วันเสาร์, กรกฎาคม 20, 2567

ได้ไม่คุ้มเสีย ? เราสูญเสียอะไรไปบ้าง? จากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อดิจิทัลวอลเล็ต - มุมมอง พรรคก้าวไกล


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
July 17
·
[ เราสูญเสียอะไรไปบ้าง? จากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อดิจิทัลวอลเล็ต ]
.
พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 (งบกลางปี) เป็นคนสุดท้ายของพรรคก้าวไกล โดยกล่าวถึงสิ่งที่ประเทศและประชาชนต้องเสียไปจากการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
.
ผ่านไปไม่ถึง 4 เดือนหลังสภาฯ อนุมัติงบประมาณปี 2567 ด้วยกรอบวงเงินถึง 3.4 ล้านล้านบาท นายกรัฐมนตรีกลับมาขอให้สภาฯ เติมเงินเพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาทผ่านการออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพียงเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับนำไปทำดิจิทัลวอลเล็ต และเข็นให้นโยบายนี้เกิดขึ้นให้ได้
.
พริษฐ์ย้ำว่า โจทย์ในวันนี้ไม่ใช่การลงมติเพื่อวินิจฉัยว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ เพราะทุกคนล้วนทราบดีว่าเศรษฐกิจไทยนั้นซบเซา เสมือนคนป่วยที่ต้องการยารักษาระยะสั้นและแผนฟื้นฟูระยะยาว ไม่ใช่การลงมติเพื่อทำนายว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายดีหรือแย่แค่ไหน การโยนเงิน 5 แสนล้านบาทเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ย่อมทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุ้นขึ้นมาในระดับหนึ่งเป็นแน่
.
ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องตั้งคำถามมากที่สุดในวันนี้ คือการ “เทหมดหน้าตัก” เพื่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าที่สุดแล้วหรือไม่
.
ในมุมของพรรคก้าวไกล ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ “ได้ไม่คุ้มเสีย” ขนาดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นเพียง “ลมพัดวูบ” มากกว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็อาจจะกระจุกอยู่กับแค่บรรดาบริษัทขนาดใหญ่ ผ่านการออกแบบเงื่อนไขเกี่ยวกับการแปลงเป็นเงินสดที่กลายเป็นกีดกันร้านค้ารายย่อย ความยั่งยืนของการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นไปอย่างจำกัด เพิ่มได้แค่การบริโภคระยะสั้น แต่ไม่นำไปสู่การลงทุนที่ส่งผลระยะยาว
.
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ราคาที่ประเทศต้องจ่ายจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นโดยตรงอย่างน้อย 2.64 แสนล้านบาทจากการเบ่งงบประมาณ 2 ปีติดเพื่อกู้เงินมาทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยังหมายถึงค่า “เสียโอกาส” ที่ประเทศต้องจ่ายตั้งแต่วันนี้ ในรูปแบบของนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่รัฐบาลต้องตัดออกไป มูลค่ารวมกัน 1.75 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลอาจจะไม่มีงบประมาณเพียงพอในการทำนโยบายอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยเองก็เคยได้สัญญาไว้กับประชาชน ซึ่งอาจเข้าท่าและช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุดกว่าดิจิทัลวอลเล็ตด้วยซ้ำ
.
จากเอกสารนโยบายที่พรรคเพื่อไทยส่งให้กับ กกต.อย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้ง นอกเหนือจากดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้มีการเสนอนโยบายไว้ทั้งหมดอีก 69 ข้อ ซึ่งจะต้องมีการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมกันอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
.
แต่วันนี้ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถหางบประมาณสำหรับทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตได้เหมือนกับที่เคยระบุกับ กกต.และประชาชนไว้ คือ 2.6 แสนล้านบาทจากรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 และอีก 1 แสนล้านบาทจากภาษีที่ได้กลับมาจากผลคูณทางเศรษฐกิจของดิจิทัลวอลเล็ต
.
ผลที่ตามมาก็คือการจำเป็นต้องตัดงบประมาณในนโยบายอื่นๆ ของตัวเอง เพื่อเก็บเงินทุกบาทมาเทหมดหน้าตักกับดิจิทัลวอลเล็ตและรักษาหน้าตัวเอง แม้อาจจะต้องแลกมาด้วยความลำบากของประชาชนทั่วประเทศก็ตาม โดยพริษฐ์ขอยกตัวอย่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย 3 ด้านที่อาจต้องสูญเสียไป คือการศึกษา พลังงาน และรัฐสวัสดิการ
.
#ดิจิทัลวอลเล็ต #ก้าวไกล
.....


[ เทหมดหน้าตัก แลกกับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ]
.
ตามรายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปีนี้เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่จะมีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาทะลุ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 5 แสนคนเมื่อปี 2565 โดยสถิติข้อมูลบ่งบอกชัดว่าเกือบ 50% ของเด็กที่หลุดออกมาจากระบบนั้นเป็นเพราะไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียน ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองเคยสัญญาไว้ว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ กสศ.นำไปอุดหนุนเด็กยากจนที่หลุดหรือเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบถึง 8 พันล้านบาท
.
แต่ผ่านมา 2 ปีงบประมาณแล้ว งบประมาณ กสศ.ในปีล่าสุดกลับสูงกว่าในปีสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์อยู่เพียงแค่ 1 พันล้านบาท หรือ 11-12% ของเป้าหมายเท่านั้น ถึงแม้จะมีมติ ครม.อนุมัติการเพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษให้กับผู้ปกครองยากจนเพิ่มขึ้นจาก 3,000 บาทต่อปี เป็น 4,200 บาทต่อปี หรือ 100 บาทต่อเดือน แต่รัฐบาลก็ยังอุตส่าห์จะกั๊กไว้ ไม่ยอมเพิ่มให้ทั้งหมดทันที แต่ต้องรออีก 3 ปีกว่าเงินอุดหนุนจะค่อยๆ ถูกปรับขึ้นเต็มอัตรา


[ เทหมดหน้าตัก แลกกับค่าไฟแพง ]
.
แม้รัฐบาลจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ว่า “ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ค่าไฟจะลดทันที” แต่ความเป็นจริงคือเมื่อลดลงได้เพียง 4 เดือน (กันยายน - ธันวาคม 2566) ค่าไฟก็เพิ่มกลับขึ้นมาที่ 4.18 บาทต่อหน่วยในเดือนมกราคม 2567 และหลังจากค่าไฟเพิ่มกลับขึ้นมา รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ ออกมาว่าจะช่วยประชาชนตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยต่อไปหรือไม่ ด้วยวิธีการใด จนทำให้ค่าไฟในงวดถัดไป (กันยายน - ธันวาคม 2567) อาจทะลุไปถึง 4.65 - 6.01 บาทต่อหน่วย
.
ในขณะที่รัฐบาลมีงบกลางในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเหลืออยู่ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในเชิงทฤษฎีก็เพียงพอสำหรับ 2.8 หมื่นล้านบาทที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานคำนวณว่าต้องใช้เพื่อตรึงค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันกลางสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่างบกลางที่เหลืออยู่นั้นจะต้องถูกกันบางส่วนไว้สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จนไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเหลืองบเท่าไหร่ในการช่วยเหลือประชาชนเรื่องค่าไฟ หรือแม้กระทั่งค่าน้ำมัน
.
แน่นอนว่าการช่วยเหลือประชาชนไม่ใช่ทุกอย่างที่ต้องใช้งบประมาณ แต่อาจทำได้ด้วยการใช้ “ความมุ่งมั่น” และการ “ประสานงาน” ตามที่นายกฯ เคยให้ข้อคิดไว้ในสภาฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน แม้แต่เอกสารนโยบายที่พรรคเพื่อไทยส่งให้ กกต.ก็เขียนเองว่าการลดค่าไฟต้องใช้ “ความกล้าหาญและเด็ดขาด…ในการเจรจากับกลุ่มทุน” แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลกลับยังไม่เคยแสดงความความมุ่งมั่นหรือความพยายามเต็มที่ในการประสานงานเพื่อเจรจากับกลุ่มทุนใหญ่ด้านพลังงาน โดยเฉพาะการแก้สัญญาที่อนุญาตให้โรงไฟฟ้าได้เงินฟรีแม้ไม่เดินเครื่อง ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาค่าไฟแพงและทำให้โรงไฟฟ้าทำกำไรต่อไปได้บนความยากลำบากของประชาชน


[ เทหมดหน้าตัก แลกกับรัฐสวัสดิการที่ถูกแช่แข็ง ]
.
พรรครัฐบาลทุกพรรคต่างเคยหาเสียงในเรื่องการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่สัญญาไว้ว่าจะเพิ่มงบประมาณถึง 3 แสนล้านบาทให้กับสวัสดิการผู้สูงอายุ (อ้างอิงเอกสารนโยบายที่พรรคจัดส่งให้ กกต.ก่อนเลือกตั้ง) หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่สัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณเบี้ยผู้สูงอายุระดับหลายหมื่นถึงหลายแสนล้านบาท
.
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังได้ออกมาให้ข่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าจะเสนอให้ ครม.มีมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือนภายในกลางปีนี้ รวมถึง สส.จากทุกพรรคในสภาฯ ก็เคยอภิปรายเห็นชอบและลงมติรับทราบรายงานของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมเมื่อเดือนมีนาคม ที่เสนอให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,200 บาทต่อคนต่อเดือนทันทีในงบประมาณปี 2568 แต่รัฐบาลก็ยังไม่ขยับเรื่องการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุสักที


[ ถ้าเชื่อว่าดี จงไปให้สุด แล้วรับผิดชอบผลที่ตามมา ]
.
นโยบาย 3 ด้านที่ยกขึ้นมาข้างต้นนั้น ล้วนเป็นตัวอย่างของปัญหาที่พรรคเพื่อไทยเคยมีข้อเสนอและคำสัญญาเชิงนโยบายไว้เองทั้งนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงโครงการเดิมที่รัฐบาลยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนเพื่อประหยัดงบประมาณ
.
ดังนั้น การเทหมดหน้าตักกับดิจิทัลวอลเล็ตไม่เพียงแต่เสี่ยงจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณน้อยลงในการดำเนินนโยบายอื่นๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต แต่ยังทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอในการทำตามคำสัญญาเชิงนโยบายอื่นๆ ที่เคยให้ไว้ก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำ
.
หากวันนี้สภาฯ อนุมัติงบเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลเพื่อเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะเปรียบเสมือนการยื่นดาบให้รัฐบาลตัดงบประมาณสำหรับนโยบายอื่นๆ รวมกันทั้งหมด 1.75 แสนล้านบาท แม้ประชาชนอาจจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้เงินหมื่นบาทภายในปลายปีนี้ แต่สิ่งที่ประชาชนต้องแลกมาอาจรวมไปถึงเด็กและเยาวชนที่ต้องหยุดเรียนมากขึ้น บิลค่าไฟและค่าน้ำมันที่แพงขึ้น สวัสดิการผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ถูกแช่แข็งนานขึ้น และอีกหลายปัญหาที่จะถูกต่ออายุออกไปหรือสาหัสกว่าเดิม
.
การลงมติไม่เห็นชอบของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันนี้ไม่ใช่การลงมติไม่เห็นชอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่มีปัญหา แต่คือการลงมติเพื่อบอกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย และเพื่อยืนยันว่าสภาฯ จะไม่ออกเช็คให้กับนโยบายที่ถูกคิดแบบลวกๆ
.
สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล ถึงแม้บางพรรคจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่ที่ผ่านมาก็อาจจะให้เกียรติพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ในการผลักดันนโยบายเรือธงที่หาเสียงไว้
.
แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ควรต้องคิดเช่นกัน ว่าเมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทยเชิญให้มาร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติและบอกความจริงหรือไม่ ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าจะหาเงินจากไหนมาทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้รับประกันหรือไม่ว่างบประมาณ 1.75 แสนล้านบาทที่จะต้องตัดเพื่อโยกไปใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการตัดงบประมาณในส่วนนโยบายสำคัญของแต่ละพรรค หรือโครงการสำคัญของกระทรวงที่แต่ละพรรคมีรัฐมนตรีกำกับดูแลอยู่ และจะไม่เป็นการตัดงบประมาณที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ของ สส. ในแต่ละพรรคเดือดร้อน
.
หากพรรคเพื่อไทยจะยังคงเดินหน้าต่อด้วยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ขอให้ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเชื่อจากใจจริงๆ ว่านโยบายนี้จะดีสำหรับประเทศ ไม่ใช่เป็นเพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นคนไม่รักษาคำพูดหากล้มเลิกโครงการ
.
หากเข็นออกมาจนได้ หน้าตาของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในวันนี้ก็แตกต่างไปมาก และหากจะเทหมดหน้าตักกับดิจิทัลวอลเล็ตจริง ก็อาจจะไม่เหลืองบประมาณเพียงพอในการมารักษาคำพูดและคำสัญญาเชิงนโยบายอื่นๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยให้ไว้กับประชาชนอยู่ดี
.
ดังนั้น ขอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้อิสรภาพที่ได้มาด้วยเหตุผลนี้ ตัดสินใจบนเหตุผลทางเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง และหากเชื่อว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นทางรอดสำหรับประเทศจริงๆ ก็ขอจงไปให้สุด และยืนยันว่าจะไม่หันมาโทษคนอื่นนอกจากตัวเองหากทำไม่สำเร็จ
.
ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะไม่หยุดที่จะตรวจสอบ ทักท้วง และเสนอแนะรัฐบาลในสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน
.
“แต่หากท่านจะยังคงดึงดันเทหมดหน้าตักกับดิจิทัลวอลเล็ตผ่านการเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม 2567 ในวันนี้ หรือแม้กระทั่ง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม 2568 ในวันหน้า ผมเพียงแต่ขอให้ท่านพร้อมรับผิดชอบกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของท่าน และพร้อมน้อมรับคำพิพากษาจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป”

https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/posts/pfbid024f3PhJVpbpjkZ94zqosdXhpEFaZe3HhmVZVW6QN6C6baURhzJsTprz9hJkQz3FsCl