เศรษฐกิจยุค ‘เศรษฐา’ แย่กว่าเมื่อก่อนไหม เป็นอีกเรื่องตลกในตำนาน แรกเมื่อ เศรษฐา ทวีสิน เข้าเป็นนายกฯ ใหม่ๆ เขาพยายามประโคมว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว จุดมุ่งหมายเพื่อเปิดช่องให้ดึงงบประมาณตามซอกโน้นซอกนี้มาใช้คล่องๆ
ตอนนั้นทั้งฝ่ายค้านและ (บังเอิญ) แบ๊งค์ชาติ ต่างโต้ว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่น่ะใช่ แต่ไม่ถึงวิกฤต ถึงตอนนี้รัฐบาลมักลักลั่น เรื่องไหนที่อยากล้วงเงินก้นถุงมาใช้ก็จะบอกว่าแย่แล้ว ต้องรีบๆ เปิดถุง ต่างกับเรื่องที่เอกชนบ่นว่าแย่ และกระทบถึงกึ๋นการบริหาร
รัฐบาลเศรษฐาจะรีบโต้แย้งและแก้ต่าง อย่างเรื่องที่ว่าเมื่อบรรจบครบครึ่งที่สองของปีแรกของรัฐบาลเศรษฐา จำนวนการปิดโรงงาน บางแห่งลอยแพคนงานปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาล มากเสียจนมีเสียงร้องโอดโอยระงม เป็นบทของโฆษกสำนักนายกฯ แก้
“ระบุข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๖๗ มีโรงงานเปิดกิจการใหม่ ๘๔๘ โรงงาน มีโรงงานขยายกิจการ ๑๒๖ โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานปิดกิจการ ๔๘๘ โรงงาน” ดูแล้วน่าชื่นชมความต่างเกือบ ๗๔%
แต่ผลกระทบ ณ เดือนพฤษภาคม โรงงานเปิดใหม่หรือเพิ่งได้ใบอนุญาตประกอบการ จะยังไม่เห็นผลประกอบการ เว้นแต่เรื่องการจ้างงาน ซึ่งบังเอญไม่ได้อยู่ในรายงานของเลขาฯ นายกฯ แต่สื่อเขามีชุดตัวเลขเอามาแจงไว้
“ช่วง ๖ เดือน แรกของปี ๒๕๖๗ ที่มีการแจ้งปิดโรงงาน ๖๖๗ แห่ง ทุนจดทะเบียน ๑๘,๐๙๑ ล้านบาท กระทบการจ้างงาน ๑๗,๖๗๔ คน” จะเห็นความต่างที่ว่าห่างกัน ๑ เดือน จำนวนการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น ๑๗๙ แห่ง แม้นว่ามีข้อมูลเพิ่มเติม
กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้ง “ว่าในช่วง ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๗ มีโรงงานใหม่ได้ใบอนุญาตและขยายโรงงานรวม ๑,๒๗๕ แห่ง” ตีเสียว่าจำนวนปิดโรงงานยังอยู่ที่ ๖๖๗ แห่ง ก็ไม่ทำให้สถานะประกอบการทางอุตสาหกรรมต่างไป
แต่ข้อมูลจากสื่อ “ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง ๕ เดือน แรกของปี ๒๕๖๗ ติดลบ ๒.๐๘% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ ๕๙.๓๐% เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว” ก็ต้องเรียกร้องกันให้รัฐบาลปรับโครงสร้าง
แต่ทว่าการแถลงตัวเลขอย่างตกๆ หล่นๆ เหมือนแก้ผ้าเอาหน้ารอด อย่างที่ทำอยู่ ไม่ได้ก่อผลดีอะไรเลยกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สุมอยู่ แล้วรัฐบาลก็ทำแบบนี้มาพักใหญ่แล้ว ดูท่าจะทำงานด้วยการ ‘แก้ผ้า’ ต่อไป จนกว่าจะมีเหตุให้อ้างเป็นอย่างอื่น
จะอ้าง ‘โควิด’ อีกก็ไม่ได้ เพราะตัวเลขที่สื่อเอามาแฉ เป็นตัวเลขที่ ‘แย่’ กว่าตอนช่วงโควิดระบาดหนักเมื่อปี ๖๔ โน่นแล้ว