ่นคาวของปลาหมอคางดำอาจทำให้ผู้บริโภคบางคนไม่ชอบและทำให้ปลาชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยม

“เราไปห้ามอะไรไม่ได้แล้วในวันนี้ เพราะมันอยู่เต็มธรรมชาติหมดแล้ว ทางเดียวที่ดีที่สุดคือเราจะทำอย่างไรจึงจะนำมันมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว

https://www.bbc.com/thai/articles/cxw2pk1gyl9o