วันอังคาร, กรกฎาคม 09, 2567

มีผู้วิเคราะห์ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งที่สองสะท้อนให้เป็นว่า ชาวฝรั่งเศสปฏิเสธการเมืองแบบขวาจัดอีกครั้ง ทว่า ในครั้งนี้กลับต้องเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาวะ "รัฐสภาแขวน" เรารู้อะไรแล้วบ้าง หลังผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งที่สอง ฝ่ายซ้ายชนะพลิกล็อก


ในการเลือกตั้งรอบที่สอง พรรคของนายฌอง-ลุก เมลองชง คาดว่าจะเป็นผู้คว้าชัยชนะในครั้งนี้

เรารู้อะไรแล้วบ้าง หลังผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสครั้งที่สอง ฝ่ายซ้ายชนะพลิกล็อก

8 กรกฎาคม 2024
บีบซีไทย

การเมืองฝรั่งเศสมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งรัฐสภารอบแรกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส อย่างพรรคเนชั่นแนลแรลลี (National Rally) หรือเอ็นอาร์ กลายเป็นพรรคที่มีคะแนนนำถึง 33% และคาดว่ามีโอกาสที่จะกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง

ทว่า ทันทีหลังจากที่ปิดหีบเลือกตั้งรอบที่สองในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเอ็กซิทโพลชี้ไปในทิศทางที่ว่า กลุ่มพันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้ายของนายฌอง-ลุก เมลองชง ที่ชื่อนิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนท์ (New Popular Front) จะเป็นผู้คว้าชัยชนะในครั้งนี้ ตามมาด้วยพรรคของนายเอ็มมานูเอล มาครง และทิ้งให้พรรคเนชั่นแนลแรลลี ของนางมารีน เลอ เปน รั้งตำแหน่งที่สามไป

พอล เคอร์บี้ บรรณาธิการข่าวดิจิทัลประจำภูมิภาคยุโรป รายงานจากกรุงปารีสว่า จากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีที่นั่งในรัฐสภาเพียงพอที่จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ นั่นคือไม่มีพรรคใดได้มากกว่า 289 ที่นั่งจากทั้งหมด 577 ที่นั่ง และทำให้ตอนนี้ฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับสภาวะ "รัฐสภาแขวน" (hung parliament)

หลังจากสาธารณชนชาวฝรั่งเศสรับทราบผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สนับสนุนฝ่ายซ้ายออกมาเฉลิมฉลองในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่มีรายงานว่า พบความรุนแรงและการทำลายข้าวของในบางพื้นที่ด้วย

"ประธานาธิบดีต้องเชิญนิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนท์ ให้มาเป็นรัฐบาล" นายฌอง-ลุก เมลองชง กล่าวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนในจตุรัสสตาลินกราด รวมถึงยืนกรานให้ประธานาธิบดีมาครงยอมรับว่า เขาและพันธมิตรพ่ายแพ้การเลือกตั้งแล้ว


นายกรัฐมนตรีแกเบรียล อัททาล ของฝรั่งเศสเตรียมยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งต่อประธานาธิบดีในวันนี้

ด้านนายจอร์แดน บาร์เดลลา หนึ่งในผู้นำพรรคพรรคเนชั่นแนลแรลลีกล่าวโทษผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นฝีมือของ "พันธมิตรทางการเมืองที่ผิดธรรมชาติ" ที่ต้องการขัดขวางไม่ให้พวกเขาขึ้นสู่อำนาจ

ขณะที่นายกรัฐมนตรีแกเบรียล อัททาลของฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีมาครงได้เพียงเจ็ดเดือนบอกว่า เขาจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในช่วงเช้าของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น แต่จะยังคงเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่

เกิดอะไรขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ 2

สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในขณะนี้ จากข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยฝรั่งเศสและหนังสือพิมพ์เลอมงด์ (Le Monde) ระบุว่า นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนท์ หรือ เอ็นพีเอฟ กลุ่มพันธมิตรการเมืองฝ่ายซ้าย น่าจะคว้าจำนวนที่นั่งในสภาได้ 182 ที่นั่ง ตามมาด้วย พันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่ 168 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเนชั่นแนลแรลลีของนางมารีน เลอ เปน และพันธมิตรได้ 143 ที่นั่ง


กราฟิกแสดงจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคได้รับ

ฮิว สโคฟิลด์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีนิวส์ วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดว่า ชาวฝรั่งเศสปฏิเสธการเมืองแบบขวาจัดอีกครั้ง และยังทำให้พรรคพรรคเนชั่นแนลแรลลีต้องผิดหวัง ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการคาดการณ์ว่าพรรคเนชั่นแนลแรลลีอาจจะกวาดที่นั่งในการเลือกตั้งรอบที่สองนี้ได้เกือบ 300 ที่นั่ง แต่นั่นก็ไม่เกิดขึ้น

หากย้อนกลับไปในการเลือกตั้งครั้งก่อนที่นางเลอ เปน พ่ายแพ้ให้กับนายมาครง ในตอนนั้นพรรคของเธอคว้าได้เพียง 88 ที่นั่งเท่านั้น

สู่ช่วงเวลาแห่งการรื้อสร้าง


ผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายออกมาร่วมเฉลิมฉลองชัยชนะกัน

นายอแลง ดูฮาเมล นักวิเคราะห์ที่คร่ำหวอดในเรื่องการเมืองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล ระบุว่า "ในวันนี้ ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคการเมืองเดียวอีกต่อไป นับตั้งแต่นายมาครงขึ้นสู่อำนาจเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว พวกเราก็ได้เผชิญกับช่วงเวลาแห่งการรื้อสร้างพลังทางการเมืองต่าง ๆ"

"บางที ในตอนนี้ พวกเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสร้างโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่" เขากล่าว

สิ่งที่ดูฮาเมลหมายความถึงคือ ตอนนี้ในการเมืองฝรั่งเศสมีพลังทางการเมืองหลายขั้ว ประกอบด้วย กลุ่มอำนาจสำคัญ 3 กลุ่ม (ผ่ายซ้าย, ขวาจัด, และสายกลาง) บวกกับกลุ่มกลางขวาอีกกลุ่ม และในแต่ละกลุ่ม ก็มีพรรคการเมืองที่แข่งขันกันเองอยู่ด้วย

เนื่องจากว่าไม่มีพรรคการเมืองใดที่ครองเสียงข้างมาในรัฐสภา ต่อจากนี้ไปอาจจะต้องใช้ระยะเวลาระยะหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลผสมจากกลุ่มกลางขวาไปถึงกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย


มีการคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีมาครงจะเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนไปในระยะหนึ่ง หรือเรียกว่า "ระยะแห่งการประนีประนอม" หลังจากที่เพิ่งผ่านความตึงเครียดมาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากยังคงเห็นความไม่ลงรอยกันจากแต่ละฝ่ายที่มีศักยภาพจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถูกแสดงออกมาให้เห็นในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีมาครงจะเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนไปในระยะหนึ่ง หรือเรียกว่า "ระยะแห่งการประนีประนอม" หลังจากที่เพิ่งผ่านความตึงเครียดมาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปฏิกิริยานานาชาติ

ภายหลังทราบผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสอย่างไม่เป็นทางการ ผู้นำนานาชาติต่างแสดงปฏิกิริยาในเชิงบวก อย่างนายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปนซึ่งมีแนวความคิดการเมืองฝ่ายซ้าย กล่าวยกย่องการที่ชาวฝรั่งเศส "ปฏิเสธแนวความคิดแบบขวาจัด" และยินดีต้อนรับการเติบโตของ "แนวความคิดสังคมนิยมฝ่ายซ้ายที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาประชาชนด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่จริงจังและกล้าหาญ"

นายกรัฐมนตรีสเปนยังระบุอีกว่า นอกจากฝรั่งเศสแล้ว สหราชอาณาจักรที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งและได้พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า "นี่คือเวลาที่ใช่สำหรับความก้าวหน้าและความก้าวหน้าทางสังคม และปฏิเสธการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ"

"คุณต้องไม่สร้างข้อตกลงใด ๆ หรือร่วมปกครองประเทศกับฝ่ายขวาจัด" เขากล่าวย้ำ


นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน

ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล ซึ่งเคยเข้าพบนายฌอง-ลุก เมลองชง เป็นการส่วนตัว ได้โพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์ในอดีต) ว่า นักการเมืองฝรั่งเศสได้ร่วมใจเป็นหนึ่งต่อต้าน "แนวคิดสุดโต่ง"

ผู้นำบราซิลยังบอกว่า สิ่งนี้เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างพลังฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกาใต้อาจจะนำมาเป็นแรงบันดาลใจได้

https://bbc.in/3xRMLLN